Please Wait
10553
คุณสามารถกระทำได้โดยการแนะนำให้รู้จักคุณสมบัติเด่นของอิรฟาน(รหัสยนิยมอิสลาม) และเล่าชีวประวัติของบรรดาอาริฟที่มีชื่อเสียงของอิสลามและสำนักคิดอะฮ์ลุลบัยต์
1). อิรฟานแบ่งออกเป็นสองประเภทด้วยกัน อิรฟานเชิงทฤษฎี และอิรฟานภาคปฏิบัติ เนื้อหาหลักของวิชาอิรฟานเชิงทฤษฎีก็คือ
ก. แจกแจงเกี่ยวกับแก่นเนื้อหาของเตาฮี้ด(เอกานุภาพของอัลลอฮ์)
ข. สาธยายคุณลักษณะของมุวะฮ์ฮิด(ผู้ยึดถือเตาฮี้ด)ที่แท้จริง
เตาฮี้ดในแง่อิรฟานหมายถึงการเชื่อว่า นอกเหนือจากพระองค์แล้ว ไม่มีสิ่งใดที่“มีอยู่”โดยตนเอง ทั้งหมดล้วนเป็นภาพลักษณ์ของอัลลอฮ์ในฐานะทรงเป็นสิ่งมีอยู่เพียงหนึ่งเดียวทั้งสิ้น
กล่าวคือ สัมพันธภาพระหว่างอัลลอฮ์กับสรรพสิ่งที่พระองค์สร้างนั้นเปรียบเสมือนต้นไม้กับเงา เงามีอยู่ได้ก็เพราะมีต้นไม้ ซึ่งจริงๆแล้วเงาเป็นเพียงผลพลอยจากการที่ต้นไม้บังแสงแดดเท่านั้น
ในปริทรรศน์ของอิรฟาน มุวะฮ์ฮิดที่แท้จริงก็คือ มนุษย์ผู้สมบูรณ์ผู้เป็นดั่งภาพลักษณ์ของพระนามและคุณลักษณะทั้งหมดของพระองค์อย่างครบถ้วนบนหน้าแผ่นดิน
ในมุมมองของอิรฟานภาคปฏิบัติ มนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่มีสองภาค ภาควิญญาณและภาคสัตว์ การจาริกทางจิตวิญญาณคือวิธีเสริมสร้างภาควิญญาณให้เข้มแข็งเพื่อให้ประสบความผาสุก เพื่อจะเสริมสร้างภาควิญญาณ นักจาริกจะต้องขัดเกลาและบริหารจิตใจตามบทบัญญัติศาสนา กล่าวได้ว่าเนื้อหาทั้งหมดของอิรฟานล้วนสอนให้รู้ถึงแนวทางขัดเกลาและฝึกฝนตนเองตามหลักชะรีอะฮ์ในฐานะที่เป็นวิธีฝึกฝนที่ดีที่สุด ซึ่งจะทำให้มนุษย์ตระหนักถึงการกำกับดูแลของพระองค์เสมอและจะบังเกิดความรักในพระองค์ การตระหนักและการสำรวมตนจะทำให้มนุษย์บรรลุความใกล้ชิดพระองค์ ได้รับฐานะแห่ง“ฟะนาอ์” และรื่นรมย์กับความผาสุกอันนิรันดร์ ความผาสุกนี้เองเป็นเป้าหมายที่ศาสนาพร่ำสอนให้เราไขว่คว้ามาให้ได้ อย่างไรก็ดี กระบวนการอิรฟานจำเป็นต้องมีครูผู้นำทาง และบรรดาอิมาม(อ.)คือผู้นำทางที่แท้จริงในหนทางแห่งอิรฟาน
2). เมื่อพิจารณาคำสอนของอะฮ์ลุลบัยต์จะพบว่า อิรฟานอิสลามนั้นมีคุณสมบัติพิเศษที่สำนักรหัสยะอื่นๆไม่มี อาทิเช่น
1. เคารพบทบัญญัติชะรีอะฮ์
2. ยอมรับหลักญิฮาดและการต่อสู้
3. เสริมปัญญาและความรู้
4. ช่วยเหลือผู้ทุกข์ยาก
5. รักษาเกียรติของตน
6. ประกอบอาชีพ และหลีกเลี่ยงการปลีกตนเช่นนักบวช
3). จากการศึกษาชีวประวัติของอาริฟที่ต่อสู้กับสิ่งชั่วร้ายในสังคมเคียงข้างการบำเพ็ญกุศล ชี้ให้เห็นว่าอิรฟานอิสลามมีศักยภาพพอที่จะบ่มเพาะมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งสามารถนำเสนอความงดงามของอิรฟานสู่สายตาของผู้ประสงค์จะศึกษาได้เป็นอย่างดี
คุณสามารถกระทำได้โดยการแนะนำให้รู้จักคุณสมบัติเด่นของอิรฟาน(รหัสยนิยมอิสลาม) และเล่าชีวประวัติของบรรดาอาริฟที่มีชื่อเสียงของอิสลามและสำนักคิดอะฮ์ลุลบัยต์
1) อิรฟานแบ่งออกเป็นสองประเภทด้วยกัน อิรฟานเชิงทฤษฎี และอิรฟานภาคปฏิบัติ เนื้อหาหลักของวิชาอิรฟานเชิงทฤษฎีก็คือ
1.1 แจกแจงเกี่ยวกับแก่นเนื้อหาของเตาฮี้ด(เอกานุภาพของอัลลอฮ์)
1.2 สาธยายคุณลักษณะของมุวะฮ์ฮิด(ผู้ยึดถือเตาฮี้ด)ที่แท้จริง
เตาฮี้ดในแง่อิรฟานหมายถึงการเชื่อว่า นอกเหนือจากพระองค์แล้ว ไม่มีสิ่งใดที่มีอยู่จริง ในมุมมองของอาริฟ ทุกสรรพสิ่งล้วนเป็นภาพลักษณ์ของอัลลอฮ์ทั้งสิ้น ซึ่งดำรงอยู่ได้เพราะความการุณย์ของพระองค์ ด้วยเหตุนี้ เตาฮี้ดในมุมมองของอาริฟจึงลึกซึ้งและมั่นคงมากกว่าเตาฮี้ดในมุมมองนักปรัชญา อาริฟถือว่าอัลลอฮ์คือ“การมีอยู่”ที่แท้จริง สรรพสิ่งอื่นๆเป็นเพียงผลพวงจากพระองค์เท่านั้น อาริฟเชื่อว่า“การมีอยู่”เป็นสภาวะอันเป็นเอกะ ที่ไม่อาจจะแบ่งเป็นพหุลักษณ์ได้ ไม่ว่าจะเชิงกว้างหรือแนวดิ่ง ส่วนพหุลักษณ์ที่เราเห็นในโลกนั้น เป็นเพียงภาพสะท้อน มิไช่การมีอยู่ที่แท้จริง สัมพันธภาพระหว่างอัลลอฮ์กับสรรพสิ่งที่พระองค์สร้างนั้นเปรียบเสมือนต้นไม้กับเงา หรือระหว่างคนกับภาพของเขาในกระจก
ในปริทรรศน์ของอิรฟาน มุวะฮ์ฮิดที่แท้จริงก็คือ มนุษย์ผู้สมบูรณ์ที่เป็นดั่งภาพลักษณ์ของพระนามและคุณลักษณะทั้งหมดของพระองค์บนหน้าแผ่นดิน รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้หาอ่านได้ในหนังสืออิรฟาน อาทิเช่น ตัมฮีดุลก่อวาอิด ของอิบนิ ตัรกะฮ์ อิศฟะฮานี, ฟุศูศุลฮิกัม ของอิบนิ อะเราะบี รวมทั้งหนังสือที่อรรถาธิบาย, มิศบาฮุ้ลอุนส์ ของอิบนิ ฟะนารี ฯลฯ
ส่วนในมุมมองของอิรฟานภาคปฏิบัติ มนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่มีสองภาค ภาคจิตวิญญาณและภาคสัตว์ แต่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อยู่ที่ภาคจิตวิญญาณเท่านั้น มนุษย์มีศักยภาพสูงพอที่จะบรรลุถึงความสมบูรณ์ ซึ่งต้องเริ่มจากระดับพื้นฐาน ไต่ระดับขึ้นไปเรื่อยๆจนถึงขีดสูงสุดของความสมบูรณ์ ทั้งนี้ก็เพราะภาคจิตวิญญาณแสวงหาโลกุตรธรรม(มะละอุ้ล อะอ์ลา) แต่ภาคสัตว์แสวงหาโลกย์ ฉะนั้น หากมนุษย์เลือกที่จะขัดเกลาจิตใจ และไต่ระดับสู่ความสมบูรณ์ด้วยการฝึกฝนด้วยคำสอนทางอิรฟาน เขาก็จะบรรลุเกียรติภูมิสูงสุด แต่หากเลือกที่จะบำเรอกิเลสและทุ่มเทให้กับภาคสัตว์ของตนเอง ก็จะประสบกับความอัปยศ[1] จึงสรุปได้ว่าจุดประสงค์หลักของวิชาอิรฟานภาคปฏิบัติคือการขัดเกลาและฝึกฝนจิตใจเพื่อฉีกม่านกิเลสที่บดบังใจ อิสลามจึงให้ความความสำคัญต่อการขัดเกลาจิตใจอย่างยิ่ง อิมามศอดิก(อ.)กล่าวว่า “หากท่านมีอายุขัยเหลือเพียงสองวัน จงใช้หนึ่งวันแรกในการขัดเกลาจิตใจ เพื่อจะได้รับประโยชน์ในวันตายของท่าน”[2] อันหมายความว่าการขัดเกล่าจิตใจคือหนทางสู่สัจธรรม
อย่างไรก็ดี การฝึกฝนจิตใจตามวิถีอิรฟานอิสลามแตกต่างจากสำนักอื่นๆ สำนักฮินดูและแนวทางของมานีเชื่อว่าการตัดสัมพันธ์และปลีกวิเวกคือหนทางบรรลุความผาสุก แต่อิรฟานของอิสลามถือว่าการปฏิบัติตามหลักชะรีอะฮ์คือวิธีเดียวสำหรับขัดเกลาจิตใจ นอกจากนี้ วิธีฝึกฝนจิตใจที่อิรฟานอิสลามนำเสนอก็ต่างจากแนวการฝึกฝนของนักบวชคริสเตียน เพราะนักบวชปลีกตัวเองจากสังคมและมุ่งฝึกฝนโดยครองโสดตามป่าเขาลำเนาไพร และหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่เหมาะสม ซึ่งกุรอานถือว่าวิธีเหล่านี้เป็นอุตริกรรมที่เกิดขึ้นในศาสนาคริสต์ แต่อิรฟานอิสลามถือว่าแนวการฝึกฝนที่ดีที่สุดคือการปฏิบัติตามสิ่งอนุมัติและงดเว้นสิ่งอันเป็นฮะรอมทางชะรีอะฮ์ และปฏิบัติตามแนวคำสอนของอะฮ์ลุลบัยต์อย่างเคร่งครัด[3] ดังที่บิดาแห่งอิรฟานอิสลาม อิมามอลี(อ.)ได้กล่าวว่า “الشریعة ریاضة النفس”(ชะรีอัตจะช่วยฝึกฝนจิตใจ) [4] ซึ่งเป็นที่ยอมรับของเหล่าครูบาอาจารย์ด้านอิรฟานทุกคน อิบนิ ซีนา เชื่อว่าอิบาดะฮ์คือวิธีฝึกฝนจิตใจ “อิบาดะฮ์จะช่วยกำราบจิตใจให้อ่อนน้อม เพื่อจะไม่รบกวนเราและส่งเสริมเราขณะกำลังมีสมาธิต่ออัลลอฮ์”[5]
และเนื่องจากอิรฟานอิสลามได้รับอิทธิพลจากกุรอานและฮะดีษจากอะฮ์ลุลบัยต์ จึงไม่จำแนกระหว่างชะรีอัต เฏาะรีกัต และฮะกีกัต ชะรีอัตก็คือประมวลบทบัญญัติศาสนาที่บรรดาผู้รู้นำเสนอจากกุรอานและฮะดีษ บรรดาอาริฟเชื่อว่ากฏชะรีอัตตั้งอยู่บนพื้นฐานของคุณประโยชน์ที่แท้จริง และหากปฏิบัติอย่างเคร่งครัดก็จะนำพามนุษย์สู่ความผาสุก ชะรีอัตจึงกลายเป็นเงื่อนไขหลักของอิรฟาน ดังที่อาริฟอย่างมุฮ์ยิดดีน อะเราะบี ถือว่าเงื่อนไขของกิจกรรมอิรฟานคือจะต้องไม่ขัดต่อบทบัญญัติชะรีอัต[6] ญุนัยด์ บัฆดาดี กล่าวว่า “ทุกแนวทางจะพบทางตันนอกจากแนวทางของท่านนบี(ซ.ล.)และบรรดาอิมาม(อ.) และแม้ว่าผู้ใดบรรลุขั้นฟะนาอ์แล้วก็ตาม เขายังมีหน้าที่ทางศาสนาเช่นเดิม”[7] อัลลามะฮ์ ฏอบาฏอบาอี ผู้เป็นเอกอุแห่งอิรฟานกล่าวว่า “ข้อบังคับและข้อห้ามทางชะรีอัตถือเป็นหน้าที่ของ(อาริฟ)ทุกระดับขั้น และยิ่งมีสถานะใกล้ชิดพระองค์มากเท่าใด ภาระหน้าที่ทางศาสนาก็ยิ่งหนักขึ้น ไม่มีสถานะใดที่คนเราหลุดพ้นจากหน้าที่ทางศาสนา”[8]
เฏาะรีกัตอันเป็นเนื้อในของชะรีอัตนั้น กล่าวถึงสภาวะต่างๆที่นักจาริกอิรฟานจะได้ประสบ ซึ่งสภาวะแห่ง“ฟะนาอ์ฟิลฮักก์”(สลายอัตตาเพื่อประจักษ์เพียงพระองค์)ถือเป็นสภาวะสูงสุดในเฏาะรีกัต[9]
ผลก็คือนักจาริกอิรฟานจะได้เดินทางสู่ความสมบูรณ์ด้วยความรักอันบริสุทธิ์ที่มีต่อพระองค์และการสังวรณ์ว่าอยู่ในขอบเขตอำนาจของพระองค์ เขามุ่งหน้าสู่พระผู้อภิบาลด้วยพาหนะแห่งอิคล้าศ ความอ่อนน้อม ความสมถะ ความระอาต่อโลกียะ รักษาความสะอาดทางร่างกายและจิตใจ หมั่นตะฮัจญุด และเชื่อฟังวิลายะฮ์(ของอะฮ์ลุลบัยต์) อิรฟานอิสลามคือการรู้แจ้งเห็นจริงที่จะปลุกมนุษย์ให้ตื่นจากภวังค์แห่งโลกีย์ เพื่อก้าวสู่ความสว่างไสวและความไพบูลย์ อาริฟคือผู้ที่ไขว่คว้าความผาสุกในอาคิเราะฮ์ ขณะเดียวกันก็หาเลี้ยงชีพและช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก ดังที่ประมุขแห่งนักจาริกอิรฟาน อิมามอลี(อ.) ควบรวมศักยภาพและความดีงามทุกด้านไว้อย่างลงตัว ท่านโอดครวญวิงวอนต่ออัลลอฮ์ในยามค่ำคืน ดังที่ท่านนบี(ซ.ล.)กล่าวว่า “เขา(อลี)หลงใหลในพระองค์อย่างดื่มด่ำ” ในขณะเดียวกัน ท่านก็มิได้ปลีกตนเองจากผู้คนและกิจกรรมทางสังคม ท่านร้อนรุ่มใจทุกครั้งเมื่อได้ยินเสียงร้องไห้ของเด็กกำพร้า ท่านแบกอาหารแจกจ่ายผู้ยากไร้เป็นประจำ และเคร่งครัดในการใช้จ่ายเงินในคลังเป็นอย่างยิ่ง[10]
2) ดังที่ทราบแล้วว่าอิรฟานถือกำเนิดจากคำสอนของอะฮ์ลุลบัยต์ โดยมีคุณลักษณะเด่นที่ไม่สามารถพบได้ในสำนักจาริกอื่นๆ ซึ่งแม้กระทั่งในแวดวงมุสลิมเอง หากนักจาริกคนใดหันห่างจากคำสอนของอะฮ์ลุลบัยต์เท่าใด ก็จะห่างไกลจากอิรฟานที่แท้จริงของอิสลามเท่านั้น
คุณสมบัติต่อไปนี้ถือได้ว่าเป็นดัชนีชี้วัดที่สำคัญของอิรฟานอันได้มาจากคำสอนอิสลาม[11] ซึ่งนักจาริกอิรฟานจะต้องมีอย่างครบถ้วน (โดยหากต่างศาสนิกได้พิจารณาถึงดัชนีเหล่านี้ อาจปรารถนาจะรู้จักอิสลามมากยิ่งขึ้น)
2.1 เคารพบทบัญญัติชะรีอะฮ์(อธิบายไปแล้ว)
2.2 ยอมรับหลักญิฮาดและการต่อสู้
อิสลามเป็นศาสนาที่ให้ความสำคัญต่อทุกแง่มุมชีวิตมนุษย์ และประสงค์จะให้ทุกศักยภาพมีพัฒนาการที่สอดรับกัน ธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์มีทั้งมิติแห่งการต่อสู้และมิติแห่งอิรฟาน หากผู้ใดเก่งกล้าในสมรภูมิเพียงอย่างเดียวหรือมุ่งแต่จะทำอิบาดะฮ์อย่างเดียว แสดงว่าจิตใจของเขาได้รับการดูแลอย่างไม่ทั่วถึง
อิมามอลี(อ.)กล่าวถึงคุณค่าของการญิฮาดว่า “ญิฮาดคือประตูสวรรค์บานหนึ่ง ซึ่งอัลลอฮ์จะทรงเปิดแก่เอาลิยาอ์ของพระองค์เท่านั้น... และผู้ใดที่เพิกเฉยละเลยการญิฮาด อัลลอฮ์จะทรงคลุมเขาด้วยอาภรณ์แห่งความอัปยศ... และเขาจะรู้สึกด้อยค่าปัญญาทึบ อีกทั้งจะไม่กล้าปกป้องสิทธิ์ของตนเองในสังคม และจะไม่ได้รับความเป็นธรรมใดๆ”[12]
2.3 เสริมปัญญาและความรู้
การขวนขวายศึกษาและเพิ่มพูนปัญญา ถือเป็นดัชนีชี้วัดที่สำคัญอีกประการหนึ่งของอิรฟาน กุรอานกล่าวว่า “ผู้รู้กับผู้ไม่รู้จะเท่าเทียมกันหรือ?”[13]
ท่านนบี(ซ.ล.)กล่าวว่า “ผู้ที่มีความรู้มากกว่า ย่อมมีคุณค่าเหนือผู้อื่น”[14]
2.4 ทำงานหาเลี้ยงชีพและหลีกเลี่ยงการปลีกตนเช่นนักบวช
ท่านนบี(ซ.ล.)กล่าวว่า “ในวันกิยามะฮ์ ผู้ที่หาเลี้ยงชีพตนเองจะผ่านสะพานศิรอฏเร็วปานสายฟ้า”[15]
2.5 รักษาเกียรติภูมิของตน
กุรอานกล่าวว่า “เกียรติภูมิเป็นกรรมสิทธิของอัลลอฮ์ และร่อซู้ล และผู้ศรัทธา”[16]
2.6 ช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก
บะลาซุรีและอะห์มัด บิน ฮัมบัลรายงานว่า “ท่านอลี(อ.)เคยมีผลิตผลทางเกษตรถึงสี่หมื่นดีน้าร แต่ท่านก็บริจาคจนหมด แล้วจึงขายดาบเพื่อซื้ออาหารประทังชีวิต” ท่านกล่าวว่า “หากในบ้านยังมีอาหารเหลืออยู่ ฉันจะไม่ขายดาบอย่างแน่นอน”[17]
3) ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า กุรอานคือขุมพลังของอิรฟาน ท่านนบี(ซ.ล.)และบรรดาอิมาม(อ.)คือผู้อรรถาธิบายกุรอานและเป็นผู้บรรลุด้านอิรฟานอย่างแท้จริง ด้วยเหตุนี้ ครูบาอาจารย์ที่แท้จริงในเส้นทางสู่ความไพบูลย์แห่งอิรฟานก็คือท่านนบี(ซ.ล.)และบรรดาอิมาม(อ.)
จากการศึกษาชีวประวัติของอาริฟที่ต่อสู้กับสิ่งชั่วร้ายในสังคมเคียงข้างการบำเพ็ญกุศล ชี้ให้เห็นว่าอิรฟานอิสลามมีศักยภาพพอที่จะบ่มเพาะมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งสามารถนำเสนอความงดงามของอิรฟานสู่สายตาของผู้ประสงค์จะศึกษาอิสลามได้เป็นอย่างดี
[1] อิรฟานและตะศ็อววุฟ,มุฮัมมัดริฎอ กาชิฟี,หน้า 72 และ มารยาทการจาริกทางจิต,ฮะบีบุ้ลลอฮ์ ฏอฮิรี,หน้า 6
[2] ร็อวเฎาะตุ้ลกาฟี,หน้า 150 (ان اجلت فی عمرک یومین فاجعل، احدهما لأدبک تستعین به علی یوم موتک)
[3] มารยาทการจาริกทางจิต,ฮะบีบุ้ลลอฮ์ ฏอฮิรี,หมวดอุตริกรรมในศาสนาคริสต์ ซูเราะฮ์อัลฮะดีด,27
[4] มีซานุ้ลฮิกมะฮ์,เล่ม 4,หน้า 207
[5] อิชาร็อตวะตัมบีฮ้าต,นิมฏ์ที่ 9,บทที่ 3
[6] ร่อซาอิ้ล,อิบนิ อะเราะบี,หน้า 233
[7] อิรฟานภาคทฤษฎี,ยะฮ์ยา ยัษริบี,หน้า 373
[8] สาส์นวิลายัต,หน้า 46
[9] ความเร้นลับของเตาฮี้ดในมะกอมต่างๆ,เชคอบูสะอี้ด,หน้า 352
[10] อิมามอลี(อ.)คันฉ่องส่องอิรฟาน,นาซิมซอเดะฮ์ กุมี
[11] ดู: อิมามอลี(อ.)ภาพลักษณ์อิรฟานภาคทฤษฎี,หน้า 91-150
[12] นะฮ์ญุ้ลบะลาเฆาะฮ์,คุฏบะฮ์ที่ 27
[13] ซูเราะฮ์อัซซุมัร,9
[14] อะมาลี,เชคศ่อดู้ก,มัจลิสที่ 6,ฮะดีษที่ 4
[15] บิฮารุ้ลอันว้าร,เล่ม 103,หน้า 9
[16] ซูเราะฮ์อัลมุนาฟิกูน,8
[17] มะนากิ้บ อิบนิ ชะฮ์รอชูบ,เล่ม 2,หน้า 72