Please Wait
10431
ทั้งสองสำนักคิดนี้ต่างก็ถือว่าความยุติธรรมของอัลลอฮ์คือหนึ่งในหลักศรัทธาของตน ทั้งสองเชื่อว่าความดีและความชั่วพิสูจน์ได้ด้วยสติปัญญา กล่าวคือสติปัญญาสามารถจะพิสูจน์ความผิดชอบชั่วดีในหลายๆประเด็นได้แม้ไม่ได้รับแจ้งจากชะรีอัตศาสนา ความอยุติธรรมก็เป็นหัวข้อหนึ่งที่สติปัญญาของมนุษย์ทุกคนพิสูจน์ได้ว่าเป็นความชั่ว ด้วยเหตุนี้ อัลลอฮ์จึงไม่ทรงลดพระองค์มาแปดเปื้อนกับความชั่วดังกล่าว แต่ทรงเป็นผู้ไว้ซึ่งความเที่ยงธรรมอย่างไม่ต้องสงสัย
ข้อแตกต่างระหว่างสองสำนักคิดข้างต้นก็คือ เมื่อเผชิญข้อโต้แย้งที่ว่า “หากทุกการกระทำของมนุษย์มาจากพระองค์จริง แสดงว่าการให้รางวัลและการลงโทษมนุษย์ย่อมไม่มีความหมาย” มุอ์ตะซิละฮ์ชี้แจงด้วยการปฏิเสธเตาฮี้ด อัฟอาลี (เอกานุภาพเชิงกรณียกิจ) แต่ชีอะฮ์ปฏิเสธทางออกดังกล่าวที่ถือว่ามนุษย์ไม่ต้องพึ่งพาอัลลอฮ์ในการกระทำ โดยเชื่อว่าการกระทำของมนุษย์เชื่อมต่อกับการกระทำของอัลลอฮ์ในเชิงลูกโซ่ มิได้อยู่ในระนาบเดียวกัน จึงทำให้ตอบข้อโต้แย้งข้างต้นได้โดยที่ยังเชื่อในความยุติธรรมของพระองค์ดังเดิม
แม้ทั้งสองสำนักคิดนี้จะศรัทธาในอัดล์ (หลักความยุติธรรมของอัลลอฮ์) แต่ข้อแตกต่างสำคัญระหว่างชีอะฮ์และมุอ์ตะซิละฮ์ในเรื่องนี้ก็คือ มุอ์ตะซิละฮ์พิสูจน์อัดล์ด้วยการปฏิเสธเตาฮี้ด อัฟอาลี(เอกานุภาพด้านกรณียกิจ) ซึ่งเป็นหลักที่ถือว่าการกระทำทุกอย่างไม่ว่าจะดีหรือชั่วล้วนมาจากพระองค์ ไม่มีผู้กระทำอื่นใดนอกจากพระองค์ ซึ่งก็หมายความว่าตราบใดที่พระองค์ไม่ทรงลิขิต ก็จะไม่มีเหตุการณ์ใดๆเกิดขึ้นเลย[1] เสมือนว่ากลุ่มมุอ์ตะซิละฮ์หวั่นเกรงว่า ถ้าหากยอมรับว่าพระองค์ทรงเป็นผู้ลิขิตทุกความดีความชั่ว จะทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนได้ว่า การตอบแทนในสวรรค์และการลงทัณฑ์ในนรกล้วนขัดต่อความยุติธรรมของพระองค์ ทำให้กลุ่มนี้ปฏิเสธเตาฮี้ดอัฟอาลี และถือว่าการกระทำของแต่ละคนล้วนเกิดขึ้นโดยมนุษย์ผู้กระทำเท่านั้น หาได้ครอบคลุมถึงอัลลอฮ์ไม่ ทั้งนี้ก็เพื่อให้การตอบแทนและลงทัณฑ์มนุษย์สอดคล้องกับหลักความยุติธรรมของพระองค์
ส่วนชีอะฮ์เชื่อว่า การยอมรับเตาฮี้ดอัฟอาลีมิได้ขัดต่ออำนาจการตัดสินใจของมนุษย์ เพราะการตัดสินใจของมนุษย์อยู่ภายใต้การตัดสินใจของอัลลอฮ์ ซึ่งแม้ว่ามนุษย์จะไม่อาจกระทำการใดๆได้เลยหากพระองค์ไม่ทรงประสงค์ แต่ก็สามารถชี้แจงได้ว่า พระองค์เลือกที่จะให้อิสระแก่มนุษย์ในระดับหนึ่งภายใต้พลานุภาพอันกว้างขวางของพระองค์ ทำให้สามารถชมเชยหรือตำหนิการกระทำมนุษย์ได้
และเพื่อเสริมความเข้าใจ เราขอนำเสนอเนื้อหาจากบทความชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับประเด็นนี้
สถานภาพของประเด็นความยุติธรรมในความเชื่อของกลุ่มมุอ์ตะซิละฮ์
กลุ่มมุอ์ตะซิละฮ์เชื่อว่าการกระทำบางอย่างถือเป็นความยุติธรรมโดยตรง และบางอย่างถือเป็นการกดขี่ ตัวอย่างเช่น การที่พระองค์ให้รางวัลแก่ผู้บำเพ็ญความดีหรือการลงโทษผู้กระทำผิดนั้น ในความเป็นจริงแล้วก็ถือเป็นความยุติธรรม ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่พระองค์จะปฏิบัติสวนทางกับแนวดังกล่าว เนื่องจากทรงเป็นผู้เที่ยงธรรมและไม่เคยกดขี่ผู้ใด ทั้งนี้เพราะการกดขี่ถือเป็นเรื่องน่ารังเกียจสำหรับพระองค์
กลุ่มนี้เชื่อว่าความดีความชั่วจำแนกเป็นเอกเทศและตั้งอยู่บนฐานแห่งสติปัญญา
ท่านชะฮีดมุเฏาะฮะรีกล่าวไว้ว่า “พวกเขาเชื่อว่าความดีความชั่วที่โดยปกติมักใช้เป็นมาตรวัดพฤติกรรมมนุษย์นั้น สามารถนำมาใช้เป็นมาตรฐานของกิจของอัลลอฮ์ได้ด้วย พวกเขาเชื่อว่าความยุติธรรมโดยตัวของมันแล้วถือเป็นสิ่งดี ส่วนการกดขี่ โดยตัวของมันเองเป็นสิ่งน่ารังเกียจ ฉะนั้น อัลลอฮ์ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดปัญญาอันเยี่ยมยอด ย่อมไม่ทรงละทิ้งสิ่งที่สติปัญญาตัดสินว่าเป็นเรื่องดี และทรงไม่เกลือกกลั้วกับสิ่งที่สติปัญญาตัดสินว่าน่ารังเกียจ”
มุอ์ตะซิละฮ์เชื่อว่าสติปัญญามนุษย์สามารถจำแนกผิดชอบชั่วดีได้อย่างอิสระ โดยสามารถรับรู้ความดีงามของถูกต้อง ความซื่อสัตย์ ความยำเกรง ความรักนวลสงวนตัว ฯลฯ และรับรู้ความน่ารังเกียจของการโกหก การทรยศ การหลงกิเลส ฯลฯ ได้โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยการบอกเล่าของศาสนา ด้วยเหตุนี้จึงเชื่อกันว่าการกระทำต่างๆมีความผิดชอบชั่วดีอยู่ในตัวก่อนที่พระองค์จะแจ้งเสียอีก ความเชื่อเช่นนี้ย่อมจะส่งผลต่อความเชื่อในเรื่องอื่นๆ อาทิความเชื่อเกี่ยวกับอัลลอฮ์ และความเชื่อที่เกี่ยวกับมนุษย์ อย่างเช่นปริศนาที่ว่า “พระองค์ทรงมีเป้าหมายในการสร้างสรรพสิ่งต่างๆหรือไม่?”
อนึ่ง กลุ่มมุอ์ตะซิละฮ์เลือกที่จะปฏิเสธความเชื่อในเรื่องเตาฮี้ดอัฟอาลีเนื่องจากพวกเขาเชื่อในหลักอัดล์ โดยเชื่อว่าผลพวงของการยอมรับเตาฮี้ดอัฟอาลีก็คือการยอมรับว่าอัลลอฮ์เป็นผู้สร้างการกระทำของมนุษย์ โดยที่มนุษย์ไม่มีบทบาทใดๆต่อการกระทำของตัวเอง และว่าการเชื่อเช่นนี้ขัดต่อหลักอัดล์ของพระองค์ มุมมองของกลุ่มนี้ตรงข้ามกับมุมมองของกลุ่มอะชาอิเราะฮ์ที่ปฏิเสธอิสรภาพของมนุษย์ต่อพฤติกรรมของตนเอง
เหตุผลเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของหลักอัดล์ในมุมมองของมุอ์ตะซิละฮ์ ทำให้ทราบว่าเหตุใดพวกเขาจึงให้ความสำคัญต่ออัดล์ในฐานะที่เป็นหลักศรัทธาเสมือนชีอะฮ์ โดยจัดให้เป็นหลักศรัทธาข้อที่สองจากหลักศรัทธาห้าประการ
จึงเข้าใจได้ว่ากลุ่มมุอ์ตะซิละฮ์ยอมเสียความเชื่อเกี่ยวกับเตาฮี้ดอัฟอาลีไปเพื่อรักษาหลักแห่งอัดล์ ในขณะที่อะชาอิเราะฮ์ยอมเสียอัดล์ไปเพื่อคงไว้ซึ่งเตาฮี้ดอัฟอาลี ทว่าในความเป็นจริงแล้ว มุอ์ตะซิละฮ์เองก็ไม่สามารถแจกแจงหลักแห่งอัดล์ได้อย่างถูกต้อง และอะชาอิเราะฮ์เองก็ยังเข้าไม่ถึงแก่นแห่งเตาฮี้ดอัฟอาลี สรุปได้ว่าความขัดแย้งระหว่างสองกลุ่มนี้เกิดจากมุมมองต่อเตาฮี้ดและอัดล์นั่นเอง
อัดล์ในทัศนะของอิมามียะฮ์
นักวิชาการชีอะฮ์ได้ประยุกต์คำสอนของกุรอานและฮะดีษของท่านนบี(ซ.ล.)และอะฮ์ลุลบัยต์ในการลำดับหลักแห่งอัดล์เข้าเป็นหลักศรัทธาลำดับที่สองจากหลักศรัทธาห้าประการ โดยถือว่าการกระทำต่างๆมีความผิดชอบชั่วดีแฝงอยู่ในตัวของมันเอง กล่าวคือการกระทำบางอย่างเป็นเรื่องดี และการกระทำบางอย่างเป็นเรื่องน่ารังเกียจ สติปัญญามนุษย์สามารถรับรู้ถึงความดีและความน่ารังเกียจของการกระทำต่างๆได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาบัญญัติทางศาสนา ดังที่รับรู้ว่าความยุติธรรมเป็นเรื่องดี และการกดขี่เป็นเรื่องน่ารังเกียจ ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงบัญชามนุษย์เฉพาะเรื่องที่ดีงาม และห้ามปรามเฉพาะเรื่องที่น่ารังเกียจเท่านั้น บทบัญญัติศาสนาจึงเป็นไปตามความผิดชอบชั่วดีที่แท้จริงที่ปรากฏอยู่ในแต่ละการกระทำ และพระองค์ย่อมห้ามปรามทุกสิ่งที่เป็นอันตราย เนื่องจากพระองค์จะไม่ทรงกระทำสิ่งที่น่ารังเกียจอย่างแน่นอน ด้วยเหตุนี้จึงถือว่าพระองค์ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรม ชะฮีดมุเฏาะฮะรีกล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “อัลลอฮ์ทรงประทานเมตตาหรือลงบะลาตามความเหมาะสมในแต่ละกรณี ทั้งนี้ ระบบระเบียบของโลกมีกลไกเฉพาะอันมีผลต่อการแผ่เมตตา ให้รางวัล ทดสอบ และลงโทษ”
แม้ว่าทั้งชีอะฮ์และมุอ์ตะซิละฮ์จะมีหลักความเชื่อที่คล้ายคลึงกันหลายประการ อันทำให้ได้รับฉายาว่า “อัดลียะฮ์”ร่วมกัน ทว่ายังมีข้อแตกต่างบางประเด็นระหว่างสองสำนักคิดดังกล่าวอยู่ เป็นต้นว่า ชีอะฮ์ยอมรับหลักแห่งอัดล์โดยไม่ส่งผลให้ต้องปฏิเสธเตาฮี้ดอัฟอาลีหรือเตาฮี้ดซาตี(เอกานุภาพเชิงอาตมัน) อันทำให้อัดล์และเตาฮี้ดอยู่คู่กันได้ สำนักคิดชีอะฮ์ยอมรับในหลักแห่งอัดล์, บทบาทของสติปัญญา, กลไกของโลกอันสอดคล้องกับวิทยปัญญา และอิสรภาพของมนุษย์ในการตัดสินใจ โดยไม่จำเป็นต้องหักล้างเตาฮี้ดซาตีหรืออัฟอาลีแต่อย่างใด ชีอะฮ์ยอมรับอิสระเสรีภาพของมนุษย์ในการตัดสินใจ แต่ก็มิได้ถือว่ามนุษย์เป็นภาคีของอัลลอฮ์ หรือมีอิทธิพลต่ออำนาจลิขิตของพระองค์ ยอมรับเกาะฎอเกาะดัรของอัลลอฮ์ แต่ไม่ยอมรับว่ามนุษย์ถูกบังคับให้เป็นไปตามเกาะฎอเกาะดัรเหล่านั้นโดยดุษณี
ความยุติธรรมในทัศนะของมุอ์ตะซิละฮ์นั้นมีอยู่เฉพาะเตาฮี้ดศิฟาตี (เอกานุภาพเชิงคุณสมบัติ) มิไช่เตาฮี้ดอัฟอาลี เนื่องจากเชื่อว่าเตาฮี้ดอัฟอาลีขัดแย้งกับหลักความยุติธรรมของพระองค์ พวกเขาให้นิยามเตาฮี้ดศิฟาตีว่า “ภาวะที่อาตมันของพระองค์ปราศจากซึ่งคุณสมบัติใดๆทั้งสิ้น” โดยไม่สามารถจะพิสูจน์ได้เสมือนชีอะฮ์ว่าอาตมันและคุณสมบัติของพระองค์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อีกด้านหนึ่ง เตาฮี้ดอัฟอาลีของชีอะฮ์ก็ต่างจากเตาฮี้ดอัฟอาลีของอะชาอิเราะฮ์เช่นกัน เนื่องจากอะชาอิเราะฮ์นิยามว่า “ไม่มีสิ่งใดจะมีอานุภาพเว้นแต่จะเชื่อมโยงกับพระองค์เท่านั้น” อันหมายความว่าผู้ที่สร้างกริยาต่างๆของมนุษย์ก็คืออัลลอฮ์ โดยมนุษย์มิได้มีอานุภาพใดๆต่อกริยาของตนเองโดยสิ้นเชิง
ในขณะที่เตาฮี้ดอัฟอาลีของชีอะฮ์เน้นเกี่ยวกับเรื่องของบ่วงโซ่เชิงเหตุและผล โดยถือว่าทุกผลลัพธ์นอกจากจะเกิดจากเหตุที่อยู่ใกล้สุดแล้ว ยังเป็นอานุภาพจากพระองค์อีกด้วย ซึ่งทั้งสองประการนี้เชื่อมเป็นบ่วงโซ่ มิได้เป็นเอกเทศจากกัน
ด้วยเหตุนี้ เตาฮี้ดในมุมมองของชีอะฮ์จึงครอบคลุมเตาฮี้ดเชิงอาตมัน, เชิงอิบาดัต, เชิงคุณลักษณะ, เชิงกริยา ซึ่งล้วนสอดคล้องกับหลักความยุติธรรมของพระองค์ทั้งสิ้น
จึงกล่าวได้ว่าอุละมาชีอะฮ์อิมามียะฮ์ได้ปกปักษ์รักษาหลักความเชื่ออันชัดเจนของอิสลามให้พ้นจากข้อครหาใหม่ๆที่สังคมกาฟิรใช้โจมตี โดยได้อาศัยการผดุงเอกภาพระหว่างมุสลิม และอิงคำสอนจากกุรอาน ดุอาและฮะดีษที่เน้นการแสดงเหตุและผล ตลอดจนสร้างเสริมศักยภาพการคิดเกี่ยวกับสารธรรมอิสลาม และได้รับแรงบันดาลใจจากคุฏบะฮ์อันน่าอัศจรรย์ของท่านอิมามอลี(อ.) ในฐานะที่เป็นผู้นำเสนอสารธรรมอิสลามเชิงวิเคราะห์เจาะลึกเป็นท่านแรก
ด้วยเหตุนี้เราจึงมักเห็นว่านักปรัชญาอิสลามส่วนใหญ่เลื่อมใสในแนวทางชีอะฮ์ บุคคลเหล่านี้สามารถผดุงไว้ซึ่งปรัชญาอิสลามวิถีชีอะฮ์ ดังที่นักประวัติศาสตร์อะฮ์ลิสซุนนะฮ์เองก็ยอมรับว่าปัญญาของชีอะฮ์เป็นปัญญาแนวปรัชญามาตั้งแต่อดีตกาล อันหมายความว่านับแต่อดีตเป็นต้นมา แนวคิดชีอะฮ์เป็นแนวคิดเชิงปัญญาและการแสดงเหตุผลเสมอมา เหล่านี้ทำให้อุละมาชีอะฮ์สามารถใช้คำสอนของบรรดาอิมาม(อ.)พิสูจน์ให้ชาวโลกประจักษ์ถึงบทบาทสำคัญของหลักความยุติธรรมของอัลลอฮ์ที่ปรากฏในจารีตของพระองค์และบรรดาศาสดา
หลักความยุติธรรมของพระองค์มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อแนวทางชีอะฮ์ ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่าภายหลังการจากไปของท่านนบีมุฮัมมัด(ซ.ล.)ผู้เป็นปรมาจารย์แห่งวิวรณ์ ท่านอิมามอลี(อ.)ได้ดำรงตำแหน่งผู้นำท่านแรกตามทัศนะของชีอะฮ์ ทั้งสองท่านนี้ล้วนเป็นรูปจำลองของความยุติธรรมและความรักที่มีต่อพระองค์ ซึ่งมาตรว่าความยุติธรรมจะจำแลงเป็นมนุษย์ก็ย่อมกลายเป็นท่านนบี(ซ.ล.)และท่านอิมามอลี(อ.)อย่างแน่นอน
ในทางกลับกัน หากบุคลิกของทั้งสองท่านนี้แปรเป็นนามธรรมก็ย่อมจะกลายเป็น “ความยุติธรรม” เนื่องจากสองท่านนี้ต่างเปรียบดั่งจารีตของพระองค์ เหตุเพราะเปี่ยมไปด้วยความยุติธรรม ดังที่พระองค์ทรงตรัสเกี่ยวกับจารีตของท่านนบี(ซ.ล.)ว่า لَقَدْ كانَ لَكُمْ فِى رَسُولِ اللهِ أُسْوَةٌ حَسَنَةٌ...
ไม่เพียงแต่พระองค์จะทรงยกย่องท่าน หากแต่ยังถือว่าท่านคือแบบฉบับที่สมบูรณ์สำหรับมนุษยชาติทุกกาลสมัย และกำชับแก่มนุษยชาติให้ยึดถือแนวทางของท่านอีกด้วย[2]
[1] อัลอินซาน, อัตตักวี้ร, ฯลฯ
[2] ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ http://www.mazaheb.ir/index.php?option=com_content&task=view&id=41&Itemid=37