จากการที่คำถามข้างต้นมีคำถามปลีกย่อยอยู่สองประเด็น เราจึงขอแยกตอบเป็นสองส่วนดังนี้
1. ท่านนบีกล่าวปฏิญาณถึงตำแหน่งของตนในอะซานหรือไม่?
จากการศึกษาฮะดีษต่างๆพบว่า ท่านนบีกล่าวยืนยันถึงสถานภาพความเป็นศาสนทูตของตนอย่างแน่นอน ทั้งนี้ก็เพราะท่านนบีก็มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามศาสนกิจเฉกเช่นคนอื่นๆ นอกเสียจากว่าจะมีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่าท่านนบีได้รับการอนุโลมให้สามารถงดปฏิบัติตามบทบัญญัติใดบ้าง อย่างไรก็ดี ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าท่านได้รับการอนุโลมไม่ต้องเปล่งคำปฏิญาณดังกล่าวในอะซาน ในทางตรงกันข้าม มีหลักฐานยืนยันมากมายว่า ท่านเปล่งคำปฏิญาณถึงเอกานุภาพของอัลลอฮ์ และความเป็นศาสนทูตของตัวท่านเองอย่างชัดเจนและแน่นอน.
2. ท่านนบีกล่าวปฏิญาณถึงตำแหน่งผู้นำของอิมามอลีหรือไม่?
ต้องยอมรับว่าเราไม่พบหลักฐานที่บ่งชี้ชัดเจนว่าท่านเคยกล่าวปฏิญาณดังกล่าว นอกจากนี้ ในสำนวนฮะดีษต่างๆจากบรรดาอิมามที่ระบุเกี่ยวกับบทอะซาน ก็ไม่ปรากฏคำปฏิญาณที่สาม(เกี่ยวกับวิลายะฮ์ของอิมามอลี)แต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี เรามีฮะดีษมากมายที่ระบุถึงผลบุญอันมหาศาลของการเอ่ยนามท่านอิมามอลี(อ)ต่อจากนามของท่านนบี(ซ.ล)(โดยทั่วไป ไม่เจาะจงเรื่องอะซาน) ด้วยเหตุนี้เองที่อุละมาอ์ชีอะฮ์ล้วนฟัตวาพ้องกันว่า สามารถกล่าวปฏิญาณดังกล่าวด้วยเหนียต(เจตนา)เพื่อหวังผลบุญ มิไช่กล่าวโดยเหนียตว่าเป็นส่วนหนึ่งของอะซาน ทั้งนี้ก็เนื่องจากมีข้อสันนิษฐานว่า ประโยคดังกล่าวมิได้เป็นส่วนหนึ่งของอะซานอันถือเป็นศาสนกิจประเภทหนึ่ง.
จากการที่คำถามข้างต้นมีคำถามปลีกย่อยอยู่สองประเด็น เราจึงขอแยกตอบเป็นสองส่วนดังนี้
1. ท่านนบีกล่าวปฏิญาณถึงตำแหน่งของตนในอะซานหรือไม่?
จากการศึกษาฮะดีษต่างๆพบว่า ท่านนบีกล่าวยืนยันถึงสถานภาพความเป็นศาสนทูตของตนอย่างแน่นอน ทั้งนี้ก็เพราะท่านนบีก็มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามศาสนกิจเฉกเช่นคนอื่นๆ นอกเสียจากว่าจะมีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่าท่านนบีได้รับการอนุโลมให้สามารถงดปฏิบัติตามบทบัญญัติใดบ้าง อย่างไรก็ดี ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าท่านได้รับการอนุโลมไม่ต้องเปล่งคำปฏิญาณดังกล่าวในอะซาน ในทางตรงกันข้าม มีหลักฐานยืนยันมากมายว่า ท่านเปล่งคำปฏิญาณถึงเอกานุภาพของอัลลอฮ์ และความเป็นศาสนทูตของตัวท่านเองอย่างชัดเจนและแน่นอน.
อิมามบากิรกล่าวว่า “ค่ำคืนเมี้ยะรอญ ท่านนบีเข้าสู่บัยตุลมะอ์มูรตรงกับช่วงเวลานมาซพอดี ญิบรออีลจึงกล่าวอะซานและอิกอมะฮ์ ท่านนบียืนนำนมาซ โดยที่แถวมลาอิกะฮ์มากมายนมาซตามท่านโดยพร้อมเพรียง ภายหลังมีผู้ถามท่านว่าญิบรออีลอะซานอย่างไร? ท่านตอบว่า “อัลลอฮุอักบัร อัชฮะดุอัลลาอิลาฮะอิลลัลลอฮ์ อัชฮะดุอันนะมุฮัมมะดัรร่อซูลุลลอฮ์ ...ฯลฯ”[1]
นอกจากนี้ยังมีฮะดีษที่ระบุชัดเจนกว่า โดยท่านอิมามฮุเซน(อ)รายงานจากท่านอิมามอลี(อ)ว่า “อัลลอฮ์ได้ส่งมะลาอิกะฮ์องค์หนึ่งลงมาเพื่อพาท่านนบีขึ้นสู่เมี้ยะรอจ ณ ที่นั่น มะลาอิกะฮ์อีกองค์หนึ่งกำลังกล่าวอะซาน ซึ่งมะลาอิกะฮ์องค์นี้ปรากฏกายเฉพาะเหตุการณ์เมี้ยะรอจเท่านั้น ญิบรออีลกล่าวแก่ท่านนบีว่า “ขอให้ท่านจงกล่าวอะซานเช่นนี้ก่อนนมาซเถิด”[2] ประโยคดังกล่าวระบุชัดเจนว่าท่านนบีเองก็ต้องกล่าวอะซานในลักษณะที่ไม่ต่างจากคนอื่นๆ
2. ท่านนบีกล่าวปฏิญาณถึงตำแหน่งผู้นำของอิมามอลีหรือไม่?
เราไม่พบหลักฐานที่บ่งชี้ชัดเจนว่าท่านเคยกล่าวปฏิญาณดังกล่าว แม้ว่าในหนังสือ...จะรายงานเหตุการณ์ที่ท่านซัลมาน ฟารซี ได้เพิ่มคำปฏิญาณถึงตำแหน่งวลียุลลอฮ์ของอิมามอลีในอะซาน ซึ่งเป็นเหตุให้ศ่อฮาบะฮ์บางส่วนไม่พอใจและฟ้องต่อท่านนบี(ซ.ล) ทว่าท่านกลับเมินเฉยต่อคำทักท้วงดังกล่าว อันถือเป็นการอนุมัติให้สามารถกระทำได้ตามนั้น.
นอกจากนี้ยังมีอีกฮะดีษหนึ่งที่เล่าว่า หลังเหตุการณ์เฆาะดีร คุม ท่านอบูซัรได้อะซานโดยเปล่งคำปฏิญาณถึงฐานะภาพผู้นำของท่านอิมามอลี บุคคลกลุ่มหนึ่งได้นำฟ้องท่านนบี ทว่าท่านนบีกล่าวว่า “พวกท่านไม่ได้ยินคุฏบะฮ์(เทศนา)ของฉันในวันเฆาะดีร คุม ที่ได้มีการประกาศสถานะผู้นำของอลี(อ)กระนั้นหรือ?” ท่านกล่าวเสริมว่า “พวกท่านไม่เคยได้ยินคำพูดของฉันหรือ ที่ว่าใต้ผืนฟ้าและบนแผ่นดินไม่อาจพบผู้ใดที่มีสัจจะยิ่งไปกว่าอบูซัร” หลังจากนั้น ท่านนบีจึงเปิดโปงโฉมหน้าของผู้ทักท้วงเหล่านั้นว่า “พวกเจ้านี่แหล่ะ ที่จะผินหลังภายหลังจากฉัน!”[3]
อย่างไรก็ตาม ฮะดีษเหล่านี้ไม่ระบุสายรายงาน และไม่ปรากฏในตำราฮะดีษก่อนศตวรรษที่ 7 (ฮ.ศ) จึงไม่สามารถจะนำมาพิจารณาสายรายงานได้
นอกจากนี้ ฮะดีษจากบรรดาอะฮ์ลุลบัยตี่แจกแจงรายละเอียดเกี่ยวกับท่อนต่างๆในอะซาน ก็มิได้เอ่ยถึงคำปฏิญาณที่สามนี้แต่อย่างใด ซึ่งก็ทำให้ทราบถึงอะซานในยุคของท่านนบี(ซ.ล)ได้เป็นอย่างดี.
อย่างไรก็ดี ยังมีฮะดีษมากมายที่ระบุถึงผลบุญอันมหาศาลสำหรับการกล่าวปฏิญาณที่สาม “اشهد ان علی ولی الله” ต่อจากปฏิญาณต่อเอกานุภาพของอัลลอฮ์ และต่อตำแหน่งศาสนทูตของท่านนบี(ซ.ล) ซึ่งเราจะขอหยิบยกมาโดยสังเขปดังนี้
มีฮะดีษจากท่านอิมามศอดิก(อ)กล่าวว่า หลังจากสร้างชั้นฟ้าและแผ่นดินแล้ว อัลลอฮ์ทรงบัญชาให้มีสุรเสียงปฏิญาณสามประการดังกล่าว[4]
อีกฮะดีษหนึ่งจากท่านอิมามศอดิกเช่นกัน “อัลลอฮ์ทรงสร้างบัลลังก์อะร็อชและ.... แล้วจึงทรงจารึกไว้ว่า
لا اله الا الله محمد رسول الله علی امیرالمؤمنین
แล้วท่านอิมามศอดิกก็กล่าวต่อไปว่า “เมื่อพวกท่านกล่าว لا اله الا الله محمد رسول اللهจึงควรกล่าว علی امیرالمؤمنین ولی الله ด้วย[5]
เนื้อหาของบางฮะดีษระบุว่า การเอ่ยถึงท่านอิมามอลีต่อจากอัลลอฮ์และท่านเราะซูล ไม่ว่าจะในหรือนอกอะซาน ล้วนเป็นที่อนุมัติและเป็นที่โปรดปรานของพระองค์[6]
แต่อย่างไรก็ดี ด้วยเหตุที่การปฏิญาณที่สามมีข้อสันนิษฐานว่าอาจไม่ไช่ส่วนหนึ่งของอะซาน เมื่อพิจารณาประกอบกับการที่อะซานถือเป็นศาสนกิจประเภทหนึ่ง จึงทำให้ผู้รู้ทางฝ่ายชีอะฮ์เห็นพ้องกันว่า วลีดังกล่าวมิไช่ส่วนหนึ่งของอะซาน แต่อนุญาตให้กล่าวด้วยเหนียตแสวงผลบุญ มิไช่เหนียตว่าเป็นส่วนหนึ่งของอะซานที่ต้องกล่าว.[7]
[1] เชคฏูซี,ตะฮ์ซีบุล อะห์กาม,ดารุล อัฎวาอ์,เบรุต, เล่ม 2, หน้า 60, ฮะดีษ 3.
[2] กอฎี นุอ์มาน ตะมีมี, ดะอาอิมุลอิสลาม, ดารุลมะอาริฟ, เล่ม 1, หน้า 142.
[3] ดู: เชคอับดุลลอฮ์ มะรอฆี,อัสสะลาฟะฮ์ ฟี อัมริลคิลาฟะฮ์,(ท่านเป็นผู้รู้ฝ่ายอะฮ์ลิสซุนนะฮ์ศตวรรษที่เจ็ด หนังสือของท่านเป็นหนังสือเขียนมือที่ยังอยู่ในห้องสมุอซอฮิรียะฮ์ ดามัสกัส.)
[4] บิฮารุลอันว้าร, เล่ม 37,หน้า.ฮะดีษ 295. บท 54./ เชคศ่อดู้ก,อะมาลี,มัจลิสที่ 88. (ดูเหมือนว่าสุรเสียงนี้จะเป็นการขานตอบผู้ที่อยู่ในยุคแห่งอาลัม ซัร. ท่านอิมามบากิร(อ)กล่าวว่า
“: ان الله اخذ من بنی آدم من ظهورهم ذریتهم فقال الست ربکم و محمد رسولی و علی امیرالمؤمنین قالو بلی”) อิบนุฏอวู้ส,อัลยะกีน, หน้า 50,55,88.
[5] บิฮารุลอันว้าร, เล่ม 27, หน้า 1, บท 1.
[6] อ้างแล้ว, เล่ม 38, หน้า 318-319 ฮะดีษ 27 บทที่ 67 และเล่ม 27, หน้า 8, และเล่ม 16, บทที่ 10, 1.
[7] ประมวลฟัตวา(รวมภาคผนวก) เล่ม 1, ปัญหาที่ 919 หน้า 519 ระบุว่า اشْهَدُ انَّ عَلِیّاً وَلِیُّ اللَّهِมิไช่ส่วนหนึ่งของอะซาน แต่เหมาะที่จะกล่าวหลัง اشْهَدُ انَّ مُحَمَّداً رَسُولُ اللَّهِด้วยเหนียตแสวงผลบุญ
อายะตุลลอฮ์ ซันญอนี: แน่นอนว่าวิลายะฮ์ของอมีรุ้ลมุอ์มินีนและวงศ์วานถือเป็นส่วนสำคัญของอีหม่าน และอิสลามที่ปราศจากสิ่งดังกล่าวย่อมไม่ต่างจากเปลือกที่ไร้เนื้อหา จึงเป็นการดีที่จะเอ่ยถึงวิลายะฮ์ของท่านและตำแหน่งอิมามที่เชื่อมต่อยังนบีของท่าน และวิลายะฮ์ของบรรดามะอ์ศูมีน ด้วยเจตนาแสวงบาเราะกัตและผลบุญจากพระองค์ โดยพยายามเลี่ยงอย่าให้คล้ายกับประโยคหลักของอะซาน.
อายะฯ มะการิมฯ ให้กล่าวด้วยเหนียตแสวงบาเราะกัตจากอัลลอฮ์ แต่ควรเป็นลักษณะที่ฟังแล้วทราบว่าไม่ไช่ส่วนหนึ่งของอะซาน.