Please Wait
12144
ถูกต้องบทบัญญัติเกี่ยวกับ การแต่งงานกับทาส, การเป็นมะฮฺรัมกับทาส, สัญญาซื้อขาย (ข้อตกลงที่จะปล่อยทาสเป็นไท) และ ...ได้ถูกกล่าวไว้ในอัลกุรอาน, การมีทาสได้รับการยืนยันว่ามีจริงในสมัยของท่านเราะซูล (ซ็อลฯ) และต้นยุคอิสลาม แต่จำเป็นต้องกล่าวว่าอิสลามมีโปรแกรมที่ละเอียดอ่อน และมีกำหนดเวลาในการปลดปล่อยทาสให้เป็นไท ซึ่งบั้นปลายสุดท้ายของทั้งหมดเหล่านั้นคือ การได้รับอิสรภาพเป็นไททั้งสิ้น ดังนั้นการเผชิญหน้าของอิสลามกับปัญหาเหล่านี้ จำเป็นต้องกล่าวถึงประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้:
1-อิสลามมิเคยเริ่มต้นปัญหาเรื่องทาส
2-อิสลามถือว่าปัญหาชะตากรรม และความเจ็บปวดใจของทาสในอดีตที่ผ่านมาคือ ปัญหาความล้าหลังอันยิ่งใหญ่ของสังคม
3-อิสลามได้วางโครงการที่ละเอียดอ่อน เพื่อปลดปล่อยทาสให้เป็นไท, เนื่องจากครึ่งหนึ่งของพลเมืองในสมัยก่อนเป็นทาสทั้งสิ้น, พวกเขาไม่มีอิสรเสรีในการประกอบอาชีพการงาน, ไม่มีปัจจัยสำหรับการดำเนินชีวิตต่อไป.ถ้าหากอิสลามได้มีคำสั่งต่อสาธารณชนว่าให้ทั้งหมดปล่อยทาสให้เป็นไท, ซึ่งเป็นไปได้ว่าส่วนใหญ่ของพวกเขาจะต้องสูญเสียชีวิต หรือไม่ชนส่วนใหญ่ก็จะต้องว่างงานไร้อาชีพ หิวโหย ถูกกีดกัน และพวกเขาต้องได้รับแรงกดดันจนกระทั่งเข้าทำร้ายและโจมตีในทุกที่ การประจัญบาน การนองเลือด และการทำลายกฎระเบียบของสังคมก็จะทวีความรุนแรงขึ้น ด้วยเหตุนี้เอง อิสลามได้วางแผนการไว้อย่างละเอียด เพื่อดึงดูดสังคมให้ทาสเหล่านี้ได้รับอิสรภาพ และเป็นไทไปที่ละน้อย
ซึ่งแผนการดังกล่าวมีองค์ประกอบหลายประการด้วยกัน กล่าวคือ :
แผนที่หนึ่ง – ปิดและขุดรากถอนโคนความเป็นทาส
แผนที่สอง – เปิดกว้างความเสรี
แผนที่สาม – ฟื้นฟูบุคลิกภาพของผู้เป็นทาส
แผนที่สี่ – ความประพฤติของคนทั่วไปกับทาส
แผนที่ห้า – ประกาศการซื้อขายมนุษย์ว่าเป็นธุรกิจ และกิจการที่ชั่วช้าที่สุด
การเผชิญหน้าด้านวิชาการและการดำเนินชีวิตของเหล่าผู้นำศาสนา กับทาสเป็นหนึ่งในแบบอย่างทางการปฏิบัติ สำหรับชาวมุสลิมทั้งหลาย การเผชิญกับปัญหาเหล่านี้ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง สำหรับการปลดปล่อยทาสให้เป็นไท
สำหรับความชัดเจนในคำตอบจำเป็นต้องอธิบายประเด็น เรื่องทาสในอิสลามให้ชัดเจนเสียก่อน
แม้ว่าปัญหาเรื่องทาสจะอยู่ในฐานะคำสั่งแน่นอน เกี่ยวกับเรื่องเชลยสงคราม, แต่ไม่มีชื่อเรียกไว้ในอัลกุรอาน ขณะเดียวกันก็ไม่อาจปฏิเสธได้เช่นเดียวกันว่า มีเรื่องราวที่กล่าวไว้ในอัลกุรอาน เกี่ยวกับทาส, ดังนั้นเรื่องการมีทาสเป็นเรื่องแน่นอนที่มีอยู่จริงในสมัยท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และยุคต้นอิสลาม[1] เช่น การอนุญาตให้ใช้ประโยชน์จากเชลยที่จับมาในฐานะของทาส, การแต่งงานกับทาส, บทบัญญัติเกี่ยวกับการเป็นมะฮฺรัมกับทาส หรือสัญญาต่างๆ (ข้อตกลงที่ปล่อยทาสให้เป็นอิสระ) ซึ่งมีกล่าวไว้ในโองการต่างๆ มากมาย เช่น ในบทนิซาอฺ อันนะฮฺลุ มุอฺมินูน นูร โรม และอะฮฺซาบ
ตรงนี้จะเห็นว่าบางคนเข้าใจไขว่เขวเกี่ยวกับอิสลามว่า ทำไมศาสนาแห่งพระเจ้า ซึ่งมีเนื้อหาสาระและถือว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีค่าอันสูงส่ง แต่กลับไม่ได้ปฏิเสธเรื่องทาส ประกอบกับไม่ได้ประกาศเงื่อนไขแน่นอน หรือเงื่อนไขสาธารณเกี่ยวกับการปล่อยทาสให้อิสระ
ถูกต้องที่ว่าอิสลามได้ให้คำแนะนำไว้มากมาย เกี่ยวกับเรื่องทาส แต่สิ่งที่สำคัญคือการให้เสรีภาพแบบไม่มีเงื่อนไข เนื่องจากเพราะเหตุใดมนุษย์ต้องเป็นเจ้ามนุษย์ด้วยกันด้วย ทั้งที่ความอิสรเสรีคือของขวัญอันยิ่งใหญ่จากพระเจ้า ทีทรงมอบแก่มนุษย์ทุกคน แต่เรากลับปล่อยให้หลุดลอยมือไป
คำตอบ : ขอตอบด้วยประโยคสั้นว่า อิสลามทีแผนการที่ละเอียดอ่อนและแยบยล พร้อมกับมีกำหนดเวลาในการปลดปล่อยทาสให้เป็นอิสระ ซึ่งตามกำหนดการแล้วทุกคนต้องได้รับอิสรภาพที่ละน้อยทั้งหมด โดยที่ไม่มีปฏิกิริยาที่ไม่ดีทางสังคมโต้ตอบแต่อย่างใด
แต่ก่อนที่จะอธิบายแผนการอิสลามโดยละเอียดเหล่านั้น จำเป็นต้องกล่าวถึงประเด็นสำคัญเพื่อเป็นบทนำดังนี้ :
1-อิสลามมิใช่ผู้เริ่มต้นปัญหาเรื่องทาส, ทว่าในยุคการเริ่มต้นของอิสลาม ปัญหาเรื่องทาสได้เกิดขึ้นกระจัดกระจายอยู่ทั่วโลก และผสมผสานอยู่ในสังคมมนุษย์มาโดยตลอด
2-ปัญหาทาสตลอดหน้าประวัติศาสตร์ถือเป็นชะตาชีวิตที่เจ็บช้ำที่สุด เช่น ทาสสปาร์ตัน โดยนิยามทั่วไปเรียกว่า อารยชน ซึ่งตามคำกล่าวของผู้เขียน รูฮุลกะวานีน กล่าวว่า สปาร์ตัน เป็นทาสที่ต่ำต้อยที่สุดกว่าว่าได้ เนื่องจากเขามิได้เป็นทาสของคนเพียงคนเดียว ทว่าเป็นทาสของสังคม เพราะไม่ว่าใครก็ตามที่ไม่หวั่นเกรงกฎหมายสังคม เขาสามารถทำทุกอย่างกับทาสของเขาและทาสของคนอื่นได้ ไม่ว่าจะเป็นการกลั่นแกล้ง หรือการทรมานอื่นๆก็ตาม อีกนัยกล่าวได้ว่าสภาพชีวิตของพวกเขามีค่าตำกว่าบรรดาสัตว์เดรัจฉานเสียด้วยซ้ำไป
นับตั้งแต่พวกเขาถูกจับเป็นทาสจากประเทศด้อยพัฒนา จนกระทั่งถูกนำมาขายทอดตลาด พวกเขาได้ล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนมาก ส่วนที่ยังมีชีวิตเหลืออยู่ก็จะถูกใช้เป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์ ทาสที่ถูกจับมาขายจะถูกให้อาหารเพียงเล็กน้อยเพื่อประทังชีวิต เพื่อนำไปใช้งานต่อไป และเมื่อพวกเขาแก่ชรา หรือไม่สบาย พวกเขาก็จะถูกปล่อยไปตามสภาพและยะถากรรมที่เป็นไปตามมีตามเกิด และตายอย่างทรมาน ด้วยเหตุนี้เอง คำว่าทาสตลอดหน้าประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา มีความเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมร้ายแรงมาก อิสลามในฐานะที่เป็นศาสนาที่มา เพื่อปลดปล่อยความเป็นทาสให้หมดไป และแสวงหาความสุขความจำเริญให้แก่สังคมมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ อิสลามจึงถือว่าชะตากรรมของทาสในอดีตที่ผ่านมา อยู่ในฐานะของความเจ็บปวดและเป็นความเดือดร้อนของสังคมเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น อิสลามจึงไม่เคยนิ่งนอนใจ หรือนิ่งเฉยกับปัญหาที่มีความสำคัญเช่นนี้เด็ดขาด จึงได้มีการวางแผนอย่างแยบยลมากด้วยวิทยปัญญา เพื่อขุดรากถอนโคนปัญหาทาส อันเป็นความเจ็บปวดให้หมดไปจากสังคม
3.แผนอิสลามเพื่อการเลิกทาส
สิ่งที่โดยทั่วไปแล้วมิได้รับความเอาใจใส่ ถ้าเมื่อใดก็ตามได้มีการสร้างระบบที่ผิดพลาดให้เกิดขึ้นในสังคม แล้วต้องการจะถอดถอนระบบนั้นออกไปจำเป็นต้องใช้เวลา ซึ่งทุกการขับเคลื่อนถ้ามิได้รับการวางแผนอย่างดี ก็จะได้รับคำตอบที่เลวร้ายกลับมา เฉกเช่นมนุษย์เมื่อประสบโรคภัยไข้เจ็บอย่างรุนแรง และมิได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี หรือผู้ติดยาเสพติดที่ได้เสพสิ่งเสพติดมานานหลายปี หากต้องการเลิกเสพยาต้องมีการจัดการไปตามขั้นตอน จัดระบบเวลาเพื่อยังประโยชน์แก่ตัวเองให้มากที่สุด
หรืออาจกล่าวอย่างตรงไปตรงมาได้ว่า ถ้าอิสลามมีการดำเนินการแบบสาธารณชนทั่วไป หรือออกคำสั่งเหมือนคำสั่งสาธารณะว่า ให้มีการเลิกทาสทั้งหมดที่มีอยู่ แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาคือ จะทาสจำนวนมหาศาลถูกสังหารชีวิต เนื่องจากพลเมืองของสังคมโลกครึ่งหนึ่งนั้นเป็นทาส พวกเขามิได้มีอาชีพอิสระ หรือใช้ชิวิตอยู่อย่างเอกเทศ ไม่มีบ้านที่อยู่อาศัย และไม่มีปัจจัยที่จะดำรงชีวิตต่อไป
ถ้าหากมีการระบุวันและเวลาแน่นอนว่า เป็นวันเลิกทาสก็จะปรากฏว่ามีพลเมืองไม่น้อยที่ปราศจากอาชีพการงาน ทำให้ชีวิตของพวกเขาต้องตกอยู่ในอันตราย และอาจเป็นไปได้ที่ว่าระบบและระเบียบของสังคมก็ต้องสูญเสียไปด้วย และภาวะกดดันและการบีบบังคับก็จะเกิดกับพวกเขา การทำร้ายและการนองเลือดก็ต้องเกิดขึ้นอย่างไม่รู้จักจบ
ตรงนี้เองที่ต้องมีการวางแผนเพื่อเลิกทาสไปที่ละน้อย สร้างความดึงดูดใจแก่สังคม เพื่อป้องกันมิให้ชีวิตของพวกเขาต้องตกอยู่ในอันตราย และขณะเดียวกันก็ต้องป้องกันมิให้เกิดความวุ่นวายในสังคม ดังนั้นอิสลามจึงได้มีการดำเนินการตามแผนการดังกล่าวนั้น
แน่นอนว่า แผนการเลิกทาสมีรายละเอียดมากมาย ซึ่งจะขอกล่าวในเชิงสรุปเฉพาะปัญหาสำคัญเท่านั้น
ข้อหนึ่ง – คุมกำเนิดเรื่องการเป็นทาส
ดังจะเห็นว่าปัญหาเรื่องทาสที่เกิดขึ้นมาในอดีตนั้นมีสาเหตุมากมาย มิใช่เฉพาะบุคคลที่เป็นเชลยสงครามเพียงอย่างเดียว หรือลูกหนี้ที่ไม่มีปัญญาจ่ายหนี้คืน ก็จะถูกจับตัวไปเป็นทาสขัดเรือนเบี้ย ซึ่งแน่นอนว่าตรงนี้อิสลามได้ปิดประตูเรื่องการเป็นทาสโดยสิ้นเชิง ซึ่งมีเฉพาะปัญหาเดียวที่อนุญาตให้มีทาสได้ นั่นคือเชลยสงคราม เพราะนี่เป็นหลักสากลที่ว่าเมื่อมีสงครามเกิดขึ้น ฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ชนะพลพรรคของฝ่ายปราชัย ก็ต้องตกไปเป็นของฝ่ายตรงข้ามโดยปริยาย อาจถูกสังหารทิ้งทั้งหมด หรือถูกจับไปเป็นทาส เนื่องจากถ้าปล่อยศัตรูไว้อย่างนั้น พวกเขาอาจไปสมทบกองกำลังใหม่ และบุกย้อนมาทำสงครามอีกก็เป็นไปได้ ซึ่งตรงนี้อิสลามได้เลิกหลักการแก้ไขปัญหาข้อสองคือ การจับตัวไปเป็นทาสแต่มีคำสั่งว่า หลังจากจับตัวเป็นเชลยแล้วทุกสิ่งจะต้องจบลงโดยดี กล่าวคือเชลยที่ได้กระทำความผิดจะอยู่ในฐานะอะมานะฮฺของพระเจ้า ที่อยู่ในการดูแลของมุสลิม ซึ่งมีสิทธิ์หลายประการที่ต้องปฏิบัติกับพวกเขา[2]
เงื่อนไขของเชลยสงครามหลังจากสงครามเสร็จสิ้นแล้ว มีอยู่ 3 ประการกล่าวคือ : ปล่อยพวกเขาให้เป็นอิสระโดยปราศจากเงื่อนไข, ปล่อยพวกเขาให้เป็นอิสระแต่มีเงื่อนไขว่า ต้องจ่ายส่วยเป็นการชดเชย (ค่าตอบแทน) หรือให้เขาเป็นทาสตน แน่นอนว่า ทั้งสามประการนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของท่านอิมาม และผู้นำ แน่นอนว่าท่านอิมามหรือผู้นำก็ต้องตัดสินไปตามเงื่อนไขของการเป็นเชลย เพื่อรักษาผลประโยชน์ของอิสลามและมุสลิมให้มากที่สุด ทั้งภายในและภายนอก และเลือกกระทำสิ่งที่เหมาะสมที่สุด
แต่ถ้าอิมามมีทัศนะว่าไม่สมควรปล่อยเชลยให้เป็นอิสระ ซึ่งในยุคสมัยนั้นแน่นอนว่าความเป็นไปได้ในเรื่องจำ ที่จะนำเชลยไปขังไว้เพื่อรอการตัดสินนั้นไม่มี จึงต้องใช้วิธีแบ่งจำนวนเชลยไปไว้ตามบ้าน เพื่อกักขังเชลยไว้ในบ้านในฐานะของทาส
แน่นอนว่าเมื่อเงื่อนไขเหล่านี้เปลี่ยนไปแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลอันใดอีกที่อิมาม จะต้องยอมรับเชลยในฐานะของทาสอีกต่อไป ทว่าสามารถเปลี่ยนเป็นการจ่ายส่วยแทนได้ เนื่องจากอิสลามได้มอบอำนาจการตัดสินใจเด็ดขาดแก่ผู้นำ โดยมองปัญหาเรื่องความเหมาะสมสำหรับสังคมเป็นประเด็นหลัก ดังนั้น จะเห็นว่าโดยหลักการอิสลามแล้ว ปัญหาเรื่องทาสจะค่อยๆ ปิดตัวลงอย่างช้าๆ โดยไม่มีข้อครหาและความวุ่นวายตามมาภายหลัง
ข้อสอง- เปิดกว้างปัญหาเสรีภาพ
อิสลามได้วางแผนระยะยาวสำหรับเรื่องการเลิกทาส แน่นอนว่าถ้ามุสลิมได้ปฏิบัติไปตามแผนการเหล่านั้น ปัญหาเรื่องทาสก็จะหมดไปอย่างง่ายดายและรวดเร็ว และยังเป็นการสร้างความดึงดูดใจให้แก่สังคมอีกด้วย
โปรแกรมดังกล่าวประกอบด้วย :
ก. หนึ่งในแปดวัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายซะกาตในอิสลามคือ การซื้อทาสแล้วปล่อยให้เป็นอิสระ[3] ดังนั้น จะเห็นว่าจะมีงบประมาณตายตัวเก็บไว้ เพื่อจัดการปัญหาดังกล่าวอันเป็นงบประมาณต่อเนื่อง จากกองคลังอิสลาม ซึ่งได้ตั้งงบไว้จนกว่าจะเลิกทาสได้อย่างสมบูรณ์
ข. อิสลามได้วางกฎเกณฑ์ไว้ว่า ทาสนั้นตามเงื่อนไขถือว่าเป็นสมบัติของตน ดังนั้น ตนมีสิทธิ์ที่จะยกเลิกกฎข้อนี้เมื่อใดก็ได้ (วิชานิติศาสตร์อิสลามได้มีการกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้เป็นบทพิเศษ ภายใต้หัวข้อ มะกาติบะฮฺ)
ค.การปล่อยทาสให้เป็นอิสระ ถือว่าเป็นหนึ่งในอิบาดะฮฺที่สำคัญที่สุดประการหนึ่ง และจัดว่าเป็นการงานที่ดียิ่งในอิสลาม เหล่าบรรดาอิมามผู้นำได้เป็นผู้ปฏิบัติหลักการนี้ อยู่ในลำดับต้นจนมีบันทึกไว้ว่า ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้ปล่อยทาสให้เป็นอิสระมีจำนวนเป็นพันคนที่เดียว[4]
ง. บรรดาอิมาม (อ.) จะเลิกทาสด้วยราคาที่เล็กน้อยที่สุด เพื่อเป็นแบบอย่างสำหรับคนอื่น ถึงขนาดที่ว่า ทาสคนหนึ่งของท่านอิมามบากิร (อ.) ได้ประพฤติความดีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ท่านอิมามได้กล่าวกับเขาว่า “เจ้าจงไปเถิด เจ้าเป็นอิสระแล้ว ฉันไม่มีชอบเลยที่จะนำชาวสวรรค์มาเป็นคนรับใช้ของตัวเอง”[5]
มีคำกล่าวถึงสภาพของท่านอิมามซัจญาด (อ.) ว่า ขณะนั้นคนรับใช้กำลังราดน้ำบนศีรษะท่านอิมาม เพื่อให้ท่านได้ล้างศีรษะ แต่เขาได้ทำภาชนะหลุดมือกระแทกศีรษะท่านอิมามจนได้รับบาดเจ็บ ท่านอิมามได้เงยหน้าขึ้นมา คนรับใช้กล่าวว่า “มีบางคนได้กลืนความกริ้วโกรธของตน” ท่านอิมามตอบเขาว่า “ฉันได้กลืนความกริ้วโกรธหมดสิ้นแล้ว” เขากล่าวต่อว่า “มีบางคนที่ให้อภัยโทษแก่ประชาชน” ท่านอมามตอบว่า “ขออัลลอฮฺทรงอภัยแก่ท่าน” เขากล่าวว่า “แท้จริงอัลลอฮฺ ทรงรักผู้ประกอบความดี”[6] ท่านอิมามกล่าวว่า “เจ้าจงไปเถิดเจ้าเป็นอิสระเพื่อพระเจ้าแล้ว”
จ. รายงานบางบทกล่าวว่า ทาสนั้นหลังจาก 7 ปีไปแล้ว เขาจะเป็นอิสระโดยปริยาย ดังคำกล่าวของท่านอิมาม ซอดิก (อ.) ที่กล่าวว่า “บุคคลใดมีศรัทธา เขาจะได้รับอิสรภาพภายหลังจาก 7 ปีผ่านไปแล้ว ไม่ว่าเจ้าของทาสจะพอใจหรือไม่ก็ตาม และการนำเอาบุคคลที่มีศรัทธาเป็นทาส ภายหลังจาก 7 ปีแล้วถือว่าไม่อนุญาต[7]
จากหมวดนี้นี้มีรายงานจากท่านศาสดา (ซ็อลฯ) กล่าวว่า “ญิบรออีลได้แนะนำฉันเรื่องทาสอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งฉันคิดว่า ในไม่ช้านี้ต้องมีข่าวดีสำหรับพวกเขาอย่างแน่นอน และเมื่อฉันไปถึงพวกเขาก็ได้รับอิสรภาพหมดสิ้น”[8]
ฉ. บุคคลใดก็ตามได้ให้อิสรภาพแก่ทาสที่ตนถือกรรมสิทธิ์ร่วม เขามีหน้าที่ต้องซื้อทาสที่เหลือและเลิกทาสเหล่านั้น
ช. เมื่อใดก็ตามที่ได้ให้อิสรภาพแก่ทาสบางส่วน ที่ตนเป็นเจ้าของโดยสมบูรณ์ อิสรภาพนั้นจะครอบคลุมเหนือทาสทั้งหมดด้วย และทาสเหล่านั้นจะเป็นอิสระโดยปริยาย
ซ. เมื่อใดก็ตามถ้าบุคคลหนึ่งได้เป็นเจ้าของ บิดา มารดา หรือปู่ หรือบุตร หรือลุง ป้า น้า อา หรือพี่น้องชาย หรือพี่น้องสาว หรือลูกพี่น้องสาว หรือลูกพี่น้องชาย ทั้งหมดเป็นทาส ซึ่งพวกเขาจะได้รับอิสรภาพจากความเป็นทาสของพวกเขา โดยเร็วที่สุด
ด. เมื่อใดก็ตามที่เจ้าของได้มีบุตรของทาสของตน ไม่อนุญาตให้ขายทาสคนนั้นแก่คนอื่นอีกต่อไป และหลังจากบุตรของตนได้รับส่วนแบ่งที่เป็นมรดกแล้ว นางจะได้รับอิสรภาพทันที
สิ่งที่กล่าวมานี้จะเห็นว่ามีทาสจำนวนมากมายได้รับอิสรภาพ เนื่องจากทาสส่วนใหญ่ ซึ่งอยู่ในฐานะภรรยาของผู้เป็นเจ้าของตน ได้ให้กำเนิดบุตรแก่พวกเขา
ต. การจ่ายกะฟาเราะฮฺ ที่เกิดจากการกระทำผิดบางอย่างในคำสอนอิสลาม ให้ชดเชยด้วยการเลิกทาส เช่น การฆ่าผู้อื่นโดยไม่ได้เจตนา การทำให้ศีลอดเสียโดยเจตนา และอื่นๆ
ม. การเลิกทาส เนื่องจากการลงโทษรุนแรงที่เจ้าของได้ลงโทษทาสของตน
ก่อนหน้าอิสลามนั้นจะเห็นว่า มีกฎอนุญาตให้เจ้าของทาสสามารถลงโทษ ทรมาน หรือจัดการทุกอย่างกับทาสของตนได้ โดยไม่มีอุปสรรคปัญหาแต่อย่างใด ในการกลั่นแกล้ง หรือลิดรอนสิทธิของทาสของตน แต่เมื่ออิสลามถูกประกาศแล้ว อิสลามได้ห้ามการทรมานทาสอย่างเด็ดขาด เช่น การตัดมือ ตัดหู ตัดลิ้น ตัดจมูก และอื่นๆ และยังได้ประกาศอีกว่าเมื่อใดก็ตามที่เจ้าของทาสได้กระทำการดังกล่าว ทาสคนนั้นจะได้รับอิสรภาพโดยทันที[9]
ข้อที่สาม – การฟื้นฟูบุคลิกภาพของทาส
ในช่วงเวลาที่ทาสกำลังดำเนินไปสู่การเลิกทาส ตามแผนการของอิสลาม ตรงนี้อิสลามได้พยายามที่จะส่งเสริมและจัดการสิ่งจำเป็นมากมาย เพื่อฟื้นฟูและส่งเสริมบุคลิกภาพของทาส หรือเรียกร้องความเป็นมนุษย์ของพวกเขากลับคืนมา เพื่อมิให้เกิดช่องว่างทางสังคม และไม่ให้มีความแตกต่างกันระหว่างทาสกับพลเมืองอื่นในสังคม ซึ่งอิสลามได้วางมาตรฐานสำคัญในแง่คุณค่าของความเป็นมนุษย์ไว้ที่ ตักวา ความยำเกรงหรือความสำรวมตนต่อพระเจ้า ดังนั้น จะเห็นว่าทาสที่ได้รับอิสรภาพแล้วได้มีตำแหน่งหน้าที่สำคัญทางสังคมกันอย่างถ้วนหน้า จนถึงขั้นที่ว่าพวกเขาสามารถดำรงตำแหน่งผู้พิพากษา อันเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งได้ ในสมัยของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) จะเห็นว่าตำแหน่งสำคัญบางอย่าง เช่น ผู้บัญชาการกองทัพ และตำแหน่งรองลงมา ท่านได้มอบให้ทาสที่ได้รับอิสระแล้วเป็นผู้รับผิดชอบดำรงตำแหน่งเหล่านั้น
สหายที่ยิ่งใหญ่ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) หลายท่านเคยเป็นทาส หรือทาสที่ได้รับอิสรภาพ อย่างไรก็ตามพวกเขาจำนวนมากมายเหล่านั้นได้กลายเป็นผู้ช่วยเหลืออิสลาม กลายเป็นผู้อาวุโส ผู้ทรงคุณวุฒิ และมีหน้าที่สำคัญทางสังคมมากมาย แน่นอนว่า บุคคลในกลุ่มนี้ได้แก่ท่านซัลมาน อัมมาร มิกดาร บิลาล และกัมบัร เป็นต้น ซึ่งหลังจากสงครามบนี อัลมุซเฏาะลักเสร็จสิ้นแล้ว ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้สมรสกับทาสหญิงคนหนึ่ง ที่ได้รับอิสรภาพจากเผ่าดังกล่าว ซึ่งการกระทำดังกล่าวนั้นเองกลายเป็นเหตุสำคัญทำให้เชลยสงครามทั้งหมด ต่างได้รับอิสรภาพกันอย่างถ้วนหน้า
ข้อที่สี่ – ความประพฤติในแง่มนุษย์กับทาส
อิสลามมีคำสั่งมากมายเกี่ยวกับการแสดงความเป็นมิตร การให้ความช่วยเหลือ และคำปรึกษาหารือกับทาส ถึงขนาดที่ว่าให้พวกเขามีส่วนร่วมในชีวิตของเจ้าของทาส
ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) กล่าวว่า “บุคคลใดก็ตามมีทาสอยู่ในครอบครอง สิ่งใดที่เขาบริโภค ก็จงให้ทาสของเขาบริโภคด้วย อันใดที่เขาสวมใส่ ก็จงให้ทาสของเขาสวมใส่ด้วย และจงอย่ามอบหมายงานที่เกินกำลังความสามารถของเขา”
ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวแก่กัมบัรทาสของท่านว่า “ฉันมีความอายอย่างหนึ่งต่ออัลลอฮฺ ในการที่ฉันได้มีโอกาสสวมอาภรณ์ที่ดีกว่าเจ้า เนื่องจากท่านศาสดา (ซ็อลฯ) กล่าวว่า อันใดที่เจ้าสวมใส่ ก็จงให้ทาสได้สวมใส่ด้วย และสิ่งใดที่เจ้าบริโภคก็จงให้เขาได้บริโภคด้วย”
ท่านอิมามซอดิก (อ.) เมื่อบิดาของฉันได้มีสั่งให้คนรับใช้ของท่านกระทำงานบางอย่าง ท่านจะพิจารณาอย่างรอบคอบ ถ้าเป็นงานหนักท่านจะกล่าว บิสมิลลาฮฺ พร้อมกับลงมือทำ หรือไม่ก็ช่วยเหลือพวกเขา”
การแสดงมารยาทอันดีงามในอิสลาม ที่มีต่อบรรดาทาสในช่วงนั้น ได้สร้างความดึงดูดใจแก่คนนอกศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ตัวอย่าง เช่น ญุรญา ซัยดาน ได้บันทึกไว้ในหนังสืออายธรรมของตนว่า อิสลามได้เมตตาต่อบรรดาเป็นอย่างยิ่ง ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) มีคำสั่งแนะนำเกี่ยวกับทาสไว้มากมาย เช่น กล่าวว่า “จงอย่ามอบหมายงานที่เกินกำลังความสามารถของทาสให้พวกเขาทำ และทุกสิ่งที่เจ้าบริโภคจงแบ่งปันให้ทาสได้บริโภคด้วย”
บางที่กล่าวว่า “จงอย่ากล่าวเรียกบ่าวของตนว่า ทาสหรือคนรับใช้ แต่จงเรียกพวกเขาว่า โอ้ บุตรชาย หรือโอ้ บุตรีของฉัน” นอกจากนั้นแล้ว อัลกุรอานเองก็ได้แนะนำเกี่ยวกับเรื่องทาสไว้เป็นจำนวนมากเช่นกัน เช่น จงเคารพภักดีอัลลอฮฺ จงอย่าตั้งภาคีกับพระองค์ จงทำดีกับบิดามารดา ญาติสนิท เด็กกำพร้า คนขัดสน เพื่อบ้านทั้งที่อยู่ใกล้และไกล คนเดินทาง ทาสและคนรับใจ อัลลอฮฺเป็นผู้ทรงมั่งคั่ง ผู้ทรงตระหนัก
ข้อที่ห้า – ภารกิจอันชั่วช้ายิ่งคือการค้ามนุษย์
โดยหลักการแล้ว อิสลามถือว่าการซื้อขายทาสที่ดี เป็นหนึ่งในอาชีพที่หน้ารังเกียจที่สุด มีรายงานจากท่านศาสดา (ซ็อลฯ) กล่าวว่า “คนที่เลวที่สุดคือ บุคคลที่ทำการค้ามนุษย์”[10]
จากคำพูดดังกล่าวนี้ทำให้เห็นทัศนะของอิสลาม เกี่ยวกับทาสประจักษ์ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทิศทางเดินของอิสลามว่า จะมีทิศทางเดินอย่างไร
แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นคือ บาปที่ไม่มีวันได้รับอภัยในอิสลามคือ การปฏิเสธเสรีภาพ และความอิสรภาพของมนุษย์ โดยเปลี่ยนให้เป็นสินค้าประเภทหนึ่ง ดังฮะดีซบทหนึ่งจากท่านศาสดา (ซ็อลฯ) กล่าว่า “อัลลอฮฺ ทรงอภัยโทษให้แก่ความผิดทั้งหลาย นอกเสียจากความผิด 3 ประการ ได้แก่ บุคคลที่ปฏิเสธมะฮัรของภรรยา หรือฉ้อโกงปล้นสะดมสิทธิของคนงาน หรือค้ามนุษย์ที่มีความอิสระ”[11] ตามความหมายของฮะดีซ การฉ้อฉลสิทธิของสตรี คนงาน การปฏิเสธเสรีภาพของบุคคลอื่น ทั้งหมดคือบาปที่มิได้รับการอภัยโทษอย่างแน่นอน
ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า เพียงแค่สถานภาพเดียวที่อิสลามอนุญาตให้มี ทาส ได้นั่นคือ เชลยสงคราม กระนั่นก็ไม่ถือว่าสิ่งนั้นเป็นความจำเป็นแต่อย่างใด ขณะที่ในยุคต้นอิสลาม และอีกหลายทศวรรษต่อมาจะเห็นว่ามีการนำคนไปเป็นทาสด้วยการไล่ล่า หรือใช้กำลังบุกโจมตีบางประเทศ เช่น ประเทศแอฟริกาชนผิวดำทั้งหลาย พวกเขาจับกุมมนุษย์ที่เป็นอิสระชน และเปลี่ยนพวกเขาให้เป็นทาสแรงงานจำนวนมากมาย บางครั้งก็นำพวกเขาไปขายเป็นสินค้าประเภทอันตราย เป็นไปในลักษณะที่ว่าในปลาย ศตวรรษที่ 18 ประเทศอังกฤษ ได้ค้าทาสทุกปีซึ่งตกราวปีละ 200,000 กว่าคน และพวกเขาจะไปจับคนผิวดำจากทวีปแอฟริกาทุกปี ๆ ละประมาณ 100,000 กว่าคน โดยนำไปขายเป็นในประเทศอเมริกา
สรุปสิ่งที่กล่าวมา บุคคลใดก็ตามที่เคยยินแผนการของอิสลามเกี่ยวกับเรื่องทาส และเกิดความลังเลใจ นั่นเป็นเพราะได้รับข้อมูลที่ผิดพลาดและไม่ถูกต้องจากที่อื่น หรือจากผู้ไม่หวังดีต่ออิสลาม ซึ่งสิ่งที่กล่าวมาจะเห็นว่าอิสลามได้พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อจะเลิกทาส สร้างความอิสรเสรีให้แก่มนุษย์ โดยมิได้มีการทำลายล้างทาสให้สูญหายไป แต่ต้องการเลิกทาสเหล่านั้นให้พวกเขากลับคืนสู่ชีวิตเสรีต่อไป ทว่าเนื่องจากบางคนไม่เข้าใจ และมองว่าวิธีที่อิสลามกำลังดำเนินอยู่นั้น เป็นจุดอ่อนของอิสลาม เขาจึงได้โฆษณาชวนเชื่อสร้างความไขว่เขวแก่สังคม[12]
จากสิ่งที่กล่าวผ่านมาเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ถ้าหากผู้นำอิสลามมีทาสไว้ในครอบครอง นั่นเป็นไปตามแผนการที่ต้องการเลิกทาส เป็นวิธีการที่แยบยลและมากด้วยวิทยปัญญา บรรดาผู้นำเหล่านั้นได้ใช้ชีวิตร่วมกับทาสอย่างเป็นกันเอง แสดงความประพฤติดีกับพวกเขา ถึงขนาดที่ว่าเมื่อพวกเขาได้รับอิสรภาพแล้ว ไม่มีผู้ใดพร้อมที่แยกจากไปจากพวกท่าน ทว่าพวกเขากับขอร้องให้อิมามอนุญาตให้พวกเขาอยู่รับใช้ท่านต่อไป ซึ่งอิมามบางท่านก็ยอมรับคำขอร้อง และบางท่านก็ไม่รับเพื่อให้พวกเขามีชีวิตที่เป็นอิสระมากยิ่งขึ้น ดังนั้น แนวปฏิบัติของบรรดาอิมามที่มีต่อทาสนั้น ถือเป็นแบบอย่างทางความประพฤติ และเป็นบทเรียนอันสำคัญยิ่งของสังคม โดยเฉพาะสังคมอิสลาม[13]
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก:
1.หัวข้อ : อิสลามกับการมีทาส คำถามที่ 558
2.หัวข้อ : การมีทาสในอิสลามกับความไม่เหมาะสมในแง่การบีบบังคับในศาสนา คำถาม 1121
[1] ตัฟซีรเนะมูเนะฮฺ, เล่ม 21, หน้า 413, 417.
[2] วะซาอิลุชชีอะฮฺ เล่ม 15, หน้า 92, อะลี (อ.) กล่าวว่า اطعام الاسير و الاحسان اليه حق واجب و ان قتلته من الغد วาญิบต้องให้อาหารแก่เชลย และต้องปฏิบัติดีกับพวกเขา แม้ว่าวันรุ่งขึ้นจะต้องประหารชีวิตเขาก็ตาม, อัลกาฟียฺ เล่ม 5, หน้า 35, ท่านอิมามอะลี บุตรของฮุซัยนฺ (อ.) กล่าวว่า
اذا اخذت اسيرا فعجز عن المشى و ليس معك محمل فارسله ، و لا تقتله ،فانك لا تدرى ما حكم الامام فيه
เมื่อจับเชลยมาได้ จงนำพวกเขาไปพร้อมกับท่าน ถ้าพวกเขาไม่สามารถเดินต่อไปได้ และไม่มีพาหนะขนย้ายพวกเขา ก็จงปล่อยพวกเขาให้เป็นอิสระเถิด จงอย่าสังหารพวกเขา เนื่องจากไม่รู้ว่าเมื่อนำพวกเขามายังอิมามแล้ว อิมามจะตัดสินพวกเขาอย่างไรเกี่ยวกับพวกเขา
[3] บทเตาบะฮฺ 60
[4] อัลกาฟียฺ เล่ม 5, หน้า 74,
[5] มันลายะฮฺเราะฮุลฟะกียฮฺ, เล่ม 1, หน้า 27, اذهب فانت حر فانى اكره ان استخدم رجلا من اهل الجنة
[6] อาลิอิมรอน 134.
[7] อัลกาฟียฺ เล่ม 6, หน้า 196,
[8] มันลายะฮฺเราะฮุลฟะกียฮฺ, เล่ม 1, หน้า 52, วะซาอิลุชชีอะฮฺ, เล่ม 2, หน้า 7, มุสตัดร็อกวะซาอิล, เล่ม 13, หน้า 379,
[9] ชัรลุมอะฮฺ อัดดะมิชกียะฮฺ เล่ม 6, หน้า 280.
[10] อัลกาฟียฺ เล่ม 5, หน้า 114, شر الناس من باع الناس
[11] มุสตัดร็อกวะซาอิล เล่ม 13, หน้า 378, ان الله تعالى غافر كل ذنب الا من جحد مهرا ، او اغتصب اجيرا اجره ، او باع رجلا حرا
[12] ตัฟซีรเนะมูเนะฮฺ เล่ม 21, หน้า 410, 423
[13] คำถามที่ 558, หัวข้อ อิสลามกับการมีทาส