Please Wait
7656
บทบัญญัติอิสลามสามารถนำมาใช้ได้สองมิติด้วยกัน บางประการเกี่ยวข้องกับปัจเจกบุคคล และบางประการเกี่ยวข้องกับสังคม ส่วนที่เกี่ยวข้องกับปัจเจกนั้น สามารถปฏิบัติได้ในทุกสภาพสังคม กล่าวคือ หากมุสลิมประสงค์จะปฏิบัติตามบทบัญญัติอิสลามเชิงปัจเจก อาทิเช่น นมาซ ถือศีลอด ฯลฯ แม้สังคมนั้นๆจะเสื่อมทราม แต่ก็ไม่อาจจะเป็นอุปสรรคต่อกิจวัตรส่วนตัวมากนัก
แต่บทบัญญัติบางข้อเกี่ยวข้องกับกิจกรรมในสังคมที่สามารถประยุกต์ใช้ในสังคมได้ และเนื่องจากมนุษย์ไฝ่ที่จะอยู่ในสังคม จึงจำเป็นจะต้องอาศัยอยู่และสนองความต้องการของตนภายในสังคม ในมุมมองนี้บุคคลควรปกป้องคุณธรรมศาสนาเท่าที่จะมีความสามารถ และมีหน้าที่จะต้องกำชับกันในความดีและห้ามปรามความชั่วตามสำนึกที่มีต่อสังคม ซึ่งแม้ไม่สัมฤทธิ์ผลก็ถือว่าได้ทำตามหน้าที่แล้ว อนึ่ง ในกรณีที่ต้องใช้ชีวิตในสภาพสังคมเช่นนี้ ควรพึ่งพาตนเองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
บทบัญญัติอิสลามสามารถนำมาใช้ได้สองมิติด้วยกัน บางประการเกี่ยวข้องกับปัจเจกบุคคล และบางประการเกี่ยวข้องกับสังคม
เพื่อไขข้อข้องใจที่ว่า ในโลกที่คละคลุ้งไปด้วยบรรยากาศอันน่าสะอิดสะเอียน คุณธรรมถูกครอบงำโดยการหลอกลวง ฯลฯ คนในยุคนี้จะปฏิบัติหน้าที่ทางศาสนาได้อย่างไร และรอดพ้นจากภัยคุกคามทางสังคมได้หรือไม่? เราจะพิจารณาจากสองมุมมองดังต่อไปนี้
ก. บทบัญญัติอิสลามเชิงปัจเจก
บทบัญญัติอิสลามเชิงปัจเจก คือประมวลบทบัญญัติที่พระเจ้าทรงบัญญัติไว้ เพื่อให้มนุษยชาติบรรลุซึ่งความผาสุกอันสมบูรณ์ (ซึ่งเป็นเป้าหมายของการสร้างมนุษย์) ประมวลบทบัญญัติเหล่านี้อยู่ในรูปของการสั่งและการปราม (ชุดบทบัญญัติที่พึงปฎิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายการสรรสร้าง และชุดที่พึงหลีกเลี่ยงเนื่องจากจะเป็นอุปสรรคต่อเป้าหมายดังกล่าว) บทบัญญัติประเภทปัจเจกนี้สามารถปฏิบัติได้ในทุกสังคม กล่าวคือ หากมุสลิมคนใดต้องการปฏิบัติก็สามารถกระทำได้แม้ในสังคมที่เสื่อมทราม เพราะสภาพสังคมมิได้เป็นอุปสรรคต่อกิจวัตรส่วนตัวมากนัก ในสภาวะเช่นนี้ผู้ศรัทธาสามารถประกอบศาสนกิจของตนได้ แม้ว่าอาจจะลำบากอยู่บ้างก็ตาม กุรอานกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า
يا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا عَلَيْكُمْ أَنْفُسَكُمْ لا يَضُرُّكُمْ مَنْ ضَلَّ إِذَا اهْتَدَيْتُمْ إِلَى اللَّهِ مَرْجِعُكُمْ جَمِيعاً فَيُنَبِّئُكُمْ بِما كُنْتُمْ تَعْمَلُونَ[1]
“โอ้ผู้ศรัทธาเอ๋ย พึงสำรวมตน บรรดาผู้หลงทางล้วนไม่สามารถที่จะทำอันตรายใดๆหากสูเจ้าได้รับทางนำแล้ว สู่อัลลอฮ์คือสถานคืนกลับของสูเจ้าทั้งหมด แล้วพระองค์จะทรงแจ้งในสิ่งที่สูเจ้าเคยกระทำ”
โองการนี้ได้จำแนกบัญชีกรรมของมนุษย์แต่ละคนอย่างชัดเจน กล่าวคือ การหลงทางของผู้อื่นไม่มีผลใดๆต่อการชี้นำของบุคคลที่ได้รับทางนำแล้ว แม้ผู้หลงทางจะเป็นวงศาคณาญาติก็ตาม ฉะนั้นจึงควรไม่ควรปฏิบัติตามคนเหล่านี้
แต่คนเราจะสามารถประคองความศรัทธาท่ามกลางสภาพสังคมเช่นนี้ได้ก็ต่อเมื่อยึดถือสายสัมพันธ์ของอัลลอฮ์ ซึ่งก็คืออัลกุรอานและบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์อย่างมั่นคงในหนทางที่เต็มไปด้วยขวากหนาม สารธรรมอิสลามสอนแก่เราว่า เมื่อใดก็ตามที่สังคมเผชิญกับความแตกแยกและความสับสน จงหวลสู่กุรอานเถิด เพราะกุรอานคือทางนำสู่ความผาสุก
فَإِذَا الْتَبَسَتْ عَلَيْكُمُ الْفِتَنُ كَقِطَعِ اللَّيْلِ الْمُظْلِمِ فَعَلَيْكُمْ بِالْقُرْآنِ[2]
ผู้ที่ยึดถือคำสอนของกุรอานเป็นธรรมนูญชีวิต ย่อมจะได้พบกับความผาสุกในบั้นปลาย... เพราะคำสอนของกุรอานเปรียบประดุจรัศมี
อนึ่ง ควรคำนึงเสมอว่าในทุกยุคสมัย ผู้ศรัทธามักจะถูกบีบคั้นโดยสังคมเสมอมานับตั้งแต่ยุคของบรรดาศาสดาท่านก่อนๆ เรื่อยมาจนถึงอิสลามยุคบุกเบิกจนกระทั่งปัจจุบัน เมื่อพิจารณาในหน้าประวัติศาสตร์ก็ไม่สามารถจะพบยุคสมัยใดที่มีสังคมในอุดมคติที่สามารถปฏิบัติศาสนกิจอย่างอิสระเสรีและไร้กังวลได้ ข้อเท็จจริงก็คือสิ่งที่เราประสบอยู่ปัจจุบัน ฉะนั้น ศิลปะของเหล่าปูชณียบุคคลแห่งอัลลอฮ์ก็คือการพิทักษ์ศาสนาในสภาวะสังคมเช่นนี้ให้จงได้
สอง. ศาสนบัญญัติด้านสังคมของอิสลาม
ศาสนบัญญัติบางประการมีสถานะเชิงสังคม และเนื่องจากมนุษย์ไฝ่ที่จะอยู่ในสังคม จึงจำเป็นจะต้องอาศัยอยู่และสนองความต้องการของตนภายในสังคม จำต้องเรียนว่าสภาพสังคมที่คละคลุ้งด้วยการกลับกลอกหลอกลวงอย่างในปัจจุบันก็เคยเกิดขึ้นในยุคของท่านอิมามอลี(อ.)มาก่อน ท่านเคยกล่าวว่า ایها الناس انا قد اصبحنا فی دهر عنود و زمن کنود...
“โอ้กลุ่มชนเอ๋ย เราอยู่ในยุคแห่งการบีฑาและการลำเลิกบุญคุณ คนดีกลายเป็นผู้ร้าย และผู้กดขี่ยิ่งพยศทวีคูณ...”[3] ท่ามกลางสังคมเช่นนี้ หากบุคคลหนึ่งต้องการจะประคองตนให้พ้นจากสิ่งชั่วร้ายและตักเตือนผู้อื่นก็ย่อมจะถูกล้อเลียนถากถาง ในจุดนี้ควรปกป้องคุณธรรมและเผชิญหน้ากับอบายมุขเท่าที่จะสามารถกระทำได้ อันเป็นสำนึกทางสังคมและสอดคล้องกับหลักการกำชับกันในความดีและห้ามปรามความชั่ว แต่หากเห็นว่าการกระทำของตนไม่สัมฤทธิ์ผล อย่างน้อยก็ถือว่าได้ทำหน้าที่แล้ว
อิมามอลีให้โอวาทเกี่ยวกับผู้ศรัทธาที่อยู่ในสภาพสังคมเช่นนี้ว่า “ผู้แสวงหาพระเจ้าที่แท้จริงคือผู้ที่หลั่งน้ำตาเนื่องด้วยความพรั่นพรึงต่อวันปรโลก วันแห่งการพิพากษา และวาระแห่งการฟื้นคืนชีพ บุคคลเหล่านี้จะปลีกตนจากผู้คนและอยู่อย่างลำพัง... สังคมได้บีบคั้นบุคคลเหล่านี้... เสมือนพวกเขาลอยคออยู่ในทะเลที่เค็มสนิท”[4] จากวจนะดังกล่าวทำให้ทราบว่าสังคมมีข้อแตกต่างในสายตาของผู้มีจิตใจผ่องแผ้ว เป็นไปได้ว่าบุคลลเหล่านี้อาจจะเบื่อหน่ายสังคมและปลีกตัวออกห่างความวุ่นวาย หรืออาจจะอยู่ในสังคมที่กดขี่พวกเขา หรือพวกเขาอาจพยายามปรับปรุงสังคมแล้วแต่ไม่มีใครนำพาจึงเลือกที่จะเงียบสงบ การที่อิมามอลี(อ.)เปรียบกัลยาณชนเป็นผู้ที่ลอยอยู่ในทะเลที่เค็มสนิทนั้น อาจเป็นเพราะการที่น้ำเค็มไม่อาจจะบำบัดความกระหายได้ เปรียบดังบุคคลที่ใช้ชีวิตในสังคมที่แตกต่างอย่างสุดขั้วเสมือนคนแปลกหน้าก็มิปาน
อย่างไรก็ดี สถานะของแต่ละคนก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละสังคม บางคนอาจจะทำได้เพียงรณรงค์ความดีในสังคมในวงแคบและได้ผลอย่างไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยนัก ก็ถือว่าเขามีหน้าที่เพียงเท่านั้น เพราะกุรอานกล่าวว่า لا يُكَلِّفُ اللَّهُ نَفْساً إِلاَّ وُسْعَها... อัลลอฮ์มิทรงกำชับเกินขีดความสามารถของบุคคล[5] ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวได้ว่าผู้ศรัทธามีสถานะที่แตกต่างกันในแต่ละเงื่อนไข
อนึ่ง ในกรณีที่จะต้องทนอยู่ในสังคมที่ขัดต่อศีลธรรมจรรยาแห่งอิสลามอย่างไม่มีทางเลือก ควรหลีกเลี่ยงการกระทบกระทั่งปัญหาทางสังคมและลดปฏิสัมพันธ์ด้านโลกย์เท่าที่จะทำได้ มิเช่นนั้นก็จะมีหน้าที่ตามที่กุรอานได้ระบุไว้ นั่นก็คือการอพยพไปจากสังคมนั้นๆ กุรอานกล่าวถึงบุคคลที่มักจะชี้แจงความอ่อนแอของตนโดยอ้างสภาพแวดล้อมของสังคมว่า “บุคคลที่มวลมลาอิกะฮ์เก็บวิญญาณในสภาพที่กดขี่ตนเอง จะมีปรารภแก่พวกเขาว่า สูเจ้าเคยเป็นเช่นไรหรือ? (และเหตุใดจึงอยู่ในแถวของกาฟิรทั้งที่เป็นมุสลิม) พวกเขาตอบว่า เราถูกกดขี่ในดินแดนของเรา (มลาอิกะฮ์)แย้งว่า แผ่นดินของอัลลอฮ์มิได้กว้างใหญ่ไพศาลหรืออย่างไร เหตุใดจึงไม่อพยพเล่า?”[6]
ศาสนศึกษาและความเข้าใจอิสลามในมุมมองใหม่,3002 (ลำดับในเว็บไซต์ 3250)
[1] อัลมาอิดะฮ์,105
[2] กุลัยนี,มุฮัมมัด บิน ยะอ์กู้บ, อัลกาฟี,เล่ม 2,หน้า 599,600,ดารุลกุตุบิลอิสลามียะฮ์,เตหราน,ปี1365
قَالَ فَقَامَ الْمِقْدَادُ بْنُ الْأَسْوَدِ فَقَالَ يَا رَسُولَ اللَّهِ وَ مَا دَارُ الْهُدْنَةِ قَالَ دَارُ بَلَاغٍ وَ انْقِطَاعٍ فَإِذَا الْتَبَسَتْ عَلَيْكُمُ الْفِتَنُ كَقِطَعِ اللَّيْلِ الْمُظْلِمِ فَعَلَيْكُمْ بِالْقُرْآنِ فَإِنَّهُ شَافِعٌ مُشَفَّعٌ وَ مَاحِلٌ مُصَدَّقٌ وَ مَنْ جَعَلَهُ أَمَامَهُ قَادَهُ إِلَى الْجَنَّةِ وَ مَنْ جَعَلَهُ خَلْفَهُ سَاقَهُ إِلَى النَّارِ وَ هُوَ الدَّلِيلُ يَدُلُّ عَلَى خَيْرِ سَبِيلٍ وَ هُوَ كِتَابٌ فِيهِ تَفْصِيلٌ وَ بَيَانٌ وَ تَحْصِيلٌ وَ هُوَ الْفَصْلُ لَيْسَ بِالْهَزْلِ وَ لَهُ ظَهْرٌ وَ بَطْنٌ فَظَاهِرُهُ حُكْمٌ وَ بَاطِنُهُ عِلْمٌ ظَاهِرُهُ أَنِيقٌ وَ بَاطِنُهُ عَمِيقٌ لَهُ نُجُومٌ وَ عَلَى نُجُومِهِ نُجُومٌ لَا تُحْصَى عَجَائِبُهُ وَ لَا تُبْلَى غَرَائِبُهُ فِيهِ مَصَابِيحُ الْهُدَى وَ مَنَارُ الْحِكْمَةِ وَ دَلِيلٌ عَلَى الْمَعْرِفَةِ لِمَنْ عَرَفَ الصِّفَةَ فَلْيَجْلُ جَالٍ بَصَرَهُ وَ لْيُبْلِغِ الصِّفَةَ نَظَرَهُ يَنْجُ مِنْ عَطَبٍ وَ يَتَخَلَّصْ مِنْ نَشَبٍ فَإِنَّ التَّفَكُّرَ حَيَاةُ قَلْبِ الْبَصِيرِ كَمَا يَمْشِي الْمُسْتَنِيرُ فِي الظُّلُمَاتِ بِالنُّورِ فَعَلَيْكُمْ بِحُسْنِ التَّخَلُّصِ وَ قِلَّةِ التَّرَبُّصِ
[3] นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์,คุตบะฮ์,32
[4] เพิ่งอ้าง, وَ بَقِيَ رِجَالٌ غَضَّ أَبْصَارَهُمْ ذِكْرُ الْمَرْجِعِ وَ أَرَاقَ دُمُوعَهُمْ خَوْفُ الْمَحْشَرِ فَهُمْ بَيْنَ شَرِيدٍ نَادٍّ وَ خَائِفٍ مَقْمُوعٍ وَ سَاكِتٍ مَكْعُومٍ وَ دَاعٍ مُخْلِصٍ وَ ثَكْلَانَ مُوجَعٍ
[5] อัลบะเกาะเราะฮ์,286
[6] อันนิซาอ์, 97