Please Wait
6060
อัลลอฮ์ลิขิตให้ท่านนบีมิได้เล่าเรียนจากครูบาอาจารย์คนใด จึงไม่อาจจะเขียนหนังสือได้ เหตุผลก็ค่อนข้างชัดเจน เนื่องจากอภินิหารของท่านคือคัมภีร์อัลกุรอาน และเนื่องจากไม่ไช่เรื่องแปลกหากผู้มีการศึกษาจะเขียนหนังสือสักเล่ม อาจจะทำให้เกิดข้อครหาว่าคัมภีร์กุรอานเป็นความคิดของท่านนบีเองหรือครูบาอาจารย์ของท่าน ส่วนกรณีของบรรดาอิมามนั้น นอกจากท่านอิมามอลี(อ.)และอิมามซัยนุลอาบิดีน(อ.)แล้ว อิมามท่านอื่นๆมิได้มีตำราที่ตกทอดถึงเรา ทั้งนี้ก็เพราะภาระหน้าที่ทางสังคม หรืออยู่ในสถานการณ์ล่อแหลม หรือการที่มีลูกศิษย์คอยบันทึกอยู่แล้ว
คำถามข้างต้นแบ่งออกเป็นสองประเด็น
1. กรณีท่านนบี(ซ.ล.): ท่านนบี(ซ.ล.)มีชีวิตที่ต่างจากผู้อื่น ซึ่งจากลิขิตของอัลลอฮ์ทำให้ท่านมิได้เล่าเรียนจากครูบาอาจารย์คนใด ทำให้ไม่สามารถเขียนหนังสือได้ เหตุผลก็ค่อนข้างชัดเจน เนื่องจากอภินิหารของท่านคือคัมภีร์อัลกุรอาน และเนื่องจากไม่ไช่เรื่องแปลกหากผู้มีการศึกษาจะเขียนหนังสือสักเล่ม อาจจะทำให้เกิดข้อครหาว่าคัมภีร์กุรอานเป็นความคิดของท่านนบีเองหรือครูบาอาจารย์ของท่าน ด้วยเหตุนี้กุรอานจึงกล่าวว่า “และเจ้าไม่เคยอ่านหนังสือและเขียนหนังสือก่อนจะมีคัมภีร์กุรอาน มิเช่นนั้นเหล่าผู้นิยมสิ่งโมฆะย่อมจะสงสัยในตัวเจ้า”[1]
ฉะนั้น แม้ว่าสำหรับคนทั่วไป การอ่านออกเขียนได้จะเป็นเรื่องจำเป็น แต่สำหรับบางคน การที่ไม่สามารถอ่านออกเขียนได้กลับเป็นสิ่งจำเป็น ดังที่เกิดขึ้นในกรณีของท่านนบี(ซ.ล.) ทั้งนี้หากนักวิชาการผู้คงแก่เรียนจะอ้างว่าตนเป็นศาสนทูต และนำเสนอคัมภีร์จากฟากฟ้าสักเล่มหนึ่ง ย่อมมีผู้ตั้งข้อสงสัยว่าศาสนาหรือคัมภีร์ดังกล่าวเกิดจากความคิดของเขาหรือไม่? คงจะด้วยเหตุผลที่ไม่ต้องการให้ศัตรูใช้เป็นข้ออ้างได้ ท่านนบี(ซ.ล.)จึงไม่เขียนข้อความใดๆแม้หลังจากที่ได้รับแต่งตั้งเป็นนบีแล้ว[2] ทว่ารับความรู้จากวิวรณ์จากพระองค์เท่านั้น[3] ดังที่นักกวีนามฮาฟิซกล่าวว่า
ศาสดาของฉันไม่เคยมีอาจารย์สอนอ่านเขียน
แต่ชั่วพริบตากลายเป็นผู้เล่าเรียนร้อยครูบา[4]
2. กรณีของบรรดาอิมาม(อ.)
คำกล่าวในคำถามข้างต้นอาจจะไม่ถูกนัก เนื่องจากท่านอิมามอลี(อ.)ที่ได้รับฉายานามว่าบิดาแห่งอิมาม(อ.)เคยประพันธ์หนังสือไว้เล่มหนึ่ง ที่เป็นที่รู้จักในหมู่ทายาทของท่านในนาม “กิตาบ อลี”[5] ซึ่งมิได้นำเสนอสู่สายตาคนทั่วไป ส่วนท่านอิมามซัยนุลอาบิดีนก็มีหนังสือเศาะฮีฟะฮ์ ซัจญาดียะฮ์ที่มีอยู่กระทั่งปัจจุบัน ส่วนตำราตัฟซี้รกุรอานนั้น ท่านอิมามอลี(อ.)คือบุคคลแรกที่รวบรวมกุรอานและบันทึกเหตุในการประทานพร้อมคำอธิบาย แต่เคาะลีฟะฮ์และผู้คนในสมัยนั้นกลับมีท่าทีไม่สนใจ[6]
นอกจากตำราเหล่านี้แล้ว เราก็ไม่พบว่าบรรดาอิมามประพันธ์ตำราเล่มอื่นๆอีก ซึ่งมีเหตุผลดังต่อไปนี้:
2.1. ภาระหน้าที่การชี้นำทางสังคม
เมื่อเทียบกับภาระหน้าที่ที่หนักอึ้งของบรรดาอิมามในแต่ละยุคแล้ว การประพันธ์หนังสือจะกลายเป็นเรื่องเล็กในทันที อิมามมิไช่นักเขียน อิมามคือผู้นำทั้งกายและใจสำหรับประชาชน มีหน้าที่ต้องอบรมผู้คนให้มีจิตผ่องแผ้ว ท่านเป็นนักต่อสู้ที่พร้อมพลีชีพเพื่ออิสลาม มีหน้าที่ดูแลประชาชนทั้งทางโลกและทางธรรม และแม้ว่าการเขียนหนังสือจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่ผู้เป็นอิมาม(อ.)ย่อมเลือกกระทำสิ่งที่สำคัญที่สุดก่อนเสมอ ท่านอาจจะเขียนตำราหากมีโอกาส แต่กล่าวได้ว่ามีเพียงอิมามอลี(อ.)และอิมามซัยนุลอาบิดีน(อ.)เท่านั้นที่มีโอกาสเช่นนั้น
2.2. อยู่ในสถานการณ์พิเศษ
เหตุผลนี้มองได้สองมุมด้วยกัน
หนึ่ง. ผู้คนไม่ให้ความสำคัญต่อท่าน
เนื่องด้วยลักษณะสังคมที่ผู้ปกครองที่อธรรมสร้างขึ้น ทำให้ผู้คนในยุคนั้นไม่สนใจอะฮ์ลุลบัยต์อย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งก็ถือเป็นเหตุผลหลักที่บรรดาอิมาม(อ.)จำต้องลดบทบาทตนเองลง อย่างไรก็ดี การที่ผู้คนไม่นิยมไม่ทำให้วุฒิภาวะของท่านเหล่านั้นลดลงแต่อย่างใด ประชาชนเหล่านั้นต่างหากที่เสียประโยชน์ สรุปคือ สังคมจะต้องมีความพร้อมในระดับหนึ่ง จึงจะสามารถนำเสนอข้อเขียนหรือตำราได้
สอง. สภาวะปิดกั้นเสรีภาพทางความคิด
สภาวะเช่นนี้ไม่เพียงแต่จะสกัดกั้นการนำเสนอข้อเขียนหรือสาส์นจากบรรดาอิมาม(อ.) แต่ยังรวมไปถึงข้อเขียนของสานุศิษย์ของท่านอีกด้วย สาวกของท่านอิมามญะว้าด(อ.)กล่าวแก่ท่านว่า “ครูบาของพวกเรารายงานและบันทึกฮะดีษจากอิมามบากิร(อ.)และอิมามศอดิก(อ.) แต่ด้วยบรรยากาศที่ปิดกั้นทางความคิด ทำให้ท่านเหล่านั้นเก็บซ่อนไว้ไม่เผยแพร่ เราจะทำอย่างไรกับตำราเหล่านี้ดีขอรับ? อิมามตอบว่า “ตำราเหล่านี้ไม่มีข้อผิดพลาดอะไร จงเผยแพร่ออกไปเถิด”[7] ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า บรรยากาศดังกล่าวคือเหตุผลหลักที่ทำให้บรรดาอิมาม(อ.)ไม่สามารถจะเขียนข้อความใดๆแม้แต่จดหมาย (นับประสาอะไรกับตำรา) เนื่องจากผู้ปกครองราชวงศ์อุมะวีและอับบาซิดต่างก็ใช้ควบคุมและสอบสวนบรรดาอิมาม(อ.)อย่างเข้มงวด แม้ภาวะดังกล่าวจะหนักเบาไม่เท่ากัน แต่อิมามทุกท่านก็ต้องอำพรางความเชื่อของตน ดังที่อิมามบากิร(อ.)กล่าวว่า การอำพรางความคิดคือแนวทางของฉัน และแนวทางของบรรพบุรุษของฉัน”[8]
2.3. การมีสานุศิษย์นักบันทึก
สานุศิษย์บางคนที่มีชื่อเสียงในด้านรายงานฮะดีษมักจะจดบันทึกฮะดีษของอิมามไว้เสมอ พจนารถของบรรดาอิมาม(อ.)จึงยังคงมีอยู่จนถึงยุคของเราแม้ว่าบรรดาอิมาม(อ.)จะมิได้ประพันธ์ด้วยตนเอง
อาจจะคิดว่าหากบรรดาอิมาม(อ.)ประพันธ์หนังสือฮะดีษด้วยตนเองจะทำให้ไม่มีฮะดีษที่ขัดแย้งกัน แต่คงจะไม่เป็นเช่นนั้น เพราะแม้ว่าอิมามจะบันทึกด้วยตนเอง ตำราเหล่านี้ก็อาจจะถูกผู้ไม่หวังดีบิดเบือนเสมือนตำราของสานุศิษย์ หรืออาจจะทำให้ยิ่งกระหายจะบิดเบือนมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าหากตำราเหล่านี้ถูกบิดเบือน ก็ย่อมจะอันตรายต่อผู้อ่านมากขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากนักรายงานฮะดีษจะไว้วางใจตำราเหล่านี้จนไม่คิดจะพิจารณาตรวจทานใดๆ ฉะนั้น การมีหนังสือที่อิมามบันทึกด้วยตนเองจึงไม่มีประโยชน์ใดๆเป็นพิเศษ
ท้ายนี้ขอชี้แจงว่า คงไม่ถูกต้องนักหากเราจะเชื่อว่าในตำราฮะดีษมี “ความขัดแย้งกันเอง” เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างฮะดีษบางบทสามารถบรรลุข้อสรุปได้โดยผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ ฮะดีษทั้งหมดของเราได้รับการสังคายนาโดยอิมาม(อ.)และเหล่าสหายหลายครั้งในประวัติศาสตร์ ซึ่งความขัดแย้งบางส่วนได้รับการเชื่อมต่อโดยเหล่าผู้เชี่ยวชาญฟิกเกาะฮ์
เพื่อศึกษาเพิ่มเติม กรุณาอ่าน คำถามที่ 1937 (ลำดับในเว็บไซต์: 2185) การกำหนดและจำแนกฮะดีษเศาะฮี้ห์
[1] อัลอังกะบู้ต,48
[2] มุเฏาะฮะรี,มุรตะฎอ,ศาสดาผู้ไม่รู้หนังสือ,หน้า 6,ศ็อดรอ,เตหราน 1378
[3] มะการิม ชีรอซี,นาศิร,ตัฟซี้รเนมูเนะฮ์,เล่ม 16,หน้า 308, ดารุลกุตุบุลอิสลามียะฮ์,เตหราน,1374
[4] บทกวีฮาฟิซ,กวีที่ 167
[5] กุลัยนี,มุฮัมมัด บินยะอ์กู้บ,เล่ม 1,หน้า 41,ดารุลกุตุบุลอิสลามียะฮ์,เตหราน,1365
[6] เพื่อศึกษาเพิ่มเติม กรุณาอ่าน คำถามที่ 4687 (ลำดับในเว็บไซต์: 4954)
[7] อัลกาฟี,เล่ม 1,หน้า 53
[8] เพิ่งอ้าง,เล่ม 2,หน้า 219