มีฮะดีษทั้งในสายของชีอะฮ์และซุนนะฮ์มากมายที่บ่งชี้ถึงความประเสริฐของอะฮ์ลุลบัยต์ของท่านนบี(ซ.ล.)อันประกอบด้วยผู้มีเกียรติทั้งห้า นั่นคือ ตัวท่านนบีเอง, ท่านอิมามอลี, ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์, ท่านอิมามฮะซันและอิมามฮุซัยน์ แน่นอนว่าท่านนบีมิได้ยกย่องบุคคลเหล่านี้เนื่องจากเป็นลูกหลานว่านเครือของตน หากแต่เป็นเพราะคุณสมบัติอันโดดเด่นในแง่วิสัยทัศน์, แนวคิด, ความประพฤติ, เป้าหมายและอุดมการณ์ บุคคลเหล่านี้มิได้มุ่งหวังสิ่งใดนอกจากอัลลอฮ์และความพึงพอใจของพระองค์ พวกเขามีบทบาทในการรักษา ฟื้นฟู รวมทั้งอธิบายบทบัญญัติศาสนาอย่างชัดเจน นอกจากนี้พวกเขายังมีหน้าที่ชี้นำประชาชาติสู่ความเจริญงอกงามทางจิตวิญญาณ อย่างไรก็ตาม จากการที่พวกเขาปฏิบัติหน้าที่ข้างต้นอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ทำให้เหมาะแก่การเชิดชูเกียรติภูมิดังที่ระบุในฮะดีษต่างๆมากมายนั่นเอง.
คำว่า“อะฮ์ลุลบัยต์”ในสำนวนกุรอาน, ฮะดีษ และเทววิทยาอิสลามหมายถึงครอบครัวของท่านศาสดา(ซ.ล.) ดังที่ปรากฏตามความหมายนี้ในโองการตัฏฮี้ร(อายะฮ์33 ซูเราะฮ์อะห์ซาบ)ที่ว่า “แท้จริงอัลลอฮ์ทรงประสงค์ที่ขจัดมลทินให้พ้นจากสูเจ้า โอ้อะฮ์ลุ้ลบัยต์ และจะทรงชำระสูเจ้าให้สะอาดบริสุทธิ.”[1]
นักอรรถาธิบายล้วนตีความโองการดังกล่าวว่า “พระประสงค์”ที่พระองค์ทรงกล่าวถึงในโองการนี้หมายถึงพระประสงค์ในรูป“ตักวีนี”[2](บันดาล) ทั้งนี้ก็เนื่องจากพระประสงค์ในรูปตัชรีอี(บัญญัติ)ครอบคลุมมนุษย์ทุกคนอยู่แล้ว กล่าวคือ ทุกคนสามารถจะบรรลุถึงความบริสุทธิทางจิตวิญญาณได้โดยการปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระองค์โดยปกติ แต่ทว่าในกรณีพระประสงค์ให้บริสุทธิสะอาดในรูปตักวีนี(บันดาล)นั้น มีระบุไว้เฉพาะวงศ์วานท่านนบี(ซ.ล.) กล่าวคือ ตัณหาราคะใดๆไม่อาจจะกร้ำกรายวงศ์วานนี้ได้ สถานภาพพิเศษดังกล่าวเกิดจากการที่วงศ์วานนี้ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่อันสำคัญยิ่ง นั่นคือการนำพาประชาชาติสู่เป้าหมายอันศักดิ์สิทธิที่อิสลามกำหนดไว้.
นอกจากนี้ คุณสมบัติอันโดดเด่นที่วงศ์วานท่านนบีมี ไม่ว่าจะในแง่วิสัยทัศน์อันกว้างไกล ความประพฤติที่งดงาม และอุดมการณ์อันสูงส่ง ล้วนเป็นมูลเหตุที่ทำให้อัลกุรอานและฮะดีษต่างๆมากมายกล่าวเน้นถึงสถานภาพอันสูงส่งของพวกเขา วงศ์วานนี้มิได้มุ่งหวังสิ่งใดนอกจากพระองค์และความพึงพอพระทัยของพระองค์เท่านั้น ดังที่อัลกุรอานกล่าวถึงในซูเราะฮ์ อัลอินซาน ว่า “และพวกเขาเลี้ยงอาหารทั้งที่(พวกเขา)ยังต้องการ(อาหารนั้น) แก่ยาจกและเด็กกำพร้าและเชลยศึก (และกล่าวว่า)เราเลี้ยงอาหารพวกท่านเพื่ออัลลอฮ์ และไม่ต้องการแม้สินน้ำใจหรือคำขอบคุณจากพวกท่าน”[3]
จากการศึกษาอัตชีวประวัติและคำเทศนาของบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์พบว่า เป้าหมายสูงสุดของบุคคลเหล่านี้มิไช่สิ่งใดนอกจากการเชิดชูเอกานุภาพของพระองค์ และต่อต้านการตั้งภาคีและความหลงทางทุกรูปแบบ.
อะฮ์ลุลบัยต์น้อมรับภารกิจอันหนักอึ้งเสมอมาในการรักษาและฟื้นฟูสารธรรมอิสลาม การอรรถาธิบายกุรอาน การแจกแจงบทบัญญัติศาสนา การมอบความเอื้ออาทรแก่ประชาชาติและนำพาพวกเขาสู่เส้นทางแห่งความเจริญงอกงามด้านจิตวิญญาณ ด้วยเหตุนี้เองที่บุคคลเหล่านี้ได้รับการเชิดชูเป็นพิเศษ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ประชาชาติได้รับรู้ถึงสถานะอันสูงส่งของพวกเขา และก้าวเดินตามแนวทางของพวกเขาสู่ทางนำ ดังที่เป้าหมายสูงสุดของกุรอานก็คือการนำทางประชาชาติเช่นกัน“الم، ذلک الکتاب لاریب فیه هدی للمتقین” [4]อย่างไรก็ดี หากได้ลองพิจารณาโองการต่างๆในกุรอานก็จะเข้าใจตรงกันถึงเป้าหมายดังกล่าว ทั้งนี้ การที่บรรดาอิมามของชีอะฮ์ล้วนเป็นผู้นำทางประชาชาติ ทำให้สามารถผนวกเข้าไว้กับคำว่า“อะฮ์ลุ้ลบัยต์”ได้เช่นกันแม้จะต่างยุคสมัย ด้วยเหตุนี้เองที่ท่านนบี(ซ.ล.)ได้ชี้แจงในฐานะที่เป็นผู้อรรถาธิบายโองการกุรอาน เกี่ยวกับตำแหน่งผู้นำศาสนาภายหลังจากท่านโดยเอ่ยถึง“อะฮ์ลุลบัยต์”อย่างสม่ำเสมอ อาทิเช่น
“ฉันขอมอบสองสิ่งมีค่าไว้ท่ามกลางพวกท่าน นั่นคือ คัมภีร์ของอัลลอฮ์ และอิตเราะฮ์,อะฮ์ลุลบัยต์ของฉัน มาตรแม้นพวกท่านยึดเหนี่ยวสองสิ่งนี้ พวกท่านจะไม่มีวันหลงทาง สองสิ่งนี้จะไม่แยกจากกันจวบจนเข้าบรรจบกับฉัน ณ ธารน้ำเกาษัร”[5]
นอกจากนี้ยังมีฮะดีษสะฟีนะฮ์ ที่กล่าวว่า
“แท้จริง อุปมาอะฮ์ลุลบัยต์ของฉัน อุปไมยสำเภาของนู้ฮ์ ผู้ขึ้นโดยสารจะปลอดภัย และผู้เมินเฉยก็จะจม”[6]
ฉะนั้น บทบาทของอะฮ์ลุลบัยต์ในการปกปักษ์รักษาศาสนา, การอรรถาธิบายและชี้แจงบทบัญญัติอิสลาม, การมอบความเอื้ออาทร ดูแล และนำทางประชาชาตินั้น มีความจำเป็นยิ่งยวดถึงขั้นที่หากผู้ใดวางท่าเมินเฉยต่อคำชี้นำของบุคคลเหล่านี้ เท่ากับว่าเขากำลังจมดิ่งสู่ก้นทะเลลึกแห่งความหายนะ
สรุปคือ อะฮ์ลุลบัยต์มิได้มีเป้าหมายใดนอกจากการเชิญชวนสู่พระองค์อัลลอฮ์(ซ.บ)[7]
[1] انما یرید الله لیذهب عنکم الرجس اهل البیت و یطهرکم تطهیرا
[2] อัลมีซานฉบับแปลฟารซี, เล่ม 16, หน้า 467.
[3] อัลอินซาน, 8,9. “وَ یُطْعِمُونَ الطَّعَامَ عَلىَ حُبِّهِ مِسْکِینًا وَ یَتِیمًا وَ أَسِیرًا،إِنمََّا نُطْعِمُکمُْ لِوَجْهِ اللَّهِ لَا نُرِیدُ مِنکمُْ جَزَاءً وَ لَا شُکُورًا”
[4] อัลบะเกาะเราะฮ์, 1,2.
[5] สุนัน ติรมิซี, เล่ม 2, หน้า 380. และ มุสนัด อะฮ์มัด บิน ฮัมบัล, เล่ม 3, หน้า 17.
انی تارک فیکم الثقلین کتاب الله و عترتی اهل بیتی ما ان تمسکتم بهما لن تضلوا بعدی ابداً فانهما لن یفترقا حتی یردا علیّ الحوض
[6] มุสตั๊ดร็อก อัศศอฮีฮัยน์, ฮากิม, เล่ม 2, หน้า 432. และ ฟะฏออิลุลค็อมซะฮ์,ฟีรูซออบอดี เล่ม 3, หน้า 17.
انما مثل اهل بیتی فیکم کسفینة نوح من رکبها نجا و من تخلف عنها غرق
[7] เพื่อข้อมูลเพิ่มเติม, ดู: ดัชนีต่อไปนี้: อะฮ์ลุลบัยต์(อ)และโองการที่ 23 อัชชูรอ(อายะฮ์ มะวัดดะฮ์), คำถามที่ 160 เหตุใดจึงจำกัดอะฮ์ลุลบัยต์ไว้เพียงไม่กี่ท่าน. และ คำถามที่ 243, อะฮ์ลุลบัยต์ของท่านศาสดา(ซ.ล.),คำถามที่ 833.