Please Wait
13904
“เกาษัร” หมายถึงความดีจำนวนมากมายและมหาศาล หรือตัวอย่างหลายกรณีสามารถกล่าวเพื่อสิ่งนั้นได้ เช่น : สระน้ำ และแม่น้ำเกาษัร, ชะฟาอัต, นบูวัต, วิทยปัญญา, ความรู้, ลูกหลานจำนวนมากมาย, ทายาทมาก และ ...
เกาษัร มีตัวอย่างสองประการ หนึ่งคือโลกนี้ได้แก่ (ฟาฏิมะฮฺซะฮฺรอ อะลัยฮัสลาม) ส่วนปรโลกคือ (สระน้ำเกาษัร)
สระน้ำเกาษัร, คือแห่งน้ำดื่มอันชุ่มชื่นใจแห่งสรวงสวรรค์ ซึ่งมีความกว้างมากซึ่งชาวสวรรค์หลังจากผ่านสนามสอบสวนในวันฟื้นคืนชีพ หลังจากนั้นพวกเขาจะถูกนำตัวเข้าสวรรค์และเข้าไปยังสระน้ำนั้น พวกเขาจะได้ดื่มน้ำจากสระเกาษัรเพื่อดับความกระหาย และจะได้ลิ้มรสความอร่อยอย่างที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน. จากสระน้ำเกาษัร, จะมีแม่น้ำอีกสองสายไหลแยกออกไปและจะไหลผ่านอยู่ในสวรรค์นั้น ซึ่งแหล่งน้ำนั้นเสมือนเป็นรากฐานของบัลลังก์ของอัลลอฮฺ
สระน้ำเกาษัร, คือสระน้ำอันเฉพาะสำหรับท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ผู้ที่จะส่งน้ำให้ดื่มคือท่านอิมามอะลี (อ.) และบรรดาอิมามท่านอื่นๆ (อ.) และสำหรับบรรดาศาสดาท่านอื่นก็จะมีสระน้ำเฉพาะเอาไว้สำหรับประชาชาติของท่าน, แต่สระน้ำเหล่านั้นจะไม่มีความกว้างและไม่มีความจำเริญเหมือนสระน้ำของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ)
“เกาษัร” อยู่บนรูปของ “เฟาอัล” เป็นคุณลักษณะหนึ่งที่มาจากคำว่า “กิซรัต” หมายถึง “ความดีงานอันมากมายมหาศาล” ความกว้างในความหมายของคำๆ นี้กว้างและครอบคลุมซึ่งมีตัวอย่างนับจำนวนไม่ถ้วน เช่น “ความดีงามที่ไม่มีที่สิ้นสุด” ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่ารวมอยู่ในความหมายดังกล่าวด้วย. สำหรับคำว่า “เกาษัร” ซึ่งปรากฏอยู่ในบทอัลเกาษัร, ตามการอธิบายของชีอะฮฺและซุนนียฺได้กล่าวถึงความหมายจำนวนมากมายสำหรับคำว่า “เกาษัร” เอาไว้ ซึ่งประโยคหนึ่งจากกรณีดังกล่าวนั้นก็คือ “ความดีงามจำนวนมหาศาล” นั่นเอง ตัวอย่างเช่น :
1.สระน้ำหรือแม่น้ำเกาษัร ...2.ตำแหน่งของการชะฟาอะฮฺอันยิ่งใหญ่ในวันฟื้นคืนชีพ, 3.นบูวัต, 4.วิทยปัญญาและความรู้, 5.อัลกุรอาน, 6.สหายและผู้ติดตามจำนวนมากมาย, 7.ปาฏิหาริย์จำนวนมาก, 8. ความรู้และการกระทำจำนวนมาก, 9.เตาฮีดและมิติของเตาฮีด, 10.ความโปรดปรานต่างๆ ที่อัลลอฮฺทรงมอบแด่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ในโลกนี้และปรโลก, 11.ลูกหลานหรือทายาทจำนวนมากมาย ที่ยังคงหลงเหลืออยู่แม้กาลเวลาจะผ่านไปอย่างเนิ่นนานแล้วก็ตาม. ไม่ต้องสงสัยหรือคลางแคลงใจอีกต่อไปว่าทายาทและลูกหลานจำนวนมากมายของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในขณะนี้สืบเชื้อสายมาจาก บุตรีผู้ทรงเกียรติอันสูงส่งท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ ซะฮฺรอ (อ.). ดังนั้น องค์ประกอบที่ละเอียดอ่อนที่สุดของ “เกาษัร” ก็คือการมีอยู่ของท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ อัซซะฮฺรอ (อ.) ท่านคือคำอธิบายความสัจจริงและเป็นพยานที่ดีที่สุดของความจริงในประเด็นนี้ และท่านยังเป็นสาเหตุแห่งการประทานลงมาและเป็นบริบทของโองการในบท อัลเกาษัร อีกด้วย. แน่นอนการมีอยู่ของท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (อ.) คือแหล่งที่มาของคุณงามความดีจำนวนมากมายมหาศาล อีกทั้งยังเป็นสาเหตุของกำดำรงอยู่ของสาส์นแห่งศาสดา (ซ็อล ฯ) ตราบจนถึงวันแห่งการฟื้นคืนชีพ และยังเป็นปัจจัยสำคัญแห่งการคงอยู่อย่างเป็นอมตะของเชื้อสายบริสุทธิ์[1]
ด้วยเหตุนี้ เมื่อพิจารณารายงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสระน้ำเกาษัร สาเหตุแห่งการประทานลงมาของอัลกุรอานบทเกาษัร เนื้อหาสาระ และบริบทของโองการแล้ว, สามารถสรุปได้ว่า “เกาษัร” มี 2 องค์ประกอบสำคัญ หนึ่งในนั้นคือโลกนี้ สองคือปรโลกหน้า ซึ่งองค์ประกอบสำคัญสำหรับโลกนี้คือ “เกาษัรมุฮัมมะดียฺ” ฟาฏิมะฮฺอัซซะฮฺรอ (อ.) ผู้ซึ่งเป็นแหล่งสืบสกุลลูกหลาน และเชื้อสายอันบริสุทธิ์ของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ซึ่งท่านศาสดาและลูกหลานของท่านในโลกนี้ ได้ทำให้ประชาชนได้อิ่มหนำกับวิชาการความรู้ จริยธรรมอันประเสริฐ บทบัญญัติอิสลาม และมารยาทแห่งพระเจ้า ส่วนองค์ประกอบอื่นก็คือ “เกาษัรแห่งสวรรค์” สระน้ำแห่งสรวงสวรรค์ ซึ่งมีอิมามอะลี (อ.) และบรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์ท่านอื่น (อ.) เป็นผู้มอบน้ำดื่มแก่ผู้หิวกระหายผู้เป็นชาวสวรรค์ ซึ่งผ่านการสอบสวนจากสนามสอบสวนแห่ง เยามุลมะชัร ไปแล้ว[2]
คุณลักษณะของสระน้ำเกาษัร
คำอธิบายเกี่ยวกับเกาษัร จากท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) : เกาษัรคือแม่น้ำสายหนึ่งที่เปี่ยมด้วยความดีงามอันมหาศาลในสรวงสวรรค์ ซึ่งความดีนั้นจะไหลออกจากเกาษัรยังบริเวณรอบๆ ของมันเท่ากับจำนวนหมู่ดวงดาวแห่งฟากฟ้า, และถูกหลอมให้เป็นแก้ว ประชาชาติของฉันเมื่อผ่านการสอบสวนแล้วจะได้เข้าสู่สวรรค์ และเข้าไปยังเกาษัร.ซึ่ง ณ เบื้องหน้าของฉันจะมีสระน้ำใบหนึ่งซึ่งความใหญ่ของมันนับตั้งแต่มะดีนะฮฺ จนถึงเยเมน หรือจากมะดีนะฮฺจนถึงอุมมาน. บริเวณด้านข้างจะเป็นทองคำ เครื่องดื่มในนั้นมีความขาวยิ่งกว่าหิมะและน้ำนม,มีความหวานยิ่งกว่าน้ำผึ้ง, มีความหอมยิ่งกว่าชะมด และน้ำนั้นจะไหลผ่านหินก้อนใหญ่ และไข่มุก. บุคคลใดได้ดื่มน้ำจากเกาษัรแล้ว เขาจะไม่กระหายอีกต่อไป ซึ่งบุคคลแรกที่จะได้เข้าสู่สระน้ำเกาษัร,คือบรรดาผู้อพยพจากมักกะฮฺสู่มะดีนะฮฺ. ส่วนผู้ที่เป็นเจ้าของสระน้ำคอยส่งน้ำให้ดื่มคือ เมาลา,อมีรุลมุอฺมินีน, อะลี (อ.) และบรรดาผู้ศรัทธาหลังจากได้ดื่มน้ำแล้ว พวกเขาจะไปรวมตัวกัน ณ ศาสดา (ซ็อล ฯ) และแต่ละคนจะมีความปิติยินดีเมื่อได้พบกันอีกครั้ง, ตาน้ำแห่งเกาษัรจะไหลมาจากภายใต้บัลลังก์ของอัลลอฮฺ ซึ่งบริเวณสถานที่นั้นคือที่พำนักของบรรดาเอาซิยาอฺ (อ.) และชีอะฮฺของพวกเขา และจากที่นั้นจะมีรางน้ำ 2 อันไหลผ่านไปยังสระน้ำเกาษัร และหลังจากนั้นจะมีแม่น้ำ 2 สายไหลเวียนอยู่ในสวรรค์. สำหรับศาสดาแต่ละท่านจะมีแม่น้ำเฉพาะในสวรรค์ และเนื่องจากมีผู้เข้าสู่สระน้ำของตนมากมาย จึงมีการแข่งขันกัน, ซึ่งฉันหวังว่าผู้เข้าสู่สระน้ำของฉันจะมากมายยิ่งกว่าศาสดาท่านอื่น[3]
สระน้ำเกาษัรในทัศนะของอิมามมะอฺซูม (อ.) :
อิมามอมีรุลมุอฺมินีน อะลี (อ.) กล่าวว่า : “สระน้ำเกาษัรของเราเต็มเปี่ยม จากที่นั้นจะมีแม่น้ำไหลแยกออกไป 2 สายจากสวรรค์, หนึ่งในนั้นแหล่งตาน้ำของมันคือ ตัสนีม และอีกสายหนึ่งคือ มะอีน”[4]
รายงานที่เชื่อถือได้จากท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า : บุคคลที่ได้เจ็บปวดหัวใจของเขาเนื่องจากโศกนาฏกรรมของเราที่มีมายังพวกเขา, เขาจะมีชีวิตชีวาเมื่อเวลาแห่งความตายได้มาถึง ชีวิตชีวาที่ไม่เคยออกไปจากหัวใจของเขาไปจนกว่าจะได้เข้ามาสู่สระน้ำเกาษัรของเรา และสระน้ำเกาษัรจะทำให้พวกเขาดีใจ,เพราะความรักของเราที่มีต่อพวกเขา.แม้กระทั่งว่าได้ดึงดูดพวกเขาเอาไว้ และพวกเขาต่างมีความสุขสนุกสนานกับอาหารหลากหลายประเภท ทำให้พวกเขาไม่ต้องการเคลื่อนย้ายออกไปที่อื่น.และบุคคลใดก็ตามได้ดื่มน้ำจากสระเกาษัร เขาจะไม่กระหายและไม่เหน็ดเหนื่อยอีกต่อไป.น้ำนั้นจะใสเย็นและมีกลิ่นหอมด้วยพิมเสนและกลิ่นชะมด มีรสชาติเหมือนขิง มีความหวานยิ่งกว่าน้ำผึ้ง มีความนุ่มนวลยิ่งกว่าความเรียบเนียน น้ำมีความใสแวว มีความหอมยิ่งกว่ากลิ่นหอมของชะมด. น้ำได้ไหลออกจากตาน้ำตัสนีมแห่งสวรรค์ เข้าไปรวมกับแม่น้ำทุกสายในสวรรค์ และน้ำได้ไหลไปบนโขดหิน ไข่มุก และทับทิม และ ...บุคคลใดที่ได้เห็นความเศร้าโศกของเราและได้แสดงความเศร้าออกมา,ในวันนั้นเขาจะสดชื่นและดีใจเมื่อได้มองสระน้ำเกาษัรของเรา น้ำจะถูกจัดแบ่งให้พรรคพวกเพื่อนพ้องของเราทุกคน ทุกคนจะได้รับความสุขไปตามความรักและการเชื่อฟังที่มีต่อเรา บุคคลใดที่รักเรามากเขาก็จะมีความสุขมาก ...”[5]
สิ่งที่สมควรกล่าวตรงนี้คือ บรรดาอิมามมะอฺซูมทั้งสิบสองท่าน (อ.) ในวันฟื้นคืนชีพคือผู้แจกน้ำจากสระน้ำเกาษัร ดังรายงานฮะดีซและเหตุผลภายนอกจากซัยยิดุชชุฮะดา (อ.) กล่าวว่า : و نحن وُلاة الحوض نسقى وُلاتنا “พวกเราคือเจ้าของสระน้ำเกาษัร,เราจะแจกน้ำให้มิตรสหายของเราได้ดื่ม”[6] ดังเช่นที่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้มีความหวังว่า ผู้เข้ามายังสระน้ำของท่านนั้นจะมีมากกว่าศาสดาท่านอื่น มุสลิมคนใดได้ยินชื่อของเกาษัรและคุณสมบัติของมันแล้ว ต่างมีความหวังว่าเขาคงจะได้เป็นผู้หนึ่งที่เข้าไปยังสระน้ำเกาษัร และนบี (ซ็อล ฯ) แต่เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าถ้าต้องการให้ความหวังนั้นเป็นจริง จำเป็นต้องขวนขวายพยายามอย่างยิ่งที่จะเข้าไปสู่สระน้ำเกาษัรให้จงได้ และหลังจากได้จัดเสบียงเตรียมพร้อมที่จะเดินทางแล้วจะต้องระมัดระวังตัวให้ดี เพื่อว่าทุนที่ได้จัดลงแรงไปนั้นจะได้ไม่อันตรธานสูญหายไป ด้วยน้ำมือของมารร้ายชัยฏอน ญิน และมนุษย์ หรือมีอันต้องเสียหายเปรอะเปื้อนความโสมมภายนอก มิเช่นนั้นแล้วความพยายามของตนก็จะสูญเสียไปอย่างไร้ค่า และทำให้เขาไม่อาจเข้าสู่สระน้ำเกาซัรได้ ทุกสิ่งจะกลายเป็นเพียงความฝันและการจินตนาการเท่านั้น ฉะนั้น จงอย่าเฝ้าดีใจกับความฝัน แต่จงพยายามและขวนขวายเพื่อไปให้ถึงยังเป้าหมาย, ความหวังลมๆ แล้งๆ และความหลงลืมคือสิ่งไร้สาระที่สุด
เราต้องตั้งความหวังไว้ว่า บนโลกนี้อัลลอฮฺ (ซบ.) ได้ให้เราได้รับประโยชน์จากความรู้ของบรรดาอะฮฺลุลบัยตฺ (อ.) และความรักที่มีต่อพวกท่านแล้ว ส่วนในปรโลกเราจะได้เป็นผู้หนึ่งที่ได้เข้าไปยังสระน้ำเกาษัร สายตาของเราจะสว่างไสวเมื่อได้พบท่าน จิตวิญญาณที่หิวกระหายจะได้ดื่มน้ำจากมือของท่าน ด้วยเหตุนี้ ในดุอาอฺนุดบะฮฺเราอ่านว่า :
: "... واسقنا من حوض جده صلى الله علیه وآله بکاسه و بیده ریّا رویّا هنیئاً سائغاً لاظمأ بعده یا ارحم الراحمین"
(โอ้ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า) โปรดให้พวกเราได้อิ่มหนำจากสระน้ำแห่งพระเจ้าตาของท่านอิมามซะมาน (อ.) ด้วยแก้วและถ้วยดื่มจากมือของท่าน (อิมามซะมาน) อิ่มอย่างเต็มรูปแบบดับความกระหาย ซึ่งเขาจะไม่กระหายอีกต่อไปหลังจากนี้ โอ้ ผู้เป็นเลิศแห่งความเมตตา”
แหล่งอ้างอิง :
1. โครัซมี,มักตัล, เล่ม 2, หน้า 33.
2.ซะมัคชะรีย์, มะฮฺมูดบินอุมัร, กิชาฟ, หน้า, 806 – 808.
3.เฎาะบาเฏาะบาอีย์, มุฮัมมัด ฮุเซน, อัลมีซาน, เล่ม 20, หน้า 370 – 373.
4.เฏาะบัรระซีย์, ฟัฎลิบนิลฮะซัน, มัจมะอุลบะยาย, เล่ม 5 หน้า 548 – 549.
5.อัลลามะฮฺ มัจญฺลิซ, บิฮารุลอันวาร, เล่ม 8, หน้า 18.
6.อัลลามะฮฺ มัจญฺลิซ, ฮักกุลยะกีน, หน้า453 และ 455
7. ฟัยฎ์ กาชานีย์, มุลลามุฮฺซิน, มะฮัจญฺตุลบัยฏออ์, เล่ม 8, หน้า 352 – 353
8.มุฮัดดิซ กุมมี, อับบาส, มะฟาตีฮุลญินาน, ดุอาอฺนุดบะฮฺ
9.มิซบายัซดีย์,มุฮัมมัดตะกีย์, ญามี อัซซุลาลเกาษัร, หน้า 19 - 22
[1] มิซบาฮฺ ยัซดี, มุฮัมมัดตะกี,ญามีอัซซุลาลเกาษัร, หน้า 20 – 22, อัลลามะฮฺ เฏาะบาเฏาะบาอี, มุฮัมมัด ฮุเซน, ตัฟซีรอัลมีซาน, เล่ม 20, หน้า 370, และตัฟซีรต่างๆอีกจำนวนมาก, ตอนอธิบายโองการดังกล่าว
[2] แน่นอน มีความสัมพันธ์กันอย่างไรระหว่าง เกาษัรมุฮัมมะดี กับ เกาษัรแห่งสวรรค์, ต้องอาศัยการศึกษาค้นคว้าและโอกาสที่มากกว่านี้ แต่สิ่งที่สามารถกล่าวได้คือส่วนใหญ่แล้วสติปัญญาของมนุษย์จะไม่ไร้ความสามารถ ในการสร้างความเข้าใจกับกรณีเช่นนี้
[3] ฟัยฎ์ กาชานีย์,มุฮฺซิน, มะฮัจญฺตุลบัยฎออฺ, เล่ม 8,หน้า 352 – 353,และตัฟซีรเล่มอื่นๆ ตอนอธิบายโองการดังกล่าว
[4] อัลลามะฮฺ มัจญฺลิซซีย์, ฮักกุลยะกีน, หน้า 453, บิฮารุลอันวาร, เล่ม 8, หน้า 18
[5] อัลลามะฮฺ มัจญฺลิซซีย์, ฮักกุลยะกีน, หน้า 455.
[6] บิฮารุลอันวาร, เล่ม 45, หน้า 49