Please Wait
6957
ท่านอิมามอลี(อ.)เปรียบเปรยการรักษาโรคร้ายทางจิตวิญญาณมนุษย์โดยท่านนบี(ซ.ล.)ว่า طبیب دوّار بطبّه (แพทย์ที่สัญจรตามรักษาผู้ป่วยทางจิตวิญญาณ) ท่านเป็นแพทย์ที่รักษาโรคแห่งอวิชชาและมารยาทอันต่ำทราม โดยสัญจรไปพร้อมกับโอสถทิพย์ของตน จุดประสงค์ของสำนวนดังกล่าวคือ ท่านนบี(ซ.ล.)อาสาเสนอตัวเพื่อหวังรักษาความป่วยไข้ของเหล่าผู้หลงผิดอย่างเต็มใจ
ข้อคิดที่ได้จากประเด็นนี้ก็คือ ในขณะที่วัตรปฏิบัติของแพทย์ทั่วไปคือการนั่งรอผู้ป่วยที่โรงพยาบาล แต่ท่านนบี(ซ.ล.)กระทำตรงกันข้ามโดยการเข้าหาผู้ป่วยแทน กล่าวคือ ท่านมีภาระกิจอันยิ่งใหญ่ในการขจัดโรคภัยทางจิตวิญญาณของมวลมนุษย์ ซึ่งภารกิจดังกล่าวจะบรรลุผลได้ก็ต่อเมื่อท่านสืบเสาะและรักษาผู้ป่วยไข้ทางจิตวิญญาณ
เพื่อให้เข้าใจความหมายของสำนวน “แพทย์สัญจร” เบื้องต้นเราจะนำเสนอคุฏบะฮ์ของอิมามอลี(อ.)ท่อนที่มีสำนวนดังกล่าว แล้วจึงทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นข้อซักถาม
ท่านอิมามอลี(อ.)กล่าวว่า
وَ مِنْهَا طَبِیبٌ دَوَّارٌ بِطِبِّهِ قَدْ أَحْکَمَ مَرَاهِمَهُ وَ أَحْمَى مَوَاسِمَهُ یَضَعُ ذَلِکَ حَیْثُ الْحَاجَةُ إِلَیْهِ مِنْ قُلُوبٍ عُمْیٍ وَ آذَانٍ صُمٍّ وَ أَلْسِنَةٍ بُکْمٍ مُتَتَبِّعٌ بِدَوَائِهِ مَوَاضِعَ الْغَفْلَةِ وَ مَوَاطِنَ الْحَیْرَةِ ...[1]
(ท่าน(นบี) คือแพทย์ผู้สัญจรไปพร้อมกับวิชาความรู้ในการรักษา ท่านได้ตระเตรียมโอสถและอุปกรณ์สมานแผลด้วยการเผา (แผนโบราณ) ซึ่งจะใช้ต่อเมื่อจำเป็นต้องรักษาดวงใจที่มืดบอดและหนวกใบ้ ท่านจะให้การรักษาผู้หลงลืมและสับสนที่มิได้รับอานิสงส์จากวิทยปัญญา และไม่ยอมจุดประกายความคิดของตนให้สว่างด้วยรัศมีที่ส่องถึงเบื้องลึกของจิตวิญญาณ...”[2]
ท่านอิมามอลี(อ.)เปรียบเปรยการรักษาโรคร้ายทางจิตวิญญาณมนุษย์โดยท่านนบี(ซ.ล.)ว่า طبیب دوّار بطبّه (แพทย์ที่สัญจรตามรักษาผู้ป่วยทางจิตวิญญาณ) ท่านเป็นแพทย์ที่รักษาโรคแห่งอวิชชาและมารยาทอันต่ำทราม โดยสัญจรไปพร้อมกับโอสถทิพย์ของตน จุดประสงค์ของสำนวนดังกล่าวคือ ท่านนบี(ซ.ล.)อาสาเสนอตัวเพื่อหวังรักษาความป่วยไข้ของเหล่าผู้หลงผิดอย่างเต็มใจ
คำว่า “มะรอฮิม” (พหูพจน์ของ มัรฮัม แปลว่ายาทารักษาโรค) เป็นการเปรียบเปรยถึงความรู้และจรรยามารยาทอันงดงามของท่าน ส่วนคำว่า “มะวาซิม” ก็เป็นการเปรียบเปรยการลงอาญาในกรณีของผู้ที่ดื้อแพ่งเกินกว่าจะฟังคำตักเตือนของท่าน ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงเปรียบเสมือนแพทย์สัญจรที่เตรียมโอสถรักษาโรคไว้พร้อมสรรพ ไม่ว่าจะยาทาหรืออุปกรณ์เผาเพื่อสมานแผล เพื่อใช้ในกรณีที่จำเป็นต้องรักษาผู้ป่วยที่มีใจมือบอด เพื่อจะช่วยฉุดดึงให้กลับเข้ามายอมรับวิทยปัญญาและก้าวเดินบนหนทางที่ถูกต้อง และเสริมโลกทรรศน์ให้กว้างไกล รักษาให้ได้ยินคำตักเตือนด้วยความปรารถนาดี
คำว่า “ศุมม์” (หูหนวก) ใช้เปรียบเปรยคนที่ทำหูทวนลมไม่ฟังคำตักเตือนใดๆ เนื่องจากผู้ที่หูหนวกมักไม่ได้รับประโยชน์จากทุกเสียง อันรวมไปถึงเสียงตักเตือนด้วย จึงนำมาเปรียบเปรยในที่นี้
นอกจากนี้ คำว่า “บุกม์” ก็ใช้เปรียบเปรยผู้ที่เงียบอมพะนำ ไม่พูดในสิ่งที่ควรจะพูด ไม่ต่างอะไรจากผู้ที่เป็นใบ้ จึงควรได้รับการรักษาให้หันมารำลึกถึงพระองค์และกล่าวสิ่งที่เปี่ยมด้วยสาระ
ด้วยเหตุนี้ คนเราจึงจำเป็นต้องพึ่งพาแพทย์ทางจิตวิญญาญมากกว่าแพทย์ทางร่างกายหลายเท่า เนื่องจากการรักษาโรคของร่างกายเป็นไปเพื่อรักษาชีวิตอันมีอายุขัยจำกัด แต่การรักษาโรคทางจิตใจเป็นไปเพื่อชีวิตอันนิรันดร์
ข้อคิดที่ได้จากประเด็นนี้ก็คือ ในขณะที่วัตรปฏิบัติของแพทย์ทั่วไปคือการนั่งรอผู้ป่วยที่โรงพยาบาล แต่ท่านนบี(ซ.ล.)กระทำตรงกันข้ามโดยการเข้าหาผู้ป่วยแทน กล่าวคือ ท่านมีภาระกิจอันยิ่งใหญ่ในการขจัดโรคภัยทางจิตวิญญาณของมวลมนุษย์[3] ซึ่งภารกิจดังกล่าวจะบรรลุผลได้ก็ต่อเมื่อท่านสืบเสาะและรักษาผู้ป่วยไข้ทางจิตวิญญาณ
อิบนิ อบิลฮะดี้ด (นักอรรถาธิบายนะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์) กล่าวถึงคำว่าแพทย์สัญจรไว้ว่า ท่านนบี(ซ.ล.)คือแพทย์สัญจร เนื่องจากแพทย์สัญจรจะมีประสบการณ์มากกว่า สำนวนดังกล่าวหมายถึงว่าท่านจะเป็นฝ่ายไปหาผู้ป่วย เพราะเหล่ากัลยาณชนคนใจงามมักจะเป็นฝ่ายเข้าหาผู้ป่วยทางจิตวิญญาณเพื่อให้การรักษา กล่าวกันว่า มีผู้พบเห็นท่านนบีอีซาในบ้านของคนชั่วคนหนึ่ง ครั้นเมื่อมีผู้ทักท้วงท่านว่าที่นี่ไม่เหมาะสมกับท่าน ท่านกล่าวว่า “แพทย์เป็นฝ่ายที่ควรตามรักษาผู้ป่วย”[4]
[1] นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, คุฏบะฮ์ที่ 108
[2] ดู: อิบนิมัยษัม บะฮ์รอนี, ชัรฮ์นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, แปล: มุฮัมมะดี มุก็อดดัม, กุรบานอลี, นะวออี ยะฮ์ยาซอเดะฮ์, อลี อัศฆ็อร, เล่ม 3,หน้า 74-75,มูลนิธิวิจัยอิสลาม ธรรมสถานอิมามริฎอ และ อิบนิ อบิลฮะดี้ด,ชัรฮ์ นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์,เล่ม 7,หน้า 184, หอสมุดอายะตุลลอฮ์มัรอะชี นะญะฟี,กุม,พิมพ์ครั้งแรก,1337
[3] คล้ายกับองค์กรแพทย์ไร้พรมแดน ซึ่งปฏิบัติภารกิจอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าผู้ป่วยชาติใดก็ตาม
[4] อิบนิ อบิลฮะดี้ด,ชัรฮ์ นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์,เล่ม 7,หน้า 184