Please Wait
10309
วิธีแสวงหาการอภัยโทษจากอัลลอฮ์มีหลายวิธีด้วยกัน อาทิเช่น
1. เตาบะฮ์ หรือการกลับตนเป็นคนดี (ตามเงื่อนไขที่กำหนด)
2. ประกอบกุศลกรรมที่ยิ่งใหญ่ อันจะสามารถลบล้างความผิดบาปได้
3. สงวนใจไม่ทำบาปใหญ่ (กะบีเราะฮ์) ซึ่งจะส่งผลให้ได้รับการผ่อนปรนบาปเล็ก
4. อดทนต่ออุปสรรคยากเข็ญในโลกนี้ รวมทั้งการชำระโทษในโลกแห่งบัรซัค และทนทรมานในการลงทัณฑ์ด่านแรกๆของปรโลก เหล่านี้จะเจียระไนผู้ศรัทธาที่เคยทำบาปให้สะอาดปราศจากมลทิน
5. ชะฟาอัต.(ดังจะกล่าวต่อไป) อย่างไรก็ดี ผู้ที่จะได้รับชะฟาอัตจะต้องสำนึกผิดและเปลี่ยนแปลงตนให้เหมาะแก่การนี้เสียก่อน
6. อภัยทานจากพระองค์. ผู้ประสงค์จะได้รับอภัยทานต้องไม่ขาดคุณสมบัติอันเหมาะสมตามเงื่อนไข อย่างกรณีผู้ศรัทธาที่เปรอะเปื้อนบาปหรือหย่อนยานเกี่ยวกับศาสนกิจบางประการ.
หากพิจารณาโองการต่างๆในกุรอานจะพบว่า วิธีแสวงหาการอภัยโทษจากพระองค์มีหลายวิธีด้วยกัน ณ ที่นี้ขอนำเสนอโดยสังเขปดังต่อไปนี้
1. เตาบะฮ์หรือการกลับใจ อันจะต้องควบคู่กับความสลดใจต่อบาปที่ทำไป พร้อมกับตั้งปณิธานแน่วแน่ว่าจะไม่ย้อนทำซ้ำอีก และหมั่นชดเชยด้วยการประกอบความดี
อายะฮ์ที่กล่าวถึงประเด็นนี้มีมากมาย แต่เราขอหยิบยกมาเพียงโองการเดียว
[1]“هُوَ الَّذِی یَقْبَلُ التَّوْبَةَ عَنْ عِبادِهِ وَ یَعْفُوا عَنِ السَّیِّئاتِ” (พระองค์คือผู้รับมอบเตาบะฮ์จากปวงบ่าว และทรงประทานอภัยบาปต่างๆ)
แก่นแท้ของการเตาบะฮ์คือ การสลดใจและสำนึกผิดต่อบาป อันจะส่งผลให้เกิดปณิธานแน่วแน่ว่าจะไม่ทำบาปซ้ำอีก รวมทั้งชดเชยส่วนที่ขาดหายไปด้วยการทำความดี(ในกรณีศาสนกิจที่ทดแทนกันได้) ทั้งนี้ ประโยค“อัสตัฆฟิรุลลอฮ์”เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความหมายดังกล่าว สรุปคือ เตาบะฮ์มีองค์ประกอบหลัก 5 ประการ 1. ละทิ้งบาป 2. สำนึกผิด 3. ตั้งมั่นว่าจะไม่ทำบาปซ้ำ 4. ทำกุศลกรรมทดแทน 5. กล่าวอิสติฆฟาร.[2]
2. กุศลกรรมพิเศษที่จะลบเลือนบาป. ดังที่พระองค์ตรัสว่า “إِنَّ الْحَسَناتِ یُذْهِبْنَ السَّیِّئاتِ” [3](ความดีย่อมจะลบเลือนความผิดบาป)
3. หลีกเลี่ยงการทำบาปใหญ่ อันจะทำให้บาปเล็กบาปน้อยที่มีอยู่ได้รับการอภัย ดังที่กุรอานกล่าวว่า
“إِنْ تَجْتَنِبُوا کَبائِرَ ما تُنْهَوْنَ عَنْهُ نُکَفِّرْ عَنْکُمْ سَیِّئاتِکُمْ وَ نُدْخِلْکُمْ مُدْخَلاً کَریماً”[4]
หากสูเจ้างดเว้นบาปใหญ่ที่เคยได้รับคำเตือนแล้ว พระองค์จะทรงปกปิดบาปอื่นๆของสูเจ้า และจะนำพาสูเจ้าเข้าสู่ฐานะอันทรงเกียรติ”[5]
4. การอดทนต่อความทุกข์ยาก อันจะลดการสะสมของบาป นอกจากนี้ การลงโทษในโลกแห่งบัรซัคและด่านเบื้องต้นของปรโลกก็จะทำให้ผู้ศรัทธาสะอาดจากมลทินบาป.[6]
5. ชะฟาอัต. ความหมายทั่วไปของชะฟาอัตคือ การที่ผู้แข็งแรงกว่าเคียงข้างและให้การอุปถัมภ์ผู้ที่ด้อยกว่า การช่วยเหลือในที่นี่อาจหมายถึงการช่วยเพิ่มพูนคุณความดี หรืออาจหมายถึงการช่วยขจัดข้อบกพร่อง[7]
ส่วนชะฟาอัตในมุมมองอิสลามและโองการต่างๆในกุรอาน[8]นั้น เน้นย้ำถึงการปรับปรุงตนเองของผู้ประสงค์จะรับชะฟาอัตเป็นหลัก กล่าวคือ อันดับแรก ผู้ประสงค์จะได้รับชะฟาอัตจะต้องปรับปรุงแก้ไขตนเองให้หลุดพ้นจากสถานะที่ล่อแหลมต่อการถูกลงโทษเสียก่อน แล้วจึงสานสัมพันธ์กับผู้อำนวยชะฟาอัต เพื่อที่จะนำพาตนสู่สถานะที่เหมาะแก่การได้รับอภัยโทษจากอัลลอฮ์
ความเชื่อในเรื่องชะฟาอัตตามความหมายข้างต้น ถือเป็นแนวการอบรมศีลธรรมชั้นยอดเพื่อบำบัดเยียวยาผู้เสพบาปกรรม เนื่องจากจะส่งผลให้เกิดการตื่นตัวและฉุกคิดถึงผลแห่งกรรมมากยิ่งขึ้น[9]
ฮะดีษต่างๆมากมายให้การยืนยันเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยได้อธิบายฐานะแห่ง “มะฮ์มูด”(ผู้ได้รับการยกย่อง)ที่กุรอานสัญญาว่าจะมอบแด่ท่านศาสดามุฮัมมัดว่า หมายถึงฐานันดรแห่งการให้ชะฟาอัต
นอกจากนี้ โองการ “و لسوف یعطیک ربک فترضی” (และพระผู้อภิบาลของเจ้าจะประทานแก่เจ้าจนกว่าเจ้าจะพอใจ) ยังหมายถึงการที่พระองค์จะอภัยโทษตามที่ท่านศาสดาร้องขอไว้สำหรับผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะแก่การได้รับชะฟาอัต
ด้วยเหตุนี้ ชะฟาอัตจึงเป็นความหวังอันยิ่งใหญ่สูงสุดของผู้ศรัทธาที่มีบาปติดตัว อิสลามถือว่าชะฟาอัต(ที่เป็นไปตามเงื่อนไข)นั้น เป็นหนทางที่ดีที่สุดหนทางหนึ่งสำหรับการอบรมบ่มเพาะ และสร้างแรงบันดาลใจที่จะทดแทนข้อบกพร่อง ทั้งนี้ก็เพื่อชำระตนให้สะอาดปราศจากบาป และพร้อมจะคืนสู่หนทางที่ทอดยาวสู่คุณค่าแห่งศีลธรรม.
6. อภัยทานจากพระองค์[10]. สิทธิพิเศษนี้จะประทานแก่ผู้ที่เหมาะสมเท่านั้น นั่นก็คือ ผู้ศรัทธาที่อาจพลาดพลั้งทำบาปในโลกนี้ คนกลุ่มนี้หากได้รับอภัยทานจากพระองค์ก็จะพ้นโทษ และจะเข้าสมทบกับผู้ศรัทธาที่มีระดับสูงกว่าในสวรรค์ แต่หากไม่ได้รับอภัยทานก็ต้องทนทุกข์ทรมานในนรกเสียก่อน แต่ถึงอย่างไรเสีย เขาก็จะได้รับการปล่อยตัวจากนรกหลังจากชำระโทษเสร็จสิ้น.[11]
ขอเน้นย้ำว่าอภัยทานขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของพระองค์ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าทุกคนสามารถจะได้รับสิทธิพิเศษนี้ได้ เนื่องจากพระองค์จะทรงพิจารณาอนุมัติให้เพียงผู้ที่เคยพิสูจน์แล้วว่ามีศักยภาพพอที่จะได้รับอภัยทาน ด้วยการประกอบกุศลกรรมบางประเภทในโลกนี้
ในฐานะที่ทรงสร้างและทรงรอบรู้ทุกมิติของมนุษย์ อัลลอฮ์ทรงประทานศักยภาพแก่มนุษย์ให้สามารถชำระตนให้ปราศจากบาปได้ โดยพระองค์ทรงเชิญชวนและให้สัญญาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ถึงขั้นที่ทรงประกาศว่าการสิ้นหวังในพระเมตตาของพระองค์นั่นแหล่ะคือบาปที่ใหญ่ที่สุด.
ยิ่งไปกว่านั้น ทรงแต่งตั้งบรรดาศาสดาเพื่อนำพามนุษย์สู่ความเมตตาอันไร้ขอบเขตของพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านศาสดามุฮัมมัดที่ได้รับฉายานามว่าศาสดาผู้เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม
อีกประเด็นที่ไคร่ขอเน้นย้ำอีกครั้งก็คือ หากผู้ศรัทธาคนใดสามารถประคองความศรัทธาไว้จนสิ้นลมหายใจ โดยไม่เคยทำบาปใหญ่ประเภทที่สามารถสั่นคลอนฐานรากแห่งศรัทธา (อันจะส่งผลให้เคลือบแคลงในศาสนาและปฏิเสธหลักศรัทธาในบั้นปลาย)
หรืออาจกล่าวสั้นๆได้ว่า “เขาสิ้นลมขณะมีศรัทธา” ในกรณีเช่นนี้เขาจะไม่ถูกจองจำในนรกอเวจีชั่วกัปชั่วกัลป์ ทั้งนี้เนื่องจากบาปเล็กบาปน้อยของเขาจะถูกขีดฆ่าเนื่องจากเขาไม่เคยแตะต้องบาปใหญ่ ส่วนกรณีที่มีบาปใหญ่ ก็มีโอกาสจะได้รับการอภัยด้วยการเตาบะฮ์ที่ตรงตามเงื่อนไข แต่หากเขามิได้เตาบะฮ์อย่างถูกต้อง เขาก็อาจได้รับการผ่อนปรนในกรณีที่เคยเผชิญความทุกข์ยากในโลกนี้ และได้รับโทษเบื้องต้นในอาคิเราะฮ์ อย่างไรก็ตาม หากยังไม่บริสุทธิจากรอยบาปด้วยมาตรการดังที่กล่าวมา เขาก็มีโอกาสจะรอดพ้นการถูกจองจำอันนิรันดร์ในขุมนรกด้วยหลักชะฟาอัต (ซึ่งนับเป็นกรุณาธิคุณของพระองค์ผ่านทางท่านศาสดาและวงศ์วานในฐานะสัญลักษณ์แห่งเมตตาธรรมของอัลลอฮ์)
แต่อย่างไรก็ดี ไม่ควรประมาทเลินเล่อในการทดสอบของพระองค์ พึงระมัดระวังสิ่งที่จะสั่นคลอนศรัทธาในบั้นปลายชีวิต และต้องระวังอย่าปล่อยใจให้ระเริงดุนยา กระทั่งสิ้นลมหายใจในสถานะของผู้เป็นที่กริ้วของพระองค์.[12]
[1] ซูเราะฮ์ ชูรอ, 25.
[2] ตัฟซีร เนมูเนะฮ์, เล่ม 24, หน้า 290.
[3] ฮู้ด,114 .
[4] นิซาอ์, 31.
[5] มิศบาฮ์ ยัซดี, บทเรียนอะกีดะฮ์, หน้า 477.
[6] บทเรียนอะกีดะฮ์, หน้า 481.
[7] เพื่อข้อมูลเพิ่มเติม. ดู,หมวด: นัยยะของชะฟาอัตในอิสลาม, คำถาม 350, หมวด: ชะฟาอัตและความพึงพอใจของพระองค์, คำถาม 124.
[8] ซูเราะฮ์ สะญะดะฮ์ 4, ซุมัร 44, บะเกาะเราะฮ์ 255, สะบะอ์, 23 ฯลฯ
[9] ตัฟซีร เนมูเนะฮ์, เล่ม 1, หน้า 233.
[10] ชูรอ, 25.
[11] ตัฟซีร เนมูเนะฮ์, เล่ม 26, หน้า 111.
[12] บทเรียนอะกีดะฮ์, หน้า 481 และ 482.