Please Wait
8905
ข้อบังคับประการหนึ่งในพิธีฮัจญ์และอุมเราะฮ์ก็คือ ห้ามล่าสัตว์ในขณะที่ครองอิฮ์รอม ซึ่งอายะฮ์ที่ 94-96 ซูเราะฮ์อัลมาอิดะฮ์ก็ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ไว้ กล่าวคือ ห้ามมิให้ล่าสัตว์ทะเลทรายและสัตว์น้ำในขณะที่ยังครองอิฮ์รอม ก่อนที่จะกล่าวถึงความหมายของคำว่า “ตะอัดดี” (การรุกราน) จำเป็นที่จะต้องอธิบายว่า เหตุผลหนึ่งของการห้ามล่าสัตว์ในขณะครองอิฮ์รอมก็คือ การที่พิธีฮัจญ์และอุมเราะฮ์เป็นอิบาดะฮ์ที่จะแยกมนุษย์ออกจากโลกิยะ และจะนำพามนุษย์สู่โลกที่เต็มไปด้วยจิตวิญญาณอันสูงส่ง ส่วนสิ่งที่เป็นวัตถุ, การรบราฆ่าฟัน, ความอาฆาต, ความต้องการทางเพศ, ความสุขทางด้านวัตถุ ล้วนเป็นสิ่งที่พึงละเว้นในพิธีฮัจญ์และอุมเราะฮ์ ซึ่งถือเป็นวิธีฝึกฝนที่ได้รับการอนุมัติจากพระองค์ ฉะนั้น การห้ามล่าสัตว์ในขณะครองอิฮ์รอมก็อาจจะเนื่องด้วยสาเหตุเหล่านี้[1] ศาสนบัญญัติข้อนี้ได้รับการกำหนดไว้อย่างละเอียด โดยมิได้เจาะจงห้ามล่าสัตว์เพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงการช่วยชี้เป้าหรือการหาเหยื่อให้ผู้ล่าก็เป็นสิ่งต้องห้ามด้วยเช่นกัน ดังที่ในฮะดีษได้กล่าวไว้ว่า อิมามศอดิก (อ.) กล่าวกับสหายของท่านว่า “จงอย่าถือว่าการล่าสัตว์ในขณะที่ยังครองอิฮ์รอมเป็นสิ่งอนุมัติ ไม่ว่าจะอยู่ในเขตฮะร็อม หรือนอกเขตฮะร็อมก็ตาม และถึงแม้ว่าพวกท่านจะไม่ได้ครองอิฮ์รอม ก็ไม่สามารถล่าสัตว์ได้ และจงอย่าชี้เป้าแก่บุคคลที่กำลังครองอิฮ์รอมหรือผู้ที่มิได้ครองอิฮ์รอมเพื่อให้เขาล่าสัตว์ และจงอย่าสนับสนุน (และสั่ง) แต่อย่างใด เพื่อที่จะได้ทำให้การล่าสัตว์นั้น ๆ เป็นฮะลาล เนื่องจากจะทำให้ผู้ละเมิดโดยตั้งใจต้องจ่ายกัฟฟาเราะฮ์”[2]
ดังนั้น “มะนิอ์ตะดา”ในที่นี้ หมายถึงบุคลลใดก็ตามที่ได้ฝ่าฝืนกฏดังกล่าว (การห้ามล่าสัตว์) ซึ่งเป็นคำสั่งของอัลลอฮ์ (ซ.บ.) เขาจะต้องทนทุกข์ทรมานกับการลงโทษที่หนักหน่วง ดังนั้นสาเหตุของการลงโทษคือการฝ่าฝืนกฏและคำสั่งของอัลลอฮ์ (ซ.บ.) นั่นเอง และการลงโทษดังกล่าวหมายถึงการลงโทษด้วยไฟนรกในโลกหน้า “หรืออาจจะหมายถึงการประสบอุปสรรคในโลกนี้ด้วยก็เป็นได้”[3] ดังนั้นการดื้อแพ่งกระทำบาปครั้งแล้วครั้งเล่าจะนำมาซึ่งภยันตรายและการลงทัณฑ์อันเจ็บปวด
คำถามดังกล่าวไม่มีคำตอบเชิงอธิบาย
[1] มะการิม ชีรอซีย์, นาศิร, ตัฟซีรเนมูเนฮ์, เล่ม 5, หน้า 88-89, ดารุลกุตุบ อัลอิสลามียะฮ์, เตหราน
[2] ฮุร อามิลี, วะซาอิลุชชีอะฮ์, เล่ม 5, หน้า 75, สำนักพิมพ์อาลุลบัยต์, กุม, ฮ.ศ. 1409 "عَنْ أَبِی عَبْدِ اللَّهِ ع قَالَ لَا تَسْتَحِلَّنَّ شَیْئاً مِنَ الصَّیْدِ وَ أَنْتَ حَرَامٌ وَ لَا وَ أَنْتَ حَلَالٌ فِی الْحَرَمِ وَ لَا تَدُلَّنَّ عَلَیْهِ مُحِلًّا وَ لَا مُحْرِماً فَیَصْطَادُوهُ وَ لَا تُشِرْ إِلَیْهِ فَیُسْتَحَلَّ مِنْ أَجْلِکَ فَإِنَّ فِیهِ فِدَاءً لِمَنْ تَعَمَّدَهُ".
[3] รอวันดี, กุฏบุดดีน, ฟิกฮุลกุรอาน ฟี ชัรฮิ อายาติลอะฮ์กาม, เล่ม 1, หน้า 306, หอสมุดท่านอายะตุลลอฮ์ มัรอะชี, กุม,ฮ.ศ.1405