Please Wait
8018
ฮะดีษแบ่งออกเป็นสองประเภท
ก.กลุ่มฮะดีษที่มีสายรายงานที่เชื่อถือได้ แข็งแรงและเศาะฮี้ห์
ข กลุ่มฮะดีษที่มีสายรายงานที่ไม่น่าเชื่อถือ อ่อนแอและไม่เป็นที่รู้จัก.
ฮะดีษที่ยกมานั้น หนังสือบิฮารุลอันว้ารอ้างอิงจากหนังสือมะนากิ้บ ของอิบนิ ชะฮ์รอชู้บ แต่เนื่องจากไม่มีสายรายงานที่ชัดเจน จึงจัดอยู่ในกลุ่มฮะดีษที่ไม่น่าเชื่อถือ
แต่สมมติว่าฮะดีษดังกล่าวเศาะฮี้ห์ เราสามารถชี้แจงความไม่เหมาะสมของเนื้อหาได้ดังนี้
1. ต้องคำนึงว่าท่านนบี(ซ.ล.)และอะฮ์ลุลบัยต์(อ.)ล้วนมีฐานะภาพที่สูงส่งและปราศจากราคะมลทิน ดังที่กุรอานก็กล่าวยืนยันความบริสุทธิของท่านเหล่านี้ไว้ในโองการ"ตัฏฮี้ร"
2. ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(อ.)มีคุณลักษณะเด่นที่แตกต่างจากบุตรีท่านอื่นๆของนบี(ซ.ล.) เนื่องจากท่านหญิงถือกำเนิดจากเหตุการณ์พิเศษที่เกิดขึ้นกับท่านนบี(ซ.ล.)
3. สัมผัสที่เปี่ยมด้วยความรักและความเอื้ออาทรเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ในครอบครัวทั่วไป ดังจะเห็นว่าลูกชายจะโอบกอดแม่ พ่อจะจุมพิตบุตรสาวหลังจากกลับมาจากการเดินทาง สัมผัสเหล่านี้ล้วนเกิดจากความความรู้สึกห่วงหา มิไช่กามารมณ์
4. สันนิษฐานว่าอคติดังกล่าวเกิดจากการเข้าใจผิดคิดว่าท่านนบี(ซ.ล.)จุมพิตบริเวณที่กล่าวถึงโดยไม่มีอาภรณ์ปกปิด กรณีเช่นนี้ย่อมไม่เกิดขึ้นแน่นอน เนื่องจากปุถุชนคนทั่วไปก็รักษามารยาทและขอบเขตดังกล่าวตามปกติ การไม่ปกปิดบริเวณดังกล่าวย่อมเป็นเรื่องไม่เหมาะสมในแง่มารยาทขั้นพื้นฐานของครอบครัว เมื่อทราบดังนี้ ไฉนเราจึงจะมองปูชณียบุคคลอย่างอะฮ์ลุลบัยต์ในแง่ลบเช่นนั้น
สรุปก็คือ ในเมื่อสัมผัสอันเปี่ยมด้วยความรักและความเอ็นดูเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในทุกครัวเรือนตามปกติ ฉะนั้นหากท่านนบี(ซ.ล.)จะปฏิบัติกับบุตรีของตน (ตลอดจนกรณีอะฮ์ลุลบัยต์ท่านอื่นๆ) ก็มิไช่เรื่องแปลกประหลาด โดยเฉพาะเมื่อตระหนักว่าบุคคลเหล่านี้เป็นผู้ละซึ่งบาปกรรมทุกประการ
โดยทั่วไป ฮะดีษจะแบ่งออกเป็นสองประเภท ประเภทแรกคือฮะดีษที่น่าเชื่อถือเนื่องจากมีสายรายงานชัดเจน ซึ่งจะใช้สำนวนเช่น เศาะฮี้ห์, แข็งแรง ...ฯลฯ ส่วนอีกประเภทคือฮะดีษที่ไม่น่าเชื่อถือ โดยจะใช้สำนวนเช่น ฎ่ออี้ฟ (อ่อน), มัจฮู้ล (ไม่ทราบที่มา) ...ฯลฯ
ก่อนที่บรรดาอุละมาอ์จะนำฮะดีษใดมาศึกษา จะต้องวิเคราะห์สายรายงานเสียก่อน เพื่อที่จะทราบสถานะของผู้รายงานว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนหรือไม่ หากพบว่าสายรายงานน่าเชื่อถือพอ ก็จะคัดเลือกและนำไปศึกษาเชิงเนื้อหา เพื่อใช้วินิจฉัยปัญหาศาสนาต่อไป แต่หากฮะดีษใดมีสายรายงานที่ไม่ต่อเนื่อง หรือมีสายรายงานที่อ่อนแอ ถือว่าฮะดีษดังกล่าวไม่น่าเชื่อถือ และอุละมาอ์จะไม่นำมาใช้อ้างอิงใดๆทั้งสิ้น
ฮะดีษนี้ปรากฏอยู่ในหนังสือบิฮารุลอันว้าร ซึ่งรายงานจากหนังสือมะนากิ๊บ อาลิอบีฏอลิบ ประพันธ์โดยอิบนิ ชะฮ์รอชู้บ
ตัวบทฮะดีษมีดังนี้
"انه کان النبی (ص) لاینام حتی یقبل عرض وجه فاطمة و یضع وجهه بین ثدیی فاطمة و یدعولها، و فی روایة: حتی یقبل عرض وجنة فاطمة او بین ثدییها"
"รายงานจากอิมามบากิร(อ.)และอิมามศอดิก(อ.)ว่า: ท่านนบี(ซ.ล.)จะไม่นอนจนกว่าจะจุมพิตใบหน้าของฟาฏิมะฮ์(อ.)และแนบใบหน้าของท่าน ณ หว่างอกของเธอ จากนั้นจึงดุอาให้เธอ" อีกฮะดีษกล่าวว่า "...จนกว่าจะจุมพิตที่ใบหน้าหรือหว่างอกของเธอ" [1]
ท่านชะฮ์รอชู้บกล่าวไว้ในอารัมภบทของหนังสือมะนากิ๊บว่า "ฉันได้รวบรวมฮะดีษในหนังสือเล่มนี้จากมิตรสหายและจากพี่น้องซุนหนี่" เขาได้ระบุสายรายงานของตำราอ้างอิงต่างๆที่ใช้ในการประพันธ์หนังสือของตน ไม่ว่าจะเป็นตำราซุนหนี่หรือชีอะฮ์
แต่กรณีของฮะดีษนี้ เขาไม่ได้ระบุสายรายงานใดๆ แต่กลับรายงานในลักษณะ"มุรซั้ล"(ข้ามสายรายงาน) ฉะนั้น จึงไม่สามารถเชื่อถือได้ร้อยเปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ดี สมมติว่าฮะดีษบทนี้เป็นฮะดีษเศาะฮี้ห์ ก็ต้องพิจารณาถึงข้อจำกัดต่อไปนี้ด้วย
1. ท่านนบี(ซ.ล.)และบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ล้วนมีสถานภาพอันสูงส่งโดยเฉพาะคุณสมบัติทางจิตวิญญาณ จึงไม่ควรจะนำไปเปรียบเทียบกับตาสีตาสาทั่วไป กุรอานได้ยืนยันถึงความบริสุทธิผุดผ่องอันไร้เทียมทานของบุคคลเหล่านี้ไว้ในโองการ"ตัฏฮี้ร"ที่ว่า
انما یرید الله لیذهب عنکم الرجس اهل البیت و یطهرکم تطهیراً
"แท้จริงพระองค์ทรงประสงค์ที่จะเปลื้องมลทินจากสูเจ้า โอ้ อะฮ์ลุลบัยต์ และชำระสูเจ้าให้สะอาดบริสุทธิ์" [2]
สำนวน "อินนะมา"ในภาษาอรับ จะใช้เพื่อจำกัดประเด็นใดประเด็นหนึ่งเป็นการเฉพาะ จึงแสดงว่ามหากรุณาธิคุณดังกล่าว(การชำระมลทิน)มีไว้เพื่อวงศ์วานนบี(ซ.ล.)เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ท่านเหล่านี้จึงสังวรตนเองกระทั่งพ้นจากบาปกรรมด้วยพระประสงค์ของอัลลอฮ์และความยำเกรงที่ตนมี
คำว่า"ริจส์" หมายถึงมลทินทั้งปวง ไม่ว่าจะมลทินในแง่รสนิยมมนุษย์ สติปัญญา หรือบทบัญญัติศาสนาก็ตาม
คำว่า"ตัฏฮี้ร" หมายถึงการชำระให้สะอาด ซึ่งเป็นการเน้นย้ำถึงการขจัดมลทินนั่นเอง
ส่วนคำว่า"อะฮ์ลุลบัยต์" ตามทัศนะของอุละมาอ์และนักตัฟซี้รทั่วไปหมายถึงวงศ์วานของท่านนบี(ซ.ล.) ซึ่งตำราของทั้งฝ่ายซุนหนี่และชีอะฮ์ล้วนระบุว่าเป็นบุคคลห้าท่านดังต่อไปนี้ : ท่านนบี(ซ.ล.),ท่านอิมามอลี(อ.), ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(อ.), ท่านอิมามฮะซัน(อ.) และท่านอิมามฮุเซน(อ.) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม "ค็อมซะฮ์ ฏ็อยยิบะฮ์"(ห้าผู้บริสุทธิ์) และ "อัศฮาบุ้ลกิซาอ์"(ชาวผ้าคลุม)
อายะฮ์ตัฏฮี้รถือเป็นหลักฐานที่บ่งบอกถึงสภาวะไร้บาปของท่านนบี(ซ.ล.)และบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์(อ.)ได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ก็เนื่องจากบาปทุกประเภทจัดอยู่ในประเภทของ"มลทิน"ทั้งสิ้น[3]
ในบทซิยารัตอันเลอค่าอย่าง"ญามิอะฮ์ กะบีเราะฮ์"ระบุว่า
عصمکم الله من الزلل و آمنکم من الفتن و طهرکم من الدنس و اذهب عنکم الرجس و طهرکم تطهیراً
"อัลลอฮ์ทรงปกปักษ์พวกท่านให้พ้นจากความสั่นคลอนและฟิตนะฮ์ และทรงชำระพวกท่านให้สะอาดจากพฤติกรรมสกปรก และขจัดมลทินจากพวกท่านและชำระให้บริสุทธิ์[4]
2. ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(อ.)มีฐานะภาพที่โดดเด่นที่สุดในบรรดาบุตรีของท่านนบี(ซ.ล.) ทั้งนี้ก็เนื่องจากเธอมีจุดเด่นทั้งในแง่ของการประสูติและการเลี้ยงดู
มีฮะดีษที่อิบนิ ชะฮ์รอชู้บบันทึกไว้โดยมีสายรายงานหลายสายด้วยกัน กล่าวว่า :
อบูอุบัยดะฮ์ ค็อดดา และท่านอื่นๆรายงานจากท่านอิมามศอดิก(อ.)ว่า ท่านนบี(ซ.ล.)มักจะจุมพิตฟาฏิมะฮ์เป็นประจำ ภรรยาของท่านบางคนท้วงติงพฤติกรรมดังกล่าวของท่าน ท่านนบี(ซ.ล.)ตอบว่า "เมื่อครั้งที่ฉันขึ้นเมี้ยะรอจ ญิบรออีลได้จูงมือฉันให้เข้าสู่สรวงสวรรค์ และได้มอบอินทผลัมเม็ดหนึ่งให้ (บางรายงานระบุว่าเป็นผลแอปเปิ้ล) หลังจากที่ฉันรับประทาน มันก็กลายเป็นอสุจิที่อยู่ในไขสันหลังของฉัน เมื่อกลับสู่พื้นดิน ฉันได้ร่วมหลับนอนกับคอดีญะฮ์ นางได้ตั้งครรภ์ฟาฏิมะฮ์ ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่าฟาฏิมะฮ์คือนางสวรรค์ที่อยู่ท่ามกลางมนุษย์ปุถุชน และเมื่อใดที่ฉันหวลรำลึกถึงกลิ่นอายสรวงสวรรค์ ฉันก็จะหอมลูกสาวของฉัน"[5]
จะเห็นได้ว่าสัมพันธภาพระหว่างท่านนบี(ซ.ล.)และท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(อ.)แน่นแฟ้นเพียงใด และนี่คือเหตุผลที่ท่านแสดงออกถึงความผูกพันได้เพียงนี้
3. สิ่งที่สัมผัสได้ในวิถีชีวิตของผู้ที่มีวุฒิภาวะทั่วไปก็คือ ความผูกพันระหว่างสมาชิกครอบครัว อันปราศจากกามารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นการมอง การจับต้อง หรือแม้แต่การจุมพิต ตัวอย่างเช่นกรณีการจุมพิตแม่ น้องสาว หรือลูกสาวที่กลับมาจากพิธีฮัจย์หรือเยี่ยมเยียนกุโบร์ของนบี(ซ.ล.) และบรรดาอิมาม(อ.) แน่นอนว่าการจุมพิตเช่นนี้ย่อมมีจุดประสงค์เพื่อรับบะเราะกัตและผลบุญเท่านั้น
หรือกรณีที่บางคนมีลูกที่หน้าตาน่ารัก มีมารยาทงดงาม หากพ่อแม่จะหอมลูกคนนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าและรู้สึกผูกพันกับลูกคนนี้เป็นพิเศษก็มิไช่เรื่องแปลก เนื่องจากเป็นสัมพันธภาพฉันพ่อแม่ลูกที่พบเห็นได้ทั่วไปในครอบครัวต่างๆ โดยที่ไม่มีใครคิดจะตำหนิพ่อแม่ที่กระทำเช่นนี้กับลูกของตน
4. สันนิษฐานว่าอคติดังกล่าวเกิดจากการเข้าใจผิดคิดว่าท่านนบี(ซ.ล.)จุมพิตบริเวณหว่างอกโดยไม่มีอาภรณ์ปกปิด กรณีเช่นนี้ย่อมไม่เกิดขึ้นแน่นอน เนื่องจากปุถุชนคนทั่วไปก็มักจะรักษามารยาทและขอบเขตดังกล่าวตามปกติ การไม่ปกปิดบริเวณดังกล่าวย่อมเป็นเรื่องไม่เหมาะสมในแง่มารยาทขั้นพื้นฐานของครอบครัว เมื่อทราบดังนี้ ไฉนเราจึงจะมองปูชณียบุคคลอย่างอะฮ์ลุลบัยต์ในแง่ลบเช่นนั้น
ในเมื่อสัมผัสอันเปี่ยมด้วยความรักและเอ็นดูเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามปกติในครอบครัว ฉะนั้นในกรณีของปูชณียบุคคลผู้ปราศจากบาปอย่างท่านนบี(ซ.ล.) และอะฮ์ลุลบัยต์(อ.)ก็มิไช่เรื่องแปลกประหลาดแต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี หากปูชณียบุคคลผู้ปราศจากบาปเหล่านี้จะมีวัตรปฏิบัติเช่นที่กล่าวมา นั่นก็เป็นเพราะท่านเหล่านั้นมีเหตุผลรองรับ ซึ่งแน่นอนว่าเหตุผลดังกล่าวสามารถชี้แจงฮะดีษที่มีเนื้อหาดังที่ถามมาได้อย่างแน่นอน