ความตายในทัศนะของนักปรัชญาอิสลามหมายถึง จิตวิญญาณได้หยุดการบริหารและแยกออกจากร่างกาย แน่นอน ทัศนะดังกล่าวนี้ได้สะท้อนมาจากอัลกุรอานและรายงาน ซึ่งตัวตนของความตายไม่ใช่การสูญสิ้น
ส่วนในหลักการของอิสลามมีการตีความเรื่องความตายแตกต่างกันออกไป ซึ่งทั้งหมดมีจุดคล้ายเหมือนกันอยู่ประการหนึ่ง กล่าวคือความตายไม่ใช่ความสูญสิ้น หรือดับสูญแต่อย่างใด ทว่าหมายถึงการเปลี่ยนหรือการโยกย้ายจากบ้านหลังหนึ่งไปยังบ้านอีกหลังหนึ่ง เนื่องจากมนุษย์นั้นประกอบไปด้วยร่างกายและจิตวิญญาณ อีกอย่างหนึ่งความตายเท่ากับเป็นหยุดการทำงานของร่างกายภายนอก ส่วนจิตวิญญาณได้โยกย้ายเปลี่ยนไปอยู่ยังปรโลก ด้วยเหตุนี้ ความตายจึงได้ถูกสัมพันธ์ไปยังมนุษย์
ความตาย คือการรับมอบจิตวิญญาณโดยมลักผู้ควบคุมความตาย เหมือนการนอนหลับ ดังนั้น ความตายจึงเหมือนการนอนหลับที่ยาวนาน เป็นการตายในชั่วขณะหนึ่ง ฉะนั้น ความตายจึงไม่ใช่ความสูญสิ้นหรือการดับสลาย ความตายเสมือนเป็นการเกิดใหม่อีกครั้งจากครรภ์ของธรรมชาติ ซึ่งผลของการเกิดใหม่นี้ได้ทำให้เขาเข้าไปสู่อีกโลกหนึ่ง ซึ่งไม่อาจเปรียบเทียบได้กับโลกธรรมชาติ เหมือนโลกแห่งมดลูกที่ไม่สามารถเทียบเคียงกับโลกธรรมชาติได้
ความตายคือ สะพานทอดข้ามผ่านทาง ซึ่งหากเดินข้ามไปได้จะทำให้เขาพบกับสิ่งใหม่ และช่วยให้รอดพ้นจากความยากลำบากทั้งปวง นั่นหมายถึงเขาได้พัฒนาบ้านแห่งโลกนี้ให้เจริญก้าวหน้า ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ทำลายปรโลกให้สูญสิ้นไป
ส่วนคำตอบสำหรับคำถามที่ว่า มนุษย์สมารถยืดระยะเวลาความตายให้ล่าช้าออกไปได้หรือไม่ : สามารถกล่าวได้ว่ารายงานและโองการอีกหลายโองการ บอกให้เราได้รู้จักกาลเวลาใน 2 ลักษณะกล่าวคือ ความตายที่รอ กับความตายแน่นอน ซึ่งในรายงานและโองการได้กล่าวด้วยนามอื่น
"ความตายที่รอเวลา" สำหรับทุกคนหมายถึง เขาได้ใช้เวลาอยู่บนโลกนี้ตามความเหมาะสมแล้ว แต่การรอเวลานั้นสามารถยืดหยุ่นให้ยาวออกไปหรือสั้นลงได้ ตัวอย่างเช่น การทำความดีกับเครือญาติหรือการให้ทาน สิ่งเหล่านี้สามารถยืดความตายให้ยาวนานออกไปได้ ขณะเดียวกันการไม่ทำดีกับผู้ปกครอง หรือการตัดสายสัมพันธ์ทางเครือญาติ สิ่งเหล่านี้เท่ากับเป็นการเร่งความตายให้เร็วขึ้น และนี่ก็คือความตายที่บันทึกไว้ในเลาฮุนมะฮฺฟูซ
ส่วน ความตายแน่นอน คือความตายที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ดังที่กล่าวไว้ในอัลกุรอาน
ตามหลักการของอิสลาม มีการให้ความหมายความตายแตกต่างกันออกไปตามความเป็นจริง ซึ่งแต่ละคนก็ให้ความหมายอันเป็นแก่แท้ของความตายด้วยกันทั้งสิ้น แต่ก่อนที่จะพิจารณาอัลกุรอานและรายงาน จะกล่าวถึงบทนำซึ่งเป็นทัศนะของนักปราชญ์บางท่านในสายปรัชญา ที่แสดงทัศนะเกี่ยวกับความตายไว้ดังนี้
บูอะลี ซีนา กล่าวว่า ความตายไม่ใช่สิ่งใดอื่นเกินเลยไปจาก การที่จิตวิญญาณครั้งหนึ่งได้ใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ แต่บัดนี้มันได้ละทิ้งทั้งหมดแล้ว จุดประสงค์ของอุปกรณ์และสื่อหมายถึง, อวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายซึ่งทั้งหมดรวมเรียกว่าร่างกาย[1]
มัรฮูมมุลลา ซ็อดรอ อธิบายว่า : ความตายคือการแยกจากกันของร่างกายและจิตวิญญาณ ซึ่งจิตวิญญาณได้ก้าวไปสู่ขั้นตอนของการเคลื่อนไหวในลักษณะที่เป็นภาวะนามธรรม ซึ่งต่อไปนี้ไม่ต้องอาศัยอุปกรณ์และสื่ออย่างอื่นจากร่างกายอีกต่อไป ร่างกายเปรียบเสมือนเป็นเรือที่จิตวิญญาณได้โดยสาร เพื่อเดินทางไปสู่พระเจ้าซึ่งจิตวิญญาณได้อาศัยร่างกายเพื่อเดินทางผ่านทั้งทางบกและทางทะเล เมื่อผ่านการขั้นตอนเหล่านั้นไปแล้ว ก็ไม่มีจำเป็นต้องใช้สื่อเหล่านั้นอีกต่อไป ด้วยเหตุผลนี้เองความตายจึงเกิดขึ้น และเนื่องจากความตายได้ผ่านพ้นไปทำให้พลังแห่งธรรมชาติก็สิ้นแรงตามไปด้วย ไม่ใช่ดั่งที่การแพทย์เข้าใจว่าความตายคือการสิ้นชีวิต สิ้นความร้อนอันเป็นความปรารถนาโดยธรรมชาติหรือสิ่งอื่น ทว่าความตายเป็นธรรมชาติสำหรับชีวิต เป็นเชื้อแห่งความดีและความสมบูรณ์แบบ เป็นสิ่งดีและสมบูรณ์แบบสำหรับจิตวิญญาณ เป็นสิทธิของเขา ดังนั้น ความตายคือสิทธิของเขาโดยตรง[2] ในตรงนี้พวกเหตุผลนิยมกล่าวว่า ความตายคือ : การแยกกันระหว่างจิตวิญญาณกับร่างกาย เป็นการยุติบทบาทการบริหารร่างกาย[3] อย่างไรก็ตามนักปราชญ์อิสลามได้พย่ายามอธิบายความตายจากความหมายของอัลกุรอาน และฮะดีซ ด้วยเหตุนี้ เมื่อเราได้ย้อนกลับไปดูโองการและรายงานต่างๆ แล้วจะพยายามตีความคำว่า ตาย บนพื้นฐานของความหมายเหล่านั้น
1. บางครั้งอัลกุรอาน กล่าวว่าความตายคือ การสูญเสียชีวิตซึ่งผลของความตายก็เหมือนกับ ความรู้สึกและความปรารถนา แน่นอน การปราศจากชีวิตในสิ่งหนึ่งมีความหมายว่า สิ่งนั้นต้องมีศักยภาพในการมีชีวิตด้วย
อัลกุรอานกล่าวว่า
"و کنتم امواتاً فاحیاکم ثم یمیتکم"
“พวกจ้านั้นเคยปราศจากชีวิตมาก่อนแล้วพระองค์ก็ทรงให้เจ้ามีชีวิตขึ้น”[4]
หรือเกี่ยวกับรูปปั้นทั้งหลายกล่าวว่า "พวกมันตาย ปราศจากชีวิต และพวกมันไม่รู้ด้วยว่า เมื่อใดจะถูกให้ฟื้นขึ้นมาอีก”[5]
ความตายหมายถึงการสูญเสียของชีวิตเมื่อสัมพันธ์ไปยังมนุษย์ ด้วยเหตุนี้เอง จึงกล่าวว่ามนุษย์มีองค์ประกอบอยู่ 2 ประการเมื่อร่างกายอยู่ในมิติของชีวิต หลังจากนั้นก็จะขาดชีวิตชีวิต, จึงสามารถกล่าวได้ว่าความตายได้ครอบงำเหนือมนุษย์ มิเช่นนั้นต้องกล่าวไว้ในอัลกุรอานแล้วว่า จิตวิญญาณได้ตาย เช่นเดียวกับที่ทูตสวรรค์ (มลัก) ไม่ได้ถูกกล่าวว่าตายเช่นกัน[6]
2. ประโยคหนึ่งของอัลกุรอานที่กล่าวถึงความตายโดยชึ้คำว่า ตะวัฟฟา[7] คำๆ นี้มาจากรากศัพท์คำว่า วะฟา ซึ่งหมายถึงการได้รับมอบสิ่งหนึ่งโดยปราศจากความขาดตกบกพร่อง ซึ่งกล่าวว่า เตาฟียะตุลมาล หมายถึง ได้รับทรัพย์พอดิบพอดีไม่ขาดไม่เกิน มีโองการอัลกุรอานประมาณ 14 โองการกล่าวถึงความตาย ซึ่งเป็นการบ่งชี้ให้เห็นแก่นแท้ความจริงที่ว่า ประการแรก: มนุษย์นั้นมีองค์ประกอบอื่นที่นอกเหนือจากวัตถุธาตุ และภายใต้มิติดังกล่าวนั้นจะไม่ตายและไม่สูญสิ้น อีกทั้งเมื่อถึงกำหนดวาระสิ่งนั้นจะถูกมอบแก่เจ้าหน้าที่อย่างคราบสมบูรณ์ ไม่มีสิ่งใดขาดหรือเกินเลย ซึ่งเจ้าหน้าที่จะได้รับมอบมิติของจิตวิญญาณ แน่นอน มิติดังกล่าวนี้ไม่ได้อยู่ในภาวะของวัตถุ ดังที่อัลกุรอานหลายโองการกล่าวเรียกสิ่งนั้นว่า จิตวิญญาณ และในมิติของจิตวิญญาณ หรือมิติแห่งพระเจ้าจะทำให้มนุษย์พบกับชีวิตใหม่หลังจากตายไปแล้ว
ประการที่สอง : บุคลิกภาพที่แท้จริงของมนุษย์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับร่างกาย เพราะร่างกายจะค่อยๆ ถูกทำลายและสลายไป[8] ซึ่งจะไม่ถูกมอบไปที่ใดทั้งสิ้น สิ่งที่สนับสนุนประเด็นดังกล่าวอีกประการหนึ่งคือ โองการเหล่านี้การกระทำบางอย่างของชีวิต เช่น การพูดคุยกับมวลมลัก ความหวัง การต่อรอง ซึ่งได้สัมพันธ์ไปยังมนุษย์หลังจากที่เขาตายไปแล้ว ซึ่งบ่งบอกให้เห็นความจริงว่า แก่นแท้ของมนุษย์ทั้งหมดไม่ใช่ร่างกายที่ปราศจากความรู้สึก มิเช่นนั้นแล้ว การพูดคุย และอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจะไร้ความหมาย และสิ่งนี้คือ บุคลิกภาพที่แท้จริงของมนุษย์ ซึ่งหลังจากตายไปแล้วจะอยู่ภายใต้การควบคลุมของเจ้าหน้าที่แห่งความตาย (มะลาอิกะตุลเมาต์) ฉะนั้น จำเป็นต้องกล่าวว่าความตายคือ การเปลี่ยนสภาพ ไม่ใช่การสูญสิ้น[9] ดังนั้น ความตายจึงเป็นสิ่งมีอยู่สามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้ ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เอง อัลกุรอานจึงเรียกความตายว่าเป็น สิ่งถูกสร้างหนึ่ง[10]
อัลกุรอานบทซุมัร โองการที่ 42 กล่าวว่า:
اللَّهُ یَتَوَفَّى الْأَنفُسَ حِینَ مَوْتِهَا وَالَّتِی لَمْ تَمُتْ فِی مَنَامِهَا فَیُمْسِکُ الَّتِی قَضَى عَلَیْهَا الْمَوْتَ وَیُرْسِلُ الْأُخْرَى إِلَى أَجَلٍ مُسَمًّى إِنَّ فِی ذَلِکَ لَآیَاتٍ لِّقَوْمٍ یَتَفَکَّرُونَ
“อัลลอฮฺ ทรงปลิดชีวิตทั้งหลายเมือครบกำหนดความตายของเขา และชีวิตที่ยังไม่ตายพระองค์จะปลิดขณะนอนหลับ แล้วจะทรงปลิดชีวิตที่ได้ถูกำหนดให้ตายแล้ว และทรงยืดชีวิตออกไปจนถึงเวลาที่ถูกกำหนดไว้ แท้จริงในการนั้นมีสัญญาณสำหรับกลุ่มชนผู้ใคร่ครวญ”
คำสรรพนามในคำว่า เมาติฮา และ มะนามิฮา แม้ว่าภายนอกคำสรรพนามทั้งสองจะย้อนกลับไปหาคำว่า อันฟุซะ ก็ตาม แต่ในความเป็นจริงบ่งชี้ให้เห็นถึง ร่างกายของมนุษย์ทั้งหลาย เนื่องจากสิ่งที่ตายคือ ร่างกาย ไม่ใช่จิตวิญญาณ ดังนั้น ความตายเปรียบเสมือนการนอนหลับที่ยาวนาน การนอนหลับคือความตายชั่วคราว อีกนัยหนึ่งอาจกล่าวได้ว่าความตายกับการนอนหลับไม่มีสิ่งใดแตกต่างกัน เว้นเสียแต่ว่าการนอนหลับคือความตายที่ไม่สมบูรณ์ กล่าวอนุญาตให้วิญญาณกลับเข้าสู่ร่างกายอีกครั้งหนึ่ง[11]
อัลกุรอานบทอัลวากิอะฮฺ โองการที่ 60 และ 61 เข้าใจได้ว่าการเสียชีวิตคือการโยกย้ายจากบ้านหลังหนึ่งไปยังบ้านอีกหลังหนึ่ง หรือเป็นการเปลี่ยนการสร้างหนึ่งไปสู่อีกการสร้างหนึ่งไม่ใช่การสูญสลาย หรือการดับสูญแต่อย่างใด[12] ซึ่งสรุปได้ว่า ความตายคือ การเกิดใหม่ หรือการเกิดรอบสองนั่นเอง
ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) กล่าวว่าเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า: สูเจ้าไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อการดับสูญ (ตาย) ทว่าได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อการดำรงอยู่ เพียงแต่โยกย้ายจากบ้านหลังหนึ่งไปยังบ้านอีกหลังหนึ่งเท่านั้น[13]
ท่นอิมามอะลี (อ.) กล่าวถึงความตายว่า ความตายคือการแยกออกจากบ้านที่สูญสลาย และอนิจกรรมไปยังบ้านที่ดำรงอยู่นิรันดร ดังนั้น ปวงผู้มีสติต้องตระเตรียมความพร้อมยังชาญฉลาด[14] ท่านอิมามฮะซัน (อ.) ได้เปรียบเทียบความตายไว้ว่า เหมือกับสะพานและทางผ่าน โดยกล่าวว่า ปวงผู้ศรัทธาจะต้องผ่านสิ่งนั้นไปด้วยความทุกข์ทรมาน เพื่อไปสู่สถานที่กว้างไพศาล[15]
แต่มีคำถามว่าเราสามารถยืดเวลาความตายให้ล่าช้าออกไปได้หรือไม่ ? สามารถกล่าวได้ว่าตามหลักการของอิสลามได้กล่าวถึงความตายไว้ 2 ลักษณะด้วยกัน[16] อัลกุรอานกล่าวว่า : พระองค์คือผู้ ..ทรงกำหนดเวลาแห่งความตายไว้ และกำหนดที่ถูกระบุไว้อีกกำหนดหนึ่งอยู่ที่พระองค์”[17] หมายถึงมนุษย์ยังมีความตายที่คลุมเครืออีกหนึ่งความตาย ซึ่งอยู่ ณ พระองค์ความตายนั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลงอันใดทั้งสิ้น ซึ่งอัลกุรอาน บทยูนุส โองการที่ 49 กล่าว “เมื่อเวลาของพวกเขามาถึง พวกเขาจะขอผ่อนผันให้ล่าช้าซักระยะหนึ่งไม่ได้ และจะร่นเวลาให้เร็วเข้าก็ไม่ได้"
แน่นอนว่า ความสัมพันธ์ระหว่างความตายที่ถูกกำหนด กับความตายที่ไม่ได้กำหนด เป็นความสัมพันธ์แบบสมบูรณ์แบบมีเงื่อนไข ด้วยเหตุนี้ เป็นไปได้ที่ว่าความตายนั้นจะไม่เกิดขึ้น ถ้าหากไม่มีเงือนไข ซึ่งต่างไปจาก มุฏลักมุนัจญิซ ที่ว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่เกิดขึ้น อัลกุรอานบท อัรเราะอ์ดุ โองการที่ 39 กล่าวว่า
"لکل اجل کتاب یمحو الله ما یشاء و یثبت و عنده ام الکتاب"،
“อัลลอฮทรงยกเลิกสิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์ และทรงยืนหยัดให้มั่น (สิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์) และที่พระองค์คือแม่บทแห่งคัมภีร์(อัลลูฮุลมะฮฟูซ)”
โองการกล่าวว่า ความตายแน่นอน ก็คือสิ่งที่พระองค์บันทึกไว้ใน อัลลูฮุลมะฮฟูซ
คำว่า อุมมุลกิตาบ สามารถนำไปเทียบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแน่นอน หมายถึงเหตุการณ์เมื่อสัมพันธ์ไปยังสาเหตุโดยทั่วไปแล้ว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ส่วนคำว่า แผ่นบันทึกที่ทรงยกเลิกและทรงยึดมั่น สามารถนำไปเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่มีสาเหตุไม่สมบูรณ์ ซึ่งอาจเกิดขึ้นหรือไม่เกิดก็ได้ หรืออาจมีอุปสรรคอย่างอื่นขัดขวางไม่ให้เกิด ด้วยเหตุนี้ บางครั้งความตายที่ถูกำหนดกับไม่ถูกกำหนดอาจจะเข้ากัน หรืออาจไม่เข้ากันก็ได้ ส่วนความตายที่เกิดขึ้นจริงเรียกว่า ความตายที่ถูกำหนด[18]
อย่างไรก็ตาม ความตายที่รอเวลา นั้นมีศักยภาพพอที่จะยืดเวลาให้ล่าช้าออกไปได้ โดยมีอุปสรรคอย่างอื่นมาขัดขวาง ดังจะเห็นได้ว่ารายงานบางบทกล่าวว่า การกระทำภารกิจบางอย่าง จะทำให้อายุขัยของมนุษย์ยืนยาวนานออกไป ซึ่งชี้ให้เห็นประเด็นดังกล่าวนี้เอง ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการงานดังกล่าวนั้นได้เป็นอุปสรรคกีดขวางไม่ให้ความตายเกิดขึ้น
รายงานกล่าวว่า
"یعیش الناس باحسانهم اکثر مما یعیشون باعمارهم و یموتون بذنوبهم اکثر مما یموتون بآجالهم"؛
“ประชาชนได้ดำรงชีวิตด้วยความดีงามต่างๆ ของตน จะมีอายุขัยยืนยาวกว่าบุคคลที่ดำรงชีวิตด้วยอายุขัยธรรมชาติ และมีประชาชนบางกลุ่มตายเนื่องจากบาปกรรมของตน พวกเขาจะมีอายุขัยสั้นกว่าบุคคลที่ตายในเวลากำหนด”[19]
บางครั้งกล่าวว่า การบริจาค (เซาะดะเกาะฮฺ) จะหยุดยั้งความตายที่รอคอย หมายถึงยืดเวลาความตายให้ล่าช้าออกไป[20] ซึ่งจะทำให้อายุขัยของมนุษย์ยืนยาวนานขึ้น ในอีกที่หนึ่งกล่าวว่า การทำความดีกับเครือญาติก็จะเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้อายุขัยของมนุษย์ยืนยาวนานออกไป[21]
สำหรับการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวนี้ (อายุขัยที่ยืนยาวนาน) สามารถศึกษาได้จากหนังมีซานุลฮิกมะฮฺ[22] ภายใต้หัวข้อว่า "ما یدفع الاجل المعلق" و یا "ما یزید فى العمر"
[1] เชค อัรเราะอีส ริซาละตุชชิฟาอ์ มินเคาฟิลเมาต์, หน้า. 340-345
[2] มุลลาซ็อดรอ อัซฟาร เล่ม 9 หน้า 238
[3] ถ้าหากความสัมพันธ์ระหว่างจิตวิญญาณกับร่างกายถูกตัดขาด ซึ่งต่อไปจะไมมีการควบคุมร่างกายอีก เราเรียกสิ่งนั้นว่า ความตาย
[4] อัลกุรอานบทบะเกาะเราะฮฺ โองการที่ 28
[5] อัลกุรอานบทอันนะฮฺลุ โองการที่ 21
[6] ตัฟซีรมีซาน เล่ม 14 หน้า 286
[7] อัลกุรอานบทอันนะฮฺลุ 32, บทอันฟาล 50, บทอันอาม 60, บทซุมัร 42
[8] อัลกุรอาน บทอันอาม โองการที่ 60 กล่าวว่า “พระองค์คือผู้ที่ทรงให้พวกเจ้าตาย” คำว่า พวกเจ้า ก็คือสิ่งที่มาจากพระองค์ ที่เรียกว่า ฉัน หรือตัวเอง ซึ่งสิ่งนี้จะคงอยู่ตลอดไป
[9] ญะวาดออมูลี อับดุลลอฮฺ ตัฟซีรเมาฏูอีกุรอาน เล่ม 3 หน้า 388 , 397, เล่ม 2 หน้า 497, 509
[10] อัลกุรอาน บทมุลก์ โองการที่ 1,2 กล่าวว่า พระผู้ทรงให้มีความตายและให้มีความเป็น ,พัยยอมกุรอาน เล่ม 5 หน้า 430
[11] ฟัยยอมกุรม เล่ม 5 หน้า 433
[12] ตัฟซีรอัลมีซาน เล่ม 19 หน้า 133, เล่ม 20 หน้า 356
[13] บิฮารุลอันวาร เล่ม 6 หน้า 249
[14] นะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺ ซุบฮิ ซอลิฮฺ หน้า 493, โลกคือทางผ่านไปสู่ปรโลก ซึ่งเจ้าถูกเตรียมพร้อมเพื่อโยกย้ายไปที่นั่นตลอดเวลา, อัลกุรอานบทกิยามะฮฺ 26-30
[15] บิฮารุลอันวาร เล่ม 6 หน้า 154, มะอานี อัลอัคบาร หน้า 274, มีซานอัลฮิกมะฮ เล่ม 9 หน้า 234,
[16] บิฮารุลอันวาร เล่ม 5 หน้า 139
[17] อัลกุรอานบทอันอาม โองการที่ 2
[18] อัลมีซาน เฎาะบาเฎาะบาอี เล่ม 7 หน้า 8, 10
[19] บิฮารุลอันวาร เล่ม 5 หน้า 140, มีซานุลฮิกมะฮฺ เล่ม 1 หน้า 30
[20] มุฮัมมัดเรย์ ชะฮฺริ,มีซานุลฮิกมะฮฺ เล่ม 1 หน้า 30
[21] มุฮัมมัดเรย์ ชะฮฺริ,มีซานุลฮิกมะฮฺ บาบ 1464 และบาบ 1467
[22] มุฮัมมัดเรย์ ชะฮฺริ,มีซานุลฮิกมะฮฺ เล่ม 6 หน้า 549 บาบ 2932