Please Wait
6181
ประโยคดังกล่าวแปลว่า “จงอย่าเป็นศัตรูกับวันเวลา แล้ววันเวลาจะไม่เป็นศัตรูกับท่าน”
ประโยคนี้ปรากฏอยู่ในฮะดีษของท่านนบี(ซ.ล.)บางบท อัยยามในที่นี้หมายถึงวันเวลาในรอบสัปดาห์
สำนวนนี้ต้องการชี้ให้เห็นความสำคัญของวันเวลา และไม่ควรมองวันเวลาในแง่ลบ เพราะอาจจะทำให้ประสบเคราะห์กรรมได้ ควรคิดว่าวันเวลาเปี่ยมด้วยความเมตตาของพระองค์ที่เราจะต้องขวนขวายไว้ อย่างไรก็ดี ประโยคนี้ยังสามารถอธิบายได้อีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งจะนำเสนอในคำตอบแบบสมบูรณ์
ประโยคนี้ปรากฏอยู่ในฮะดีษของท่านนบี(ซ.ล.)บางบท[1] มีความหมายว่า “จงอย่าเป็นศัตรูกับวันเวลา แล้ววันเวลาจะไม่เป็นศัตรูกับท่าน”
ความหมายทั่วไปของสำนวนดังกล่าวก็คือ มนุษย์ไม่ควรจะมีอคติต่อวันเวลาโดยมองว่าจะนำมาซึ่งเคราะห์ร้าย เพราะมุมมองเช่นนี้อาจทำให้เคราะห์ร้ายดังกล่าวเกิดขึ้นกับเขาจริงๆ
อย่างไรก็ดี แม้ว่าอัลอัยยามในที่นี้แปลว่าวันเวลาในรอบสัปดาห์[2] แต่มีฮะดีษบางบทสื่อถึงนามของบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์(อ.) ซึ่งสามารถยอมรับได้ในฐานะความหมายเชิงลึกตามหลักญัรย์และตัฏบี้ก(ประยุกต์เคียง)
ศ็อกร์ บิน อบีดุลฟ์ สาวกคนหนึ่งของอิมามฮาดี(อ.)มีความเชื่อตามปกติว่า วันเวลาในที่นี้ก็คือการหมุนเวียนของทิวาและราตรี เขาเชื่อว่าฮะดีษดังกล่าวต้องการจะคัดค้านทัศนะของพวกนักดูดวงชะตาที่ถือว่าชะตามนุษย์แขวนไว้กับวันเดือนปีและการเคลื่อนที่ของดวงดาว ศ็อกร์เล่าว่า ฉันเข้าพบท่านอิมามฮาดี(อ.)ในเรือนจำแล้วถามท่านว่า โอ้นายข้า กระผมไม่เข้าใจความหมายของฮะดีษนบีบทหนึ่ง ท่านอิมามตอบว่า “ตราบใดที่พสุธาและพื้นพิภพยังคงอยู่ วันเวลาในที่นี้หมายถึงพวกเรา เสาร์คือชื่อของท่านนบี อาทิตย์คือท่านอิมามอลี จันทร์คืออิมามฮะซันและอิมามฮุเซน อังคารคืออิมามซัยนุลอาบิดีนและอิมามบากิรและอิมามศอดิก พุธคืออิมามมูซาและอิมามริฎอและอิมามญะว้าดและฉัน(อิมามฮาดี) พฤหัสคือฮะซันบุตรชายของฉัน ส่วนวันศุกร์ก็คือหลานของฉัน(อิมามมะฮ์ดี)”[3]
อย่างไรก็ดี สำนวนดังกล่าวต้องการจะรณรงค์ให้ตระหนักถึงความสำคัญของวันเวลา โดยไม่ควรมองวันเวลาในแง่ลบ เพราะอาจจะทำให้ประสบเคราะห์กรรมได้ ควรคิดว่าวันเวลาเปี่ยมด้วยความเมตตาของพระองค์ที่เราจะต้องขวนขวายไว้
กิจกรรมหนึ่งที่สามารถซึมซับความเมตตาของพระองค์ก็คือ การตะวัสซุ้ลผ่านบรรดาอิมามมะอ์ศูมีน(อ.) ด้วยการอ่านบทซิยารัตตามวันต่างๆในรอบสัปดาห์ ซึ่งมีบันทึกไว้ในหนังสือดุอาอย่างเช่น มะฟาตีฮุลญินาน
[1] อบูฮะนีฟะฮ์,นุอ์มาน บิน มุฮัมมัด บิน มันศู้ร ตะมีมี มัฆริบี,ดะอาอิมุ้ลอิสลาม,เล่ม 2,หน้า 145, สำนักพิมพ์อาลุลบัยต์ ลิอิห์ยาอิตตุร้อษ,เบรุต,เลบานอน,พิมพ์ครั้งที่สอง,ฮ.ศ.1385 และ มุฮัดดิษ นูรี,มีรซอ ฮุเซน, มุสตัดร้อก อัลวะซาอิ้ล วะมุสตัมบิฏ็อล มะซาอิ้ล,เล่ม 13,หน้า 77,สำนักพิมพ์อาลุลบัยต์ ลิอิห์ยาอิตตุร้อษ,เบรุต,เลบานอน,พิมพ์ครั้งแรก,ฮ.ศ.1408
[2] มัจลิซี,มุฮัมมัดบากิร,บิฮารุลอันว้าร,เล่ม 99,หน้า 211,สำนักพิมพ์อัลวะฟา,เบรุต,เลบานอน
[3] เพิ่งอ้าง