Please Wait
9116
ผู้ที่คิดว่าศาสนาและวิทยาศาสตร์ไม่อาจจะปรับเข้าหากันได้ แสดงว่าไม่เข้าใจธรรมชาติของศาสนาเทวนิยมโดยเฉพาะศาสนาอิสลาม อีกทั้งไม่เข้าใจว่าพื้นที่คำสอนของศาสนาและพื้นที่ความรู้ของวิทยาศาสตร์ก็แยกออกเป็นเอกเทศ เมื่อพื้นที่ต่างกัน ก็ย่อมไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น
คำสอนของศาสนามีอิทธิพลต่อมนุษย์ในสามพื้นที่ด้วยกัน นั่นคือ ความสัมพันธ์กับตนเอง ความสัมพันธ์กับผู้อื่น(สังคมและสิ่งแวดล้อม) และความสัมพันธ์กับพระเจ้า และในฐานะที่อิสลามถือเป็นศาสนาที่ครบถ้วนสมบูรณ์มากที่สุด ได้สนองตอบความต้องการของมนุษย์ทุกยุคสมัยด้วยกระบวนการที่เรียกว่า “อิจญ์ติฮาด”ซึ่งได้รับการวางรากฐานโดยวงศ์วานศาสดามุฮัมมัด
ส่วนเทคโนโลยีนั้น มีอิทธิพลเพียงในพื้นที่แห่งประสาทสัมผัส และมีไว้เพื่อค้นพบศักยภาพของโลกและจักรวาลที่ซ่อนอยู่ ตลอดจนเพื่อประดิษฐ์เครื่องมือในการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าจากเนียะอฺมัตของอัลลอฮ์เท่านั้น
จึงกล่าวได้ว่านวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ช่วยแผ่ขยายพื้นที่ในการตรากฏเกณฑ์ศาสนาให้กว้างยิ่งขึ้น เพราะในทัศนะอิสลามแล้ว สามารถจะวินิจฉัยปัญหาใหม่ๆได้โดยใช้กระบวนการอิจญ์ติฮาดและอ้างอิงขุมความรู้ทางฟิกเกาะฮ์.
สาเหตุที่บางคนคิดว่าศาสนาและวิทยาศาสตร์ไม่อาจจะปรับตัวเข้าหากันได้นั้น ก็เนื่องจากไม่ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับศาสนาเทวนิยม ไม่เข้าใจพื้นที่คำสอนของศาสนาอิสลาม และไม่รู้ว่ามีศาสนาใดบ้างที่ไม่ขัดต่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ศาสนาเป็นศัพท์ที่มีความหมายค่อนข้างกว้าง ครอบคลุมศาสนาทุกศาสนา ไม่ว่าจะศาสนาเทวนิยม หรืออเทวนิยม ศาสนาที่จำต้องสังคายนา หรือศาสนาที่ยังคงเดิม. อย่างไรก็ดี ศาสนาเทวนิยมที่พระเจ้าทรงบัญญัติขึ้นล้วนตอบสนองความต้องการของประชาชาติในยุคสมัยนั้นๆเป็นหลัก แต่ตามความเชื่อของเราแล้ว อิสลามเป็นศาสนาเดียวที่สามารถตอบโจทก์ได้ในทุกยุคสมัย ในขณะที่ศาสนาอื่นๆไม่มีคุณสมบัติดังกล่าว ทั้งนี้ก็เนื่องจากอิสลามเป็นศาสนาเทวนิยมสุดท้ายและครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุดนั่นเอง.
ผู้ที่คิดว่าวิทยาศาสตร์และศาสนาเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะรวมกันได้จะต้องคำนึงว่า พื้นที่คำสอนของศาสนาแตกต่างจากพื้นที่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เพราะวิทยาศาสตร์มุ่งเน้นเพียงการทดลอง อันจะสามารถค้นพบศักยภาพของโลกและจักรวาลที่ซ่อนอยู่ ตลอดจนเพื่อประดิษฐ์เครื่องมือเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากเนียะอฺมัตของอัลลอฮ์อย่างคุ้มค่าเท่านั้น
แต่สิ่งที่ทำให้มนุษย์ต้องหันมาพึ่งศาสนาก็คือ การมีอยู่ของปัจจัยบางอย่างที่ไม่อาจจะค้นพบได้ด้วยสติปัญญา ประสาทสัมผัส และประสบการณ์ ซึ่งสติปัญญาและคัมภีร์อัลกุรอานก็ได้ยืนยันถึงข้อจำกัดของประสาทสัมผัสของเรา โดยกล่าวไว้ว่า “... علّمکم ما لم تکونوا تعلمون”[1] (พระองค์ได้สอนแก่สูเจ้าถึงสิ่งที่สูเจ้าไม่เคยรับรู้มาก่อน) จากจุดนี้ทำให้ทราบว่า ต่อให้มนุษย์จะก้าวหน้าเพียงใด ก็ไม่มีวันก้าวข้ามความจำเป็นต้องมีศาสนาได้อย่างเด็ดขาด
คำสอนของศาสนามีไว้เพื่อบริหารความสัมพันธ์ของมนุษย์สามประเภท อันได้แก่:
1. ความสัมพันธ์ต่อตนเอง 2.ความสัมพันธ์กับผู้อื่น(สังคมและสิ่งแวดล้อม) 3. ความสัมพันธ์กับพระเจ้า ซึ่งก็แสดงว่าอิสลามให้ความสำคัญกับโลกนี้ไม่แพ้โลกหน้า และถือว่าสามารถพัฒนาโลกนี้ในลักษณะที่สอดรับกับความผาสุกในโลกหน้าได้ คุณประโยชน์เช่นนี้จะไม่สามารถพบเห็นได้จากจริยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเชิงวัตถุนิยม
ศาสนาให้ความสำคัญต่อสติปัญญาพอๆกับจิตใจ หากจะพิจารณากันให้ดี ถามว่าในเมื่อวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถจะเข้าใจมนุษย์ได้อย่างถ่องแท้ จะเสนอแนะหลักการดำเนินชีวิตได้อย่างไร? สามารถรับประกันความผาสุกแก่มนุษย์ได้หรือไม่? แม้ว่าวิทยาศาสตร์จะมีประโยชน์มหาศาล แต่ก็ช่วยเราได้เพียงนำเสนอวิธีการต่างๆเท่านั้น ไม่สามารถจะนำเสนอปรัชญาชีวิตแก่มนุษย์ได้ มนุษย์ต้องการปรัชญาและเป้าหมายในการดำเนินชีวิตเป็นอันดับแรก แล้วจึงค่อยคิดหาวิธีการดำเนินสู่เป้าหมาย ด้วยเหตุนี้อิสลามจึงขันอาสาทำหน้าที่ในส่วนที่วิทยาศาสตร์เข้าไม่ถึง และปล่อยให้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีนำเสนอวิธีการที่เหมาะสมในเรื่องต่างๆโดยไม่ก้าวก่าย
นวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ช่วยแผ่ขยายพื้นที่ในการตรากฏเกณฑ์ศาสนาให้กว้างยิ่งขึ้น เพราะในทัศนะอิสลามแล้ว สามารถจะวินิจฉัยปัญหาใหม่ๆได้โดยใช้กระบวนการอิจญ์ติฮาด(การวินิจฉัยบทบัญญัติ)และอ้างอิงขุมความรู้ทางฟิกเกาะฮ์ ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงความกว้างขวางของอิจญ์ติฮาดในทัศนะของอิสลามแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องกังวลว่าบทบัญญัติอิสลามจะสามารถประยุกต์เข้ากับยุคสมัยได้หรือไม่อีกต่อไป สรุปคือ ไม่ว่ามนุษยชาติจะพัฒนาวิทยาการไปอย่างล้ำสมัยเพียงใด แต่ก็ไม่อาจจะปฏิเสธความต้องการศาสนาได้
ในทางกลับกัน ถ้าหากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีช่วยให้มนุษย์ไม่ต้องพึ่งพาศาสนาได้จริงๆ เราจะต้องเห็นว่าภายในไม่กี่ศตวรรษหลังจากการเผยแพร่อิสลาม มนุษย์ควรจะต้องถึงจุดอิ่มตัวทางศาสนาและนำสติปัญญาเข้ามาแทนที่อย่างสมบูรณ์ ทว่าสภาพการณ์ในยุคร่วมสมัยกขัดแย้งกับสมมุติฐานดังกล่าว เพราะไม่เพียงแต่มนุษย์จะไม่สามารถหาสิ่งอื่นมาแทนที่ศาสนาได้ แต่กลับยิ่งกระหายจะได้รับน้ำทิพย์จากศาสนาหลังจากที่ดื้อแพ่งต่อศาสนานับตั้งแต่ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาในยุโรปเป็นต้นมา
เพื่อศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ดู:
1. ศาสตร์ ปัญญา ศาสนา- กุรอานและวิทยาการ,คำถามที่ 111
2. เปรียบเทียบศาสนากับวิทยาการ,คำถามที่ 210
3. ศาสนาและวิทยาการ,คำถามที่ 210
4. ไขปริศนาสถานะปัจฉิมศาสนาของอิสลาม,คำถามที่ 399
5. ศาสนาและความผันแปร,คำถามที่ 206
6. อิสลามและความจำเป็นของโครงการหนึ่ง,คำถามที่ 253
7. อิสลามและทฤษฎีความคิดที่ได้รับการเรียบเรียง,คำถามที่ 217
8. วิลายะฮ์และศาสนา,มะฮ์ดี ฮาดะวี เตหะรานี,หน้า 13 – 56 ,สถาบันวัฒนธรรมบ้านแห่งปัญญา.
9. ความเชื่อและปุจฉา,มะฮ์ดี ฮาดะวี เตหะรานี,หน้า,อ่านทั้งเล่ม,สถาบันวัฒนธรรมบ้านแห่งปัญญา.
10. ฐานรากทางเทววิทยาของอิจญ์ติฮาด,มะฮ์ดี ฮาดะวี เตหะรานี,อ่านทั้งเล่ม ,สถาบันวัฒนธรรมบ้านแห่งปัญญา.
[1] ซูเราะฮ์ อัลบะเกาะเราะฮ์,239.