Please Wait
23140
ไม่จำเป็นที่ชื่อของคนทั่วไปจะต้องสื่อความหมายพิเศษ หรือแสดงถึงบุคลิกภาพของเจ้าของชื่อเสมอไป ขอเพียงไม่สื่อความหมายถึงการตั้งภาคีหรือขัดต่อศีลธรรมอิสลามก็ถือว่าเพียงพอ
แต่กรณีปูชณียบุคคลที่ได้รับการขนานนามจากอัลลอฮ์เช่นท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ ซะฮ์รอ(ส) นามของเธอย่อมมีความหมายสอดคล้องกับคุณลักษณะเฉพาะตัวอย่างแน่นอน
นาม “ฟาฏิมะฮ์”มาจากรากศัพท์ “ฟัฏมุน” แปลว่าการแยกตัว ซึ่งเนื้อหาฮะดีษต่างๆอธิบายว่าหมายถึงการที่เธอแยกตนจากมลทินทุกประเภท และอีกความหมายหนึ่งคือ การที่เธอจะเป็นผู้คัดแยกมิตรแท้ให้พ้นจากไฟนรก.
เราสามารถชี้แจงคำถามออกเป็นสองประเด็น:
1. ชื่อของผู้คน ไม่ว่าจะคนทั่วไปหรือแม้กระทั่งลูกหลานศาสดา จำเป็นต้องมีนัยยะพิเศษและต้องแฝงไว้ซึ่งบุคลิกภาพของคนๆนั้นเสมอไปหรือไม่?
2. เหตุใดท่านศาสดาจึงตั้งชื่อบุตรสาวว่า“ฟาฏิมะฮ์”? ชื่อนี้สะท้อนถึงข้อเท็จจริงใดหรือไม่?
สำหรับประเด็นแรก มีรายงานจากบรรดาอิมามของเราว่าการตั้งชื่อที่ดีและเหมาะสมแก่บุตรนั้น นับเป็นการประพฤติดีอันดับแรกของผู้ปกครอง[1] เป็นธรรมดาที่ผู้ปกครองจะตั้งชื่อลูกตามใจชอบ แม้ว่าอิสลามจะมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทว่ามิใช่ข้อบังคับทางศาสนาที่จะต้องกระทำตามอย่างเคร่งครัด อิสลามอนุญาตให้ตั้งชื่อบุตรได้ตามต้องการ[2] โดยมีข้อแม้ว่าจะต้องไม่ตั้งชื่อที่ส่อไปในทางตั้งภาคี(ชิริก)หรือขัดแย้งกับศีลธรรมจรรยา. ด้วยเหตุนี้หลังเสร็จสิ้นภารกิจเผยแผ่อิสลาม ท่านนบีจึงมิได้สั่งให้บรรดาสาวกเปลี่ยนชื่อเพื่อให้สอดคล้องกับอิสลามและหลักศรัทธา เราจึงสามารถพบเห็นชื่อที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาศาสนาในหมู่อัครสาวกของท่านนบี อาทิเช่น อัมมาร, มุศอับ, มิกด้าด ฯลฯ
อย่างไรก็ดี มีบางรายงานระบุว่าท่านนบีเคยเปลี่ยนชื่อสาวกในกรณีที่มีความหมายหมิ่นเหม่ต่อการตั้งภาคี หรือมีความหมายอันไม่พึงประสงค์[3]
แม้ว่าผู้ปกครองสามารถตั้งชื่อบุตรหลานตามใจชอบ แต่จะเหมาะสมกว่าหากเราจะตั้งชื่อที่เหมาะสม เพื่อให้เป็นไปตามคำแนะนำของบรรดาอิมาม.
อิมามบากิร(อ)กล่าวว่า: “นามที่สัจจริงที่สุดคือนามที่สื่อความหมายถึงการเป็นบ่าวของพระองค์ และในจำนวนนี้ นามของบรรดานบีประเสริฐที่สุด”[4]
เนื้อหาที่นำเสนอข้างต้นคือข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการตั้งชื่อ อย่างไรก็ตาม ดังที่ผู้ถามก็พอจะทราบมาบ้างว่า ชื่อบางชื่ออย่างเช่น“ฟาฏิมะฮ์”ย่อมแตกต่างจากชื่ออื่นๆ เนื่องจากเป็นชื่อที่อัลลอฮ์ทรงเลือกและดลใจให้ท่านศาสดาตั้งชื่อนี้แก่บุตรีของท่าน ชื่อนี้จึงสะท้อนถึงบุคลิกภาพของเธอโดยเฉพาะ แต่ก็หาได้หมายความว่าชื่อนี้ผูกขาดเฉพาะบุตรีศาสดาไม่ เนื่องจากผู้อื่นก็สามารถตั้งชื่อนี้ได้เช่นกัน
ชื่อ“ฟาฏิมะฮ์”มีรากศัพท์จากคำว่า“ฟัฏมุน”อันหมายถึงการแยกออกจากสิ่งใดสิ่งหนึ่ง.[5]
ต่อคำถามที่ว่าเพราะเหตุใดท่านนบีจึงตั้งชื่อนี้แก่บุตรีของท่าน? มีฮะดีษหลายบทที่อธิบายเหตุผลดังกล่าว ซึ่งแต่ละบทก็อธิบายแตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้วไม่พบความขัดแย้งใดๆในแง่เนื้อหา โดยแต่ละบทเสริมให้บทอื่นๆสมบูรณ์ยิ่งขึ้น อาทิเช่นฮะดีษต่อไปนี้:
ก. ยูนุส บิน ซ็อบยาน รายงานว่า อิมามศอดิก(อ)ถามฉันว่า: ท่านสามารถตีความคำว่า“ฟาฏิมะฮ์”ได้หรือไม่? ฉันตอบว่าโอ้นายท่าน ขอท่านอธิบายมาเถิด ท่านกล่าวว่า: ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(ส)ถูกจำแนกออกจากความด่างพร้อยทั้งปวง(فطمت من الشر) และมาตรว่าท่านอิมามอลี(อ)มิได้สมรสกับนาง จะไม่มีชายใดนับตั้งแต่การสร้างมนุษย์จนถึงปัจจุบันคู่ควรกับนางอีกเลย.[6]
อิมามริฎอ(อ)รายงานจากท่านนบีผ่านทางบรรพบุรุษของท่านว่า ท่านนบีเคยกล่าวว่า: “ฉันตั้งชื่อบุตรสาวของฉันว่าฟาฏิมะฮ์ เพราะอัลลอฮ์จะทรงคัดแยกเธอและกัลญาณมิตรของเธอให้พ้นจากไฟนรก”[7]
อิมามบากิร(อ)เล่าจากบรรพบุรุษว่า: “เมื่อครั้งที่ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(ส)ถือกำเนิด อัลลอฮ์ได้มอบหมายให้มะลาอิกะฮ์ดลใจท่านนบีให้เอ่ยนามนี้เพื่อให้เป็นชื่อของเธอ, แล้วพระองค์ก็ตรัสถึงเธอว่า“ข้าได้ฟูมฟักเจ้าด้วยวิทยปัญญา และคัดแยกเจ้าออกจากความด่างพร้อยทั้งปวง...”[8]
ท้ายนี้ขอย้ำอีกครั้งว่าบุตรีของท่านศาสดา(ซ.ล.)สมควรแล้วที่จะได้รับชื่อที่เหมาะสม เนื่องจากมีฮะดีษยืนยันทั้งในสายชีอะฮ์และซุนนะฮ์ว่าเธอเปรียบดั่งเรือนร่างของศาสดา และหากผู้ใดรังแกเธอก็เสมือนว่ารังแกท่านนบีโดยตรง[9] ชื่อของเธอจึงเป็นสื่อสะท้อนถึงบุคลิกภาพอันสูงส่งให้เป็นที่ประจักษ์แก่มวลมนุษย์ และด้วยเหตุผลเหล่านี้ เราจึงเชื่อว่าอัลลอฮ์ทรงเลือกสรรชื่อที่เหมาะสมกับเธอเป็นที่สุด.
[1] มุฮัมมัด ฮุร อามิลีย์, วะซาอิลุชชีอะฮ์, เล่ม 21, หน้า 388-389, ฮะดีษที่ 27374 ,สำนักพิมพ์อาลุลบัยต์, กุม, ฮ.ศ.1409
[2] อ้างแล้ว.
[3] อ้างแล้ว, หน้า 390, ฮะดีษที่ 27379.
[4] อ้างแล้ว, หน้า 391, ฮะดีษที่ 27381.
[5] อิบนุ มันซูร, ลิซานุ้ล อรับ, เล่ม 12, หน้า 454.
[6] มุฮัมมัด บากิร มัจลิซี, บิฮารุลอันวาร, เล่ม 43, หน้า 10 ,หมวด 2, ฮะดีษ 1, สำนักพิมพ์ อัลวะฟา, เบรุต, ฮ.ศ.1404
[7] อ้างแล้ว, หน้า 12, ฮะดีษ 4.
[8] อ้างแล้ว, หน้า 13, ฮะดีษ 9.
[9] เศาะฮี้ห์ บุคอรี, เล่ม 4, หน้า 219, ดารุลฟิกร์, เบรุต, ฮ.ศ.1401