Please Wait
7690
ความเจริญรุดหน้าทางวิทยาการทั้งทางโลกและทางธรรมนั้น เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในยุคที่ท่านอิมามมะฮ์ดี(อ.)ปรากฏกาย วิทยาการจะรุ่งเรืองถึงขีดสุดในยุคนี้ ดังที่ปรากฏในฮะดีษที่ผู้ถามอ้างอิงไว้ข้างต้น
อย่างไรก็ดี ฮะดีษทำนองนี้มิได้ระบุว่ามนุษย์ในยุคดังกล่าวจะสามารถเรียนรู้วิทยาการทั้งยี่สิบเจ็ดอักขระอย่างรวดเร็วเหมือนกันหมดทุกคน ทว่าฮะดีษของอิมามศอดิก(อ.)ข้างต้นใช้คำว่า “أخرج”[1] อันหมายถึงการที่ท่านอิมามมะฮ์ดี(อ.)จะนำอักขระที่เหลือออกมาเผยแพร่ เพื่อให้มนุษยชาติได้มีโอกาสเรียนรู้วิทยาการทั้งยี่สิบเจ็ดอักขระอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ อันเป็นการแผ่ขยายโอกาสอย่างกว้างขวาง
แต่การที่ทุกคนสามารถจะเรียนรู้ได้ครบยี่สิบเจ็ดอักขระเท่าเทียมกันได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความไฝ่รู้ของแต่ละคน ซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีบุคคลจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่บรรลุถึงวิทยฐานะอันสูงส่ง โดยจะเป็นผู้จัดตั้งสถานศึกษาและประสิทธิประสาทวิชาการแก่ผู้ที่สนใจสืบไป ดังที่อิมามอลี(อ.)กล่าวไว้ว่า “เสมือนว่าฉันกำลังเห็นเหล่าชีอะฮ์ของฉันกางเต๊นท์ในมัสญิดกูฟะฮ์เพื่อเป็นสถานที่สอนความรู้อันบริสุทธิจากอัลกุรอานแก่ประชาชน”[2]
ข้อสรุป: แม้ว่าท่านอิมามมะฮ์ดี(อ.)จะเปิดศักราชแห่งการศึกษาวิทยาการถึงยี่สิบเจ็ดอักขระภายหลังจากที่ท่านปรากฏกาย อันกล่าวได้ว่าอาจเป็นโอกาสในการก้าวกระโดดทางวิชาการ แต่ก็มีบางคนในยุคนั้นที่ไม่สามารถจะบรรลุถึงเป้าหมายดังกล่าวได้ การจะบรรลุเป้าหมายทางวิชาการจะต้องอาศัยความพากเพียร เปรียบดั่งเป้าหมายแห่งตักวาที่ทุกคนสามารถไขว่คว้ามาได้ด้วยความบากบั่น ฉะนั้น ในเมื่อการบรรลุถึงจุดสูงสุดของตักวายังต้องอาศัยความอุตสาหะ การบรรลุถึงวิชาการทั้งยี่สิบเจ็ดอักขระก็ต้องอาศัยความพยายามและความมุมานะเช่นกัน
[1] الْعِلْمُ سَبْعَةٌ وَ عِشْرُونَ حَرْفاً فَجَمِيعُ مَا جَاءَتْ بِهِ الرُّسُلُ حَرْفَانِ فَلَمْ يَعْرِفِ النَّاسُ حَتَّى الْيَوْمِ غَيْرَ الْحَرْفَيْنِ فَإِذَا قَامَ قَائِمُنَا أَخْرَجَ الْخَمْسَةَ وَ الْعِشْرِينَ حَرْفاً فَبَثَّهَا فِي النَّاسِ وَ ضَمَّ إِلَيْهَا الْحَرْفَيْنِ حَتَّى يَبُثَّهَا سَبْعَةً وَ عِشْرِينَ حَرْفاً ,มัจลิซี,มุฮัมมัด บากิร,บิฮารุลอันว้าร,เล่ม 52,หน้า 336,สถาบันอัลวะฟา,เบรุต,ฮ.ศ.1404
[2] เพิ่งอ้าง,หน้า 364