Please Wait
6814
อัคบารีก็คือกลุ่ม“อัศฮาบุลฮะดีษ”ซึ่งในแวดวงชีอะฮ์มักเรียกกันว่าอัคบารี กลุ่มนี้ปฏิเสธวิธีอิจติฮ้าด(วินิจฉัย) และยึดถือเฉพาะอัคบ้าร (ฮะดีษ) เท่านั้น ส่วนกลุ่มอุศูลีประกอบไปด้วยฟุเกาะฮาอ์(นักนิติศาสตร์อิสลาม)มากมายที่มีทัศนะตรงข้ามกับกลุ่มอัคบารี อุศูลีเชื่อว่าสามารถวินิจฉัยบทบัญญัติศาสนาได้โดยอาศัยหลักฐานจากอัลกุรอาน ฮะดีษ สติปัญญา และอิจมาอ์ นอกจากนี้ยังนำวิชาอุศูลุลฟิกฮ์มาใช้ อาทิเช่นหลักการบะรออะฮ์ อิสติศฮ้าบ ตัคยี้ร
ข้อแตกต่างระหว่างสองกลุ่มนี้ได้แก่ การที่กลุ่มอุศูลียึดมั่นในหลักอิจติฮ้าด(วินิจฉัยปัญหาศาสนา) และเชื่อว่าผู้ที่มิไช่มุจตะฮิดจะต้องตักลี้ด(ปฏิบัติตาม)ผู้ที่เป็นมุจตะฮิดในฐานะผู้สันทัดกรณี ในขณะที่กลุ่มอัคบารีปฏิเสธการอิจติฮ้าดและตักลี้ด
นอกจากนี้ กลุ่มอุศลูลีไม่อนุญาตให้ตักลี้ดเบื้องแรกกับมุจตะฮิดที่เสียชีวิตไปแล้ว ในขณะที่กลุ่มอัคบารีถือว่าความตายไม่ส่งผลใดๆต่อการปฏิบัติตามผู้เชี่ยวชาญทางศาสนา กลุ่มอัคบารียังเชื่ออีกว่าตำราทั้งสี่ของชีอะฮ์ล้วนเศาะฮี้ห์ทั้งหมด เนื่องจากผู้เรียบเรียงได้คัดเฉพาะฮะดีษที่เศาะฮี้ห์เท่านั้น ในขณะที่กลุ่มอุศูลีคัดค้านความเห็นดังกล่าว ฯลฯ
อัคบารีและอุศูลีถือเป็นสองกลุ่มภายในชีอะฮ์สิบสองอิมาม ที่มีมุมมองเกี่ยวกับบทบัญญัติศาสนาแตกต่างกันดังต่อไปนี้
หนึ่ง. อัคบารีก็คือกลุ่มผู้นิยมฮะดีษเป็นหลัก ในแวดวงชีอะฮ์เรียกว่าอัคบารี กลุ่มนี้ปฏิเสธหลักอิจติฮ้าด(วินิจฉัย) และยึดถือเฉพาะอัคบ้าร(ฮะดีษ)เท่านั้น กล่าวกันว่าผู้ริเริ่มแนวทางดังกล่าวก็คือ มุลลอ มุฮัมมัดอะมีน บิน มุฮัมมัดชะรีฟ อัสตัรออบอดี (เสียชีวิตฮ.ศ.1033) สันนิษฐานว่าเขาเป็นผู้สถาปนากลุ่มอัคบารีขึ้นในหมู่ชีอะฮ์รุ่นหลัง อีกทั้งเป็นคนแรกที่แสดงท่าทีคัดค้านบรรดามุจตะฮิดชีอะฮ์ หนังสือ“ฟะวาอิดุ้ลมะดะนียะฮ์”ของเขามีเนื้อหาโจมตีบรรดามุจตะฮิดโดยกล่าวหาว่าเป็นผู้ทำลายล้างศาสนาของพระองค์ เขาอ้างว่าแนวการวินิจฉัยของผู้รู้ชีอะฮ์ยุคหลังแตกต่างไปจากผู้รู้ยุคแรก และเชื่อว่าไม่สามารถจะวินิจฉัยปัญหาโดยอาศัยกุรอานเพียงอย่างเดียว เนื่องจากกุรอานมีทั้งโองการที่ชัดเจน(มุห์กัม)และคลุมเครือ(มุตะชาบิฮ์) ตลอดจนโองการหักล้าง(นาซิค)และถูกหักล้าง(มันสู้ค) จึงจำเป็นต้องพึ่งพาฮะดีษเป็นหลัก เขากล่าวว่า เนื่องจากการอิจติฮ้าดตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสงสัย ทว่าฮะดีษถือเป็นหลักฐานที่มั่นคง(เนื่องจากรายงานมาจากบรรดาอิมาม(อ.)) จึงไม่อาจจะทิ้งหลักฐานที่มั่นคงโดยหันไปยึดข้อสงสัยได้
สอง. กลุ่มอุศูลี ซึ่งประกอบไปด้วยฟุเกาะฮาอ์(นักนิติศาสตร์อิสลาม)มากมายที่มีทัศนะตรงกันข้ามกับกลุ่มอัคบารี กลุ่มนี้เชื่อว่าสามารถวินิจฉัยบทบัญญัติศาสนาได้โดยอาศัยหลักฐานจากอัลกุรอาน ฮะดีษ สติปัญญา และอิจมาอ์ นอกจากนี้ยังนำวิชาอุศูลุลฟิกฮ์มาใช้ อาทิเช่นหลักการบะรออะฮ์ อิสติศฮ้าบ การปฏิบัติตามข้อสันนิษฐาน และการจำแนกระดับชั้นของฮะดีษ พวกเขาถือว่าการวินิจฉัยเป็นหน้าที่เชิงฟัรดูกิฟายะฮ์ แต่หากมีผู้เชี่ยวชาญจำนวนจำกัดก็จะกลายเป็นฟัรดูอีนทันที[1]
ข้อแตกต่างหลักระหว่างสองกลุ่มนี้มีเพียงวิธีการวินิจฉัยบทบัญญัติชะรีอัตเท่านั้น ซึ่งสามารถแบ่งเป็นประเด็นขัดแย้งปลีกย่อยดังต่อไปนี้
หนึ่ง. ประเด็นอิจติฮ้าดและตักลี้ด กลุ่มอุศูลียึดมั่นในหลักอิจติฮ้าด(วินิจฉัยปัญหาศาสนา) และเชื่อว่าผู้ที่มิไช่มุจตะฮิดจะต้องตักลี้ด(ปฏิบัติตาม)ผู้ที่เป็นมุจตะฮิดในฐานะผู้สันทัดกรณี ในขณะที่กลุ่มอัคบารีปฏิเสธการอิจติฮ้าดและตักลี้ด
สอง. กลุ่มอุศลูลีไม่อนุญาตให้ตักลี้ดเบื้องแรกกับมุจตะฮิดที่เสียชีวิตไปแล้ว ในขณะที่กลุ่มอัคบารีถือว่าความตายไม่มีผลใดๆต่อการปฏิบัติตามผู้เชี่ยวชาญทางศาสนา
สาม. กลุ่มอัคบารียังเชื่ออีกว่าตำราทั้งสี่ของชีอะฮ์ล้วนเศาะฮี้ห์ทั้งหมด เนื่องจากผู้เรียบเรียงคัดสรรแต่เพียงฮะดีษที่เศาะฮี้ห์เท่านั้น ทำให้กลุ่มนี้ปฏิเสธการจำแนกฮะดีษออกเป็นสี่ประเภท(เศาะฮี้ห์, ฮะซัน, มุวัษษั้ก, เฎาะอี้ฟ) ในขณะที่กลุ่มอุศูลีคัดค้านความเห็นดังกล่าว
สี่. กลุ่มอุศูลียอมรับหลักการเชิงสติปัญญาอาทิเช่น หลัก”กุบฮุตักลี้ฟบิมาลายุฏ้อก”(การออกคำสั่งในสิ่งที่ไม่สามารถกระทำได้ถือเป็นเรื่องที่ไม่สมควร) หรือหลัก “กุบฮุอิก้อบ บิลาบะยาน” (การลงโทษโดยไม่ชี้แจงเสียก่อนถือเป็นเรื่องไม่สมควร) ในขณะที่กลุ่มอัคบารีไม่ยอมรับหลักการเชิงสติปัญญาเหล่านี้
ห้า. ในเรื่องความชอบธรรมในการอ้างอิงความหมายทั่วไปของกุรอาน กลุ่มอัคบารีไม่เห็นด้วยที่จะยึดความหมายทั่วไปของกุรอานเว้นแต่จะได้รับการยืนยันโดยฮะดีษเท่านั้น ในขณะที่กลุ่มอุศูลีเชื่อว่าสามารถยึดตามความหมายทั่วไปของกุรอานได้แม้จะไม่มีฮะดีษยืนยัน[2]
กว่าสองศตวรรษที่มีการโต้เถียงอย่างเผ็ดร้อนระหว่างอุละมาอ์สองกลุ่มดังกล่าว จนกระทั่ง “ออฆอ มุฮัมมัดบากิร วะฮี้ด เบะฮ์บะฮอนี”(เสียชีวิตฮ.ศ.1208) สามารถยุติบทบาทของกลุ่มอัคบารีอย่างราบคาบ ทำให้อุละมาสายอุศูลีมีอิทธิพลเหนืออัคบารีตั้งแต่ยุคนั้นเป็นต้นมา ปัจจุบันมีกลุ่มอัคบารีหลงเหลืออยู่เพียงน้อยนิด[3]
[1] สารานุกรมตะชัยยุอ์,หมวดฟิร็อก(ปรับเนื้อหาเล็กน้อย)
[2] เว็บไซต์ เฮาซะฮ์ http://www.hawzah.net/Hawzah/Questions/QuestionView.aspx?LanguageID=1&QuestionID=10880
[3] สารานุกรมตะชัยยุอ์