Please Wait
7897
การตะวัสสุ้ลไม่ไช่ความหลงผิด ในทางตรงกันข้ามยังถือเป็นวิธีแสวงหาความใกล้ชิดยังอัลลอฮ์อีกด้วย ส่วนการที่ท่านอิมามริฎอ(อ.)ช่วยให้คนป่วยหายดีนั้น ยังไม่ถือว่าเป็นเหตุผลหลักในการยืนยันความถูกต้อง หากแต่เป็นเหตุผลรองที่สนับสนุนเหตุผลทางสติปัญญาและตัวบทศาสนา ทั้งนี้ กลไกของโลกเป็นกลไกแห่งเหตุแลผล บุคคลคนจะต้องขวนขวายหามูลเหตุหรือวิถีทางเพื่อบรรลุเป้าหมายของตน ในทางจิตวิญญาณก็มีกลไกคล้ายกันนี้ ดังที่กุรอานปรารภแก่เหล่าผู้ศรัทธาว่า “จงยำเกรงต่อคำบัญชาของพระองค์ และจงแสวงหาหนทางสู่ความใกล้ชิดยังพระองค์”
หลักการตะวัสสุ้ลนั้น มีหลักฐานยืนยันทั้งในแง่สติปัญญาและตัวบททางศาสนา ส่วนการหายไข้ของผู้ป่วยนั้น หาได้เป็นเหตุผลที่ยืนยันความถูกต้องของตะวัสสุ้ลไม่ แต่ก็สามารถใช้เป็นปัจจัยสนับสนุนได้ในระดับหนึ่ง
อีกด้านหนึ่ง คำตอบของผู้คัดค้านก็แฝงไว้ด้วยกลเม็ดเชิงตรรกะ ทั้งนี้เนื่องจากว่า เราจะตัดสินผู้อื่นด้วยหลักที่ว่า “ผู้ใดดืงดันจะเป็นผู้หลงทาง เราก็จะทำให้เขาหลงทางยิ่งขึ้น” ได้ก็ต่อเมื่อจะต้องพิสูจน์ว่าอะไรคือ “สิ่งที่ทำให้หลงทาง” ให้ได้เสียก่อน กล่าวคือจะต้องเรียงตามรูปแบบทางตรรกะให้สมบูรณ์ดังนี้ว่า
- การตะวัสสุ้ลทำให้หลงทาง
- ผู้ใดดืงดันจะเป็นผู้หลงทาง เราก็จะทำให้เขาหลงทางยิ่งขึ้น
ผลก็คือ : ผู้ใดดืงดันจะตะวัสสุ้ล เราก็จะทำให้เขาหลงทางยิ่งขึ้น
การแสดงเหตุผลจะถูกต้องก็ต่อเมื่อมีรูปแบบและอนุมานที่ถูกต้อง ในคำกล่าวข้างต้น อนุมานที่ว่า “ตะวัสสุ้ลคือการดึงดันในความหลงผิด” นั้น เป็นเพียงคำกล่าวอ้างที่ปราศจากเหตุผลรองรับ
กล่าวคือ ผู้ที่กล่าวเช่นนี้คิดเอาเองว่าไม่มีหลักฐานใดๆรองรับการตะวัสสุ้ล จึงนำอคติดังกล่าวมาตั้งเป็นอนุมานที่ผิดพลาดว่า การตะวัสสุ้ลคือการดึงดันในความหลงผิด ทั้งที่จริงแล้วเป็นไปในทางตรงกันข้าม ไม่เพียงแต่การตะวัสสุ้ลจะมีเหตุผลรองรับ ยิ่งไปกว่านั้นเหตุผลเหล่านี้น่าเชื่อถือพอที่จะสร้างแรงจูงใจให้มวลมุสลิมเลือกใช้วิธีตะวัสสุ้ลเป็นช่องทางในการใกล้ชิดพระองค์อีกด้วย
โดยความหมายทั่วไป ตะวัสสุ้ลหมายถึงการที่คนเรานำเสนอบุคคลใดหรือสิ่งหนึ่งสิ่งใด ณ พระองค์ เพื่อให้พระองค์ตอบรับดุอาตามที่เราต้องการ
โดยทั่วไป ทุกคนทราบดีว่าเหตุปัจจัยต่างๆคือหนทางสู่เป้าหมาย ไม่ว่าจะในแง่วัตถุวิสัยหรือในแง่จิตวิญญาณ สัจธรรมนี้ครอบคลุมแม้กระทั่งกรณีของพืชและสัตว์ทั่วไป
กล่าวได้ว่าระเบียบและกลไกของโลกตั้งอยู่บนพื้นฐานของเหตุปัจจัยนานาประเภท ดังที่ท่านอิมามศอดิก(อ.)กล่าวว่า “อัลลอฮ์ไม่ทรงประสงค์ที่จะดำเนินการใดๆโดยปราศจากมูลเหตุจำเพาะของสิ่งนั้นๆ พระองค์จึงทรงกำหนดเหตุปัจจัยของทุกสรรพสิ่งไว้”[1]
ในชีวิตประจำวัน มนุษย์พยายามใช้สติปัญญาและสัญชาตญาณของตนในการค้นหาเหตุปัจจัยที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ความเจริญรุดหน้าทางด้านเทคโนโลยีอันน่าทึ่งของมนุษย์ล้วนเกิดจากการไขปริศนาเกี่ยวกับเหตุปัจจัยต่างๆและนำมาใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม อย่างไรก็ดี ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า ชีวิตมนุษย์มิได้จำกัดอยู่เพียงชีวิตทางวัตถุวิสัยเท่านั้น เพราะแกนสำคัญของชีวิตมนุษย์ก็คือจิตวิญญาณอันตั้งอยู่บนพื้นฐานของกลไกเหตุและผลเช่นเดียวกัน ต่างกันตรงที่ว่าในชีวิตเชิงวัตถุวิสัย มนุษย์สามารถใช้สติปัญญาและวิทยาการในการเฟ้นหาเหตุปัจจัยที่เหมาะสมได้ แต่ในเชิงจิตวิญญาณแล้ว การเฟ้นหาเหตุปัจจัยที่เหมาะสมมักจะอยู่เหนือความสามารถของสติปัญญาและประสบการณ์ของมนุษย์ ทั้งนี้ สติปัญญารับรู้ได้ถึงความจำเป็นที่จะต้องมีสื่อกลางหรือเหตุปัจจัยในการใกล้ชิดระหว่างตนเองและพระเจ้า แต่ยังต้องพึ่งพาตัวบทศาสนาในการระบุรายละเอียดของสื่อกลางดังกล่าว
กุรอานสอนผู้ศรัทธาให้เฟ้นหาสื่อกลางเพื่อเชื่อมสัมพันธ์กับพระองค์ว่า:
يَأَيُّهَا الَّذِينَ ءَامَنُوا اتَّقُوا اللَّهَ وَ ابْتَغُوا إِلَيْهِ الْوَسِيلَةَ وَ جَاهِدُوا فى سبِيلِهِ لَعَلَّكمْ تُفْلِحُونَ .โอ้ผู้ศรัทธาเอ๋ย จงยำเกรงพระบัญชาของพระองค์ และจงแสวงหาสื่อกลางสู่พระองค์ และจงต่อสู้ในหนทางของพระองค์ หวังว่าสูเจ้าจะได้รับชัยชนะ”[2]
โองการข้างต้นระบุชัดเจนว่าการเชื่อมสัมพันธ์ของพระองค์กระทำได้โดยผ่านสื่อกลางที่จะทำให้มีความใกล้ชิดกับพระองค์เชิงจิตวิญญาณ ถามว่าอะไรคือสื่อกลางในที่นี้?
ฮะดีษมากมายหลายบทที่ปรากฏในตำราฮะดีษทั้งฝ่ายชีอะฮ์และซุนหนี่ต่างระบุว่าท่านนบีและวงศ์วานของท่านคือสื่อกลางที่ดีที่สุดในการเชื่อมสัมพันธ์กับพระองค์[3]
ส่วนหลักฐานจากตัวบทศาสนาที่ยืนยันความถูกต้องของหลักตะวัสสุ้ลก็มีมากมายไม่ว่าในสายชีอะฮ์และซุนหนี่ จำนวนฮะดีษที่มีมากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้สามารถขจัดข้อข้องใจได้ทุกประการ
เพื่อศึกษาเพิ่มเติม กรุณาอ่านระเบียนต่อไปนี้
ปรัชญาของการตะวัสสุ้ลยังอะฮ์ลุลบัยต์ 1321 (ลำดับในเว็บไซต์ 1316)
ตะวัสสุ้ลและชะฟาอัตในมุมมองของอะฮ์ลิสซุนนะฮ์ 4889 (ลำดับในเว็บไซต์ 5777)
มุมมองของอะฮ์ลิสซุนนะฮ์ก่อนยุคอิบนิ ตัยมียะฮ์ต่อประเด็นตะวัสสุ้ล 2143(ลำดับในเว็บไซต์ 2261)
[1] ดู: กุลัยนี,อัลกาฟี,เล่ม 1,หน้า 183,ดารุลกุตุบิลอิสลามียะฮ์,ปี1365
[2] อัลมาอิดะฮ์,35
[3] นะฮ์ญุ้ลบะลาเฆาะฮ์,คุฏบะฮ์ที่ 106