Please Wait
5741
ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าบทบัญญัติทุกข้อของพระองค์ย่อมมีปรัชญาและเหตุผลแฝงอยู่ แต่ก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องเสาะหาเหตุผลของบทบัญญัติแต่ละข้อเสมอไป มุสลิมจะต้องสยบแด่สาส์นแห่งวิวรณ์โดยดุษณี จิตที่สยบเช่นนี้แหล่ะคือความสมบูรณ์ของมนุษย์ ซึ่งจริงๆแล้วบทบัญญัติบางข้อก็มีจุดประสงค์เพื่อทดสอบจิตประเภทดังกล่าว
อย่างไรก็ดี กุรอานได้ระบุถึงเหตุผลของบทบัญญัติศาสนาในหลายวาระด้วยกัน บรรดาอิมามมะอ์ศูมก็เคยกล่าวถึงประเด็นเหล่านี้ไว้ นอกจากนี้ นักวิชาการมุสลิมก็ได้ประพันธ์หนังสือเกี่ยวกับรหัสยะและปรัชญาของบทบัญญัติศาสนา อาทิเช่นองค์ประกอบต่างๆของนมาซไม่ว่าจะเป็น การเหนียต ตะชะฮุด รุกู้อ์ สุญูด สลาม ฯลฯ ไว้หลายเล่มด้วยกัน
ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าบทบัญญัติทุกข้อของพระองค์ย่อมมีปรัชญาและเหตุผล แต่ก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องเสาะหาเหตุผลของบทบัญญัติแต่ละข้อเสมอไป มุสลิมจะต้องสยบแด่สาส์นแห่งวิวรณ์โดยดุษณี จิตที่สยบเช่นนี้แหล่ะคือความสมบูรณ์ของมนุษย์ ซึ่งจริงๆแล้วบทบัญญัติบางข้อก็มีจุดประสงค์เพื่อทดสอบจิตประเภทดังกล่าว พระบัญชาของอัลลอฮ์ที่กำหนดให้นบีอิบรอฮีมต้องเชือดพลีอิสมาอีลบุตรชายก็ถือเป็นบทบัญญัติประเภทนี้
ประเด็นที่ถือเป็นข้อสรุปของข้อเขียนนี้คือความเชื่อที่ว่าทุกบทบัญญัติในอิสลามล้วนมีเหตุผลทั้งสิ้น
ประการแรก. เนื่องจากมีโองการและฮะดีษกว่าร้อยบทรณรงค์ให้มนุษย์ไตร่ตรองด้วยสติ[1]
ประการที่สอง. ข้อวิพากษ์ที่สำคัญของกุรอานที่มีต่อกาเฟรมุชริกีนก็คือ การที่พวกเขาเลียนแบบบรรพบุรุษอย่างหูหนวกตาบอด[2]
ประการที่สาม. กุรอานเองระบุถึงเหตุผลภายหลังจากนำเสนอบทบัญญัติในหลายวาระด้วยกัน[3] บรรดาอิมามมะอ์ศูมก็เคยกล่าวถึงประเด็นเหล่านี้ไว้ นอกจากนี้ นักวิชาการมุสลิมหลายท่านก็เคยประพันธ์ตำราเกี่ยวกับรหัสยะและปรัชญาของบทบัญญัติศาสนาไว้
จากเหตุผลดังกล่าวทำให้ได้ข้อสรุปว่า
หนึ่ง. มิไช่ว่าผู้คนแต่ละยุคสมัยจะสามารถเข้าใจเหตุผลของบทบัญญัติได้ทุกคน
สอง. เกี่ยวกับเรื่องนี้ ไม่ควรคำนึงถึงผลประโยชน์เชิงวัตถุอาทิเช่น เศรษฐกิจ สุขภาวะ ฯลฯ โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์สุขด้านจิตวิญญาณ
สาม. ผู้ที่ศรัทธาว่าอัลลอฮ์ทรงเปี่ยมด้วยวิทยปัญญา และเชื่อว่าบทบัญญัติของพระองค์สอดคล้องกับวิทยปัญญา บุคคลเช่นนี้ไม่ควรเน้นเสาะหาเหตุผลให้มากนัก แต่ควรมอบหมายแด่พระองค์ อย่างไรก็ดี ได้มีการกล่าวถึงเหตุผลในกรณีขององค์ประกอบนมาซบางประการอาทิเช่น การเหนียต ตะชะฮุด รุกู้อ์ สุญูด สลาม ฯลฯ ซึ่งเราจะขอหยิบยกมาเป็นตัวอย่างดังต่อไปนี้
นมาซจะช่วยยับยั้งกิเลสตัณหา
กุรอานกล่าวถึงนมาซไว้ว่า นมาซจะช่วยยับยั้งมนุษย์ให้ออกห่างจากบาปกรรมต่างๆ[4]
นมาซช่วยขจัดความหลงดุนยา
อีกโองการหนึ่งกล่าวว่า จงนมาซเพื่อรำลึกถึงฉัน[5]
นมาซช่วยให้จิตใจสงบ
กุรอานกล่าวว่า ด้วยการระลึกถึงพระองค์ จิตใจจะสงบมั่น[6]
ต่อสู้กับอุปนิสัยเย่อหยิ่ง
ในฐานะที่นมาซคือการเพ่งสมาธิสู่พระผู้เป็นต้นกำเนิดแห่งความยิ่งใหญ่ทั้งปวง และถือเป็นการขอความช่วยเหลือจากแหล่งอำนาจอันเกรียงไกร ทำให้สามารถขจัดความเย่อหยิ่งให้หมดไปจากมนุษย์ได้ กล่าวคือ นมาซจะทำลายความหยิ่งจองหอง เนื่องจากคนเรานมาซสิบเจ็ดเราะกะอัตในแต่ละวัน แต่ละเราะกะอัตมีการศิโรราบต่อพระองค์เหนือดินสองครั้ง ทำให้ตระหนักได้ว่าตนเองเสมือนดั่งผงธุลีเบื้องหน้าความยิ่งใหญ่ของพระองค์ อันจะช่วยลบเลือนความเย่อหยิ่งได้ ด้วยเหตุนี้เองที่ท่านอิมามอลี(อ.)จึงอธิบายเกี่ยวกับนมาซในฐานะที่เป็นอิบาดะฮ์ประการแรกภายหลังจากที่ได้กล่าวถึงอีหม่านไว้ว่า “อัลลอฮ์ทรงกำหนดให้มีอีหม่านเพื่อขจัดความคลางแคลงใจ และบัญชาให้นมาซเพื่อขจัดความทรนงตน”[7]
ส่งเสริมระเบียบวินัย
นมาซจะช่วยเสริมอุปนิสัยความมีวินัย เพราะศาสนกิจประเภทนี้จะต้องปฏิบัติในช่วงเวลาอันจำเพาะ การกระทำก่อนหรือหลังเวลาที่กำหนดจะทำให้เป็นโมฆะ นอกจากนี้ ความรอบคอบในกรณีของกฏเกณฑ์อื่นๆอาทิเช่นการเหนียต การยืน รุกู้อ์ สุญูด นั่ง ฯลฯ ก็มีส่วนช่วยให้มนุษย์ปรับตัวให้มีระเบียบวินัยอย่างง่ายดาย
ระลึกถึงวันปรโลก
เมื่อผู้นมาซกล่าวคำว่า “มาลิกิเยามิดดีน” ก็ทำให้หวลรำลึกถึงความยิ่งใหญ่ของกิยามะฮ์ อีกทั้งยังทำให้ตระหนักว่ายังมีอีกภพหนึ่งที่เป็นผลสะท้อนของภพปัจจุบัน
ตะวัลลาและตะบัรรอ
ตะวัลลา(ความรัก)และตะบัรรอ(ความชัง)ถือเป็นปรัชญาข้อหนึ่งที่ได้จากซูเราะฮ์ฟาติฮะฮ์ เมื่อผู้นมาซเปล่งคำว่า “อียากะนะอ์บุดุ วะอียากะนัสตะอีน อิฮ์ดินัศศิรอฎ็อลมุสตะกีม ศิรอฏ็อลละซีนะอันอัมตะอะลัยฮิม” ถือว่ากำลังวอนขอและจาริกสู่มิตรภาพจากอัลลอฮ์ เหล่าศาสนทูต บรรดาผู้สัจจริง เหล่าผู้พลีชีพ และผู้บำเพ็ญธรรม และเมื่อเปล่งคำว่า “ฆ็อยริลมัฆฎูบิ อะลัยฮิม วะลัฎฎอลลีน” ถือว่าได้แสดงความจำนงที่จะออกห่างจากพวกหลงทางแล้ว
ท้ายนี้ขอเรียนว่า นมาซบัญญัติไว้เพื่อจุดประสงค์ของการเทิดไท้อัลลอฮ์ในฐานะพระผู้เป็นเจ้า, ต่อต้านการตั้งภาคี, ยืนขึ้นเบื้องหน้าพระองค์อย่างสุดความนอบน้อม, สารภาพบาปและขอลุแก่โทษในสิ่งที่เคยผิดพลาด นอกจากนี้ยังทำให้มนุษย์มีสติอยู่ตลอดเวลา มิให้ฝุ่นผงแห่งความหลงลืมเกรอะกรังหัวใจ ให้กลายเป็นผู้นอบน้อมไม่อหังการ์ และเป็นผู้ที่แสวงหาผลกำไรทั้งในโลกนี้และโลกหน้า[8]
ท้ายนี้ขอแจ้งให้ทราบว่านักวิชาการชีอะฮ์หลายท่านได้กรุณาประพันธ์หนังสือเกี่ยวกับรหัสยะของการนมาซไว้มากมาย อาทิเช่น
อิละลุชชะรอยิอ์ โดยเชคเศาะดู้ก
สิรรุศเศาะลาฮ์ วะ อาดาบุศเศาะลาฮ์ โดยอิมามโคมัยนี
ปรัชญาแห่งบทบัญญัติ โดยมุฮัมมัด วะฮีดี
รัศมีรหัสยะแห่งการนมาซ โดยมุฮ์ซิน กิรออะตี
ระเบียนที่เกี่ยวข้อง
นัยยะและผลดีของการนมาซ, 2997 (ลำดับในเว็บไซต์ 3242)
ปรัชญาแห่งเวลานมาซทั้งห้า, 3837 (ลำดับในเว็บไซต์ 4101)
ปรัชญาแห่งการตะชะฮุดและสลาม, 13141(ลำดับในเว็บไซต์ 12808)
ความจำเริญและคุณูปการของการนมาซในเชิงวัตถุและจิตวิญญาณ, 9593(ลำดับในเว็บไซต์ 10797)
[1] อันนะฮ์ลิ, 44 และ อาลิอิมรอน, 191
[2] อะอ์ร้อฟ, 173
[3] อัลอังกะบู้ต, 45 และ อัลบะเกาะเราะฮ์, 183
[4] อัลอังกะบู้ต, 45
[5] ฏอฮา, 14
[6] อัรเราะอ์ดุ, 24
[7] นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, ฮิกมะฮ์ที่ 252 وَ قَالَ (ع) فَرَضَ اللَّهُ الْإِیمَانَ تَطْهِیراً مِنَ الشِّرْکِ وَ الصَّلَاةَ تَنْزِیهاً عَنِ الْکِبْر
[8] เชคเศาะดู้ก, มันลายะฮ์ฎุรุฮุ้ลฟะกี้ฮ์,เล่ม1,หน้า 214, ญามิอะฮ์ มุดัรริซีน,กุม,พิมพ์ครั้งที่สอง,ฮ.ศ.1404 และ เชคเศาะดู้ก, อิละลุชชะรอยิอ์,เล่ม 2,หน้า 317,ดอวะรี,กุม,พิมพ์ครั้งแรก
إنّ علة الصلاة أنها إقرار بالرّبوبیة للّه عزّ و جلّ، و خلع الأنداد و قیام بین یدی الجبّار جلّ جلاله بالذّلة و المسکنة و الخضوع و الاعتراف، و الطّلب للإقالة من سالف الذّنوب، و وضع الوجه على الأرض کلّ یوم إعظاما للّه جلّ جلاله و أن یکون ذاکرا غیر ناس و لا بطر.و یکون خاشعا متذلّلا راغبا طالبا للزیادة فی الدّین و الدنیا مع ما فیه من الإیجاب، و المداومة على ذکر اللّه عزّ و جل باللّیل و النهار و لئلّا ینسى العبد سیّده و مدبّره و خالقه، فیبطر و یطغى و یکون ذلک فی ذکره لربّه عزّ و جلّ، و قیامه بین یدی"