ท่านอิมามมะฮ์ดี(อ.)ถือกำเนิดในปีฮ.ศ.255 หากเทียบกับปีนี้ซึ่งเป็นปีฮ.ศ.1432 ก็จะทราบว่าอายุของท่านเมื่อถึงวันที่15 ชะอ์บานในปีนี้ก็คือ 1177 ปี
ท่านอิมามมะฮ์ดี(อ.)ได้เผยกายเพื่อทำพิธีนมาซมัยยิตให้บิดาหลังจากที่ถูกวางยาพิษ ผู้คนต่างได้ยลโฉมท่านอิมามมะฮ์ดี(อ.)โดยสาธยายว่าท่านเป็นเด็กหนุ่มที่มีผิวสีน้ำผึ้ง มีผมหยักโศก และมีช่องว่างเล็กน้อยระหว่างฟันหน้า[1]
มีฮะดีษสองประเภทที่เกี่ยวกับรูปร่างหน้าตาของท่าน
ก. กลุ่มฮะดีษที่ไม่ระบุอายุขัยของท่าน โดยกล่าวเพียงว่าท่านยังแลดูหนุ่ม
1. شابٌ بعد کبر السن ท่านยังหนุ่มแม้จะสูงอายุ[2]
2. رجوعه من غیبته بشرخ الشباب ท่านจะปรากฏกายในรูปของคนหนุ่มที่อ่อนกว่าวัย[3]
3. فی سن الشیوخ و منظر الشباب ท่านสูงอายุทว่าแลดูอ่อนวัย[4]
ข. กลุ่มฮะดีษที่เน้นถึงความเป็นหนุ่ม และระบุอายุโดยประมาณด้วย
1. فی صورة فتیَ موفق ابن ثلاثین سنه ท่านมีหน้าตาเสมือนชายวัยสามสิบ[5]
2. فی صورة شاب دون اربعین سنة ท่านมีหน้าตาคล้ายชายฉกรรจ์อายุไม่ถึงสี่สิบ[6]
3. ท่านมีอายุมากทว่าแลดูหนุ่มฉกรรจ์อายุไม่ถึงสีสิบ หนึ่งในสัญลักษณ์ของท่านก็คือท่านจะไม่ชราภาพจวบจนเสียชีวิต[7]
เชคฏูซีรายงานจากบุคคลที่มีโอกาสได้เห็นท่านในช่วงเร้นกายระยะแรก เล่าว่าท่านคือชายหนุ่มรูปงาม มีกลิ่นหอม และมีความสง่าน่าเกรงขาม ผู้รายงานเล่าว่าไม่เคยเห็นผู้ใดพูดจางดงามดังเช่นท่าน[8]
อีกฮะดีษเล่าว่าท่านมีส่วนสูงที่เหมาะสม ไม่สูงและไม่เตี้ยจนเกินไป ศีรษะของท่านมนกลมได้รูป หน้าผากของท่านแผ่กว้าง จมูกของท่านโด่งเรียว แก้มของท่านเรียบตรง และมีปานเล็กน้อยที่แก้มขวา[9]
เกี่ยวกับอายุขัยของท่านต้องเรียนชี้แจงดังนี้
1. เป็นที่ทราบกันว่าท่านมีอายุมากกว่าหนึ่งพันปีแล้ว กลุ่มฮะดีษที่ระบุว่าท่านอยู่ในวัยสามสิบถึงสี่สิบต้องการจะพรรณนาว่า ใบหน้าของท่านขณะปรากฏกายนั้น อยู่ในช่วงอายุดังกล่าว ฉะนั้นการที่ฮะดีษระบุเลขอายุไม่ตรงกันก็ไม่ไช่เรื่องแปลก เนื่องจากช่วงวัยดังกล่าว (สามสิบถึงสี่สิบ) เป็นช่วงวัยที่เพียบพร้อมด้วยความรู้ความสามารถของคนทั่วไป
รายงานจากท่านอิมามริฎอ(อ.)ว่า "สัญลักษณ์ของเขาก็คือการที่เขาสูงอายุทว่ามีใบหน้าที่อ่อนวัยในลักษณะที่ผู้พบเห็นจะคาดคะเนว่าเขามีอายุราวๆสามสิบปีหรือน้อยกว่านั้น หนึ่งในสัญลักษณ์ของเขาคือ เขาจะไม่เข้าสู่วัยชรากระทั่งเสียชีวิต"[10]
2. ไม่เพียงแต่ท่านอิมามมะฮ์ดี(อ.)เท่านั้นที่มีอายุยืนยาว แต่ปูชนียบุคคลอย่างเช่นนบีนู้ฮ์ก็เป็นที่กล่าวถึงในกุรอานว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า 950 ปี อีกทั้งนบีคิเฎรที่สิริอายุหลายพันปีและยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน หรือกรณีของท่านลุกมาน บิน อ้าด (3500 ปี) หรือท่านลุกมานผู้สอนลูก (4000 ปี) รวมถึงกรณีของท่านนบีอีซา(อ.)ก็นับว่าเป็นผู้มีอายุวัฒนะเช่นกัน คำชี้แจงทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือ โดยทั่วไปแล้ว ภาวะชราภาพและความตายเกิดจากปัจจัยที่คุกคามร่างกาย หากไม่มีปัจจัยเหล่านี้ มนุษย์ทุกคนก็ยังคงอยู่ในวัยหนุ่มสาวเช่นเดิม[11]
[1] ดู: รู้จักผู้เป็นพันธสัญญา,หน้า 437
[2] บิฮารุลอันว้าร,เล่ม 51,หน้า 217 ว่าด้วยซุนนะฮ์ของบรรดานบี
[3] ฆ็อยบะฮ์,เชคฏูซี,หน้า 421
[4] อิกมาลุดดีน,เล่ม 2,หน้า 376
[5] บิฮารุลอันว้าร,เล่ม 52,หน้า 287 ว่าด้วยการปรากฏกายและสัญลักษณ์ต่างๆ
[6] อิกมาลุดดีน,เล่ม1,หน้า 316
[7] เพิ่งอ้าง,เล่ม 2,หน้า 652
[8] ดู: รู้จักผู้เป็นพันธสัญญา,หน้า 437
[9] เพิ่งอ้าง
[10] เพิ่งอ้าง,หน้า 555
[11] ดู: ผู้แผ่ความยุติธรรมเหนือโลก,อิบรอฮีม อะมีนี