คำว่า“ชีอะฮ์”โดยรากศัพท์แล้ว หมายถึง“สหาย”หรือ“สาวก”และยังแปลได้ว่า“การมีแนวทางเดียวกัน” ส่วนในแวดวงมุสลิมหมายถึงผู้เจริญรอยตามท่านอิมามอลี(อ.) ซึ่งมีการนิยามความหมายของคำว่าผู้เจริญรอยตามว่า หมายถึงผู้ที่รักท่านอิมามอลี(อ.) ผู้ที่ยกย่องท่านสูงกว่าท่านอุษมาน ผู้ที่ยกย่องท่านเหนือกว่าเคาะลีฟะฮ์ทั้งสามก่อนหน้าท่านรวมถึงบรรดาเศาะฮาบะฮ์ทั้งมวล กลุ่มผู้ที่เชื่อว่าท่านคือเคาะลีฟะฮ์ของท่านนบีโดยไม่มีผู้ใดกั้นกลาง.
อย่างไรก็ดี คำนิยามที่ครอบคลุมที่สุดเห็นจะเป็นนิยามที่ว่า“ชีอะฮ์คือ ผู้ที่อ้างอิงคำสั่งของท่านนบี(ซ.ล.)ในการพิสูจน์ว่าท่านอิมามอลี(อ.)เป็นเคาะลีฟะฮ์ของท่านนบี(ซ.ล.) และถือว่าท่านเป็นผู้ที่เหมาะสมที่สุดต่อการดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮ์ภายหลังท่านนบี(ซ.ล.”
คำว่าชีอะฮ์มีความหมายค่อนข้างกว้าง และจากคำนิยามที่กล่าวไปแล้ว ทำให้สาขาต่างๆอาทิเช่น ซัยดียะฮ์ กีซานียะฮ์ อิสมาอีลียะฮ์ ฯลฯ รวมอยู่ในกลุ่มความหมายของชีอะฮ์ด้วยกันทั้งสิ้น
นอกจากคำว่าชีอะฮ์แล้ว ผู้เจริญรอยตามอิมามอลีและอะฮ์ลุลบัยต์ยังเป็นที่รู้จักกันในนาม ญะฟะรี, ฏอลิบี, คอศเศาะฮ์, อะละวี, อิมามี ฯลฯ
มีหลายทัศนะเกี่ยวกับจำนวนสาขามัซฮับที่สำคัญของชีอะฮ์ อาทิเช่น บัฆดาดีระบุไว้ในตำราว่า ชีอะฮ์มีสาขามัซฮับสำคัญสามสาขาด้วยกัน นั่นก็คือ ซัยดียะฮ์ กัยซานียะฮ์ และอิมามียะฮ์. แต่ชะฮ์ริสตานีได้เสริมอิสมาอีลียะฮ์เข้ามาอีกหนึ่งสาขาหลัก ส่วนคอญะฮ์ ฏูซี ได้แสดงทัศนะที่คล้ายคลึงกับบัฆดาดีไว้ในหนังสือ“ก่อวาอิดุล อะกออิด” อย่างไรก็ดี ทัศนะที่เป็นเอกฉันท์ในหมู่ผู้รู้ฝ่ายชีอะฮ์ ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญด้านสาขามัซฮับก็คือ ชีอะฮ์มีสามสาขามัซฮับหลักดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ส่วนแขนงย่อยจากสามสาขามัซฮับดังกล่าวจะมีอะไรบ้างนั้น ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่
คำว่า“ชีอะฮ์”ในทางภาษาอรับแปลว่า“สาวก”หรือ“สหาย”หรืออาจแปลได้ว่า“การมีแนวทางเดียวกัน”[1]
ส่วนในแวดวงมุสลิมแล้ว คำนี้มีนัยยะเกี่ยวข้องกับผู้เจริญรอยตามท่านอิมามอลี(อ.) ส่วนที่ว่าอะไรคือคำนิยามของผู้เจริญรอยรอยตามท่านอิมามอลี(อ.)นั้น มีทัศนะที่หลากหลายดังต่อไปนี้
1. ชีอะฮ์หมายถึงผู้ที่รักอิมามอลี(อ.)
2. ชีอะฮ์หมายถึงผู้ที่ยกย่องอิมามอลีเหนือกว่าท่านอุษมาน ซึ่งตรงกันข้ามกับคำว่าชีอะฮ์อุษมาน
3. ชีอะฮ์หมายถึงผู้ที่ยกย่องอิมามอลีเหนือกว่าท่านอุษมาน ตลอดจนเคาะลีฟะฮ์สองท่านแรก และเศาะฮาบะฮ์ทั้งหมด
4. ชีอะฮ์หมายถึงผู้ที่เชื่อมั่นว่าท่านอิมามอลีเป็นเคาะลีฟะฮ์ศาสดาโดยไม่มีผู้ใดกั้นกลาง
อย่างไรก็ดี คำนิยามดังกล่าวยังจำกัดความได้ไม่สมบูรณ์เท่าใดนัก หากพิจารณาถึงสาขาต่างๆของชีอะฮ์แล้ว คาดว่าคำนิยามต่อไปนี้น่าจะเหมาะสมที่สุด: “ชีอะฮ์คือ ผู้ที่อ้างอิงคำสั่งของท่านนบี(ซ.ล.)ในการพิสูจน์ว่าท่านอิมามอลี(อ.)เป็นเคาะลีฟะฮ์ของท่านนบี(ซ.ล.) และถือว่าท่านเป็นผู้ที่เหมาะสมที่สุดต่อการดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮ์ภายหลังท่านนบี(ซ.ล.)” คำนิยามนี้เน้นเกี่ยวกับคำสั่งแต่งตั้งผู้นำหลังนบี(ซ.ล.) อันเป็นข้อแตกต่างระหว่างชีอะฮ์กับมัซฮับอื่นๆ เนื่องจากมัซฮับอื่นๆเชื่อว่าตำแหน่งเคาะลีฟะฮ์ได้มาจากการเลือกตั้ง ส่วนชีอะฮ์เชื่อว่าตำแหน่งเคาะลีฟะฮ์จะต้องได้รับการแต่งตั้งโดยนบี(ซ.ล.)เท่านั้น
กำเนิดชีอะฮ์
นักวิชาการบางส่วนเชื่อว่ามัซฮับชีอะฮ์ถือกำเนิดภายหลังท่านนบี(ซ.ล.)เสียชีวิต ทัศนะนี้แบ่งออกเป็นความเห็นย่อยดังต่อไปนี้:
1. ชีอะฮ์ถือกำเนิดในวันสะกีฟะฮ์ ซึ่งมีการถกเถียงอย่างเผ็ดร้อน โดยเศาะฮาบะฮ์ชั้นนำบางท่านกล่าวขึ้นว่า “อลี(อ.)เหมาะสมที่สุดสำหรับตำแหน่งเคาะลีฟะฮ์(ผู้นำ)
2. ชีอะฮ์ถือกำเนิดช่วงปลายการปกครองของท่านอุษมาน โดยเชื่อว่าชีอะฮ์เริ่มก่อตัวขึ้นเนื่องจากแนวคิดของอับดุลลอฮ์ บิน สะบาอ์.
3. ชีอะฮ์ถือกำเนิดในวันที่ท่านอุษมานถูกลอบสังหาร
4. ชีอะฮ์ถือกำเนิดในช่วงระหว่างเหตุการณ์ตั้งอนุญาโตตุลาการหลังสงครามศิฟฟีนจนถึงบั้นปลายชีวิตของท่านอิมามอลี(อ.)
5. ชีอะฮ์ถือกำเนิดหลังเหตุสังหารอิมามฮุเซน(อ.)ที่กัรบะลา
นอกเหนือจากทัศนะที่ขัดแย้งกันเองดังกล่าว มีนักวิชาการบางท่านได้แก่ มัรฮูม กาชิฟุ้ลฆิฎอ, เชคมุฮัมมัด ฮุเซน มุซ็อฟฟัร, มุฮัมมัด ฮุเซน ซัยน์ อามิลี จากฝ่ายชีอะฮ์ และมุฮัมมัด กุรด์ อลี จากฝ่ายซุนหนี่เชื่อว่าชีอะฮ์ถือกำเนิดตั้งแต่ยุคของท่านนบี(ซ.ล.) เนื่องจากท่านนบี(ซ.ล.)เคยใช้คำว่าชีอะฮ์เรียกกลุ่มผู้นิยมอิมามอลี(อ.)หลายครั้งด้วยกัน โดยเชื่อว่าในยุคของท่านนบี(ซ.ล.)มีเศาะฮาบะฮ์กลุ่มหนึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม“ชีอะฮ์ของอลี(อ.)”[2]
ที่ถูกต้องก็คือ ชีอะฮ์ถือกำเนิดในยุคของท่านนบี(ซ.ล.)และโดยท่านนบี(ซ.ล.)เอง เพียงแต่ภายหลังการเสียชีวิตของท่าน กลุ่มชีอะฮ์เริ่มเป็นที่ประจักษ์มากขึ้น ทั้งนี้ก็เนื่องจากเชื่อว่าท่านอิมามอลี(อ.)มีความเหมาะสมทั้งศักดิ์และสิทธิที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮ์ภายหลังท่านนบี(ซ.ล.)
อย่างไรก็ดี คำว่าชีอะฮ์เป็นคำที่มีความหมายค่อนข้างกว้าง ซึ่งหากยึดตามคำนิยามที่ได้กล่าวไปแล้ว ก็สามารถที่จะหมายรวมถึงสาขามัซฮับที่สำคัญของชีอะฮ์ได้ทั้งหมด อาทิเช่น ซัยดียะฮ์, กัยซานียะฮ์, อิสมาอีลียะฮ์ ฯลฯ
อนึ่ง นอกจากคำว่าชีอะฮ์แล้ว ยังมีคำอื่นๆที่ใช้กล่าวถึงหรือพาดพิงถึงผู้ยึดมั่นแนวทางอะฮ์ลุลบัยต์อีกหลายคำ ซึ่งมีข้อแตกต่างจากคำว่าชีอะฮ์อยู่บ้างดังต่อไปนี้:
1. รอฟิฏี: “ร็อฟฏุน”แปลว่าการหันห่าง, ละทิ้ง, วางเฉย. กลุ่มผู้คัดค้านชีอะฮ์มักใช้คำนี้เพื่อการประณามชีอะฮ์ เกี่ยวกับที่มาของคำนี้ ว่ากันว่าเกิดจากการที่ชีอะฮ์ปฏิเสธความเหมาะสมของเคาะลีฟะฮ์สองท่านแรก จึงถูกประณามว่าเป็นพวก“รอฟิฏี” บ้างเชื่อว่าที่มาของคำนี้ เกิดจากการที่ชีอะฮ์ท้วงติงและปลีกตัวจากกองทัพของท่านซัยด์ เนื่องจากไม่พอใจที่ท่านมีท่าทีโอนอ่อนผ่อนตามเกี่ยวกับประเด็นตำแหน่งเคาะลีฟะฮ์ของสองท่านแรก อย่างไรก็ดี ไม่ว่าเราจะเชื่อว่าคำนี้มีที่มาอย่างไร คำนี้ก็ย่อมมีความหมายไม่กว้างเท่าคำว่าชีอะฮ์อย่างแน่นอน ทั้งนี้ก็เพราะคำว่ารอฟิฏีไม่รวมถึงสาขาซัยดียะฮ์
2. ญะอ์ฟะรี: จากความพยายามอันหนักหน่วงของท่านอิมามญะอ์ฟัร อัศศอดิก(อ.) ทำให้เหล่าชีอะฮ์ผู้ยึดถืออะฮ์ลุลบัยต์เป็นผู้นำได้รับหลักประกันในแง่ฟิกเกาะฮ์(บทบัญญัติศาสนา)และกะลาม(เทววิทยา) ชีอะฮ์ที่ได้รับคุณประโยชน์เหล่านี้จึงได้รับการขนานนามว่า“ญะอ์ฟะรี” ปัจจุบันนี้คำว่าญะฟะรีเทียบเท่าคำว่าชีอะฮ์ อิษนาอะชะรียะฮ์(อิมามสิบสอง) แม้ว่าเมื่อพิจารณาความหมายในเชิงศัพท์แล้ว ย่อมจะหมายรวมถึงสาขาอิสมาอีลียะฮ์ด้วย เนื่องจากพวกเขาก็เชื่อถือท่านอิมามญะอ์ฟัร อัศศอดิก(อ.)เช่นกัน
3. อิมามี: ตลอดระยะเวลาที่บรรดาอิมามยังมีชีวิตอยู่ คำนี้ใช้เรียกผู้ที่เชื่อมั่นในตำแหน่งอิมามของบรรดาอิมามมะอ์ศูม(ผู้ปราศจากบาป)ที่มีเชื้อสายจากท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(ส.)จวบจนอิมามท่านที่สิบสอง อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในเชิงประวัติศาสตร์ ความหมายของคำนี้เปลี่ยนแปลงไปบ้างในแต่ละยุค อาทิเช่น ในยุคของท่านอิมามอลี(อ.) คำนี้เทียบเท่าคำว่าชีอะฮ์ แต่ในปัจจุบันคำนี้เทียบเท่ากับคำว่าชีอะฮ์ อิษนาอะชะรียะฮ์
4. คอศเศาะฮ์: คำนี้จะใช้ในแวดวงวิชาฟิกเกาะฮ์(นิติศาสตร์อิสลาม)เป็นส่วนใหญ่ โดยใช้เพื่อจำแนกจากคำว่า“อามมะฮ์”อันหมายถึงมัซฮับอื่นๆที่ไม่ไช่ชีอะฮ์ ทั้งนี้คำว่าคอศเศาะฮ์หมายถึงชีอะฮ์ แต่หากเจาะจงมากกว่านี้ก็จะหมายถึงชีอะฮ์ อิษนาอะชะรียะฮ์ เนื่องจากได้รับหลักฟิกเกาะฮ์มาจากอิมามมะอ์ศูมทั้งสิบสองท่าน
5. อะละวี: ในอดีต คำนี้หมายถึงผู้ที่เชื่อว่าอิมามอลี(อ.)มีสถานะที่เหนือกว่าผู้อื่น แต่ในยุคหลังกลับมีนัยยะเพียงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทางด้านใดด้านหนึ่งกับอิมามอลี(อ.)เท่านั้น
6. ฟาฏิมี: คำนี้มีนัยยะเกี่ยวกับวงศ์ตระกูลเป็นหลัก โดยมักใช้เพื่อจำแนกลูกหลานท่านอิมามฮะซันและอิมามฮุเซน(อ.)ออกจากลูกหลานของ มุฮัมมัด บินฮะนะฟียะฮ์ ซึ่งเป็นที่เชิดชูของสาขานิกายกัยซานียะฮ์ ทั้งนี้ก็เพราะ แม้มุฮัมมัดบินฮะนะฟียะฮ์จะเป็นบุตรของอิมามอลี(อ.)ก็จริง แต่หาได้เป็นบุตรของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(ส.)ไม่.
7. ฏอลิบี: คำนี้ก็มีนัยยะในแง่วงศ์ตระกูลเช่นกัน แต่ความหมายของคำนี้จะกว้างกว่าสองคำก่อน เนื่องจากคำนี้หมายถึงวงศ์วานของอบูฏอลิบทั้งหมด ซึ่งรวมถึงสายตระกูลอื่นที่มิไช่อิมามอลี(อ.)ด้วย หากต้องการทราบรายละเอียดของคำนี้มากขึ้น กรุณาศึกษาจากหนังสือ“มะกอติลุฏฏอลิบียีน”ประพันธ์โดย อบุลฟะร็อจ อิศฟะฮานี ซึ่งรวบรวมเนื้อหาการต่อสู้ของสมาชิกสายตระกูลอบูฏอลิบทั้งหมด อาทิเช่นสายตระกูลของญะอ์ฟัร บิน อบีฏอลิบ(อัฏฏ็อยย้าร).
คำเหล่านี้ทั้งหมดคือคำที่ใช้เรียกชีอะฮ์ในประวัติศาสตร์ยุคต่างๆ
ในหน้าประวัติศาสตร์ มัซฮับชีอะฮ์เผชิญหน้ากับวิกฤติและได้รับโอกาสนับครั้งไม่ถ้วน วิกฤติที่เกือบจะทำให้ล่มสลาย และโอกาสที่เกือบจะทำให้ชีอะฮ์ได้ปกครองดินแดนมุสลิมเกือบทั้งหมด อย่างไรก็ดี สิ่งที่ทำให้มัซฮับชีอะฮ์โดดเด่นเป็นพิเศษก็คือปัจจัยต่างๆดังต่อไปนี้: ความเก่าแก่ของมัซฮับ ความพร้อมพรักเกี่ยวกับคำสอนด้านต่างๆ ศักยภาพและประสบการณ์จริงในการจัดตั้งรัฐในยุคต่างๆ และการมีเอกลักษณ์ที่เป็นอิสระจากมัซฮับอื่นๆ
จากการที่ชีอะฮ์อุดมไปด้วยหลักประกันทางด้านสติปัญญา นิติศาสตร์อิสลาม เทววิทยา จริยศาสตร์อิสลาม ฯลฯ ทำให้มัซฮับนี้สามารถครองใจผู้คนและผลิดอกออกผลในประเทศต่างๆได้ แม้จะต้องฝ่าด่านอรหันต์การโฆษณาชวนเชื่อ, ข้อจำกัดและการกดดันต่างๆนานาก็ตาม
อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าความแตกแยกและการอุปโลกน์สาขาความเชื่อ ถือเป็นภัยคุกคามอันดับต้นๆที่ทุกศาสนาและทุกมัซฮับเผชิญมาตลอด มัซฮับชีอะฮ์ก็ถูกภัยดังกล่าวคุกคามเช่นกัน ซึ่งเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เมื่อมวลมุสลิมผู้เชื่อฟังท่านศาสดา(ซ.ล.)และอะฮ์ลุลบัยต์(อ.)มีความรู้ความเข้าใจมากขึ้นแล้ว สักวันหนึ่งจะร่วมมือร่วมใจต่อต้านแผนการณ์ศัตรู และปลีกตัวจากสาขามัซฮับที่บิดเบือน กระทั่งสามารถร่วมกันอยู่ภายใต้ร่งธงอิสลามที่แท้จริงเพียงหนึ่งเดียว
ส่วนที่ถามว่าจำนวนของสาขามัซฮับหลักของชีอะฮ์มีเท่าใดนั้น มีหลากหลายคำตอบดังนี้:
บัฆดาดีกล่าวในหนังสือ“อุศูลฟิร่อกุ้ชชีอะฮ์”ว่า ชีอะฮ์มีสามสาขามัซฮับหลักนั่นคือ ซัยดียะฮ์, กัยซานียะฮ์, อิมามียะฮ์. เบื้องแรกบัฆดาดีถือว่าพวกฆุล้าต(สุดโต่ง)เป็นสาขาหนึ่งของชีอะฮ์ แต่ภายหลังได้ปฏิเสธว่าพวกนี้ไม่ไช่สาขามัซฮับในอิสลาม เนื่องจากออกจากศาสนาไปแล้ว.[3]
ส่วนชะฮ์ริสตานีเชื่อว่าอิสมาอีลียะฮ์ก็เป็นสาขามัซฮับหลักของชีอะฮ์ และสรุปไว้ว่าชีอะฮ์มีห้าสาขามัซฮับหลัก[4]
คอญะฮ์ ฏูซี แสดงทัศนะที่ใกล้เคียงกับทัศนะของบัฆดาดีไว้ในหนังสือ“ก่อวาอิดุลอะกออิด” โดยเชื่อว่าสาขามัซฮับหลักของชีอะฮ์คือ ซัยดียะฮ์, กัยซานียะฮ์, อิมามียะฮ์.[5]
กอฎี อะฎุดิดดีน อีญี ก็ถือว่าชีอะฮ์มีสามสาขาหลักดังกล่าวเช่นกัน
แต่ก็มีนักวิชาการบางท่านเชื่อว่าชีอะฮ์มีสี่สาขามัซฮับหลัก นั่นคือ อิมามียะฮ์, กัยซานียะฮ์, ซัยดียะฮ์, อิสมาอีลียะฮ์
ทัศนะที่แพร่หลายในหมู่ผู้รู้ฝ่ายชีอะฮ์ และผู้เชี่ยวชาญด้านสาขามัซฮับก็คือ ชีอะฮ์มีสามสาขามัซฮับหลักดังกล่าว แต่ยังมีทัศนะขัดแย้งกันเกี่ยวกับจำนวนแขนงย่อยต่างๆของสาขาเหล่านั้น
เพื่อศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาอ่านหนังสือ“อัลฟัรกุบัยนัลฟิร็อก”,“อัลมิลัลวันนิฮัล”และ“ก่อวาอิดุลอะกออิด”
[1] อัลกอมูซุ้ลมุฮีฏ เล่ม 3, หน้า 61,62, ตาญุ้ลอะรู้ส,เล่ม 5, หน้า 405, ลิซานุ้ลอรับ,เล่ม 7,หน้า 257 อันนิฮายะฮ์ อิบนุอะษี้ร,เล่ม 2,หน้า 246.
[2] ดู: ประวัติศาสตร์ชีอะฮ์ในอิหร่าน,ร่อซู้ล ญะฟะรียอน,หน้า 24-28.
[3] อัลฟัรกุบัยนัลฟิร็อก,อับดุลกอฮิร บัฆดาดี,หน้า 21-23.
[4] อัลมิลัลวันนิฮัล,ชะฮ์ริสตานี,เล่ม 1,หน้า 147.
[5] ก่อวาอิดุลอะกออิด,คอญะฮ์ ฏูซี,ค้นคว้าเพิ่มเติมโดยอลี ร็อบบานี,หน้า 110.