Please Wait
13221
การที่จะสามารถนิยามความสัมพันธระหว่างศาสนาและวัฒนธรรมจารีตได้นั้น ขั้นแรกต้องเข้าใจถึงลักษณะจำเพาะ เป้าประสงค์ และผลผลิตของทั้งศาสนาและวัฒนธรรมเสียก่อน.
บางคนปฎิเสธความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาและวัฒนธรรมโดยสิ้นเชิง ทัศนคตินี้ค่อนข้างจะไร้เหตุผล ทั้งนี้ก็เพราะแม้ว่าวัฒนธรรมจารีตบางประเภทอาจจะผิดแผกและไม่เป็นที่ยอมรับโดยศาสนาเนื่องจากขัดต่อเป้าประสงค์ที่ศาสนามุ่งนำพามนุษย์สู่ความผาสุก แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่ายังมีวัฒนธรรมจารีตอีกมากมายที่สอดคล้องและได้รับการยอมรับโดยศาสนา ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีวัฒนธรรมจารีตบางส่วนที่เกิดขึ้นจากคุณค่าที่ได้รับการฟูมฟักโดยศาสนาเช่นกัน.
คำว่า "ดีน" (ศาสนา) ในเชิงภาษาอรับมีความหมายที่หลากหลาย อาทิเช่น การตอบแทน ,การภักดี, ความเคยชิน ,การตัดสินพิพากษา แต่จากจำนวนความหมายดังกล่าว ขุมตำราตัฟซีรกุรอาน(อรรถาธิบาย)รวมทั้งตำราไวยากรณ์อรับบ่งชี้ว่าอัลกุรอานใช้คำว่า ดีน เพื่อสื่อความหมายถึงความภักดี และการตอบแทนเสียส่วนใหญ่ ส่วนความหมายอื่นๆที่มีอยู่ประปรายนั้นก็ได้แก่ การหยิบยืมทรัพย์สิน การคำนวน และการตราคำสั่ง[1]
โองการที่สื่อความหมายถึงการภักดีนั้นได้แก่ "لااکراه فی الدین"؛ (ไม่มีการข่มบังคับในเรื่องของการภักดี) [2] ส่วนโองการที่สื่อความหมายถึงการตอบแทนก็ได้แก่ "مالک یوم الدین" (จ้าวแห่งวันตอบแทน)[3]
ส่วนความหมายของคำว่าดีนหรือศาสนาในแวดวง(วิชาการอิสลาม)นั้น ท่านรอฆิบ อิศฟะฮานี (นักไวยากรณ์อรับนามอุโฆษ)เชื่อว่าเป็นการอุปมาอุปมัยถึง ชะรีอัต[4] (บทบัญญัติศาสนา) ส่วนท่านฟาฎิล มิกด้าด เชื่อว่าหมายถึง ฎอรีกัตและชะรีอัต[5] (วิถีทางและบทบัญญัติศาสนา) นอกจากนี้ศาสนายังหมายถึงพันธะสัญญาต่างๆที่มีต่อพระเจ้า ซึ่งจะขับเคลื่อนมนุษย์ให้ประคองตนสอดคล้องกับบทบัญญัติที่ประทานแก่ท่านศาสดา ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นความหมายเชิงกว้างของคำว่า "ดีน" (ศาสนา) ที่สามารถปรับประยุกต์และนำมานิยามบทบัญญัติจากพระเจ้าที่ได้ประทานแก่เหล่าศาสดาทุกท่าน.[6]
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ศาสนาอุดมไปด้วยแนวความเชื่อ ,ศีลธรรมจรรยา และประมวลบทบัญญัติจากพระเจ้านั่นเอง[7]
อย่างไรก็ดี ความหมายจำเพาะของคำว่าดีน (ศาสนา) หรือศาสนาที่เที่ยงธรรมดังที่ปรากฏในโองการอัลกุรอานนั้นก็คือ "อิสลาม"
"ان الدین عندالله الاسلام..." (แน่แท้ อิสลามคือศาสนา(อันเที่ยงธรรม) ณ อัลลอฮ์)[8]
ส่วน "วัฒนธรรม"นั้น นับเป็นคำที่มีความหมายกว้างและครอบคลุมมากที่สุดคำหนึ่งในเชิงสังคมศาสตร์ โดยมีผู้นิยามความหมายคำนี้ไว้อย่างหลากหลาย
ในเชิงภาษา วัฒนธรรมหมายถึงจรรยามารยาท, องค์ความรู้, ศาสตร์ และความเข้าใจ[9]
ส่วนความหมายในแวดวงสังคมศาสตร์นั้นหมายถึง ความรู้และจรรยามารยาท, จารีตประเพณี, วัตรปฎิบัติของแต่ละกลุ่มชน ซึ่งกลุ่มชนนั้นๆสืบสานและถือปฎิบัติอย่างเคร่งครัด[10]
บ้างก็นิยามวัฒนธรรมว่า หมายถึงประมวลองค์ความรู้ต่างๆ ศิลปแขนงต่างๆ แนวคิดและความเชื่อ, ศีลธรรมจรรยา, กฎเกณฑ์และข้อตกลง รวมทั้งจารีตประเพณีทั้งหลาย.[11]
เพราะฉะนั้น ต่อข้อซักถามที่ว่า ระหว่างศาสนาและวัฒนธรรมมีความเชื่อมโยงกันหรือไม่? และหากมีความเชื่อมโยงกัน จะถือว่าสองข้อเท็จจริงนี้คือสิ่งเดียวกันได้หรือไม่? เราจะถือว่าศาสนาเป็นองค์ประกอบหนึ่งของวัฒนธรรม หรือในทางกลับกัน เราจะเชื่อว่าศาสนาคือบ่อเกิดของวัฒนธรรมได้หรือไม่? ปริศนาเหล่านี้ เนื่องจากวัฒนธรรมมีคำนิยามที่หลากหลาย จึงยังเป็นที่ถกเถียงกันในแวดวงวิชาการต่อไป
บางคนเชื่อว่าไม่มีความเกี่ยวโยงใดๆระหว่างคำว่าศาสนาและวัฒนธรรม ทั้งนี้เนื่องจากวัฒนธรรมถือเป็นมรดกทางสังคมและเกี่ยวข้องกับเอกลักษณ์ของชาติ วัฒนธรรมค่อยๆผลิดอกออกผลภายในสังคม โดยที่ปัจจัยทางธรรมชาติและภูมิประเทศของแต่ละท้องถิ่นสามารถก่อให้เกิดวัฒนธรรมที่แตกต่างกันได้
กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ วัฒนธรรรมมิไช่สิ่งอื่นใดเลยนอกจากผลผลิตที่สังคมได้สังเคราะห์ขึ้นท่ามกลางบริบททางธรรมชาติและภูมิประเทศ (และปัจจัยทางประวัติศาสตร์) และได้มอบเป็นมรดกแก่คนในสังคมสืบไป ทว่าในทางตรงกันข้าม ศาสนามิไช่มรดกทางสังคม ศาสนามิไช่ผลงานที่มนุษย์รังสรรค์ขึ้น หากจะกล่าวตามประสานักเทวนิยมก็ก็กล่าวได้ว่า "ศาสนาเป็นสถาบันที่พระเจ้าสถาปนาขึ้น" หากมองในมุมนี้แล้ว เราจะพบว่าศาสนามิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมในแง่จุดกำเนิด แต่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างสอดคล้องกัน[12]
อย่างไรก็ดี นักวิชาการบางคนเชื่อว่าเป็นการยากที่จะปฎิเสธสัมพันธภาพที่มีระหว่างนัยยะของศาสนาและวัฒนธรรม ทั้งนี้เนื่องจากคำสอนศาสนาหลายประการนับเป็นคำสอนทางวัฒนธรรมด้วยนั่นเอง กล่าวคือ หากศาสนาสอนเกี่ยวกับหลักความเชื่อและศีลธรรมจรรยา ก็มิอาจปฏิเสธได้ว่าสิ่งดังกล่าวถือเป็นแก่นของวัฒนธรรมด้วยเช่นกัน และหากจรรยามารยาทและจารีตต่างๆคือองค์ประกอบหลักของวัฒนธรรม อย่าลืมว่าชะรีอัต (บทบัญญัติ) ของศาสนาก็พูดถึงเรื่องดังกล่าวเช่นกัน [13]
อย่างไรก็ดี วัฒนธรรมย่อมแตกต่างกันไปตามปัจจัยทางภูมิประเทศและสภาวะดินฟ้าอากาศ วัฒนธรรมจารีตบางอย่าง อาทิเช่นการฝังบุตรสาวทั้งเป็นในยุคอรับญาฮิลียะฮ์ รวมถึงอุตริกรรมและสิ่งงมงายอันแพร่หลายซึ่งเมื่อกาลเวลาผ่านไปก็ค่อยๆแปรสภาพเป็นวัฒนธรรมนั้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับคำสอนของศาสนาอย่างแน่นอน วัฒนธรรมจารีตบางประเภทสามารถเป็นที่ยอมรับของศาสนาได้หากได้รับการสังคายนาแก้ไขบ้างเสียก่อน และวัฒนธรรมจารีตบางประเภทก็เกิดขึ้นภายใต้ร่มเงาคำสอนของศาสนาโดยตรง
หากจะพิจารณาถึงจุดกำเนิดของศาสนา ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับศาสนาต่างๆชี้ให้เห็นว่าศาสนาแต่ละศาสนาจะกำเนิดขึ้นเมื่อโครงสร้างของระบอบศาสนาที่มีอยู่เดิมได้เสื่อมลงหรืออาจเกิดความเสื่อมโทรมทางศีลธรรมขึ้นในสังคม อย่างไรก็ตาม เมื่อศาสนาหนึ่งเริ่มแผ่ขยายขึ้นก็มักจะปฎิวัติโค่นล้มหรือไม่ก็ปฎิรูปโครงสร้างค่านิยมเดิมในสังคม ส่งผลให้วัฒนธรรมของสังคมดังกล่าวสั่นสะเทือนรุนแรงและหาทางกำจัดเนื้อหาของตนบางประการ และยอมรับเนื้อหาอันสอดคล้องกับคุณค่าชุดใหม่ของศาสนาหรือสำนักคิดใหม่ จากจุดนี้เองที่เราจะเห็นว่าศาสนาหรือสำนักคิดสามารถสร้างวัฒนธรรมได้
อย่างไรก็ตาม มิไช่ว่าทุกศาสนาจะสร้างวัฒนธรรมขึ้นมาได้ ข้อเท็จจริงก็คือ ศาสนาทุกศาสนาจะสร้างสรรค์/นำเสนอคุณค่าชุดหนึ่งขึ้นมา โดยที่คุณค่าเหล่านี้ :
1. สวมบทบาทวัฒนธรรมเข้าแก้ไขวัฒนธรรมเดิมที่ขัดแย้งกับคุณค่าดังกล่าว ดังกรณีที่วัฒนธรรมจารีตการฝังบุตรสาวทั้งเป็นได้ถูกเพิกถอนหลังอิสลามแผ่ขยาย
2. เข้าเติมเต็มวัฒนธรรมที่ว่างเปล่าไร้ซึ่งเนื้อหาคุณค่า หรือในกรณีที่วัฒนธรรมบางอย่างห่อหุ้มเนื้อหาที่เป็นภัยคุกคามต่อคุณค่าชุดใหม่ แต่ยังสามารถชำระให้บริสุทธิจากเนื้อหาเก่าได้ ศาสนาก็จะแปรสภาพวัฒนธรรมดังกล่าวให้พร้อมต่อการเจริญงอกงามของคุณค่าชุดใหม่ ดังจะเห็นได้จากกรณีการประกอบพิธีฮัจย์ที่เคยคราคร่ำไปด้วยเนื้อหาของการตั้งภาคีและการบูชาเจว็ดในยุคญาฮิลียะฮ์ (อวิชชา) อิสลามมิได้ขจัดวัฒนธรรมดังกล่าวอย่างถอนรากถอนโคน แต่ได้อนุรักษ์ไว้โดยเติมเต็มเนื้อหาเข้าไปให้สมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้เองที่วัฒนธรรมเหล่านี้ยังคงดำรงอยู่ได้ในโครงสร้างของคุณค่าชุดใหม่ต่อไปได้ ดังเช่น วัฒนธรรมการฉลองปีใหม่ของชาวอิหร่านก่อนและหลังอิสลาม[14]
ขอย้ำอีกครั้งว่าศาสนาใหม่มิได้นำมาซึ่งวัฒนธรรมใหม่ แต่ศาสนาจะนำเสนอคุณค่าชุดใหม่ โดยที่สังคมจะก่อกำเนิดวัฒนธรรมขึ้นตามบริบทของคุณค่าชุดดังกล่าว และเมื่อวัฒนธรรมใหม่ถือกำเนิดขึ้นตามคำสอนของศาสนาใหม่ ครั้นเวลาผ่านไป ศาสนาก็จะกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกับวัฒนธรรมของสังคมนั้นๆในที่สุด
เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับประเด็นนี้ก็คือ หากศาสนาใดศาสนาหนึ่งมีอิทธิพลเหนือความคิดของกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย ย่อมจะให้กำเนิดพหุวัฒนธรรมอันหลากหลายทว่าตั้งอยู่บนพื้นฐานของคุณค่าชุดเดียวกัน คงไม่ถูกต้องนักที่จะคิดว่าเมื่อศาสนาเข้าสู่เขตคามใดย่อมจะบังเกิดวัฒนธรรมเดียวเท่านั้น ที่ถูกต้องก็คือ ศาสนาจะผลักดันให้คุณค่าชุดเดียวโดดเด่นและมีอิทธิพลเหนือกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย ส่วนวัฒนธรรมนั้นจะแตกต่างกันไปตามภูมิหลังทางวัฒนธรรมดั้งเดิมของแต่ละท้องถิ่น ทั้งนี้ก็เพราะกรอบแห่งวัฒนธรรมเกิดขึ้นบนพื้นฐานทางภูมิประเทศและสภาพความเป็นอยู่ของแต่ละท้องถิ่นนั่นเอง [15]
[1]. สารานุกรมตะชัยยุอ์ เล่ม 7 คำว่า دین
2. ซูเราะฮ์ อัลบะเกาะเราะฮ์ : 256
[3]. ซูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์ : 4
[4]. รอฆิบ อิศฟะฮานี,มุฟเราะดาต อัลฟาซุลกุรอาน หน้า 177 คำว่า دین (ศาสนา)
[5]. ฟาฎิล มิกด้าด, ชัรฮ บาบ ฮาดีอะชัร หน้า 2
[6]. สารานุกรมตะชัยยุอ์ หน้า 7 คำว่า دین
[7]. อายะตุลลอฮ์ ญะวาดี ออโมลี, ฟิตรัต ดาร กุรอาน เล่ม 12 หน้า 145
[8]. ซูเราะฮ์อาลิอิมรอน : 19
[9]. มุฮัมมัด มุอีน, พจนานุกรมมุอีน เล่ม 2 คำว่า فرهنگ (วัฒนธรรม)
[10]. ซัยยิดมุศเฏาะฟา ดัชตี ฮุซัยนี, มะอาริฟ วะ มะอารีฟ เล่ม คำว่า فرهنگ
[11]. อับดุลฮุเซน สะอีดียอน, ดาอิเราะตุลมะอาริฟ โนว์ เล่ม 4 คำว่า فرهنگ
[12]. นสพ.สะลอม, ประจำวันที่ 15/7/1373 หน้า 10
[13]. อ้างแล้ว
[14]. นสพ.ญะฮอเน อิสลาม, ประจำวันที่ 1/2/1373 หน้า 10
[15]. อ้างแล้ว