ผู้เยี่ยมชม
6765
อัปเดตเกี่ยวกับ: 2554/08/03
รหัสในเว็บไซต์ fa1123 รหัสสำเนา 15611
คำถามอย่างย่อ
เรื่องอุปโลกน์“เฆาะรอนี้ก”มีที่มาที่ไปอย่างไร?
คำถาม
กรุณาชี้แจงเกี่ยวกับโองการเฆาะรอนี้ก ที่กล่าวกันว่านบี(ซ.ล.)เสียรู้ชัยฏอนโดยการชมเชยรูปเจว็ด หากไม่มีหลักฐานอ้างอิง แล้วเรื่องนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร?
คำตอบโดยสังเขป

เรื่องเล่าเฆาะรอนี้กอุปโลกน์ขึ้นโดยผู้ไม่หวังดี ซึ่งหวังจะลดทอนความน่าเชื่อถือของกุรอานและท่านนบี(..)ลง เรื่องมีอยู่ว่าวันหนึ่ง ท่านนบีกำลังอ่านซูเราะฮ์อันนัจม์อยู่ เมื่ออ่านถึงโองการที่กล่าวถึงชื่อรูปเจว็ดที่ว่า
أَ فَرَءَیْتُمُ اللَّاتَ وَ الْعُزَّى‏ وَ مَنَوةَ الثَّالِثَةَ الْأُخْرَى (นะอูซุบิลลาฮ์) ชัยฏอนได้กระซิบกระซาบให้ท่านนบี(..)กล่าวต่อไปว่า
تلک الغرانیق العلى، و ان شفاعتهن لترتجى ซึ่งแปลว่ารูปเจว็ดเหล่านี้เปรียบประดุจวิหคงามสูงส่ง ซึ่งการช่วยเหลือของรูปเคารพเหล่านี้เป็นที่ปรารถนาเมื่อจบประโยคนี้ ท่านนบี(..)ได้ก้มลงสุญูด และเหล่ามุชริกีนก็สุญูดตาม กระทั่งญิบรออีลได้แจ้งว่าสองประโยคข้างต้นมิไช่กุรอาน แต่เป็นการกระซิบกระซาบของชัยฏอน
เบาะแสต่างๆพิสูจน์แล้วว่าฮะดีษที่เล่าเหตุการณ์นี้เป็นฮะดีษที่อุปโลกน์ขึ้น เป็นเหตุให้นักวิชาการมุสลิมไม่ว่าสายชีอะฮ์หรือซุนหนี่ปฏิเสธฮะดีษบทนี้ โดยถือว่าเป็นผลงานอุปโลกน์ของเหล่านักกุฮะดีษ

คำตอบเชิงรายละเอียด

เกี่ยวกับนิยายปรัมปราเฆาะรอนี้กนั้น มีฮะดีษพิศดารบทหนึ่งในตำราของพี่น้องอะฮ์ลิสซุนนะฮ์ โดยรายงานจากอิบนิอับบาสว่าขณะที่ท่านนบี(..)กำลังอ่านซูเราะฮ์อันนัจม์จนกระทั่งถึงโองการที่มีชื่อของเจว็ดที่ว่า أَ فَرَءَیْتُمُ اللَّاتَ وَ الْعُزَّى‏ وَ مَنَوةَ الثَّالِثَةَ الْأُخْرَى (สูเจ้าแลเห็นรูปเจว็ดล้าตและอุซซาและมะน้าต(เป็นธิดาของพระเจ้า)หรืออย่างไร?)[1] เมื่อถึงวรรคนี้ ชัยฏอนได้สะกดให้ท่านนบีเปล่งประโยคอีกสองประโยค นั่นคือ تلک الغرانیق العلى، و ان شفاعتهن لترتجى (รูปเจว็ดเหล่านี้คือเหล่าวิหคงามที่สูงส่ง และการช่วยเหลือของรูปเคารพเหล่านี้ล้วนเป็นที่ปรารถนา)[2] เมื่อได้ยินเช่นนี้ เหล่ากาเฟรมุชริกีนพากันดีใจโดยกล่าวว่าก่อนหน้านี้มุฮัมมัดไม่เคยพูดถึงเทพเจ้าของเราในแง่ดีเลยทันใดนั้น ท่านนบีได้ก้มลงสุญูด และเหล่ามุชริกีนก็สุญูดตามท่าน แต่ญิบรออีลได้รุดมาแจ้งแก่ท่านนบีว่าสองโอการสุดท้ายนั้น ฉันมิได้นำมา ทว่าเป็นการสะกดของชัยฏอน ในขณะนี้เอง โองการ
وَ ما أَرْسَلْنا مِنْ قَبْلِکَ مِنْ رَسُولٍ وَ لا نَبِیٍّ ... ก็ได้ประทานลงมาเพื่อปรามาสท่านนบีและผู้ศรัทธา[3]

แม้ศัตรูอิสลามจะถือโอกาสโหมกระแสเกี่ยวกับฮะดีษนี้เพื่อหวังสกัดกั้นการเติบโตของอิสลาม แต่หากพิจารณาไห้ดีจะพบเบาะแสที่ชี้ชัดว่าฮะดีษนี้ถูกอุปโลกน์ขึ้นโดยผู้ไม่หวังดี เพื่อจะบั่นทอนความน่าเชื่อถือของกุรอานและวจนะของท่านนบี(..) เนื่องจากเหตุผลต่อไปนี้:
1. 
นักวิชาการลงความเห็นว่าฮะดีษนี้มีสายรายงานอ่อนและไม่น่าเชื่อถือ และพิสูจน์ไม่ได้ว่ารายงานโดยอิบนิอับบาส ผู้เชี่ยวชาญฮะดีษอย่างมุฮัมมัด บิน อิสฮ้ากได้เขียนตำราเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะ และถือว่าฮะดีษดังกล่าวอุปโลกน์ขึ้นโดยพวกไม่เชื่อในพระเจ้า[4]

2. ฮะดีษมากมายกล่าวถึงเหตุของการประทานซูเราะฮ์นี้ ตลอดจนเหตุการณ์สุญูดของท่านนบี(..)และเศาะฮาบะฮ์ แต่ไม่มีรายงานใดกล่าวถึงเรื่องเท็จเฆาะรอนี้กเลย แสดงว่าข้อครหานี้ถูกเพิ่มเติมในภายหลัง[5]

3. โองการแรกๆของซูเราะฮ์นี้ปฏิเสธนิยายปรัมปรานี้โดยสิ้นเชิง ดังที่กล่าวว่าเขา(ท่านนบี(..))ไม่พูดโดยอารมณ์ (คำพูดของท่าน)มิไช่สิ่งใดเว้นแต่เป็นวิวรณ์[6] โองการนี้จะสอดคล้องกับนิยายเฆาะรอนี้กได้อย่างไร?

4. โองการต่อจากชื่อรูปเจว็ดล้วนประณามการนับถือเจว็ดเหล่านี้ โดยถือว่าเจว็ดเหล่านี้เป็นเพียงจินตนาการอันไร้สาระของมนุษย์ ซึ่งไม่สามารถให้ประโยชน์ใดๆได้เลย กุรอานกล่าวว่านามเหล่านี้ สูเจ้าและบรรพบุรุษเป็นผู้ตั้งให้รูปเจว็ดเหล่านี้เอง ทั้งที่อัลลอฮ์มิได้กล่าวถึงชื่อ(รูปเจว็ด)เหล่านี้แต่อย่างใด พวกเขาคล้อยตามอารมณ์ไฝ่ต่ำและจินตนาการอันไร้สาระ ทั้งที่อัลลอฮ์ประทานทางนำแก่พวกเขาแล้ว![7]
เป็นไปได้อย่างไรที่จะมีโองการที่ชมเชยรูปเจว็ดก่อนหน้าโองการที่ตำหนิพฤติกรรมนี้อย่างแข็งกร้าว  ยิ่งไปกว่านั้น อัลลอฮ์ทรงรับประกันว่าจะพิทักษ์กุรอานจากการบิดเบือน ความเฉไฉ และการสูญสลาย ดังที่มีโองการกล่าวว่าแท้จริงเราคือผู้ประทานกุรอาน และแน่แท้ เราคือผู้พิทักษ์กุรอานอย่างไม่ต้องสงสัย[8]

5. ท่านนบีต่อสู้กับปรากฏการณ์บูชารูปเจว็ดอย่างต่อเนื่องและไม่ย่อท้อ นับตั้งแต่แรกเริ่มจวบจนลมหายใจสุดท้าย ในทางปฏิบัติแล้ว ท่านไม่เคยแสดงท่าทีอ่อนข้อต่อการเคารพรูปเจว็ดแม้ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด ฉะนั้น จะเป็นไปได้อย่างไรที่ท่านจะพูดประโยคที่ไร้สาระเหล่านี้

6. แม้ต่างศาสนิกจะไม่ยอมรับว่าท่านนบี (..) คือศาสดา แต่อย่างน้อยก็ยอมรับว่าท่านในฐานะปราชญ์ผู้ทรงปัญญา ที่สามารถเอาชนะอุปสรรคนานัปการด้วยปัญญาอันเลอเลิศ คนที่มีคุณสมบัติเช่นนี้ กอปรกับการที่มีคำขวัญว่า ลาอิลาฮะอิ้ลลัลลอฮ์ และมุ่งมั่นคัดค้านการบูชารูปเจว็ดทุกประเภท เป็นไปได้อย่างไรที่จะผละจากอุดมการณ์หลักของตน และยกย่องเทิดทูนรูปเจว็ดเยี่ยงนี้

จากเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมา ชี้ให้เห็นว่าฮะดีษนี้ถูกอุปโลกน์โดยศัตรูผู้เบาปัญญา ที่หาโอกาสบั่นทอนความน่าเชื่อถือของกุรอานและวจนะท่านนบี(..)  แต่นักวิชาการมุสลิมทั่วไปไม่ว่าจะฝ่ายชีอะฮ์หรือซุนหนี่ล้วนปฏิเสธนิยายเรื่องนี้ และถือว่าเป็นนิยายที่นักกุฮะดีษอุปโลกน์ขึ้น[9]
อย่างไรก็ดี มีนักอรรถธิบายบางท่าน ได้ชี้แจงเกี่ยวกับฮะดีษดังกล่าว(ในกรณีสามารถพิสูจน์ความถูกต้องของรายงานบทนี้ได้)ว่า โดยทั่วไปแล้ว ท่านนบีจะอัญเชิญกุรอานอย่างช้าๆพร้อมกับไคร่ครวญ บางครั้งท่านก็จะเว้นวรรคชั่วครู่ระหว่างโองการ ครั้งหนึ่งเมื่อท่านอ่านซูเราะฮ์อันนัจม์จนถึงโองการ أَ فَرَأَیْتُمُ اللَّاتَ وَ الْعُزَّى وَ مَناةَ الثَّالِثَةَ الْأُخْرى‏ พลันเหล่ามุชริกีนมักกะฮ์ผู้มีนิสัยดุจซาตานได้กล่าวแทรกขึ้นมาว่า
تلک الغرانیق العلى و ان شفاعتهن لترتجى เพื่อขัดจังหวะท่านนบี และยังหวังจะทำให้ผู้ฟังสับสน อย่างไรก็ดี โองการต่อมาได้ประณามการบูชารูปเจว็ดอย่างเผ็ดร้อน[10]

เมื่อสามารถปฏิเสธหรือชี้แจงนิยายดังกล่าวได้ การที่บางคนพยายามอธิบายว่า ท่านนบีต้องการอะลุ่มอล่วยแก่กาฟิรมุชริกีนมักกะฮ์เพื่อที่จะดึงดูดและเผยแผ่สัจธรรมนั้น ถือเป็นทัศนะที่ผิดมหันต์ อันแสดงว่าคนเหล่านี้ไม่เคยรู้จักท่าทีของท่านนบีที่มีต่อการเคารพบูชารูปเจว็ด หรือไม่เคยได้ยินเรื่องราวที่กาฟิรมุชริกีนพร้อมจะปรนเปรอความร่ำรวยแก่ท่านนบี แต่ท่านก็ไม่แยแสและยังยืนยันจะต่อสู้ต่อไป หรืออาจทราบดีแต่แสร้งเป็นไม่รู้[11]



[1] อันนัจม์, 19,20.

[2] เฆาะรอนี้ก เป็นพหูพจน์ของ ฆุรนู้ก หมายถึงนกน้ำชนิดหนึ่งที่มีทั้งประเภทสีขาวหรือดำ แต่ก็ยังมีความหมายอื่นๆเช่นกัน

[3] ตัฟซีรอัลมีซานอธิบายถึงอายะฮ์ดังกล่าว โดยระบุว่าฮะดีษนี้บันทึกโดยเหล่าฮาฟิซฮะดีษชาวซุนหนี่ อาทิเช่น อิบนิ ฮะญัร

[4] ตัฟซี้ร กะบี้ร,ฟัครุร รอซี,เล่ม 23,หน้า 50.

[5] อ้างแล้ว

[6] อันนัจม์, 3,4, وَ ما یَنْطِقُ عَنِ الْهَوى‏ إِنْ هُوَ إِلَّا وَحْیٌ یُوحى

[7] อันนัจม์, 23, إِنْ هِیَ إِلَّا أَسْماءٌ سَمَّیْتُمُوها أَنْتُمْ وَ آباؤُکُمْ ما أَنْزَلَ اللَّهُ بِها مِنْ سُلْطانٍ إِنْ یَتَّبِعُونَ إِلَّا الظَّنَّ وَ ما تَهْوَى الْأَنْفُسُ وَ لَقَدْ جاءَهُمْ مِنْ رَبِّهِمُ الْهُدى‏

[8] อัลฮิจร์, 9, إِنَّا نَحْنُ نَزَّلْنَا الذِّکْرَ وَ إِنَّا لَهُ لَحافِظُونَ

[9] มัจมะอุ้ลบะยาน,ตัฟซีรกะบี้ร,ตัฟซีรฟีซิลาลของกุรฏุบี,ตัฟซีรอัศศอฟี,รูฮุ้ลมะอานี,อัลมีซาน และตัฟซีรอื่นๆที่อรรถาธิบายโองการดังกล่าว

[10] ตัฟซี้รกุรฏุบี,เล่ม 7,หน้า 4474. และตัฟซี้รมัจมะอุ้ลบะยานได้ถือเป็นข้อสันนิษฐานหนึ่ง

[11] อ้างถึงใน.ตัฟซี้รเนมูเนะฮ์,เล่ม 14,หน้า142-145.

แปลคำถามภาษาต่างๆ