Please Wait
7227
หากจะอธิบายประโยคที่ว่า“หากไร้ซึ่งฟาฏิมะฮ์ ฉันจะไม่สร้างเจ้าทั้งสอง(นบีและอิมามอลี)”ก็สามารถตีความได้ว่า หากไร้ซึ่งฐานะภาพแห่งความเป็นบ่าว ฐานะภาพแห่งการเป็นนบีและอิมามก็จะไม่มีวันบรรลุเป้าประสงค์ได้ ทั้งนี้เนื่องจากนุบูวัตและอิมามัตเป็นทางผ่านไปสู่ความเป็นบ่าวของอัลลอฮ์โดยดุษณี แม้ว่าท่านนบี(ซ.ล.)และท่านอิมามอลี(อ.)จะมีฐานะภาพดังกล่าว แต่ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์มีฐานะภาพดังกล่าวชัดเจนกว่า เนื่องจากไม่ดำรงตำแหน่งอื่นเช่นนุบูวัตและอิมามัต ด้วยเหตุนี้ ฮะดีษดังกล่าวจึงเน้นย้ำเกี่ยวกับท่านหญิงเป็นพิเศษ.
มีฮะดีษมากมายที่กล่าวถึงฐานะภาพของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บางฮะดีษระบุว่าเธอมีฐานะภาพพิเศษอันน่าพิศวง ฮะดีษบางบทกล่าวว่า คำว่าฟาฏิมะฮ์หมายถึงสตรีที่คนทั่วไปไม่อาจล่วงรู้ฐานะภาพที่แท้จริงของเธอได้[1] ประหนึ่งว่ารหัสยะของอัลลอฮ์แฝงอยู่ในท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ ซึ่งหากสามารถรู้จักฐานะภาพที่แท้จริงของเธอ ก็จะทำให้สามารถรู้จักพระองค์อย่างถ่องแท้ได้ ดังที่สถานะความเป็น“ฟาฏิมะฮ์”ก็ทำให้ทราบถึงสถานะอันได้รับการปกปิดไว้ในเขตหวงห้ามของอัลลอฮ์เกินกว่าผู้ใดจะเข้าถึง
เป็นที่ทราบกันดีว่า ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์มิได้เป็นทั้งนบีและอิมาม นั่นแสดงว่าตัวแปรที่ทำให้ท่านหญิงได้รับฐานะภาพอันสูงส่งนี้มิไช่ตำแหน่งนุบูวัตและอิมามัต ตัวแปรอันเปรียบประดุจอัญมณีน้ำงามนี้ ไม่ว่าเราจะเรียกว่าอย่างไรก็ไม่อาจเข้าถึงแก่นแท้ได้ แต่หากจะถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูด ก็คงจะบัญญัติศัพท์ได้ว่า“อัญมณีแห่งความเป็นบ่าว(อับด์)” อันหมายถึงการเป็นบ่าวของอัลลอฮ์โดยดุษณี สลายอัตตาและเชื่อมั่นอย่างสุดใจว่าทุกอย่างเป็นกรรมสิทธิของอัลลอฮ์ สิ่งนี้ทำให้บ่าวมีสถานะเปรียบดังกระจกเงาที่สะท้อนความยิ่งใหญ่ของพระองค์ ด้วยเหตุนี้เองที่ท่านอิมามญะอ์ฟัร(อ.)กล่าวไว้ว่า“การเป็นบ่าวคืออัญมณีที่มีภาวะแห่งพระผู้อภิบาลเป็นแกนกลาง”[2] อัญมณีเม็ดนี้แหล่ะ ที่เป็นความเร้นลับสุดยอดของวิถีแห่งอิรฟานที่มนุษย์แสวงหา
มีฮะดีษหนึ่งกล่าวว่า การรู้จักท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ไม่ต่างจากการค้นพบลัยละตุ้ลก็อดร์[3] บรรดานักจาริกจิตวิญญาณทุกคนปรารถนาจะเข้าถึงแก่นแท้ของลัยละตุ้ลก็อดร์ และอาริฟที่บรรลุความใกล้ชิดพระองค์แล้วเท่านั้นที่จะได้สัมผัสการประทานกุรอานในค่ำคืนนี้
ในขณะที่บรรดาอิมาม(อ.)มีศักดิ์เป็น“กุรอานพูดได้” แสดงว่าแก่นแท้ของตำแหน่งอิมามเกี่ยวโยงกับการได้สัมผัสแก่นแท้ของกุรอาน และนี่คือเหตุผลที่ว่าแก่นแท้ของตำแหน่งอิมามมีความเชื่อมโยงกับฐานะภาพของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์
ตำแหน่งการเป็นนบีเป็นที่ปรากฏชัดเจนสำหรับบุคคลทั่วไป ส่วนตำแหน่งอิมามก็ได้รับการเผยแผ่โดยตำแหน่งนบีในฐานะผู้เติมเต็มศาสนา ซึ่งกลุ่มบุคคลพิเศษเท่านั้นที่เคารพเชื่อฟัง ตำแหน่งอิมามเองก็มีแก่นสัจธรรมประการหนึ่งที่ซ่อนเร้นจากบุคคลอื่น(นอกจากผู้ได้รับเอกสิทธิจากอัลลอฮ์) ซึ่งสัจธรรมดังกล่าวก็คือ ฐานะภาพอันลี้ลับของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ที่ปกปักษ์ไว้โดยเดชานุภาพของอัลลอฮ์และตำแหน่งอิศมัต(ไร้บาป)นั่นเอง
ฉะนั้น แก่นของนุบูวัต(ตำแหน่งนบี)ก็คืออิมามัต(ตำแหน่งอิมาม) และธาตุแท้ของอิมามัต ก็คืออุบูดียัต(ความเป็นบ่าว) สิ่งสำคัญในจุดนี้ก็คือ ท่านนบี(ซ.ล.)มีทั้งสามฐานะภาพดังกล่าวอย่างสมบูรณ์และเป็นหนึ่งเดียว แม้กระนั้น ความเป็นอิมามของท่านนบีเผยชัดเจนในบุคลิกของอิมามอลี(อ.) และสถานะความเป็นบ่าวก็เผยชัดเจนในบุคลิกของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ในระดับที่นับเป็นอัตลักษณ์ของแต่ละท่าน เมื่อพิจารณาลำดับฐานะภาพของท่านนบีก็จะเห็นได้ว่า ความเป็นบ่าวของท่านอยู่เหนือกว่าฐานะภาพนุบูวัตและอิมามัต ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ผิดนักที่เราจะพูดว่า สิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(อุบูดียัต)ก็คือฐานะภาพสูงสุดสำหรับมนุษย์ อันเป็นเป้าประสงค์ของทั้งนุบูวัตและอิมามัต
ฮะดีษ“หากไร้ซึ่งฟาฏิมะฮ์...”
กลุ่มฮะดีษจากนบี(ซ.ล.)และอิมาม(อ.)ที่สาธยายถึงฐานะภาพของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ ตลอดจนฮะดีษกุ๊ดซี(วจนะอัลลอฮ์ในสำนวนนบี)ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้[4] ล้วนชี้ให้เห็นถึงแนวคิดที่เราได้นำเสนอข้างต้น แต่ฮะดีษที่ระบุถึงฐานะภาพอันลี้ลับของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์โดยตรง ซึ่งได้รับการบันทึกไว้โดยผู้รู้หลายท่าน ก็คือฮะดีษที่ว่า
“لولاک لما خلقت الافلاک . و لولا علی لما خلقتک . و لولا فاطمه لما خلقتکما”[5]
แม้ว่าในแง่ของวิชาคัดกรองสายรายงาน ฮะดีษนี้จะจัดเป็นฮะดีษ“ฎออี้ฟ” แต่ผู้รู้ระดับสูงหลายท่านได้บันทึกไว้ในตำราของตน อาทิเช่น ส่วนท้ายของฮะดีษ (و لولا فاطمه لما خلقتکما) ได้รับการบันทึกไว้ในหนังสือ ญุนนะตุ้ลอาศิมะฮ์ หน้า 148 รายงานจากหนังสือกัชฟุ้ลลิอาลี ผลงานของ ท่านศอลิห์ บิน อับดิลวะฮาบ อร็อนดิส. มุสตัดร็อก สะฟีนะตุ้ลบิฮ้าร เล่ม 3 หน้า 334 รายงานจากหนังสือ มัจมะอุ้นนูร็อยน์ เขียนโดย ฟาฎิ้ล มะร็อนดี. นอกจากนี้ผู้ประพันธ์หนังสือ ฎิยาอุ้ลอาละมีน ผู้เป็นตาของท่านผู้ประพันธ์ ญะวาฮิรุ้ลกะลาม ก็ได้รายงานไว้เช่นกัน.
มีรซอ อบุ้ลฟัฎล์ เตหรานี กล่าวไว้ในหนังสือ “ชิฟาอุศศุดู้ร ฟี ชัรฮิ ซิยาเราะตุ้ลอาชู้ร” หน้า 84 ว่า“ศอลิห์ บิน อับดิลวะฮาบและสายรายงานบางคนของเขาไม่เป็นที่รู้จัก แต่ก็มิได้หมายความว่าฮะดีษนี้ถูกกุขึ้นมา”
ไม่ไช่เรื่องแปลกที่ฮะดีษที่เกี่ยวกับฐานะภาพอันสูงส่งของบรรดามะอ์ศูมีนจะมีสายรายงานที่ไม่เป็นที่รู้จักนัก ทั้งนี้เพราะในยุคของบรรดาอิมาม แม้ว่านักรายงานฮะดีษที่เกี่ยวกับบทบัญญัติฟิกเกาะฮ์จะที่ไม่เป็นที่จับตาของทางการ แต่นักรายงานฮะดีษที่เกี่ยวกับหลักศรัทธามักจะต้องหลบหลีกการจับตาเป็นพิเศษ จึงทำให้ไม่เป็นที่รู้จักในแวดวงนักรายงานฮะดีษ ส่งผลให้ไม่สามารถยืนยันสถานะทางฮะดีษศาสตร์ได้อย่างชัดเจน แต่กระนั้น การที่สายรายงานเหล่านี้ไม่เป็นที่รู้จัก ไม่ได้ทำลายความน่าเชื่อถือของฮะดีษแต่อย่างใด โดยเฉพาะหากมีคุณสมบัติตามเงื่อนไขวิชาการ อย่างไรก็ดี การที่บรรดาอิมามมักจะปรารภเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้กับนักรายงานฮะดีษกลุ่มนี้เสมอ ทำให้ทราบว่าคนกลุ่มนี้อาจจะเป็น“สหายผู้รักษาความลับ” ดังที่จะเห็นว่าฮะดีษประเภทดังกล่าวรายงานโดยบุคคลกลุ่มนี้บ่อยครั้ง[6]
ส่วนในแง่เนื้อหานั้น ฮะดีษดังกล่าวประกอบด้วยสามส่วนด้วยกัน:
1. มนุษย์ผู้สมบูรณ์คือจุดประสงค์ของการสรรสร้างจักรวาล
2. การที่อิมามัตเหนือกว่านุบูวัต
3. การที่อุบูดียัตเหนือกว่าทั้งสองฐานะภาพข้างต้น
ประเด็นที่หนึ่งอ้างอิงจากประโยคแรกในฮะดีษที่ว่า“หากไร้ซึ่งเจ้า(นบี) ข้าก็จะไม่สร้างจักรวาล" ซึ่งได้รับการยืนยันจากฮะดีษอื่นๆเช่นกัน ประโยคดังกล่าวต้องการจะสื่อว่าการกำเนิด“มนุษย์ผู้สมบูรณ์”คือเป้าหมายของการสร้างทุกสรรพสิ่ง เพราะอัลลอฮ์ทรงให้ความสำคัญแก่เขาในฐานะที่เป็นผู้สนองเจตน์จำนงของพระองค์บนหน้าแผ่นดิน เกี่ยวกับเรื่องนี้มีการอธิบายโดยผู้รู้สายจิตนิยมมากมาย ซึ่งจะขอหยิบยกมากล่าว ณ ที่นี้เพียงตัวอย่างเดียวดังต่อไปนี้:
หากไม่มีมิติแห่งเอกานุภาพของอัลลอฮ์ ก็จะไม่มีมิติแห่งพหุลักษณ์ของสรรพสิ่งต่างๆ หลักความสอดคล้องกันระหว่างปฐมเหตุและผลลัพท์กำหนดว่า ระหว่างปฐมเหตุซึ่งเป็นเอกะในทุกมิติ และผลลัพท์ซึ่งเป็นพหุลักษณ์นั้น จะต้องมีสิ่งที่เชื่อมต่อกัน โดยมีสถานะเชิงเอกะในด้านความสัมพันธ์กับปฐมเหตุ แต่ขณะเดียวกันก็สามารถสอดรับกับพหุลักษณ์ที่มีในสรรพสิ่งต่างๆได้ ภาวะดังกล่าวจะเกิดขึ้นในชั้นมิติแห่ง“จิต”เท่านั้น ไม่ไช่ว่าทุกจิตสามารถเป็นโซ่ข้อกลางได้ แต่จิตของนบี(ซ.ล.)และอะฮ์ลุลบัยต์(อ.)เท่านั้นที่มีศักยภาพที่จะทำหน้าที่ดังกล่าว ฉะนั้น หากไร้ซึ่งจิตของท่านนบี จักรวาลนี้ก็จะไร้ซึ่งจุดเชื่อมต่อที่มีสถานะเป็นเอกะ ซึ่งพหุลักษณ์ของทุกสรรพสิ่งก็จะไม่เกิดขึ้น.[7]
ส่วนประโยคต่อมาก็คือ“لولا علی لما خلقتک” ประโยคนี้ต้องการสื่อว่าอิมามัตสูงส่งกว่านุบูวัต ทั้งนี้เพราะคุณสมบัติเด่นของนุบูวัตหรือศาสนทูตก็คือ การเป็นทูตศาสนา ทว่าอิมามัตนั้นสูงส่งกว่าเนื่องจากเป็นตำแหน่งของผู้ที่เข้าถึงเตาฮี้ดระดับสมบูรณ์ และลอดผ่านภาวะแห่งฟะนาอ์(อนัตตา)เข้าสู่ความใกล้ชิดกับพระองค์แล้ว ด้วยเหตุนี้กุรอานจึงกล่าวถึงเรื่องราวของนบีอิบรอฮีมว่า ท่านได้ผ่านการทดสอบหลากหลายขั้นตอน จนกระทั่งบรรลุถึงตำแหน่งอิมามทั้งที่ก่อนหน้านี้เป็นนบีมาโดยตลอด อย่างไรก็ดี แม้ท่านนบีมุฮัมมัด(ซ.ล.)จะบรรลุตำแหน่งอิมามก็จริง ทว่าในเมื่อท่านเป็นที่รู้จักในฐานะนุบูวัตแล้ว อิมามัตจึงกลายเป็นอัตลักษณ์ของท่านอิมามอลี(อ.)ในสายตาของบุคคลทั่วไป
ที่กล่าวมาทั้งหมด มิได้ต้องการสื่อว่าท่านอิมามอลี(อ.)มีฐานะเหนือท่านนบี(ซ.ล.) แต่ต้องการสื่อว่าอิมามัตเหนือกว่านุบูวัต(ที่ปราศจากอิมามัต) ทั้งนี้ก็เนื่องจากเป็นที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าท่านนบี(ซ.ล.)มีฐานะภาพเหนือกว่าอิมามอลี(อ.) ดังที่ท่านอิมามอลีกล่าวเองว่า “ฉันคือบ่าวทาสคนหนึ่งในจำนวนบ่าวทั้งหมดของนบีมุฮัมมัด(ซ.ล.)”[8]
ส่วนประโยคสุดท้ายที่ว่า“หากไร้ซึ่งฟาฏิมะฮ์ ข้าจะไม่สร้างเจ้าทั้งสอง(นบีและอิมามอลี)” สื่อถึงฐานะภาพอันสูงส่งที่แม้จะมีในตัวท่านนบีและอิมามอลีอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ แต่ด้วยเหตุผลที่กล่าวไปแล้ว ทำให้ฐานะภาพนี้กลายเป็นอัตลักษณ์ของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ไปโดยปริยาย ฐานะภาพสูงสุดนี้ก็คือ“อุบูดียัต”
ฉะนั้นจึงอธิบายประโยคดังกล่าวได้ดังนี้ว่า หากไร้ซึ่งฐานะภาพแห่งอุบูดียัตแล้ว นุบูวัตและอิมามัตก็จะไม่สมบูรณ์และไม่บรรลุเป้าประสงค์ เนื่องจากทั้งนุบูวัตและอิมามัตมีไว้ก็เพื่อที่จะบรรลุสู่ความเป็นอับด์(บ่าว)ที่ยอมสยบโดยดุษณีต่อพระองค์ แต่ใช่ว่าท่านนบี(ซ.ล.)และอิมามอลี(อ.)จะไม่มีฐานะภาพนี้ ท่านทั้งสองมีฐานะภาพดังกล่าวอย่างสมบูรณ์ แต่จากการที่ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์มีเพียงฐานะภาพนี้ จึงทำให้โดดเด่นเป็นพิเศษในประโยคนี้ของฮะดีษ แต่ในทัศนะของพระองค์แล้ว เบื้องต้นของดวงจิตทั้งสามท่านถือเป็นหนึ่งเดียว
ข้อสรุปของประเด็นนี้ก็คือ หากผู้ใดสามารถบรรลุถึงฐานะแห่งอุบูดียัต เขาย่อมมีฐานะ(มิไช่ภาระหน้าที่)สูงกว่านุบูวัตและอิมามัต ซึ่งจริงๆแล้ว ท่านนบี(ซ.ล.)และบรรดาอิมาม(อ.)เองก็ได้รับตำแหน่งและภาระหน้าที่แห่งนุบูวัตและอิมามัตจากการบรรลุถึงอุบูดียัตทั้งสิ้น และอุบูดียัตนี้แหล่ะ ที่เป็นฐานะสูงสุดของนบีและบรรดาอิมามในทัศนะของอัลลอฮ์
กล่าวคือ นุบูวัตและอิมามัตเป็นฐานะภาพที่มีภาระผูกพันกับมนุษย์ แต่อุบูดียัตคือฐานะภาพที่มีสัมพันธ์โดยตรงกับอัลลอฮ์ จากจุดนี้แน่นอนว่าอุบูดียัตย่อมเหนือกว่านุบูวัตและอิมามัต.
[1] บิฮารุ้ลอันว้าร,อ.มัจลิซี,เล่ม 43,หน้า 61, :“إِنَّمَا سُمِّیَتْ فَاطِمَةَ لِأَنَّ الْخَلْقَ فُطِمُوا عَنْ مَعْرِفَتِهَا”
[2] มิศบาฮุชชะรีอะฮ์,หน้า 7,.สำนักพิมพ์อะอ์ละมี
“العبودیة جوهر کنهها الربوبیة فما فقد من العبودیة وجد فی الربوبیة و ما خفی عن الربوبیة أصیب فی العبودیة”
[3] บิฮารุ้ลอันว้าร,อ.มัจลิซี,เล่ม 43,หน้า 65 :
مُحَمَّدُ بْنُ الْقَاسِمِ بْنِ عُبَیْدٍ مُعَنْعَناً عَنْ أَبِی عَبْدِ اللَّهِ ع أَنَّهُ قَالَ إِنَّا أَنْزَلْناهُ فِی لَیْلَةِ الْقَدْرِ اللَّیْلَةُ فَاطِمَةُ وَ الْقَدْرُ اللَّهُ فَمَنْ عَرَفَ فَاطِمَةَ حَقَّ مَعْرِفَتِهَا فَقَدْ أَدْرَکَ لَیْلَةَ الْقَدْر...
[4] เพียงหนังสือ“อัลกิดดีซะฮ์ ฟิลอะฮาดีซิล กุ้ดซียะฮ์”ประพันธ์โดย อิสมาอีล อัลอันศอรี มีฮะดีษกุ้ดซีเกี่ยวกับฐานะภาพท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ถึง 252 บท,สำนักพิมพ์ดะลีเลมอ
[5] อัลอัสรอรุ้ลฟาฎิมียะฮ์,เชคมุฮัมมัด ฟาฎิ้ล มัสอูดี:
یا أحمد لولاک لما خلقت الأفلاک ، ولولا علی لما خلقتک ، ولولا فاطمة لما خلقتکما
(อัลญุนนะตุ้ลอาศิมะฮ์,149 /มุสตั้ดร็อก สะฟีนะตุ้ลบิฮาร,เล่ม3,หน้า 337 จากมัจมะอุ้นนูร็อยน์, 14 จากอัลอะวาลิม, 44)
هذا الحدیث من الأحادیث المأثورة التی رواها جابر بن عبد الله الأنصاری عن رسول الله صلى الله علیه وآله وسلم عن الله تبارک وتعالى
(เชคมุฮัมมัดฟาฎิ้ล มัสอูดี,หน้า 231.)