Please Wait
13464
ในเบื้องแรกควรทราบว่าการหาปลาประทังชีวิตมิไช่เหตุที่ทำให้บนีอิสรออีลส่วนหนึ่งถูกสาป เพราะการหาเลี้ยงชีพนอกจากจะไม่เป็นที่ต้องห้ามแล้ว ยังถือเป็นส่วนหนึ่งของอิบาดะฮ์ในทัศนะอิสลามอีกด้วย ท่านอิมามศอดิก(อ.)กล่าวว่า “ผู้ที่ทำงานหาเลี้ยงครอบครัวเสมือนนักต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์” ฉะนั้น เหตุที่ทำให้พวกเขาถูกสาปจึงไม่ไช่แค่การจับปลา และนั่นก็คือสิ่งที่อัลลอฮ์กล่าวไว้ว่า “และเช่นนี้แหล่ะที่เราได้ทดสอบพวกเขาในสิ่งที่พวกเขาฝ่าฝืน”
สิ่งที่ช่วยยืนยันเหตุผลดังกล่าวก็คือ มีสำนวน اعتدوا และ یعدون (ละเมิด) ปรากฏในโองการที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ อันแสดงว่าพวกเขาถูกลงโทษเนื่องจากทำบาปและฝ่าฝืนพระบัญชาของพระองค์ ทำให้ไม่ผ่านบททดสอบเกี่ยวกับเรื่องนี้
การพักงานในวันเสาร์ถือเป็นหลักปฏิบัติถาวรของชนชาติยิวจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งก็มิได้เป็นการชี้โพรงให้นอนเอกเขนกด้วยความเกียจคร้านแต่อย่างใด แต่เนื่องจากโดยปกติแล้ว คนเราจะทำงานอย่างเต็มที่ตลอดสัปดาห์โดยไม่ไคร่จะสนใจอิบาดะฮ์ ความสะอาด ครอบครัว ฯลฯ เท่าที่ควร จึงสมควรจะสะสางหน้าที่เหล่านี้ในวันหยุดสักหนึ่งวันต่อสัปดาห์ การได้อยู่กับครอบครัวก็มีส่วนทำให้เกิดพลังงานด้านบวกที่จะกระตุ้นให้เริ่มงานในวันแรกของสัปดาห์อย่างมีประสิทธิภาพ ฉะนั้น การไม่ทำงาน (ที่เป็นทางการ) ในวันหยุด มิได้แสดงถึงความเกียจคร้านเสมอไป
เพื่อให้เกิดความกระจ่างในประเด็นนี้ ไคร่ขอเกริ่นนำว่า
หนึ่ง. นอกจากโองการที่ถามมาเกี่ยวกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับวันเสาร์แล้ว อัลลอฮ์ยังทรงกล่าวไว้ในโองการที่ ซูเราะฮ์อะอ์ร้อฟว่า “และจงสอบถามพวกเขาเกี่ยวกับ (ความเป็นมา) ของเมืองชายทะเลแห่งหนึ่ง (และจงรำลึก)เมื่อครั้งที่พวกเขาได้กระทำการละเมิด(บทบัญญัติของพระองค์)ในวันเสาร์ โดยในครานั้นฝูงปลาได้ปรากฏในวันเสาร์ (อันเป็นวันหยุดพักผ่อนของพวกเขา) แต่ไม่ปรากฏในวันอื่นๆ เช่นนี้แหล่ะที่เราได้ทดสอบพวกเขาด้วยสิ่งที่พวกเขามักจะละเมิดเสมอมา”
สอง. เกี่ยวกับกรณีที่ว่าพวกเขาละเมิดอย่างไรนั้น มีสองทัศนะด้วยกัน
ก. เนื่องจากฝูงปลาชุกชุมในวันเสาร์เหตุเพราะไม่อนุญาตให้จับ ทำให้มีคนฉลาดแกมโกงขุดบ่อดักปลาในวันเสาร์และลงไปจับในวันอาทิตย์
ข. พวกเขาละเมิดกฏด้วยการจับปลาด้วยวิธีปกติในวันเสาร์[1]
สาม. ด้วยเหตุที่ชนเผ่ายิวละเมิดคำบัญชาของอัลลอฮ์และศาสนทูตด้วยการสร้างความเสื่อมเสียในศาสนา ทำให้ต้องประสบกับละอ์นัตของพระองค์ ส่งผลให้คนส่วนใหญ่สูญเสียแรงศรัทธาทีละน้อย อัลลอฮ์ได้ทรงเตือนว่าถ้าหากยังดื้อดึงและฝ่าฝืนเช่นนี้ต่อไป จะประสบกับพลังกริ้วของพระองค์อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นการสาปแช่งหรือ “ฎ็อมส์” อันหมายถึงการลงโทษที่ไม่เหลือร่องรอยใดๆ พระองค์จะจัดการกับพวกเขาด้วยสองสิ่งดังกล่าวโดยไม่ละเว้นโทษอย่างแน่นอน[2]
หลังจากทราบประเด็นข้างต้นแล้ว เราจะเริ่มพิจารณาคำถามที่ได้ถามมา และเนื่องจากสำนวนคำถามตั้งอยู่บนสมมุติฐานอันคลาดเคลื่อน เราจึงขอตอบคำถามด้วยการนำเสนอและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างถูกต้องดังต่อไปนี้
การจับปลาหาเลี้ยงชีพเป็นเหตุให้พวกเขาถูกสาปเป็นลิงกระนั้นหรือ?
รายงานของฝ่ายมุสลิมระบุว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นกับชาวบนีอิสรออีลกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ริมทะเลแห่งหนึ่ง (คาดว่าจะเป็นแถบชายฝั่งทะเลแดง) ณ เมืองท่าที่ชื่อ “อีละฮ์” (ปัจจุบันเรียกว่าท่าอีลาต) โดยอัลลอฮ์ได้ทดสอบพวกเขาด้วยการห้ามไม่ให้จับปลาในวันเสาร์ ทว่าคนกลุ่มนี้ฝ่าฝืนคำสั่ง ทำให้ต้องประสบกับชะตากรรมอันเจ็บปวด[3] ด้วยเหตุนี้การที่พวกเขาถูกสาปมิได้เกิดจากการออกหาปลาเพื่อประทังชีวิตโดยปกติ เพราะการหาเลี้ยงชีพนอกจากจะไม่เป็นที่ต้องห้ามแล้ว ยังถือเป็นส่วนหนึ่งของอิบาดะฮ์ในทัศนะอิสลามอีกด้วย ซึ่งโดยปกติแล้วย่อมไม่ทำให้ถูกสาปอย่างแน่นอน มีฮะดีษที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้สองบทด้วยกัน
หนึ่ง. ท่านอิมามอลี(อ.)กล่าวว่า “ผู้ที่ซื้อเนื้อเลี้ยงครอบครัวแม้เพียงดิรฮัมเดียว ประหนึ่งได้ปล่อยทาสจากวงศ์วานนบีอิสมาอีลให้เป็นไท”[4]
สอง. อิมามศอดิก(อ.)กล่าวว่า “ผู้ที่มีวิริยะอุตสาหะหาเลี้ยงครอบครัวของตน เสมือนดั่งนักต่อสู้ในหนทางของพระองค์ที่ฟาดฟันอยู่กลางสนามรบ”[5]
เหล่านี้ทำให้ทราบว่าการจับปลาโดยสุจริตมิไช่เหตุผลที่แท้จริงที่ทำให้พวกเขาถูกสาป แต่เกิดขึ้นเพราะเหตุผลที่พระองค์ทรงตรัสไว้ว่า “เช่นนี้แหล่ะที่เราได้ทดสอบพวกเขาในสิ่งที่พวกเขาเคยฝ่าฝืนมาโดยตลอด”[6] เมื่อพิจารณาโองการนี้ประกอบกับฮะดีษต่างๆที่คล้ายคลึงกันทำให้ทราบว่า บททดสอบดังกล่าวคล้ายกับเหตุการณ์ที่นบีอิบรอฮีมรับบัญชาให้เชือดพลีนบีอิสมาอีล[7] หรือการระงับมิให้กองทัพของฏอลู้ตดื่มน้ำ[8] ซึ่งล้วนเป็นการทดสอบชนชาติบนีอิสรออีลบางกลุ่มทั้งสิ้น แต่เนื่องจากคนกลุ่มนี้ดื้อแพ่งละเมิดบทบัญญัติ ทำให้ต้องประสบกับความกริ้วของพระองค์โดยการถูกสาปเป็นลิง
สิ่งที่ช่วยยืนยันเหตุผลดังกล่าวก็คือ มีสำนวน اعتدوا [9]และ یعدون (ละเมิด)[10] ปรากฏในโองการที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ อันแสดงว่าพวกเขาถูกลงโทษเนื่องจากทำบาปและฝ่าฝืนพระบัญชาของพระองค์ ทำให้ไม่ผ่านบททดสอบเกี่ยวกับเรื่องนี้
การงดกระทำการใดๆในวันเสาร์เป็นการส่งเสริมให้เกียจคร้านหรือไม่?
การหยุดงานในวันเสาร์ถือเป็นประกาศิตจากคัมภีร์เตาร้อต(โตร่าห์) อีกทั้งยังเป็นขนบจำเพาะสำหรับชนชาวยิว ซึ่งถือเป็นข้อบังคับสำคัญระดับต้นๆ โดยพวกเขาเชื่อว่าพระเจ้าทรงบันดาลโครงสร้างของโลกเสร็จสิ้นและพักผ่อนในวันเสาร์ และเชื่อว่าชนชาติยิวลี้ภัยจากอิยิปต์สำเร็จในวันนี้ ชาวยิวจึงต้องละเว้นทุกกิจกรรมและทำบุญกุศลในวันเสาร์[11] ด้วยเหตุนี้เอง การหยุดงานในวันนี้จึงถือเป็นหลักปฏิบัติถาวรของชนชาติยิวจนถึงปัจจุบัน ซึ่งก็มิได้เป็นการชี้โพรงให้นอนเอกเขนกด้วยความเกียจคร้านแต่อย่างใด แต่เนื่องจากโดยปกติแล้ว คนเราจะทำงานอย่างเต็มที่ตลอดสัปดาห์โดยไม่ไคร่จะสนใจอิบาดะฮ์ ความสะอาด ครอบครัว ฯลฯ เท่าที่ควร จึงสมควรจะสะสางหน้าที่เหล่านี้ในวันหยุดสักหนึ่งวันต่อสัปดาห์ การได้อยู่กับครอบครัวก็มีส่วนทำให้เกิดพลังงานด้านบวกที่จะกระตุ้นให้เริ่มงานในวันแรกของสัปดาห์อย่างมีประสิทธิภาพ ฉะนั้น การไม่ทำงาน (ที่เป็นทางการ) ในวันหยุด มิได้แสดงถึงความเกียจคร้านแต่อย่างใด
แน่นอนว่าศาสนามิได้ปิดกั้นกิจกรรมสันทนาการ เพราะมีบางกรณีที่ศาสนาส่งเสริมกิจกรรมเหล่านี้ อย่างไรก็ดี มิไช่ว่าวันหยุดจะเป็นวันแห่งกิจกรรมสันทนาการเพียงอย่างเดียว เพราะชาวบนีอิสรออีลเองก็มีหน้าที่จะต้องหยุดหาปลาและหยุดงานเพื่อประกอบกิจทางศาสนา ทว่าพวกเขาละเมิดบทบัญญัติดังกล่าว[12]
อาจมีคำถามเกิดขึ้นว่า ในเมื่อพวกเขามิได้ยกอวนในวันเสาร์ ก็แสดงว่ามิได้ฝ่าฝืนคำสั่งห้ามจับปลาในวันเสาร์ แล้วเหตุใดจึงถูกสาปในที่สุด?
ตอบได้ว่า เนื่องจากคนเหล่านี้ละเมิดบทบัญญัติของอัลลอฮ์ด้วยการขังปลาในวันเสาร์แล้วจับปลาในวันอาทิตย์ (อันถือเป็นการเลี่ยงบาลี) พฤติกรรมดังกล่าวถือเป็นการละเมิดบทบัญญัติ เหตุเพราะการกักบริเวณปลาที่ชุกชุมในวันเสาร์ก็มิได้แตกต่างอะไรกับการจับปลา เปรียบเสมือนการจับปลาแม่น้ำมาใส่ในบ่อที่เตรียมไว้เพื่อจับในภายหลัง
ข้อสังเกตุ.
น่าฉงนใจที่คัมภีร์โตร่าห์อันอุดมไปด้วยการยกยอปอปั้นชนชาติบนีอิสรออีลนั้น มิได้กล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวเสมือนอีกหลายเหตุการณ์ที่ปรากฏในคัมภีร์กุรอาน และเหตุการณ์ต่างๆที่ปรากฏในสองคัมภีร์นี้ก็มีสำนวนที่แตกต่างกันเป็นอย่างยิ่ง[13]
[1] เฏาะบัรซี, ฟัฎล์ บิน ฮะซัน, มัจมะอุ้ลบะยาน ฟีตัฟซีริลกุรอาน, คณะผู้แปล,เล่ม 1,หน้า 204-205, สำนักพิมพ์นาศิรโคสโร,เตหราน,พิมพ์ครั้งที่สาม,ปี 1372
[2] เฏาะบาเฏาะบาอี,ซัยยิดมุฮัมมัดฮุเซน,อัลมีซาน,มูซะวี ฮะมะดอนี และซัยยิดมุฮัมมัด บากิร,เล่ม 4,หน้า 584,สำนักพิมพ์อิสลามี ญามิอะฮ์มุดัรริซีน สถาบันศึกษาศาสนาแห่งเมืองกุม,กุม,พิมพ์ครั้งที่ห้า,ปี1374
[3] มะการิม ชีรอซี,นาศิร,ตัฟซี้รเนมูเนะฮ์,เล่ม 6,หน้า 418,ดารุลกุตุบิลอิสลามียะฮ์,เตหราน,พิมพ์ครั้งแรก,ปี1374
[4] มัจลิซี,มุฮัมมัด บากิร,บิฮารุลอันว้าร,เล่ม 75,หน้า 32,สถาบันอัลวะฟา,เบรุต,เลบานอน,ฮ.ศ.1404
[5] กุลัยนี,อัลกาฟี,เล่ม 5,หน้า 88,ดารุลกุตุบิลอิสลามียะฮ์,เตหราน,ปี1365
[6] อัลอะอ์ร้อฟ,163
[7] “เมื่อเขา(อิสมาอีล)ถึงวัยอันควร (อิบรอฮีม)ได้กล่าวแก่เขา(อิสมาอีล)ว่า โอ้ลูกรัก พ่อฝันว่าพ่อกำลังเชือดลูก ลูกมีความเห็นเช่นไร? เขากล่าวว่า โอ้พ่อจ๋า ทำในสิ่งที่ได้รับบัญชาเถิด ในไม่ช้าพ่อจะได้เห็นว่าผมเป็นผู้อดทน” อัศศ้อฟฟ้าต,103
[8] “เมื่อครั้งที่ฏอลู้ตกรีฑาทัพพร้อมกับเหล่าทหาร เขาได้กล่าวว่าพระองค์ทรงทดสอบพวกท่านด้วยธารน้ำ ผู้ใดที่ดื่มน้ำในลำธารนี้ไม่ไช่พวกฉัน ผู้ที่ไม่ดื่มคือพรรคพวกของฉัน เว้นแต่จะจิบเพียงฝ่ามือ หลังจากนั้นปรากฏว่าส่วนน้อยเท่านั้นที่งดดื่มน้ำ และเมื่อฏอลู้ตและเหล่าผู้ศรัทธาได้ข้ามลำธารดังกล่าวแล้ว เหล่าผู้คัดค้านพากันกล่าวว่า เราไม่มีเรี่ยวแรงจะต่อสู้กับญาลู้ตและกองทัพได้อีกต่อไป” อัลบะเกาะเราะฮ์,249
[9] อัลบะเกาะเราะฮ์,65
[10] อัลอะอ์ร้อฟ,163
[11] ทอเลกอนี,ซัยยิดมะห์มู้ด,วงรัศมีจากกุรอาน,เล่ม1,หน้า186, ห้างหุ้นส่วนการพิมพ์,เตหราน,พิมพ์ครั้งที่สี่,ปี1362
[12] มะการิม ชีรอซี,นาศิร,ตัฟซี้รเนมูเนะฮ์(ปรับเนื้อหาเล็กน้อย),เล่ม6,หน้า419
[13] ทอเลกอนี,ซัยยิดมะห์มู้ด,วงรัศมีจากกุรอาน,เล่ม1,หน้า186