Please Wait
8784
วิญญาณเป็นสิ่งที่พ้นญาณวิสัย ซึ่งจะสถิตหรือจุติในทารกที่อยู่ในครรภ์ และจะเจริญงอกงามทีละระดับ วิญญาณก็เป็นสิ่งถูกสร้างของพระองค์เฉกเช่นร่างกาย ส่วนการที่พระองค์ทรงตรัสว่า “เราได้เป่าวิญญาณของเราเข้าไปในเขา”นั้น เป็นการสื่อถึงความยิ่งใหญ่และความสูงส่งของวิญญาณมนุษย์ด้วยการเชื่อมคำว่าวิญญาณเข้ากับพระองค์เอง กรณีเช่นนี้ในทางภาษาอรับเรียกกันว่าการเชื่อมแบบ “ลามี” อันสื่อถึงการยกย่องให้เกียรติ ดังกรณีของการเชื่อมโยงวิหารกะอ์บะฮ์เข้ากับพระองค์เองด้วยสำนวนที่ว่า “บัยตี” หรือ บ้านของฉัน
การที่ทารกระยะตัวอ่อนยังไม่มีวิญญาณนั้น มิได้ขัดต่อการมีสัญญาณชีวิตก่อนที่วิญญาณจะสถิตแต่อย่างใด เนื่องจากมนุษย์มีปราณสามระยะด้วยกัน ได้แก่ ปราณวิสัยพืช, ปราณวิสัยสัตว์, ปราณวิสัยมนุษย์
ปราณวิสัยพืชถือเป็นปราณระดับล่างสุดของมนุษย์ ซึ่งมีการบริโภคและสามารถเจริญเติบโตได้ แต่ไม่มีความรู้สึก ประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหวตามต้องการ เสมือนพืชที่เจริญงอกงามทว่าไร้ความรู้สึก ประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหวตามต้องการ และเนื่องจากทารกระยะแรกมีปราณประเภทนี้ก่อนวิญญาณจะสถิต จึงทำให้มีชีวิตและเจริญเติบโตได้
ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า วิญญาณเป็น...
โองการ وَیسْئلُونَكَ عَنِ الرُّوحِ قُلِ الرُّوحُ مِنْ أَمْرِ رَبِّی (และพวกเขาถามไถ่เกี่ยวกับวิญญาณ จงกล่าวเถิด วิญญาณเป็นเรื่องของพระผู้อภิบาลของฉัน)[1] โองการนี้ระบุว่าวิญญาณเป็นเรื่องของพระเจ้า
ชะฮีดมุเฏาะฮะรีเคยกล่าวว่า เนื่องจากวิญญาณเป็นอันหนึ่งอันเดียวโดยมิอาจจำแนกหรือแยกสถานะทางตรรกะวิทยาได้ ฉะนั้น กล่าวได้ว่าสำนวน “เป็นเรื่องของพระเจ้า”นี้อาจเป็นนิยามที่เน้นประธานในประโยค ปริศนาที่ว่า “เรื่องของพระเจ้า”หมายความว่าอย่างไรนั้น ได้รับการแจกแจงในอีกโองการหนึ่ง
อาทิเช่นโองการที่ว่า إِنَّمَآ أَمْرُهُ إِذَآ أَرَادَ شَیئًا أَن یقُولَ لَهُ كُن فَیكُون หมายความว่า เมื่อพระองค์ทรงประสงค์สิ่งใด เพียงเอ่ยว่าจงเป็น สิ่งนั้นก็จะเกิดขึ้นตามพระประสงค์ในทันที[2] “เรื่องของพระเจ้า” ก็คือกิจที่เชื่อมโยงกับอาตมันของพระองค์ และจากการที่อาตมันของพระองค์อยู่เหนือวัตถุและกาลเวลา –สถานที่ กอปรกับการที่วิญญาณเป็นเรื่องของพระองค์ จึงได้ผลสรุปว่าวิญญาณเป็นสิ่งที่อยู่เหนือวัตถุธาตุ
แต่เมื่อวิญญาณเชื่อมโยงกับร่างกายมนุษย์ เราเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “นัฟส์”(ปราณ) จึงกล่าวได้ว่าปราณก็คือภาวะที่วิญญาณเชื่อมต่อกับร่างกาย อย่างไรก็ดี ยังมีข้อถกเถียงกันเกี่ยวกับความเชื่อมต่อระหว่างวิญญาณและร่างกาย ซึ่งขอหยิบยกมาพอสังเขปดังนี้
นักวิชาการบางท่านเชื่อว่าวิญญาณมนุษย์อยู่เหนือวัตถุธาตุตั้งแต่เริ่มแรกและตลอดไป เมื่อใดก็ตามที่ร่างกายมีพัฒนาการในระดับที่เหมาะสม วิญญาณก็จะเชื่อมกับร่างกาย ทัศนะนี้เป็นที่รู้จักในนาม “รูฮานียะตุ้ลฮุดู้ษ วัลบะกอ” แต่ในทางตรงกันข้าม นักปรัชญานามอุโฆษอย่าง มุลลอ ศ็อดรอเชื่อว่า เริ่มแรกนั้น วิญญาณเป็นกายทิพย์ แต่พัฒนาขึ้นจนปราศจากความเป็นวัตถุธาตุ จึงกล่าวได้ว่าวิญญาณเป็น “ญิสมียะตุ้ลฮุดูษ วะรูฮานียะตุ้ลบะกอ” อันหมายถึงว่าวิญญาณเกิดขึ้นในรูปวัตถุ แต่จะคงอยู่ต่อไปได้โดยไม่ต้องพึ่งพาร่างกาย[3]
คำตอบสำหรับคำถามส่วนที่สองก็คือ แม้ว่าทารกจะยังไม่มีการสถิตของวิญญาณ แต่ก็สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้ ทั้งนี้เนื่องจากนักปรัชญากล่าวกันว่า คนเรามีปราณสามประเภทด้วยกัน ได้แก่ ปราณวิสัยพืช, สัตว์ และมนุษย์ ส่วนสรรพสัตว์มีเพียงสองประเภทแรก และพืชชนิดต่างๆมีเพียงประเภทแรกเท่านั้น
ปราณแต่ละประเภทจะเผยศักยภาพที่แตกต่างกัน ปราณวิสัยพืชมีศักยภาพเพียงแค่การบริโภคและเติบโต ปราณวิสัยสัตว์สามารถบริโภค เติบโต มีประสาทสัมผัสและเคลื่อนไหวอย่างอิสระ ส่วนปราณวิสัยมนุษย์นอกจากจะบริโภค เติบโต มีประสาทสัมผัส เคลื่อนไหวอย่างอิสระแล้ว ยังมีศักยภาพในการรับรู้ด้วยปัญญาอีกด้วย ทุกสรรพสิ่งที่มีปราณ แม้จะเป็นปราณวิสัยพืชก็ตาม ถือว่ามี“ชีวิต” ฉะนั้น การมีชีวิตจึงมีนัยยะที่กว้างกว่าการมีปราณวิสัยมนุษย์ และสิ่งมีชีวิตสามารถดำรงอยู่ได้โดยปราศจากปราณวิสัยมนุษย์หรือแม้กระทั่งปราณวิสัยสัตว์อย่างเช่นกรณีของเซลล์มนุษย์ เพราะแม้ว่าเซลล์ร่างกายของทารกจะยังไม่ได้สถิตด้วยวิญญาณอันเป็นปราณวิสัยมนุษย์ แต่ก็ถือว่ามีชีวิตเนื่องจากมีปราณวิสัยพืช เพราะสามารถบริโภคอาหารผ่านเส้นเลือดฝอยและมีพัฒนาการของเซลล์ได้ พัฒนาการดังกล่าวเปลี่ยนความสามารถเชิงศักย์ของทารกให้เป็นเชิงจลน์ กระทั่งพัฒนากลายเป็นตัวอ่อนทารก ซึ่งมุลลอ ศ็อดรอให้นิยามว่าเป็นนะบ้าต บิลฟิอ์ล (จลน์วิสัยพืช)[4] อันมีศักยภาพที่จะมีปราณวิสัยสัตว์ เมื่อพัฒนาการของปราณวิสัยสัตว์เสร็จสิ้นสมบูรณ์จนกระทั่งอยู่ในลักษณะที่มุลลอ ศ็อดรอเรียกว่า ฮะยะวาน บิลฟิอ์ล (จลน์วิสัยสัตว์) ซึ่งมีศักยภาพที่จะเป็นมนุษย์ และหากสามารถพัฒนาตนเองจนกลายเป็นจลน์วิสัยมนุษย์ (ทั้งในแง่กายและจิตใจ) ก็จะกลายเป็นมนุษย์ผู้สูงส่งในที่สุด
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของวิญญาณได้ที่ระเบียนต่อไปนี้
วิญญาณทั้งสี่ประเภทในมนุษย์ คำถามที่ 4153(ลำดับในเว็บไซต์ 4601)
วิญญาณที่กุรอานกล่าวถึง คำถามที่ 5973(ลำดับในเว็บไซต์ 7218)
[1] อิสรออ์,85
[2] ยาซีน,82
[3] อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ทัรคอน,กอซิม,บุคลิกและการต่อสู้ของอิมามฮุเซน(อ.),หน้า 25-48,สำนักพิมพ์เชลเชร้อก,กุม,ปี 1388
[4] อัสฟ้าร,เล่ม 8,หน้า 136