Please Wait
8084
อิสลามมีบทบัญญัติเฉพาะสำหรับผู้ที่เพิ่งเข้ารับอิสลาม อาทิเช่น หากก่อนรับอิสลามเคยละเมิดสิทธิของอัลลอฮ์ เช่นไม่ทำละหมาด หรือเคยทำบาปเป็นอาจิน เขาจะได้รับอภัยโทษภายหลังเข้ารับอิสลาม
ทว่าในส่วนของการล่วงละเมิดสิทธิเพื่อนมนุษย์ เขาจะไม่ได้รับการอภัยใดๆ เว้นแต่คู่กรณีจะยอมประนีประนอมและให้อภัยเท่านั้น ฉะนั้นหากผู้ใดเคยล่วงละเมิดสิทธิของผู้อื่นเมื่อครั้งที่ยังมิได้รับอิสลาม การเข้ารับอิสลามจะส่งผลให้เขาได้รับการอนุโลมโทษทัณฑ์จากอัลลอฮ์ก็จริง แต่ไม่ทำให้พ้นจากกระบวนการพิจารณาโทษในโลกนี้ เว้นแต่ฝ่ายผู้เสียหายจะยอมความเท่านั้น ทั้งนี้ก็เพราะสิทธิในส่วนนี้มิไช่สิทธิของอิสลามที่อิสลามจะอภัยโทษให้ได้ แต่เป็นสิทธิของมนุษย์ซึ่งทุกศาสนาและอารยชนทั่วโลกต่างให้การยอมรับ
กุรอานกล่าวถึงพฤติกรรมด้านลบของกาฟิรก่อนจะเข้ารับอิสลามว่า: “โอ้ศาสนทูต จงกล่าวแก่กาฟิรว่า หากยุติพฤติกรรม(อันเสื่อมเสีย)ของพวกท่าน เราจะอภัยโทษในสิ่งที่แล้วมา...”[1]
ท่านศาสดามุฮัมมัดเคยกล่าวไว้ว่า “การรับอิสลามจะปกปิดพฤติกรรมที่ไม่ดีในอดีต ดังที่การเตาบะฮ์จะขจัดลักษณะนิสัยแห่งกาฟิรและจะปกปิดพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์”[2] วจนะดังกล่าวได้กลายมาเป็นพื้นฐานของหลักนิติศาสตร์อิสลามที่เรียกว่า “หลักแห่งญุบ”
โองการและฮะดีษข้างต้นต้องการจะสื่อให้ทราบว่า “ผู้ที่สนใจจะเข้ารับอิสลามไม่จำเป็นต้องกังวลเกี่ยวกับความผิดบาปในอดีต เนื่องจากอัลลอฮ์จะไม่เอาผิดในกรณีที่เคยละเมิดสิทธิของพระองค์(ก่อนรับอิสลาม) จึงไม่จำเป็นต้องทำอิบาดะฮ์หรือจ่ายซะกาตชดใช้ย้อนหลัง เพราะอัลลอฮ์ทรงเป็นผู้ให้อภัยที่เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม และไม่ถือโทษในสิ่งที่ปวงบ่าวเคยล่วงเกินในอดีต”[3]
นอกจากนี้ หากผู้ที่เพิ่งเข้ารับอิสลามเคยกระทำผิดประเภทที่อิสลามระบุโทษชัดเจน เช่น โบยหลังผู้ที่น้ำเมา โทษดังกล่าวก็จะถูกระงับเช่นกัน อิสลามแทนที่ด้วยการปฏิบัติอย่างอ่อนโยน และให้เขาสบายใจว่าจะไม่ถูกลงโทษในสิ่งที่เคยพลาดพลั้งในอดีต อย่างไรก็ตาม อภัยทานดังกล่าวมีเฉพาะในส่วนของสิทธิของอัลลอฮ์และอิสลาม ด้วยเหตุนี้ หากเขาเคยล่วงละเมิดสิทธิเพื่อนมนุษย์ก่อนรับอิสลาม จำเป็นต้องชดใช้หรือขอประนีประนอม มิเช่นนั้นก็ต้องถูกลงโทษตามแต่กรณี อาทิเช่น หากเขาเป็นหนี้ หรือเคยขโมยทรัพย์สินในอดีต จำเป็นต้องชดใช้หรือส่งคืน หรือไม่ก็ประนีประนอมให้ผู้เสียหายอภัยให้ ในทำนองเดียวกัน หากเขาเคยก่ออาชญากรรมฆ่าหรือทำร้ายร่างกายผู้ใด ก็ต้องชดใช้หรือรับโทษทัณฑ์ ทั้งนี้ก็เนื่องจากอัลลอฮ์ทรงอภัยในส่วนของสิทธิของพระองค์เท่านั้น ไม่ครอบคลุมถึงสิทธิมนุษย์ การพิจารณาคดีความเกี่ยวกับสิทธิมนุษย์จึงดำเนินต่อไป โดยเขาจะต้องชดใช้ให้ผู้เสียหายเท่านั้น
อย่างไรก็ดี หลักการดังกล่าวมิได้เป็นหลักการที่มีเฉพาะอิสลามเท่านั้น ทว่าทุกศาสนา ลัทธิ และทุกสังคมที่อารยะต่างก็มีหลักการเช่นนี้ด้วยกันทั้งสิ้น[4]
ผู้รู้บางท่านกล่าวเสริมว่า หากผู้ใดเข้ารับอิสลามและมีหนี้สินที่ต้องชำระ ผู้ปกครองรัฐอิสลามสามารถชำระหนี้สินดังกล่าวแทนด้วยเงินจากคลังส่วนกลางได้ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการบรรเทาทุกข์แก่มุสลิมใหม่ ยกตัวอย่างเช่น หากมุสลิมใหม่สักคนต้องจ่ายสินไหมแก่ญาติผู้เสียชีวิตเนื่องจากก่อนรับอิสลามเคยฆ่าผู้อื่นโดยไม่เจตนา หลังรับอิสลามเขาก็ยังต้องแบกรับภาระหนี้สินดังกล่าวอยู่ แต่ผู้ปกครองรัฐอิสลามสามารถพิจารณาสั่งจ่ายสินไหมแทนจากคลังส่วนกลางได้.[5]
สรุปคือ ในกรณีเช่นนี้ ผู้กระทำความผิดจะต้องถูกดำเนินคดีไม่ว่าจะอยู่ในรัฐทั่วไปหรือรัฐอิสลาม โดยที่ผู้เสียหายสามารถฟ้องร้องเอาความได้ตามกระบวนการพิจารณาคดีของประเทศต่างๆรวมถึงประเทศที่ปกครองด้วยระบอบอิสลาม.
[2] ฏุร็อยฮีย์, มัญมะอุ้ลบะฮ์รอยน์, คำว่า “جب”; ซีเราะฮ์ ฮะละบี, เล่ม 3, หน้า 105. ฮะดีษข้างต้นมีรายงานสำนวนอื่นเช่นกัน เช่น: “อิสลามจะขจัดพฤติกรรมในอดีต” ดู: อัลลามะฮ์ มัญลิซี, บิฮารุลอันวาร, เล่ม 40, หน้า 230.
[3] ดู: มุฮักกิก ฮะมะดอนี, มิศบาฮุลฟะกีฮ์, กิตาบ ซะกาต, หน้า ; มุฮัมมัด ฮะซัน นะญะฟี, ญะวาฮิรุลกะลาม, เล่ม 17, หน้า 10.
[4] ดู: อ.มะการิม ชีรอซี, อัลกอวาอิดุล ฟิกฮียะฮ์, เล่ม 2, หน้า 169-183 (หลักแห่งญุบ).
[5] อบุลฟัตฮ์ ญุรญานี, ตัฟซีร ชอฮี, เล่ม 2 หน้า 96.