Please Wait
7107
โองการกุรอาน ฮะดีษ และเหตุผลเชิงสติปัญญาพิสูจน์แล้วว่า หลังจากที่มนุษย์ขึ้นสวรรค์และลงนรกแล้ว ความตายจะไม่มีความหมายอีกต่อไป
กุรอานขนานนามวันกิยามะฮ์ว่า “เยามุ้ลคุลู้ด”(วันอันเป็นนิรันดร์) และยังกล่าวถึงคุณลักษณะของชาวสวรรค์ว่า “คอลิดีน”(คงกระพัน) ส่วนฮะดีษก็ระบุว่า จะมีสุรเสียงปรารภกับชาวสวรรค์และชาวนรกว่า “สูเจ้าเป็นอมตะและจะไม่มีความตายอีกต่อไป(یا اهل الجنه خلود فلاموت و یا اهل النار خلود فلا موت) ความตายจะถูกจำแลงในรูปแกะตัวหนึ่งซึ่งจะถูกเชือดในวันกิยามะฮ์ ทางด้านสติปัญญาก็พิสูจน์ว่า ในเมื่อวิญญาณมนุษย์เป็นนามธรรม และทุกสิ่งนามธรรมจะไม่สูญสลาย ฉะนั้น มนุษย์ก็จะไม่ประสบกับความตายอีกหลังจากเข้าสวรรค์หรือลงนรก
วันกิยามะฮ์จะเกิดขึ้นหลังโลกแห่งบัรซัค โดยที่มนุษย์นับตั้งแต่คนแรกจนถึงคนสุดท้ายจะฟื้นคืนชีพมาเพื่อพบกับชีวิตอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งจะได้รับรางวัลหรือถูกลงโทษตามกรรมที่ก่อไว้ในโลกดุนยา[1]
โองการกุรอาน ฮะดีษ และเหตุผลเชิงสติปัญญาพิสูจน์แล้วว่า หลังจากมนุษย์ขึ้นสวรรค์และลงนรกแล้ว(กิยามัตกุบรอ) ความตายจะไม่มีความหมายอีกต่อไป
เราขอนำเสนอเป็นตัวอย่างดังนี้
กุรอานขนานนามวันกิยามัตไว้ถึงเจ็ดสิบชื่อ อันบ่งบอกถึงคุณลักษณะเด่นที่แตกต่างกัน เช่น “วันฟื้นคืนชีพ(ฮัชร์)” ได้มาจากการที่มนุษย์แลสิ่งมีชีวิตทั้งหมดจะฟื้นคืนชีพในวันนั้น และได้ชื่อว่า “เยามุ้ลคุลู้ด”[2] จากการที่ทุกสิ่งจะเป็นอมตะหลังจากวันนั้น ชื่อนี้มีปรากฏในซูเราะฮ์ กอฟ[3]
นอกจากนี้กุรอานยังกล่าวถึงชาวสวรรค์และนรกว่ามีคุณลักษณะคุลู้ด(คงกระพัน)ถึงเจ็ดสิบครั้ง ดังสองโองการต่อไปนี้
“หามิได้ ผู้ใดที่แสวงหาความชั่ว และเกลือกกลั้วด้วยความผิด บุคคลกลุ่มนี้แหล่ะคือชาวนรก พวกเขาจะเป็นอมตะในนั้น”[4]
“และผู้ศรัทธาที่บำเพ็ญความดี บุคคลกลุ่มนี้แหล่ะคือชาวสวรรค์ พวกเขาจะเป็นอมตะในนั้น”[5]
ฮะดีษก็ระบุว่ากิยามัตปราศจากความตาย อัลลามะฮ์ มัจลิซี รายงานฮะดีษมากมายในหนังสือบิฮารุ้ลอันว้ารเล่มแปด(หมวดที่ 26)ซึ่งล้วนมีใจความว่า ความตายจะถูกจำแลงรูปเป็นแกะตัวหนึ่งซึ่งจะถูกเชือดต่อหน้าชาวสวรรค์และชาวนรก อย่างเช่นฮะดีษที่ท่านนบี(ซ.ล.)กล่าวว่า “เมื่อชาวสวรรค์เข้าสวรรค์และชาวนรกลงนรกแล้ว ความตายจะจำแลงเป็นแกะตัวหนึ่ง ซึ่งจะถูกเชือดต่อหน้าบุคคลทั้งหมด พลันมีสุรเสียงก้องว่า “โอ้ชาวสวรรค์ เป็นอมตะปราศจากความตายแล้ว และโอ้ชาวนรก เป็นอมตะและไม่มีความตายอีกแล้ว”[6] นั่นหมายความว่าวันกิยามะฮ์จะไม่มีความตายอีกต่อไป คงไว้เพียงชีวิตอันนิรันดร์[7]
แต่ในแง่ปรัชญาพิสูจน์ดังนี้ว่า ในเมื่อวิญญาณมนุษย์เป็นนามธรรม และสิ่งนามธรรมจะไม่บุบสลาย ฉะนั้นมนุษย์จึงไม่พบความตายอีกหลังเข้าสวรรค์หรือลงนรก
เหตุผลบางประการที่ปรัชญาเมธีและนักเทววิทยาใช้พิสูจน์ว่าจิตวิญญาณเป็นนามธรรม
1. จิตวิญญาณรับรู้ข้อมูลเชิงองค์รวมได้ และข้อมูลเชิงองค์รวมเป็นนามธรรม ฉะนั้น ภาชนะของข้อมูลดังกล่าวก็ต้องเป็นนามธรรมด้วย
2. จิตวิญญาณสามารถทำในสิ่งที่เกินความสามารถของร่างกาย เช่นมโนภาพสิ่งที่เป็นอสงไขยได้
3. หากสังเกตุจะพบว่าประสาทสัมผัสทั้งห้ามีศูนย์รวมอยู่เพียงจุดเดียว อันแสดงถึงความเป็นนามธรรมของวิญญาณ เนื่องจากประสาทสัมผัสทั้งห้าไม่สามารถข้ามการรับรู้ได้ เช่น ตาสามารถเห็นว่าน้ำตาลสีขาว แต่ไม่สามารถรู้รสหวานได้ หรือหากหลับตาชิมอาหารสักชนิด ลิ้นจะรู้รสชาดแต่จะไม่สามารถรับรู้สีสันหรือลักษณะของอาหารได้
4. อวัยวะของร่างกายจะสึกหรอไปตามการใช้งาน แต่จิตวิญญาณกลับยิ่งแข็งแกร่งเมื่อมีการครุ่นคิด แสดงว่าจิตวิญญาณมิได้เป็นวัตถุเสมือนร่างกาย[8]
5. เซลล์และอวัยวะของร่างกายเปลี่ยนไปตามธรรมชาติ แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงก็คือบุคลิกภาพทางจิตวิญญาณ แสดงว่าจิตเป็นนามธรรม[9]
บางคนโต้แย้งว่าจิตวิญญาณก็คือระบบสมองเท่านั้น อย่างไรก็ดี เหตุผลทั้งหมดที่คนกลุ่มนี้ยกมา สามารถพิสูจน์ได้เพียงการที่เซลล์สมองมีอิทธิพลต่อการรับรู้เท่านั้น และยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าสมองรับรู้ข้อมูลเชิงนามธรรมได้หรือไม่
ฉะนั้น ประเด็นความคงกระพันจึงขึ้นอยู่กับความเป็นนามธรรมของวิญญาณ เพราะหากวิญญาณเป็นนามธรรม ก็ย่อมจะคงอยู่หลังจากกายหยาบเสื่อมสลายด้วยความตาย
อนึ่ง การพิสูจน์ภาวะนามธรรมของจิตวิญญาณเป็นประเด็นทางปรัชญา หากต้องการทราบรายละเอียดกรุณาหาอ่านได้จากหนังสือปรัชญาทั่วไป
[1] อาลัมบัรซัคเป็นภาวะเชิงปัจเจก เพราะต่างคนต่างเข้าสู่โลกนี้หลังความตาย แต่กิยามัตกุบรอเป็นภาวะเชิงมหภาค เพราะมนุษย์โลกจะฟื้นคืนชีพขึ้นมาพร้อมกันทั้งหมด ดู: โลกทัศน์,ชะฮีดมุเฏาะฮารี,บทปรโลก,หน้า 31
[2] สาส์นกุรอาน,อ.มะการิม ชีรอซี, บทปรโลก,เล่ม 5,หน้า 58,
[3] ซูเราะฮ์กอฟ,34 ادْخُلُوها بِسَلامٍ ذلِکَ یَوْمُ الْخُلُود
[4] บะเกาะเราะฮ์, 81
[5] อ้างแล้ว, 82
[6] وَ رَوَى مُسْلِمٌ فِی الصَّحِیحِ بِالْإِسْنَادِ عَنْ أَبِی سَعِیدٍ الْخُدْرِیِّ قَالَ قَالَ رَسُولُ اللَّهِ ص إِذَا دَخَلَ أَهْلُ الْجَنَّةِ الْجَنَّةَ وَ أَهْلُ النَّارِ النَّارَ قِیلَ یَا أَهْلَ الْجَنَّةِ فَیُشْرِفُونَ وَ یَنْظُرُونَ وَ قِیلَ یَا أَهْلَ النَّارِ فَیُشْرِفُونَ وَ یَنْظُرُونَ فَیُجَاءُ بِالْمَوْتِ کَأَنَّهُ کَبْشٌ أَمْلَحُ فَیُقَالُ لَهُمْ تَعْرِفُونَ الْمَوْتَ فَیَقُولُونَ هُوَ هَذَا وَ کُلٌّ قَدْ عَرَفَهُ قَالَ فَیُقَدَّمُ وَ یُذْبَحُ ثُمَّ یُقَالُ یَا أَهْلَ الْجَنَّةِ خُلُودٌ فَلَا مَوْتَ وَ یَا أَهْلَ النَّارِ خُلُودٌ فَلَا مَوْتَ قَالَ وَ ذَلِکَ قَوْلُهُ وَ أَنْذِرْهُمْ یَوْمَ الْحَسْرَةِ الْآیَة ดู: บิฮารุลอันว้าร,เล่ม 8,หน้า 344,345
[7] แต่มิได้หมายความว่าผู้ที่ลงนรกจะต้องทกทุกข์ทรมานชั่วกัปชั่วกัลป์ทุกคน แต่การทรมานนิรันดร์มีไว้เฉพาะบุคคลบางจำพวก
[8] ชัรฮุ้ลอิอ์ติก้อดฉบับแปล,อัลลามะฮ์ ชะอ์รอนี,หน้า 242-262
[9] สาส์นกุรอาน,อ.มะการิม ชีรอซี,บทปรโลก,เล่ม 5,หน้า 287