Please Wait
20303
เกี่ยวกับอัลกุรอาน โองการสุดท้ายที่ประทานแก่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) มีรายงานจำนวนมากและแตกต่างกัน แต่รายงานโดยรวมเหล่านั้นสามารถกล่าวได้ว่า อัลกุรอาน ซูเราะฮฺสุดท้ายสมบูรณ์ที่ได้ประทานลงมาแก่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) คือ ซูเราะฮฺ “นัซรฺ” ซึ่งได้ถูกประทานลงมาก่อนที่จะพิชิตมักกะฮฺ หรือในปีที่พิชิตมักกะฮฺนั่นเอง ส่วนซูเราะฮฺสุดท้ายที่ประทานแก่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) แต่ถ้านับโองการถือเป็นโองการเริ่มต้น ของบทบะรออะฮฺ ซึ่งไประทานลงมาในปีที่ 9 ของการอพยพ หลังจากการพิชิตมักกะฮฺ หลังจากกลับจากสงครามตะบูก แต่ในแง่ของโองการ เมื่อถามถึงโองการสุดท้ายที่ประทานแก่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้แก่โองการอิกมาลุดดีน (มาอิดะฮฺ, 3) เนื่องจากโองการดังกล่าวได้ประกาศถึงความสมบูรณ์ของศาสนา และเป็นการเตือนสำทับให้เห็นว่า การประทานวะฮฺยูได้สิ้นสุดลงแล้ว ซึ่งโองการนี้ได้ถูกประทานลงมาเมื่อวันที่ 18 ซุลฮิจญฺ ปี ฮ.ศ. ที่ 10 ขณะเดินทางกลับจากการประกอบพิธีฮัจญฺ อัลวะดา บางที่สามารถกล่าวได้ว่าโองการ อิกมาลุดดีน เป็นโองการสุดท้ายเกี่ยวกับ โองการอายะตุลอะฮฺกาม ส่วนโองการที่ 281 บทบะเกาะเราะฮฺ เป็นโองการสุดท้ายที่ถูกประทานลงมาแก่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ซึ่งโองการดังกล่าวได้ถูกประทานลงมาก่อน 21 หรื 9 หรือ 7 วัน ก่อนที่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) จะวะฟาด
ส่วนคำตอบสำหรับคำถามส่วนที่สองที่ถามมา จำเป็นต้องกล่าวว่า ด้วยเหตุผลแน่นอนเกี่ยวกับการสิ้นสุดนะบูวัต ประกอบกับท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) เป็นศาสดาสุดท้ายที่ถูกประทานมา ดังนั้น ความเป็นไปได้ในกาเพิ่มเติมโองการอัลกุรอาน ในกรณีที่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) มีอายุยืนยาว จึงเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากสิ่งจำเป็นที่จะเกิดตามมาคือ อัลลอฮฺ ทรงปล่อยให้สาส์นที่มีความสมบูรณ์ และเป็นสาส์นสุดท้ายเกิดความบกพร่อง และไม่สิ้นสุดนอกจากนั้นความบกพร่องยังเป็นที่ชัดเจน
เกี่ยวกับอัลกุรอาน โองการสุดท้ายที่ประทานแก่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) มีรายงานจำนวนมากและแตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้ บรรดานักตัฟซีรจึงมีทัศนะแตกต่างกัน
1.รายงานจำนวนมากทั้งจากซุนนียฺและชีอะฮฺกล่าวว่า สิ่งสุดท้ายที่ประทานแก่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) คือ ซูเราะฮฺนัซรฺ[1]
2.อีกรายงานหนึ่งกล่าวว่า โองการสุดท้ายที่ประทานลงมา คือโองการแรกของซูเราะฮฺบะรออะฮฺ ซึ่งประทานลงมาในปี ฮ.ศ.ที่ 9 หลังการพิชิตมักกะฮฺแล้ว ขณะกำลังเดินทางกลับจากสงครามตะบูก โองการดังกล่าวจึงได้ประทานแก่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ)[2]
3. รายงานจำนวนมากกล่าวว่า โองการสุดท้ายที่ประทานลงมาคือ โองการที่กล่าวว่า
« وَ اتَّقُوا يَوْماً تُرْجَعُونَ فيهِ إِلَى اللَّهِ ثُمَّ تُوَفَّى كُلُّ نَفْسٍ ما كَسَبَتْ وَ هُمْ لا يُظْلَمُونَ »[3]
ซึ่งหลังจากประทานแล้ว ญิบรออีลได้สั่งให้บันทึกไว้ตอนเริ่มโองการที่ 280 บทบะเกาะเราะฮฺ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวได้เกิดขึ้นก่อนการวะฟาดของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ประมาณ 7 หรือ 21 วัน[4]
4.อิบนุ วาฎิฮฺ ยะอฺกูบียฺ เชื่อตามรายงานที่ถูกต้องและเชื่อถือได้ว่า โองการสุดท้ายที่ประทานแก่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) คือโองการอิกมาล "الْيَوْمَ أَكْمَلْتُ لَكُمْ دينَكُمْ وَ أَتْمَمْتُ عَلَيْكُمْ نِعْمَتي وَ رَضيتُ لَكُمُ الْإِسْلامَ ديناً" ซึ่งได้ประทานลงมาในช่วงเหตุการณ์ เฆาะดีรคุม วันแต่งตั้งท่านอิมามอะลี บุตรของอบีฏอลิบ (อ.) ให้เป็นตัวแทน[5]
มัรฮูม อายะตุลลอฮฺ มะอฺริฟัต กล่าวว่า ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ซูเราะฮฺ นัซร์ ได้ประทานลงมาก่อนโองการแรกของซูเราะฮฺเตาบะฮฺ เนื่องจากซูเราะฮฺนัซรฺ แจ้งให้ทราบถึงการพิชิตมักกะฮฺ (ดังนั้น จึงประทานลงมาก่อนพิชิตมักกะฮฺ) หรือไม่ก็ประทานในปีที่พิชิตมักกะฮฺ ซึ่งประทานลงที่มักกะฮฺ[6] ขณะที่บทบะรออะฮฺ ได้ประทานลงมาหลังจากพิชิตมักกะฮฺได้หนึ่งปี ดังนั้น เมื่อนำเอารายงานเหล่านี้มารวมกัน สามารถกล่าวสรุปได้ดังนี้ว่า
ก.ทัศนะที่กล่าวถึง ซูเราะฮฺ สุดท้าย ซูเราะฮฺสุดท้ายที่สมบูรณ์ที่ได้ประทานแก่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) คือ ซูเราะฮฺ นัซรฺ ซึ่งเป็นซูเราะฮฺสุดท้าย ส่วนโองการสุดท้ายที่ประทานลงมาคือ โองการแรกของซูเราะฮฺบะรออะฮฺ
ข) ทัศนะที่กล่าวถึง โองการ เกี่ยวกับโองการสุดท้ายที่ประทานแก่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) มีความเห็นว่าทัศนะของยะอฺกูบียฺ เป็นทัศนะที่ถูกต้องและดีที่สุด ที่กล่าวว่า โองการอิกมาลุดดีน คือโองการสุดท้ายที่ประทานลงมา เนื่องจากโองการนี้ได้ประกาศให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของศาสนา และเป็นการสิ้นสุดการประทานวะฮฺยู
แต่ทัศนะเกี่ยวกับโองการที่ 281 บทบะเกาะเราะฮฺ มีอีก 2 ทัศนะที่กล่าวถึง
1.โองการนี้ได้ประทานลงมาแก่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ในช่วงของ ฮัจญะตุลวะดา ในมินาตรงกับอีดกุรบาน[7] ถ้าหากรายงานดังกล่าวถูกต้อง อัลกุรอาน โองการสุดท้ายที่ประทานลงมาคือ โองการอิกมาลุดดีน เนื่องจากโองการนี้ได้ประทานลงมา ตรงกับวันที่ 18 เดือนซุลฮิจญฺ หลังจากการบำเพ็ญฮัจญฺตุลวะดา
2.ถ้าหากรายงานดังกล่าวถูกต้อง โองการสุดท้ายที่ประทานลงมาตรงเป็นโองการที่กำลังกล่าวถึง ในกรณีนี้สามารถกล่าวได้ว่า โองการอิกมาลุดดีนเป็นโองการสุดท้ายเกี่ยวกับอะฮฺกาม ส่วนโองการที่ 281 บทบะเกาะเราะฮฺ เป็นโองการสุดท้ายที่ประทานแก่ศาสดา (ซ็อลฯ)[8]
แต่สำหรับคำตอบในส่วนที่สองของคำถามที่ท่านได้ถามมาว่า ถ้าหากท่านศาสดา (ซ็อลฯ) มีอายุยืนยาว เป็นไปได้ไหมที่จะมีโองการเพิ่มเติมถูกประทานลงมา จำเป็นต้องกล่าวว่า ด้วยเหตุผลอันชัดแจ้งและแน่นอนที่ว่าศาสดา (ซ็อลฯ) คือ ศาสดาคนสุดท้าย และอัลกุรอานคือสาส์นฉบับสุดท้ายของอัลลอฮฺเช่นกัน บนพื้นฐานดังกล่าวนี้ ต้องกล่าวว่าอัลลอฮฺ ประทานสาส์นฉบับสุดท้ายที่สมบูรณ์แก่ประชาชาติ โดยผ่านท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ดังนั้น สมมุติว่าท่านศาสดามีอายุสั้นมากกว่านี้ สาส์นทั้งหมดก็ต้องถูกประทานลงมาจนหมดสิ้น ตามอายุขัยของท่านศาสดา และถ้าท่านศาสดา (ซ็อลฯ) มีอายุยืนยาวมากกว่านี้ สาส์นก็ต้องถูกประทานลงมาจนหมด ตามอายุขัยของท่านศาสดา
ด้วยเหตุนี้ ด้วยเหตุผลอันชัดเจนที่บ่งบอกถึงการเป็นศาสดาสุดท้าย จึงเป็นไปไม่ได้ และไม่มีความหมายแต่อย่างใดที่จะมีโองการถูกประทานลงมาเพิ่มมากไปกว่านี้ เนื่องจากสิ่งจำเป็นที่จะตามมาคือ อัลลอฮฺทรงปล่อยให้สาส์นที่สมบูรณ์ ฉบับสุดท้ายของพระองค์เกิดความบกพร่อง และไม่สมบูรณ์ อีกทั้งข้อบกพร่องนี้จะเผยออกมาด้วยความชัดเจน
ในที่นี้จะนำเสนอทัศนะอุสตาด ฮาดะวี เตหะรานี ดังนี้
กุรอานกับประวัติศาสตร์
อัลกุรอานขึ้นอยู่กับความจริงและวิทยปัญญาร่วมสมัยของตนเท่านั้นหรือ ถ้าสมมติว่าท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้ถูกแต่งตั้งลงมาในสถานที่อื่น อัลกุรอาน จะถูกประทานลงมาด้วยโองการและเป็นภาษาเหล่านี้หรือ และในที่สุดแล้วอัลกุรอานมีเพียงวิสัยทัศน์ด้านประวัติศาสตร์กระนั้นหรือ
บางคนได้ตอบคำถามนี้ โดยมุมมองเพียงด้านเดียว โดยกล่าวว่า อัลกุรอานคือวะฮฺยูของพระเจ้า อยู่นอกกาลเวลาและสถานที่ อัลกุรอานไม่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ และภารกิจด้านประวัติศาสตร์ ตามความคิดเห็นของพวกเขา ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ถ้าได้ถูกแต่งตั้งขึ้นทุกที่หรือกาลเวลาใดก็ตาม อัลกุรอานก็จะถูกประทารลงมาด้วยโองการเหล่านี้ จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงในแง่ภาษา หรือสาระเด็ดขาด
ในทางตรงกันข้ามมีบางกลุ่มได้ตอบคำถามนี้ในอีกลักษณะหนึ่ง โดยกล่าวว่า เนื้อหาสาระของอัลกุรอาน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขอันเฉพาะเจาะจง ที่อัลกุรอานได้ประทานลงมา ถ้าหากเวลาและสถานที่ได้เปลี่ยนไป มิใช่เพียงภาษาเท่านั้นที่จะเปลี่ยนไป ทว่าเนื้อหาสาระของอัลกุรอานก็จะต่างไปด้วย พวกเขาเชื่อว่าถ้าหากท่านศาสดา (ซ็อลฯ) มีอายุยืนยาวนานมากกว่านี้ หรือท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้รับการแต่งตั้งเร็วกว่านี้ ช่วงเวลาของการประกาศสาส์นของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ยาวกว่านี้ โองการย่อมมีมากกว่านี้ และบางที่ขนาดของอัลกุรอาน อาจใหญ่และมากกว่านี้หลายเท่า
ดังนั้น เพื่อตรวจสอบปัญหาดังกล่าวและคำตอบ ควรพิจารณาประเด็นเหล่านี้
1.ดังที่กล่าวผ่านไปแล้ว สิ่งที่เปลี่ยนแปลงในชีวิตมนุษย์ เกี่ยวข้องกับสภาพชีวิตของเขา แต่ความเป็นมนุษย์ทีแท้จริง หรือธาตุแท้ของความเป็นมนุษย์จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ถึงแม้ว่าสภาพจะเปลี่ยนไปก็ตาม ด้วยคุณสมบัติดังกล่าว ความต่างทางสถานภาพและประวัติศาสตร์ มิอาจเปลี่ยนแปลงความเป็นมนุษย์ที่แท้จริงได้
2.ศาสนามีวิสัยเกี่ยวกับตัวตนและความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง ซึ่งถือเป็นสิ่งตายตัวและไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้
อย่างไรก็ตาม ศาสนาต่างๆ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ ได้เพิ่มพูนศักยภาพแก่บุคคล เพื่อรองรับความจริง และขับเคลื่อนพวกเขาไปสู่ความสมบูรณ์ ซึ่งการพัฒนาไปสู่ความสมบูรณ์ในศาสนาของศาสดาสุดท้าย จะสิ้นสุดด้วยตัวเอง โดยปรากฏเป็นศาสนาที่สมบูรณ์ที่สุด ศาสนาซึ่งครอบคลุมทุกสิ่งที่วะฮฺยูได้อธิบาย โดยปราศจากการเปลี่ยนแปลง ด้วยเหตุนี้ จึงไม่เหลือโอกาสพอที่จะให้ศาสนาอื่นเกิดขึ้นอีก
3.ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ผู้นำศาสนามาเผยแพร่แก่ประชาชาติ จำเป็นต้องเข้าใจภาษาประชาชน นำความจริง และวิชาการมาสอนสั่ง เพื่อพวกเขาจะได้เข้าใจในสาส์นเหล่านั้น ด้วยเหตุนี้ ถ้าหากท่านศาสดาถูกแต่งตั้งขึ้นมา ท่ามกลางประชาชนที่พูดภาษาอิบรี ท่านก็ต้องพูดกับพวกเขาด้วยภาษาอิบรี อีกด้านหนึ่งท่านมีหน้าที่อรรถาธิบายสาส์นเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ เพื่อให้พวกเขาได้เข้าใจ ดังนั้น แก่นแท้ของกาลเวลาซึ่งท่านศาสดาได้อยู่ในช่วงนั้น ย่อมมีอิทธิพลกับเนื้อหาสาระของสาส์นของท่าน ด้วยเหตุนี้ องค์ประกอบของกาลเวลา ซึ่งอยู่เคียงข้างกันองค์ประกอบที่แน่นอนได้ปรากฏในศาสนา
ดังนั้น ด้วยคุณสมบัติดังกล่าว ถ้าท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้ถูกแต่งตั้งขึ้นในแถบที่พูดภาษาอังกฤษ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าอัลกุรอานต้องถูกประทานลงมาเป็นภาษาอังกฤษแน่นอน หรือถ้าท่านถูกแต่งตั้งขึ้นในแผ่นดินที่ผู้คนคุ้นเคยกับนกแพนกวินแทนอูฐ อัลกุรอานก็ต้องชี้ให้เห็นถึงปาฏิหาริย์การสร้างนกเพนกวิน แทนอูฐ
แต่สิ่งเหล่านี้มิได้เป็นสาเหตุทำให้เนื้อหาสาระอันมีค่ายิ่งของอัลกุรอาน เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจาก หนึ่ง ถ้าความแตกต่างเหล่านี้ถูกพบจริง ก็จะเกี่ยวข้องเฉพาะในแง่สถานภาพที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตมนุษย์ แต่จะไม่เกี่ยวกับองค์ประกอบตายตัว เช่น ความเป็นมนุษย์เด็ดขาด อีกนัยหนึ่ง สาส์นที่เป็นอมตะนิรันดร์แห่งศาสนาของศาสดา ไม่ว่าจะอยู่ในยุคใดสมัยใดก็ตาม เหมือนกันทั้งสิ้น แม้ว่าจะปรากฏในกาลเวลาและสถานที่อื่นก็ตาม
สอง การเลือกเวลาและสถานที่ของสาส์นสำหรับศาสดาคนหนึ่ง จะเป็นไปตามวิทยปัญญาและความรู้ของพระเจ้า มิใช่เหตุบังเอิญ ดังนั้น การที่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้ถูกแต่งตั้งขึ้นในแคว้นอาหรับ ในช่วงเวลาเหมาะสม แม้จะมีความยากลำบากมากมายเพียงใด ก็มิได้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยปราศจากเหตุผล และวิทยปัญญา บรรยากาศเหล่านี้เป็นตัวกำหนดว่า อัลกุรอานต้องเป็นภาษาอาหรับ แสดงให้เห็นว่าวิทยปัญญาของพระเจ้า เห็นว่าภาษานี้มีความเหมาะสมที่สุดสำหรับการนำเสนอความเข้าใจ ในศาสนาสุดท้าย อีกด้านหนึ่งการที่อิสลามได้ปรากฏท่ามกลาง วัฒนธรรมของอาหรับที่โง่เขลา อธิบายความจริง ให้เห็นว่าสำหรับการอธิบายความเข้าใจอันอมตะของอิสลาม เงื่อนไขที่ดีที่สุดมีอยู่ในบรรยากาศดังกล่าว ดังนั้น ถ้าอัลกุรอานยกตัวอย่างอูฐ นั่นเป็นเพราะด้วยเหตุผลที่ว่า ผู้ฟังรู้จักและคุ้นเคยกับอูฐ แต่สำหรับการเลือกผู้ฟังกับประเภทของการรู้จัก เพื่ออธิบายแก่นแท้ของอัลกุรอาน แสดงให้เห็นว่าตัวอย่างที่ดีที่สุดสำหรับเรื่องนั้นคือ อูฐ นั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ สำหรับวิทยปัญญาของพระเจ้า ด้วยจำนวนโองการที่มีอยู่ ด้วยภาษาอาหรับ และด้วยตัวอย่างต่างๆ ถือว่านี่เป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่จะนำสารประจำศาสนาสุดท้าย สื่อให้ถึงมือประชาชน ฉะนั้น สามารถกล่าวได้ว่า ถ้าหากช่วงเวลาประกาศศาสนาของศาสดา (ซ็อลฯ) ยาวนานไปกว่านี้ จำนวนโองการและสาระเนื้อหาของกุรอานก็จะไม่เปลี่ยนแปลง
ข้อมูลและเหตุผลเกี่ยวกับ การเป็นศาสดาสุดท้ายของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ศึกษาได้จาก คำตอบและคำถามที่ 386 (ไซต์ 399) ภายใต้หัวข้อ “ความเร้นลับของการสิ้นสุดศาสดาอิสลาม)
[1] เฏารบัรซียฺ, มัจญฺมะอุลบะยาน, เล่ม 10, หน้า 554, บะฮฺรอนนียฺ, ตัฟซีรโบรฮาน, เล่ม 1, หน้า 29, ซุยูฏียฺ, อัลอิตกอน หน้า 27
[2] เฟฎกาชานียฺ, ตัฟซีรซอฟียฺ, เล่ม 1, หน้า 680
[3] บะเกาะเราะฮฺ 281
[4] ตัฟซีร ชุบบัร หน้า 83
[5] มาอิดะฮฺ 3
[6] อัซบาบุลนุซูล บะฮามิช ญะลาลัยนฺ เล่ม 2, หน้า 145.
[7] ซัรกะชียฺ, โบรฮาน, เล่ม 1, หน้า 187
[8] อายะตุลลอฮฺ ฮาดี มะอฺริฟัต, ตัลคีซ อัตตัมฮีด,เล่ม 1, หน้า 80-81