Please Wait
8681
เหตุผลที่มีการเอ่ยนามอันจำเริญของท่านนบี(ซ.ล.)ไว้ในโองการที่กล่าวมาก็เพื่อแสดงถึงความสำคัญของประโยคนี้ในโองการ ทั้งนี้ อัลลอฮ์ทรงประสงค์จะเทิดเกียรติท่านนบี(ซ.ล.)ด้วยการเอ่ยนามท่าน นักอรรถาธิบายกุรอานบางคนเชื่อว่าอีหม่านในท่อนที่สองเป็นการเจาะจง เพราะท่อนที่สองเน้นย้ำถึงคำสอนของท่านนบี(ซ.ล.) กล่าวคือ ความศรัทธาต่ออัลลอฮ์จะไม่มีวันครบถ้วนสมบูรณ์ได้เว้นแต่จะต้องศรัทธาต่อคำสอนที่วิวรณ์แก่ท่านนบี(ซ.ล.)ด้วย บางคนเชื่อว่าการเอ่ยนามท่านนบี(ซ.ล.)มีจุดประสงค์เพื่อมิให้ชาวคัมภีร์อ้างได้ว่า เราศรัทธาเพียงอัลลอฮ์และบรรดาศาสดา ตลอดจนคัมภีร์ของพวกเราเท่านั้น
เพื่อจะทราบเหตุผลของการเอ่ยนามท่านนบี(ซ.ล.) เราต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า ท่อนกลางของโองการ آمَنُوا بِما نُزِّلَ عَلى مُحَمَّدٍ ต้องการจะสื่อเนื้อหาใด เพื่อจะเข้าใจสาเหตุที่มีการเอ่ยนามท่าน
อัลลอฮ์ได้แถลงถึงฮุกุ่มบางประการที่ถือเป็นความโปรดปรานอย่างหนึ่งก็ว่าได้ นั่นก็คือการที่พระองค์จะทรงลบเลือนบาปและฟื้นฟูจิตใจของบุคคลบางกลุ่ม[1] แต่กลุ่มใดจะได้รับความโปรดปรานนี้นั้น มีข้อเฉลยอยู่สองประโยคในตอนต้นของโองการ หนึ่ง وَ الَّذِینَ آمَنُوا وَ عَمِلُوا الصَّالِحاتِ (ผู้มีศรัทธาและประพฤติดี) สอง آمَنُوا بِما نُزِّلَ عَلى مُحَمَّدٍ (ผู้มีศรัทธาต่อคำสอนของท่านนบี) ส่วนปริศนาที่ว่า สองท่อนนี้มีความเกี่ยวโยงกันอย่างไร และสื่อความหมายใดนั้น ยังมีข้อถกเถียงระหว่างนักอรรถาธิบายกุรอาน
หากมองโดยผิวเผินจะทราบว่าในท่อนแรกมีกรอบความหมายที่ค่อนข้างกว้าง และครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายในท่อนที่สอง ฉะนั้น ท่อนที่สองจึงเป็นการเน้นย้ำผู้ศรัทธาบางกลุ่มเท่านั้น อย่างไรก็ดี การอธิบายเช่นนี้มิได้เป็นทัศนะโดยเอกฉันท์ในหมู่นักอรรถาธิบาย ทว่ายังมีข้อคิดบางประการที่ช่วยให้เข้าใจท่อนที่สองมากยิ่งขึ้น ซึ่งเราจะนำเสนอบางทัศนะต่อไปนี้:
ก. นักอรรถาธิบายกุรอานบางคนเชื่อว่าอีหม่านในท่อนที่สองมีนัยยะกว้างกว่าท่อนแรก เพราะท่อนที่สองเน้นย้ำถึงคำสอนของท่านนบี(ซ.ล.)เป็นหลัก กล่าวคือ ความศรัทธาต่ออัลลอฮ์จะไม่มีวันครบถ้วนสมบูรณ์ได้เว้นแต่จะต้องศรัทธาต่อคำสอนที่วิวรณ์แก่ท่านนบี(ซ.ล.)ด้วย[2]
ข. นักอรรถาธิบายอีกกลุ่มหนึ่งเชื่อว่าท่อนที่สองมีลักษณะเป็นเงื่อนไขที่จำกัดบุคคลในท่อนแรก ซึ่งต้องการจะสื่อว่าความโปรดปรานในโองการมีให้เฉพาะกลุ่มบุคคลในท่อนที่สองเท่านั้น มิไช่ต้องการจะเน้นย้ำเนื้อหาในท่อนแรก[3]
ค. บางกลุ่มมีทัศนะตรงกันข้ามกับทัศนะที่สอง โดยเชื่อว่าท่อนที่สองของโองการไม่เพียงแต่จะไม่เจาะจง แต่ยังขยายความให้ท่อนแรกอีกด้วย และยังเชื่อว่าสำนวน الذین آمنوا หมายถึงการศรัทธาต่ออัลลอฮ์ นบี และการฟื้นคืนชีพ ส่วนสำนวน آمنوا بما نزل علی محمد หมายรวมถึงทุกคำสอนที่มีมายังท่านนบี(ซ.ล.) อันถือเป็นการขยายขอบเขตเนื้อหาเพื่อให้สอดรับกับฮุกุ่มที่จะตามมา[4]
ง. บางคนเชื่อว่าท่อนแรกสื่อถึงการศรัทธาต่ออัลลอฮ์ ซึ่งมีนัยยะเชิงหลักความเชื่อ แต่ท่อนที่สองสื่อถึงการศรัทธาต่อคำสอนของอิสลามและท่านนบี ซึ่งมีนัยยะเชิงปฏิบัติ กล่าวคือ การศรัทธาต่ออัลลอฮ์ถือว่ายังไม่เพียงพอ แต่จะต้องศรัทธาต่อ ما انزل علیه อันหมายถึงศรัทธาต่อกุรอาน ญิฮาด นมาซ การถือศีลอด และคุณค่าทางจริยธรรมที่วิวรณ์แก่ท่านนบีด้วย[5] จึงจะส่งผลให้อัลลอฮ์ทรงอภัยโทษและฟื้นฟูจิตใจของเขา เมื่อเป็นเช่นนี้แสดงว่าสองท่อนในโองการนี้มีเนื้อหาที่ไม่เกี่ยวข้องกัน จึงไม่ไช่ทั้งจำกัดหรือขยายความของกันและกัน
จ. บางคนเชื่อว่าการกล่าวซ้ำสองท่อนในโองการนี้เป็นการกล่าวถึงบุคคลสองกลุ่ม ท่อนแรกหมายถึงท่านอบูซัร สัลมาน อัมม้าร และมิกด้าด ส่วนท่อนที่สองหมายถึงท่านอิมามอลี(อ.) การมีสองสำนวนก็เพื่อสื่อถึงบุคคลสองกลุ่ม[6]
จากคำชี้แจงดังกล่าวทั้งหมดก็พอจะทำให้ทราบถึงความสำคัญของท่อนที่สองของโองการ ฉะนั้น ที่ต้องเอ่ยนามท่านนบี(ซ.ล.)ในท่อนที่สองก็เพื่อชี้ให้เห็นถึงความสำคัญดังกล่าว ทั้งนี้ อัลลอฮ์ทรงเอ่ยนามท่านนบี(ซ.ล.)ก็เพราะทรงประสงค์ที่จะเทิดเกียรติท่าน ดังที่นักอรรถาธิบายบางคนเชื่อว่า “สาเหตุที่โองการนี้เอ่ยนามท่านนบี(ซ.ล.)และกล่าวถึงการศรัทธาต่อท่านเป็นการเฉพาะก็เพื่อเป็นการยกย่องท่าน”[7] บางคนให้ข้อคิดเห็นถึงสาเหตุของเรื่องนี้อย่างน่าสนใจว่า “โองการนี้เอ่ยนามท่านนบี(ซ.ล.)ก็เพื่อมิให้ชาวคัมภีร์อ้างได้ว่า เราศรัทธาเพียงอัลลอฮ์และบรรดาศาสดา ตลอดจนคัมภีร์ของพวกเราเท่านั้น”[8]
[1] کَفَّرَ عَنهمْ سَیِّاتهِمْ وَ أَصْلَحَ بَالهمْ
[2] มะการิม ชีรอซี,นาศิร,ตัฟซี้รเนมูเนะฮ์,เล่ม 21,หน้า 294,ดารุลกุตุบิลอิสลามียะฮ์,เตหราน,ปี 1374
[3] เฏาะบาเฏาะบาอี,ซัยยิด มุฮัมมัด ฮุเซน, อัลมีซาน ฟีตัฟซีริลกุรอาน,เล่ม 18,หน้า 223,ญามิอะฮ์ มุดัรริซีน สถาบันศาสนาเมืองกุม,กุม,ฮ.ศ. 1417
[4] ฟัครุดดีน รอซี,อบูอับดิลลาฮ์ มุฮัมมัด บิน อุมัร,มะฟาตีฮุลฆ็อยบ์,เล่ม 28,หน้า 35,ดาร อิห์ยาอิตตุรอษิลอะเราะบี,เบรุต,ฮ.ศ.1420
[5] ตัฟซี้รเนมูเนะฮ์,เล่ม 21,หน้า 394
[6] บะฮ์รอนี,ซัยยิด ฮาชิม, อัลบุรฮาน ฟี ตัฟซีริลกุรอาน,เล่ม 5,หน้า 56, มูลนิธิบิอ์ษัต,เตหราน,ฮ.ศ.1416
[7] เฏาะบัรซี,ฟัฎล์ บิน ฮะซัน,มัจมะอุ้ลบะยาน ฟีตัฟซีริลกุรอาน,เล่ม 9,หน้า 147,สำนักพิมพ์ นาศิร โคสโร,เตหราน,ปี 1372
[8] เพิ่งอ้าง