Please Wait
6501
เหตุผลที่ท่านอิมามอลีไม่แก้ไขเหตุที่จะเกิดในอนาคตก็คือ:
1.ความรู้ระดับทั่วไปคือหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติภารกิจ:
เพื่อเป็นการเคารพกฏเกณฑ์ของอัลลอฮ์ ท่านอิมามจึงเลือกที่จะปฏิบัติหน้าที่เสมือนบุคคลทั่วไป โดยจะไม่ปฏิบัติตามความรู้แจ้งเห็นจริง เนื่องจากว่าหากท่านจะปฏิบัติตามญาณวิเศษ ย่อมจะไม่สามารถเป็นแบบฉบับแก่บุคคลทั่วไปได้ เพราะบุคคลทั่วไปไม่มีญาณวิเศษ
2. กลไกของโลกดุนยาตั้งอยู่บนพื้นฐานของการทดสอบ ซึ่งหากจะปฏิบัติตามญาณวิเศษก็ย่อมจะทำให้กลไกดังกล่าวเสียหาย เนื่องจากจะทำลายชีวิตประจำวันของผู้คน
สรุปคือ แม้ว่าอิมามอลีมีหน้าที่ต้องรักษาชีวิตเสมือนบุคคลทั่วไป แต่ทว่า ประการแรก: หน้าที่ดังกล่าวอยู่ในขอบเขตความรู้ทั่วไป มิไช่ญาณวิเศษ ประการที่สอง: คู่กรณีของท่าน(อิบนิมุลญัม) อยู่ในสภาวะที่กำลังถูกทดสอบ ซึ่งญาณวิเศษของอิมามจะต้องไม่ขัดขวางอิสรภาพการตัดสินใจของเขา เนื่องจากว่าถ้าหากท่านจะปกป้องตนเองตามญาณวิเศษก็ย่อมเป็นการปลดอิสรภาพของผู้อื่น และถือเป็นการทำลายกลไกการทดสอบสำหรับแต่ละคน
ท่านอิมามเลือกที่จะปฏิบัติหน้าที่ทางศาสนาและกิจทั่วไปเสมือนบุคคลธรรมดา โดยจะไม่ปฏิบัติตามการรู้แจ้งเห็นจริง (ศาสตร์แห่งอิมามัต / ญาณวิเศษ) เพื่อเป็นการเคารพกฏเกณฑ์ของอัลลอฮ์ ทั้งนี้ก็เนื่องจากพระองค์ทรงมีพระบัญชาแก่มนุษย์ในลักษณะที่เท่าเทียมกัน ด้วยเหตุนี้ ท่านนบีจึงมิได้พิจารณาคดีความตามญาณวิเศษ แต่พิจารณาด้วยความรู้ปกติ ดังที่ท่านเคยกล่าวว่า:
“แท้จริงฉันพิจารณาคดีความต่างๆในหมู่พวกท่านด้วยพยานหลักฐาน ซึ่งบางคนอาจจะมีความชำนาญในการพิสูจน์ให้ชนะคดี ฉะนั้น หากฉันตัดสินให้ผู้ใดได้รับทรัพย์สินจากพี่น้องผู้ศรัทธา (โดยเขาไม่มีสิทธิพึงได้รับ) ก็ถือว่าเขาครอบครองไฟนรกอยู่”[1]
ท่านนบีต้องการจะชี้ว่าหากผู้ใดมีพยานหลักฐาน หรือกล่าวสาบานประกอบคำร้อง ท่านก็จะพิพากษาไปตามนั้นไม่ว่าจะจริงหรือเท็จ ซึ่งหากเป็นเท็จก็ย่อมต้องถูกลงทัณฑ์ในไฟนรก
ฉะนั้น แม้ว่าอิมามอลี(อ.)จะหยั่งรู้ถึงเวลาและสถานที่ๆท่านจะเป็นชะฮีด แต่ท่านมีหน้าที่ต้องทำตามบริบทของคนทั่วไป โดยไม่มีสิทธิจะทำตามญาณวิเศษ ทั้งนี้ก็เนื่องจากท่านเป็นแบบฉบับสำหรับสังคมมุสลิม จึงต้องปฏิบัติหน้าที่ตามแนววิธีที่บุคคลทั่วไปเข้าใจและเข้าถึงได้ หากท่านทำตามญาณวิเศษก็ย่อมไม่สามารถเป็นแบบฉบับได้ เพราะบุคคลทั่วไปย่อมไม่มีญาณเช่นนี้
อีกด้านหนึ่ง หากอิมามจะกระทำสิ่งใดตามญาณวิเศษ ก็ย่อมเป็นการบ่อนทำลายกลไกทางสังคมทางอ้อม ด้วยเหตุนี้จึงพยายามกระทำตามความรู้เห็นระดับปกติ และมักจะหลีกเลี่ยงที่จะปฏิบัติตามญาณวิเศษ
นอกจากนี้ ต้องทราบว่าโลกนี้ดำเนินไปตามระบบแห่งการทดสอบ ดังที่กุรอานกล่าวว่า “มนุษย์คิดหรือว่าเพียงแค่เอ่ยว่าเราศรัทธาแล้ว จะทำให้เขารอดจากการถูกทดสอบ?”[2] อีกโองการกล่าวว่า “พระองค์คือผู้ทรงสร้างความตายและชีวิตขึ้นเพื่อเป็นการทดสอบว่าสูเจ้าคนใดจะมีความประพฤติดีกว่ากัน พระองค์คือผู้ทรงเกริกเกียรติและให้อภัยเสมอ”[3] การที่จะทดสอบผู้ใดย่อมต้องมอบอิสระให้เขาสามารถเลือกระหว่างดีชั่วได้ตามสภาวะปกติ แล้วจึงจะให้รางวัลหรือลงโทษไปตามนั้น ทั้งนี้ การทำตามญาณวิเศษย่อมจะบ่อนทำลายระบบดังกล่าว เนื่องจากจะทำลายสภาวะปกติของผู้คนทั่วไป
แม้จะทราบกันดีว่าอิมามอลีก็มีหน้าที่ต้องรักษาชีวิตเสมือนบุคคลทั่วไป แต่ทว่า ประการแรก: หน้าที่ดังกล่าวอยู่ในขอบเขตความรู้ทั่วไป มิไช่ญาณวิเศษ ประการที่สอง: คู่กรณีของท่าน(อิบนิมุลญัม) อยู่ในสภาวะที่กำลังถูกทดสอบ ซึ่งญาณวิเศษของอิมามจะต้องไม่ขัดขวางอิสรภาพการตัดสินใจของเขา เนื่องจากว่าถ้าหากท่านจะปกป้องตนเองตามญาณวิเศษก็ย่อมเป็นการปลดอิสรภาพ และถือเป็นการทำลายกลไกการทดสอบสำหรับเขา ภาวะเช่นนี้ย่อมขัดต่อจารีตของพระองค์ที่ทรงสิทธิ์ในการทดสอบปวงบ่าว ในขณะที่ทุกจารีตของพระองค์ย่อมเป็นนิรันดร์ กุรอานกล่าวถึงจารีตของพระองค์ว่า “เจ้าจะไม่มีวันเห็นว่าจารีตของอัลลอฮ์ถูกเปลี่ยนแปลง เจ้าจะไม่มีทางเห็นว่าจารีตของพระองค์ถูกแก้ไข”[4] ฉะนั้น เนื่องจากการปฏิบัติตามญาณวิเศษย่อมขัดต่อจารีตของพระองค์ในการทดสอบปวงบ่าว อิมามจึงไม่ควรกระทำเช่นนั้น
[1] อัลกาฟี,เล่ม 7,หน้า 414 หมวดการกระทำขึ้นอยู่กับศรัทธาและเจตนา, ฮะดีษที่หนึ่ง قَالَ رَسُولُ اللَّهِ ص إِنَّمَا أَقْضِی بَیْنَکُمْ بِالْبَیِّنَاتِ وَ الْأَیْمَانِ وَ بَعْضُکُمْ أَلْحَنُ بِحُجَّتِهِ مِنْ بَعْضٍ فَأَیُّمَا رَجُلٍ قَطَعْتُ لَهُ مِنْ مَالِ أَخِیهِ شَیْئاً فَإِنَّمَا قَطَعْتُ لَهُ بِهِ قِطْعَةً مِنَ النَّارِ
[2] อังกะบูต, 2 أَ حَسِبَ النَّاسُ أَنْ یُتْرَکُوا أَنْ یَقُولُوا آمَنَّا وَ هُمْ لا یُفْتَنُون
[3] อัลมุ้ลก์, 2 الَّذی خَلَقَ الْمَوْتَ وَ الْحَیاةَ لِیَبْلُوَکُمْ أَیُّکُمْ أَحْسَنُ عَمَلاً وَ هُوَ الْعَزیزُ الْغَفُو
[4] ฟาฏิร, 43 فَلَنْ تَجِدَ لِسُنَّتِ اللَّهِ تَبْدیلاً وَ لَنْ تَجِدَ لِسُنَّتِ اللَّهِ تَحْویلاً