Please Wait
22087
อิสลามถือว่าอัลลอฮ์ทรงสร้างชายและหญิงให้มีบทบาทเกื้อกูลกันและกัน หนึ่งในปัจจัยที่ทั้งสองเพศต้องพึ่งพากันและกันก็คือ ความต้องการทางเพศ ทว่าการบำบัดความต้องการดังกล่าวจะต้องอยู่ในเขตคำสอนของอิสลามเท่านั้น จึงจะสามารถรักษาศีลธรรมจรรยาของทั้งสองฝ่ายได้
อิสลามถือว่าความสัมพันธ์ระหว่างหนุ่มสาวก่อนแต่งงาน ไม่ว่าโดยตรงหรือผ่านสื่อ หากเป็นไปด้วยความไคร่หรือเกรงว่าจะเกิดความไคร่ ถือว่าไม่อนุมัติ แต่สำหรับความสัมพันธ์ในการทำงาน วิชาการและการศึกษา ถือเป็นที่อนุมัติเฉพาะในกรณีที่ไม่โน้มนำไปสู่ความเสื่อมเสีย
อิสลามถือว่าอัลลอฮ์ทรงสร้างชายและหญิงให้มีบทบาทเกื้อกูลกันและกัน กุรอานกล่าวว่า“หนึ่งในสัญลักษณ์ของพระองค์คือการบันดาลให้สูเจ้ามีคู่ครองที่เสมือนสูเจ้า เพื่อสูเจ้าจะได้รับความสงบจากคู่ครอง และทรงบันดาลความรักความเมตตาให้เกิดแก่สูเจ้า...”[1]
หนึ่งในปัจจัยที่ทั้งสองเพศต้องพึ่งพากันและกันก็คือ ความต้องการทางเพศ ทว่าการบำบัดความต้องการดังกล่าวจำเป็นต้องอยู่ในเขตคำสอนของอิสลามเท่านั้น จึงจะสามารถรักษาศีลธรรมจรรยาของทั้งสองฝ่ายได้
เพื่อบำบัดความต้องการดังกล่าว อิสลามได้วางกรอบความสัมพันธ์ไว้ที่การแต่งงาน(ไม่ว่าจะถาวรหรือชั่วคราว) ฉะนั้นความสัมพันธ์ทุกประเภทที่เกี่ยวกับกามารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยสัพยอกฉอเลาะ การแตะเนื้อต้องตัว ฯลฯ จะกระทำได้หลังจากแต่งงานเท่านั้น กฏนี้ยังครอบคลุมถึงคู่หมั้นที่กำลังจะแต่งงานด้วย ซึ่งไม่อาจทำอะไรเกินเลยขอบเขตได้เช่นกัน แม้แต่การเกี้ยวพาราสีหรือแตะเนื้อต้องตัว
อย่างไรก็ดี อิสลามถือว่าการบำบัดกามารมณ์จะต้องอยู่ในครรลองศาสนาเท่านั้น ซึ่งการแต่งงานชั่วคราวก็ถือเป็นทางออกหนึ่งที่กระทำได้ แต่ทั้งนี้ก็มีเงื่อนไขที่จะต้องปฏิบัติซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ จะต้องได้รับฉันทานุมัติจากบุพการีฝ่ายหญิงเสียก่อน (เงื่อนไขอื่นๆมีระบุในตำราประมวลปัญหาศาสนา)[2]
บรรดามัรญะอ์ส่วนใหญ่ในปัจจุบันวินิจฉัยว่า การแต่งงานกับสาวบริสุทธิ์(ไม่ว่าชั่วคราวหรือถาวร)จะต้องได้รับฉันทานุมัติจากบิดาของเธอเสียก่อน หากไม่มีบิดาก็ให้ปู่เป็นผู้ตัดสินใจแทน [3] แต่หากเป็นหญิงที่ผ่านการสมรสแล้ว หรือกรณีหญิงบริสุทธิ์ที่ไม่มีพ่อและปู่ เธอก็ไม่จำเป็นต้องขอฉันทานุมัติใดๆ[4]
ส่วนกรณีที่ต้องการจะติดต่อพูดคุยกับเพศตรงข้ามอย่างเป็นปกติ สามารถกระทำได้หรือไม่?
เราขอตอบโดยอิงคำวินิจฉัยของบรรดามัรญะอ์ตักลี้ดดังต่อไปนี้
คำถาม 1 การติดต่อโดยตรงระหว่างชายหญิง ต่างจากการติดต่อผ่านสื่อหรือไม่?
มัรญะอ์ทุกท่าน: ไม่แตกต่างกันในแง่บทบัญญัติ หากมีอารมณ์ไคร่ในการติดต่อทั้งทางตรงและทางอ้อม ถือว่าไม่อนุญาต[5]
คำถาม2 การแชทหรือพูดคุยเรื่องทั่วไปกับเพศตรงข้าม มีบทบัญญัติว่าอย่างไร?
มัรญะอ์ทุกท่าน: หากเกรงว่าจะเกิดความไม่ดีไม่งามและอารมณ์ไคร่ ถือว่าไม่อนุญาต[6]
คำถาม 3 การทักทายสลามกับเพศตรงข้าม กระทำได้หรือไม่?
มัรญะอ์ทุกท่าน: ในกรณีที่แฝงด้วยกามารมณ์ หรือเกรงว่าจะเกิดอารมณ์ ถือว่าไม่อนุญาต[7]
คำถาม 4 การหยอกล้อกับหญิงที่ไม่ไช่มะฮ์ร็อม(ภรรยา หรือเครือญาติที่ไม่อาจสมรสด้วย) กระทำได้หรือไม่?
มัรญะอ์ทุกท่าน: หากแฝงด้วยกามารมณ์ หรือเกรงว่าจะเกิดอารมณ์ไคร่ ถือว่าไม่อนุญาต[8]
คำถาม 5 การโอภาปราศัยอย่างสนิทสนมระหว่างหนุ่มสาวขณะทำงานหรือตามงานเลี้ยง กระทำได้หรือไม่?
มัรญะอ์ทุกท่าน: กริยาอันเกิดจากความรักระหว่างหนุ่มสาวไม่เป็นที่อนุมัติ เนื่องจากอาจโน้มนำสู่การทำบาป แต่ความสัมพันธ์ในแง่การงานนั้น หากสามารถรักษาขอบเขตศาสนาและไม่โน้มนำสู่ความเสื่อมเสีย ถือว่าไม่เป็นไร[9]
คำถาม 6 การติดต่อกันทางจดหมายหรืออีเมล์โดยสอดแทรกเนื้อหาทางกามารมณ์ กระทำได้หรือไม่?
มัรญะอ์ทุกท่าน: การสอดแทรกเนื้อหาที่จะโน้มนำสู่ความเสื่อมเสีย ถือว่าไม่อนุมัติ[10]
จากคำถามตอบข้างต้น ทำให้ทราบว่าการติดต่อระหว่างหนุ่มสาวก่อนแต่งงาน ไม่ว่าจะโดยตรงหรือผ่านสื่อ หากมีเจตนาสนองความไคร่หรือเกรงว่าจะโน้มนำสู่บาปและความเสื่อมเสีย ถือว่าไม่เป็นที่อนุมัติทั้งสิ้น
แต่สำหรับความสัมพันธ์ในการทำงานหรือเชิงวิชาการและการศึกษา ในกรณีที่มิได้โน้มนำไปสู่ความเสื่อมเสีย ถือว่าเป็นที่อนุมัติ[11]
[1] อัรรูม,22
[2] ประมวลปัญหาศาสนาฉบับรวมมัรญะอ์,เล่ม 2,หน้า 449-460 และตะห์รีรุ้ลวะซีละฮ์,เล่ม 2,หน้า 701-707 และ 734-736
[3] สำนวนดังกล่าวชี้ชัดทั้งในแง่กฏและสถานะ กล่าวคือการสมรสกับหญิงบริสุทธิโดยมิได้รับฉันทานุมัติจากพ่อของเธอ ทั้งเป็นฮะรอมและถือว่าโมฆะ
[4] อ่านเพิ่มเติมที่คำถามหมายเลข 627,667,717,767,754
[5] ถามตอบปัญหาศาสนา,อิมามโคมัยนี,เล่ม 3,คำถามที่ 52 และ ประมวลฯ,อ.บะฮ์ญัต,คำถามที่ 1936 และ ถามตอบฯ,อ.มะการิม,เล่ม 1,คำถามที่ 819 และ ถามตอบฯ,อ.ตับรีซี,เลขที่ 1622 และญามิอุ้ลอะห์กาม,อ.ศอฟี,เล่ม 2,หน้า 1673. และ ถามตอบฯ,อ.นูรี,เล่ม 2,คำถามที่ 656 และ ญามิอุ้ลมะซาอิ้ล,เล่ม 2,มาตรา 1673 และ ถามตอบฯ,อ.คอเมเนอี,คำถามที่ 1145, อัลอุรวะตุ้ลวุษกอ,เล่ม 2,หมวดนิกาห์,ปัญหาที่ 2 และ sistani.org,อ.ซีสตานี,คำถามที่ 19,20, และถามจากสำนักงานอ.วะฮี้ด
[6] เว็บไซต์อ.ซีสตานี, sistani.org,อ.ตับรีซี, tabrizi.org และสอบถามจากสนง.ทุกท่าน
[7] อุรวะตุ้ลวุษกอ,เล่ม 2,หมวดนิกาห์,ปัญหาที่ 39,41
[8] อ้างแล้ว,ปัญหาที่ 31,39 และ ญามิอุ้ลมะซาอิ้ล,อ.ฟาฎิ้ล,เล่ม 1,ปัญหาที่ 1720, และถามตอบฯ,อ.คอเมเนอี,คำถามที่ 782
[9] ถามตอบฯ,อ.คอเมเนอี,คำถามที่ 651,779 และถามจากสนง.ของ อ.ทุกท่าน
[10] ถามตอบฯ,อิมามโคมัยนี,เล่ม, ปกิณกะ,คำถามที่ และถามจากสนง.ของ อ.ทุกท่าน
[11] คัดจากประมวลฯสำหรับนักศึกษา,ฉบับที่16,หน้า 191-195