Please Wait
5950
ทุกยุคสมัยมักมีประเด็นปัญหาใหม่ๆให้นักวิชาการได้ขบคิดและตอบคำถามเรื่อยมา เชคฏูซีก็ถือเป็นปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ที่รับผิดชอบภารกิจนี้อย่างดีเยี่ยม แนวคิดทางการเมืองการปกครองของเชคฏูซีสรุปได้ดังนี้
ท่านไม่เห็นด้วยกับการจำแนกศาสนาจากการเมือง
ท่านใช้ข้อพิสูจน์ทางสติปัญญาชี้ให้เห็นว่าจำเป็นจะต้องมีรัฐบาลและระบอบการปกครอง ตลอดจนต้องมีผู้นำสูงสุด
ท่านวิเคราะห์ประเด็นการเมืองด้วยหลักแห่ง"การุณยตา"(ลุฏฟ์)ของอัลลอฮ์ กล่าวคืออัลลอฮ์จะแผ่ความการุณย์ด้วยการตั้งให้มีผู้นำสำหรับมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นนบีหรืออิมาม หรือตัวแทนอิมาม ซึ่งภาวะผู้นำทางการเมืองคือหนึ่งในภารกิจของบุคคลเหล่านี้
ในบริบททางวิชาการ ท่านให้ความสำคัญกับประเด็นภาวะผู้นำทางการเมืองของบรรดาฟะกีฮ์ ความสำคัญของประเด็นดังกล่าวในสายตาประชาชน ความเชื่อมโยงระหว่างภาวะดังกล่าวกับภาวะผู้นำของอิมามมะอ์ศูม ตลอดจนอำนาจหน้าที่ของผู้ปกครองวิถีอิสลามเป็นพิเศษ
นอกจากนี้ การที่ท่านรับเป็นอาจารย์สอนด้านเทววิทยาอิสลามในเมืองหลวงของราชวงศ์อับบาสิด ย่อมแสดงว่าท่านไม่เห็นด้วยกับการจำแนกศาสนาออกจากการเมือง เพราะท่านถือว่าการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของสารธรรมศาสนา
ก่อนจะเข้าประเด็น เห็นควรที่จะเล่าประวัติของท่านโดยสังเขปของเชคฏูซีให้ทราบทั่วกัน
เชคุฏฏออิฟะฮ์ อบูญะอ์ฟัร มุฮัมมัด บิน อลี ฏูซี หรือที่รู้จักในนาม"เชคฏูซี" ถือกำเนิดในปีที่ ถือกำเนิดในปีฮ.ศ. 385 ท่านศึกษาวิชาการศาสนาตั้งแต่วัยหนุ่ม ในยุคนั้น แคว้นฏูซ นีชาบู้ร ซับซะว้อร เรย์ และโดยเฉพาะกุมซึ่งเป็นศูนย์กลางชีอะฮ์และอุละมาอ์ ล้วนเป็นแหล่งวิชาการศาสนาทั้งสิ้น ยุคของท่านตรงกับระยะปกครองของสุลต่านมะฮ์มู้ด ฆัซนะวี ที่เมืองฆัซนะฮ์และแคว้นโครอซอน กษัตริย์ผู้นี้ให้ความสำคัญต่อการเผยแพร่แนวทางซุนหนี่ ในขณะที่ดินแดนเปอร์เซียส่วนที่เหลือ อาทิเช่น เรย์ ฟารส์ และแบกแดด เป็นศูนย์การปกครองของกษัตริย์ชีอะฮ์จากราชวงศ์อาลิบูยะฮ์[1]
เชคฏูซีได้เริ่มต้นการศึกษาที่แบกแดด โดยศึกษาจากอาจารย์อย่างเชคมุฟีด และศึกษาวิชาฟิกเกาะฮ์ อุศู้ล และเทววิทยาอิสลามจากซัยยิดมุรตะฎอเป็นเวลากว่า 23 ปี หลังจากอาจารย์เสียชีวิต เชคฏูซีได้รับการยอมรับในฐานะผู้นำสูงสุดของชีอะฮ์ ชื่อเสียงทางด้านวิชาการและความสมถะของท่านได้ยินถึงหูเคาะลีฟะฮ์อับบาสิดนามว่า อัลกออิม บิอัมริ้ลลาฮ์ ซึ่งจากการสนับสนุนโดยราชวงศ์อาลิบูยะฮ์ทำให้ท่านได้รับโอกาสให้สอนเทววิทยาอิสลามในแบกแดด เมืองหลวงของอับบาสิด ต้องคำนึงว่าตำแหน่งดังกล่าวจะมอบให้เฉพาะผู้รู้ระดับสูงสุดเท่านั้น ความเชี่ยวชาญด้านการวินิจฉัยปัญหาศาสนาของท่านสังเกตุได้จากหนังสือ "ตะฮ์ซีบุลอะห์กาม ฟีชัรฮิลมุกนิอะฮ์" ซึ่งท่านประพันธ์ไว้ขณะอายุเพียง27 ปี ซึ่งภายหลังได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งในสี่ตำราหลักทางด้านฮะดีษของชีอะฮ์ ปราชญ์ระดับสูงอย่างอัลลามะฮ์ ฮิลลี ก็ได้กล่าวยกย่องความยิ่งใหญ่ทางวิชาการของท่าน ซึ่งไม่อาจนำเสนอได้หมด ณ ที่นี้[2]
เพื่อทำความเข้าใจสถานภาพทางสังคมและการเมืองของท่าน เราขอเล่าสถานการณ์ทางการเมืองและศาสนาในยุคนั้นเล็กน้อย ศตวรรษที่ห้า(ฮ.ศ.) เป็นยุคแห่งการฟื้นฟูวิทยาการและการเมืองของแบกแดด ในเมืองนี้มีนักวิชาการระดับอัจฉริยะด้านฮะดีษและเทววิทยาอิสลามอาศัยอยู่มากมาย ซึ่งท่านเชคฏูซีก็ได้รับการยกย่องเป็นพิเศษหลังจากเข้าพำนักในเมืองนี้ในปีฮ.ศ.408
ชนชั้นปกครองยุคอับบาสิด (โดยเฉพาะยุคอัลมุตะวักกิ้ล ฮ.ศ.232-247)ล้วนให้ความสำคัญแก่กลุ่มสะละฟีสุดโต่ง ซึ่งพยายามกดดันฝ่ายอื่นๆเช่นมุอ์ตะซิละฮ์ ชีอะฮ์ และทุกแนวคิดที่ให้ความสำคัญต่อสติปัญญา
อาลิบูยะฮ์ได้พิชิตนครแบกแดดในปีฮ.ศ. 334 แม้คนกลุ่มนี้จะเป็นชีอะฮ์ แต่ก็มิได้พยายามยกพวกพ้องตนเองขึ้นเหนือพี่น้องซุนหนี่แต่อย่างใด ทำให้ยังสามารถควบคุมความเรียบร้อยภายในเมืองได้ดังเดิม ในยุคของอาลิบูยะฮ์ สังคมมุสลิมพัฒนาด้านวิทยาการอย่างก้าวกระโดด และถือเป็นยุคทองของเสรีภาพทางวิชาการศาสนาเช่นกัน
ราชวงศ์อาลิบูยะฮ์ให้ความสำคัญต่ออุละมาอ์ชีอะฮ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เชคมุฟี้ดและเชคฏูซี ซึ่งแน่นอนว่าเคาะลีฟะฮ์อับบาสิดก็จำยอมต้องให้เกียรติตามไปด้วย[3]
แนวคิดทางการเมืองการปกครองของเชคฏูซี
ทุกยุคสมัยมักมีประเด็นปัญหาใหม่ๆให้นักวิชาการได้ขบคิดและตอบคำถามเรื่อยมา เพื่อให้ได้คำตอบที่สอดคล้องกับแต่ละยุคสมัย เชคฏูซีก็เป็นนักนิติศาสตร์และนักเทววิทยาวิถีอิสลามท่านหนึ่งในยุคของราชวงศ์บุวัยฮิด(ฮิจเราะฮ์ศตวรรษที่สี่และห้า) ที่ได้ตอบคำถามที่เกิดขึ้นในยุคนั้นด้วยมุมมองทางฟิกเกาะฮ์และเทววิทยาชีอะฮ์
กระบวนทัศน์ด้านการเมืองของท่านเน้นย้ำถึงประเด็นการปกครองและปัจจัยต่างๆที่จำเป็น ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและราษฎร์ และวิธีเผชิญหน้ากับนักปกครองที่ไม่พึงประสงค์
สามารถสรุปแนวคิดทางการเมืองการปกครองของท่านได้ดังนี้:
1. ความจำเป็นต้องมีรัฐ
เชคฏูซีได้ใช้หลักสติปัญญาพิสูจน์ถึงความจำเป็นที่จะต้องมีรัฐ ระบอบการปกครอง และนักปกครอง แล้วจึงเสริมด้วยหลักฐานทางฮะดีษ ท่านได้กล่าวไว้ในหนังสือ "อัลอิ๊กติศอดุ้ลฮาดี"ว่า
"นอกจากกลุ่มอิมามียะฮ์ มุอ์ตะซิละฮ์แห่งแบกแดด และนักวิชาการรุ่นหลังบางท่านแล้ว กลุ่มอื่นๆไม่เชื่อว่าจำเป็นจะต้องมีรัฐและผู้นำตามหลักสติปัญญา อย่างไรก็ดี หลักสติปัญญาดังกล่าวแฝงไว้ด้วยสองวิธีคิด
1. เน้นความจำเป็นที่จะต้องมีระบอบปกครองอิสลามตามหลักสติปัญญา โดยไม่พิสูจน์หรือหักล้างด้วยหลักฐานอันเป็นตัวบทศาสนา
2. เน้นความจำเป็นที่จะต้องมีผู้นำด้วยตัวบททางศาสนา และใช้หลักสติปัญญาพิสูจน์ถึงคุณลักษณะเฉพาะของผู้นำ ในฐานะผู้พิทักษ์ศาสนาและบทบัญญัติอิสลาม[4]
หลังจากที่ท่านนำเสนอและแจกแจงวิธีการดังกล่าวแล้ว ท่านก็ได้แสดงเหตุผลอันบ่งชี้ว่าคล้อยไปทางวิธีการแรกดังนี้
ก. คนทั่วไปย่อมทำผิดทำบาปกันได้ หรืออาจละเมิดข้อบังคับทางศาสนาไปบ้าง หากมีผู้นำที่มีความชอบธรรมทางการเมืองและได้รับความนิยมจากประชาชน ก็จะได้กำราบศัตรูของประชาชน ลงทัณฑ์อาชญากร และช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากจากเงื้อมมือผู้กดขี่ ผลก็คือ สังคมจะได้รับความสงบร่มเย็นปราศจากภัยคุกคามใดๆ[5]
ข. หลักการุณยตาของพระเจ้าบ่งชี้ว่า พระเจ้าย่อมจะทรงแต่งตั้งผู้นำที่เหมาะสมสำหรับสังคม สังเกตุว่าท่านเชคฏูซีถือว่าการปกครองประชาชนเป็นเรื่องจำเป็นต่อมนุษย์ และกล่าวอีกว่า ในเมื่อพระองค์จะไม่ทรงปฏิบัติสิ่งไม่ดี และไม่เคยบกพร่องในสิ่งที่ดี พระเจ้าที่ได้ประทานบทบัญญัติแก่มนุษย์บนพื้นฐานของฮิกมะฮ์(วิทยปัญญา)ของพระองค์ ไฉนเลยจะไม่ทรงกำหนดผู้ที่จะทำหน้าที่บังคับใช้บทบัญญัติของพระองค์ และนี่คือบทสรุปจากหลักการุณยตานั่นเอง"[6]
2. ผู้ใดคือนักปกครอง
เชคฏูซีเชื่อว่า ในเมื่อพระเจ้าสร้างโลกด้วยวิทยปัญญา และในเมื่อประชาชนทั่วไปไม่สามารถที่จะเฟ้นหาผู้นำที่เหมาะสมที่สุดเนื่องจากยังมีบาป โดยหลักแห่งการุณยตาแล้ว พระเจ้าจะทรงแต่งตั้งผู้นำและผู้ปกครองรัฐอย่างแน่นอน ในอันดับแรกทรงแต่งตั้งในรูปของรัฐบาลนบี(ซ.ล.) โดยพระองค์ตรัสว่า "นบีมีสิทธิเหนือมุอ์มินยิ่งกว่าตัวของพวกเขาเอง"[7] นักตัฟซี้รได้อธิบายว่าการมีสิทธิเหนือกว่าในที่นี้หมายถึงสิทธิในการบริหารกิจการประชาชน และยังเป็นการรณรงค์ให้เชื่อฟังท่านนบี(ซ.ล.) ภายหลังจากท่าน ไม่มีผู้ใดเหมาะแก่สิทธินี้ไปกว่าผู้ที่มีสถานะเป็นอิมาม ซึ่งทุกคนจำเป็นต้องเชื่อฟัง[8]
3. อำนาจปกครองของอิมาม(อ.)
เช่นเดียวกับนักนิติศาสตร์อิสลามฝ่ายชีอะฮ์ท่านอื่นๆ เชคฏูซีก็เชื่อว่าอำนาจปกครองของอิมาม(อ.)คือด้านหนึ่งของตำแหน่งอิมามและผู้นำกิจการทั่วไป ซึ่งจะต้องฟื้นฟูดูแลราษฎรทั้งทางโลกและทางธรรม ส่วนประชาชนก็ต้องเคารพเชื่อฟังอิมาม(อ.) เพื่อให้บังเกิดรัฐขึ้นในสังคม[9]
4. อำนาจปกครองของตัวแทนอิมาม(อ.)
เชคฏูซีกำหนดบรรทัดฐานความเป็นผู้ไร้บาปเฉพาะสำหรับท่านนบี(ซ.ล.)และบรรดาอิมาม(อ.) ส่วนกรณีของการเป็นผู้นำของตัวแทนอิมาม(อ.)นั้น แม้จะไม่ได้เป็นผู้ไร้บาป แต่ท่านยังถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากจะต้องธำรงไว้ซึ่งระบอบและกฏหมายอิสลามสืบไป
"ทุกครั้งที่เชคฏูซีกล่าวถึงประเด็นอิมาม(อ.)ในฐานะที่เป็นผู้นำทางการเมือง ท่านมักจะเอ่ยถึงคุณลักษณะต่างๆที่ผู้นำรัฐพึงมีเสมอ นอกจากนี้ท่านยังกล่าวถึงรัศมีอำนาจหน้าที่อันกว้างขวางของบรรดาฟะกีฮ์(ผู้เชี่ยวชาญบทบัญญัติศาสนา)ไม่ว่าจะในด้านการวินิจฉัย การพิพากษา การบังคับใช้บทบัญญัติศาสนา และการบริหารทรัพย์สินทางศาสนา โดยท่านถือว่าบุคคลเหล่านี้มีอำนาจหน้าที่เท่าเทียมกับอิมามแทบทุกเรื่อง ยกเว้นบางกรณีที่เป็นอำนาจหน้าที่อันเกิดจากคุณสมบัติเฉพาะตัวของบรรดาอิมาม ประเด็นนี้ชี้ให้เห็นว่า แม้เชคฏูซีจะไม่ได้ระบุว่าบรรดาฟะกีฮ์เป็นตัวแทนของอิมามในเรื่องกิจการทั่วไปก็จริง แต่สิ่งที่ท่านนำเสนอทั้งหมดล้วนเป็นกรณีตัวอย่างของกิจการทั่วไปทั้งสิ้น อันถือว่าได้รับมอบสิทธิในการปกครองแทนอิมามโดยปริยาย[10]
แนวคิดทางการเมืองที่สามารถพบได้ในกระบวนทัศน์ของเชคฏูซีมีมากมาย อาทิเช่น ประเด็นขอบข่ายอำนาจของนักปกครองในทัศนะอิสลาม เป้าหมายของรัฐอิสลาม ความสัมพันธ์ระหว่างนักปกครองกับราษฎร ทรราชย์กับราษฎร ฯลฯ แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดของบทความนี้ จึงไม่สามารถนำเสนอได้อย่างครบถ้วน โปรดติดตามจากบทความชิ้นอื่นเกี่ยวกับเรื่องนี้[11]
[1] อลี ดะวอนี, ครบรอบพันปีเชคฏูซี, เล่ม1,หน้า 3-4
[2] ซัยยิดมุฮัมมัด ริฎอ มูซะวียอน, แนวคิดทางการเมืองของเชคฏูซี,หน้า 18- 25 (ย่อความ)
[3] อ้างแล้ว,หน้า 27- 31 (ย่อความ)
[4] เชคฏูซี, อัลอิ๊กติศอดุ้ลฮาดี,หน้า 183
[5] อ้างแล้ว
[6] อ้างแล้ว, หน้า 112
[7] ซูเราะฮ์ อัลอะห์ซาบ, 6
[8] อัรร่อซาอิ้ล อัลอัชร์,หน้า 112
[9] อ้างแล้ว,หน้า 103
[10] แนวคิดทางการเมืองของเชคฏูซี,หน้า 58
[11] โปรดอ่านคำถามที่ 1740 ระเบียน: คุณสมบัติของรัฐในทัศนะทางการเมืองของเชคฏูซี.