Please Wait
15577
อิสลามและอีหม่านมีระดับขั้นที่แตกต่างกัน ระดับแรกซึ่งก็คือการรับอิสลามนั้น หมายถึงการที่บุคคลสามารถเข้ารับอิสลามได้โดยเปล่งปฏิญาณว่า اشهد أن لا اله الا الله" و اشهد أنّ محمداً رسول الله โดยสถานะความเป็นมุสลิมจะบังเกิดแก่เขาทันที อาทิเช่น ร่างกายของเขาและลูกๆจะสิ้นสภาพนะญิส เขาสามารถแต่งงานกับสตรีมุสลิมได้ สามารถทำธุรกรรมกับมุสลิมได้ทุกประเภท ทรัพย์สินและศักดิ์ศรีของเขาจะได้รับการพิทักษ์เป็นพิเศษ ฯลฯ
แต่อย่างไรก็ดี เมื่อปฏิญาณตนเข้ารับอิสลามก็ย่อมมีผลพวงในแง่ความรับผิดชอบทางศาสนา เช่นการนมาซ ถือศีลอด ชำระคุมุส จ่ายซะกาต ประกอบพิธีฮัจย์ ศรัทธาต่อสิ่งที่เหนือญาณวิสัย ยอมรับวันปรโลกสวรรค์และนรก ตลอดจนศรัทธาต่อเหล่าศาสนทูต เหล่านี้ถือเป็นระดับชั้นที่สูงและสมบูรณ์ขึ้นของอีหม่าน
นอกเหนือจากการปฏิบัติศาสนกิจแล้ว การหลีกห่างสิ่งต้องห้ามทางศาสนาย่อมจะช่วยยกระดับอีหม่านได้เป็นอย่างดี
ยิ่งไปกว่านั้น คำสอนของกุรอาน นบี(ซ.ล.)และบรรดาอิมามมะอ์ศูมยังบ่งชี้ว่าอิสลามที่ปราศจากการยอมรับ "วิลายะฮ์"ของอิมามสิบสองท่าน ย่อมถือว่าไม่ครบถ้วนสมบูรณ์และไม่เป็นที่ยอมรับ ณ อัลลอฮ์
นอกจากนี้ จิตใจของมุสลิมผู้ศรัทธาจะต้องปราศจากชิริกและการเสแสร้ง เพราะจะทำให้อะมั้ลอิบาดะฮ์ที่กระทำมาสูญเสียคุณค่าไปโดยปริยาย และจะทำให้หมดโอกาสที่จะได้รับความผาสุก และต้องถูกเผาไหม้ในเพลิงพิโรธของพระองค์ ฉะนั้น ประชากรมุสลิมทั้งหมดที่กล่าวกะลิมะฮ์ล้วนเป็นมุสลิมทุกคน แม้ว่าบางคนจะอยู่ในระดับพื้นฐานของอิสลาม โดยที่การละเลยศาสนกิจบางประการมิได้ส่งผลให้ต้องพ้นสภาพความเป็นมุสลิมแต่อย่างใด
ในเชิงคำศัพท์แล้ว อิสลามแปลว่าการยอมจำนนโดยดุษณี แต่สิ่งที่เป็นที่รับรู้ทั่วไปก็หมายถึง ศาสนาที่ท่านนบีมุฮัมมัด(ซ.ล.)นำเสนอจากพระผู้เป็นเจ้าในฐานะศาสนาอันถาวร(ไม่ถูกยกเลิกจวบจนวันโลกาวินาศ)และครอบคลุมทุกปัญหา
ปัจจัยสำคัญที่จำแนกอิสลามออกจากศาสนาอื่นก็คือ การศรัทธาต่อเตาฮี้ด(เอกานุภาพ)ของอัลลอฮ์ ภาวะศาสนทูตของนบี(ซ.ล.) และการยอมรับสารธรรมเตาฮี้ดอันบริสุทธิ
ความศรัทธาต่ออิสลามมีระดับขั้นที่แตกต่างกัน โดยขอนำเสนอดังต่อไปนี้
ก้าวแรกอันถือเป็นเงื่อนไขในการเข้าสู่อิสลามก็คือ การปฏิญาณตนยอมรับสองหลักการ(เตาฮี้ดและภาวะนบี) ประโยค لا اله الا الله เปรียบเสมือนแก่นของอิสลามที่เป็นศูนย์รวมทุกมิติเตาฮี้ด ส่วนการยอมรับภาวะศาสนทูตของท่านนบี(ซ.ล.)ก็คือการยอมรับในภาวะปัจฉิมศาสดาและปัจฉิมศาสนา รวมถึงเชื่อว่าแนวทางอื่นๆล้วนถูกยกเลิกไปแล้วทั้งสิ้น
ระดับที่สูงขึ้นอีกขั้นหนึ่งของอีหม่าน(ความศรัทธา)เริ่มตั้งแต่การจำนนต่อคำสอนสั่งของท่านนบี(ซ.ล.) โดยมีระดับขั้นที่สูงขึ้นไปอีกเรื่อยๆ
ฉะนั้น ผู้ที่ปฏิญาณตนยอมรับในสองหลักการข้างต้นแล้วจะถือว่าหลุดพ้นสภาวะศาสนิกของศาสนาเก่า และเข้าร่วมในครอบครัวอิสลาม ซึ่งจะทำให้สิทธิหน้าที่บังเกิดแก่เขาในฐานะมุสลิมคนหนึ่ง อาทิเช่น การที่สามารถแต่งงานได้ ทำธุรกรรมได้ การที่เนื้อตัวของเขาและลูกๆไม่เป็นนะญิส[1] นอกจากนี้ การดูแลรักษาทรัพย์สินและศักดิ์ศรีของเขาก็เป็นหน้าเหนือรัฐบาลหรือสังคมอิสลาม นี่คืออีหม่านขั้นพื้นฐานที่ทำให้ไม่สามารถกล่าวหาเขาว่าเป็นกาเฟรมุชริกีนได้
ฉะนั้น แม้บางสำนักคิดอย่างพวกค่อวาริจจะมองว่าผู้กระทำบาปใหญ่คือกาเฟรและสามารถหลั่งเลือดได้ หรือกลุ่มมุอ์ตะซิละฮ์ที่มองว่าคนจำพวกนี้ไม่ไช่ทั้งมุอ์มินและกาเฟร หรือกรณีของกลุ่มวะฮาบีที่ถือว่าการสุญูดบนดินและจุมพิตเอาบะรอกัตจากดินสุสานอิมาม(อ.)ถือเป็นชิริก แนวคิดเหล่านี้ทั้งหมดถือเป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
ทัศนะของชีอะฮ์สิบสองอิมาม(ญะอ์ฟะรียะฮ์)ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของกุรอานและฮะดีษจากบรรดาอิมาม(อ.) ถือว่าอีหม่านและอะมั้ลอิบาดะฮ์(การบำเพ็ญศาสนบัญญัติ)จะได้รับการยอมรับ ณ พระองค์ก็ต่อเมื่อเคียงข้างด้วยการยอมรับอิมามสิบสองท่านในฐานะผู้นำและตัวแทนนบี(ซ.ล.)เท่านั้น ทั้งนี้ก็เนื่องจากภาระผูกพันของการยอมรับนบี(ซ.ล.)และกุรอานในฐานะที่เป็นวิวรณ์บริสุทธิจากพระองค์ก็คือ การปฏิบัติตามคำสอนของนบี(ซ.ล.)และกุรอานทุกกระเบียดนิ้ว และหนึ่งในคำสอนของท่านนบีก็คือการรณรงค์ให้ยึดเหนี่ยวและปฏิบัติตามอะฮ์ลุลบัยต์(อ.) ซึ่งหากมองในมุมกลับ การเพิกเฉยต่ออะฮ์ลุลบัยต์ก็นับเป็นการเพิกเฉยต่อคำสั่งของอัลลอฮ์และนบี(ซ.ล.)ได้เช่นกัน ดังที่กุรอานระบุว่าระดับขั้นอีหม่านอยู่เหนือระดับขั้นการรับอิสลาม
ระดับขั้นอีหม่านเองก็แบ่งออกเป็นหลายระดับด้วยกัน กุรอานได้แจกแจงมาตรวัดอีหม่านไว้ดังนี้ "ความดีงามคือการศรัทธาต่อพระเจ้า และวันพิพากษา และมลาอิกะฮ์ และคัมภีร์ และบรรดานบี"[2] โดยถือว่าการปฏิเสธ การเสแสร้ง และการตั้งภาคี ล้วนเป็นเหตุให้สิ้นสภาพมุสลิมและต้องทนทรมานในนรกชั่วกัปชั่วกัลป์[3] ฉะนั้น มุสลิมที่มีอีหม่านแนระดับที่ต่ำสุดต้องมีคุณสมบัติเหล่านี้เป็นอย่างน้อย
1.ศรัทธาต่อเอกานุภาพทุกประเภทของพระองค์
2. ศรัทธาต่อสถานะศาสนทูตท่านสุดท้ายของนบีมุฮัมมัด(ซ.ล.)
3. เชื่อฟังคำสั่งนบี(ซ.ล.)อาทิเช่นคำสอนเกี่ยวกับวิลายะฮ์ของอะฮ์ลุลบัยต์
4. ศรัทธาต่อชีวิตหลังความตาย ตลอดจนรายละเอียดปลีกย่อยที่กุรอานและฮะดีษจากนบี(.(ซ.ล.)และอิมาม(อ.)ระบุไว้
แต่เนื่องจากอีหม่านที่แท้จริงย่อมมีผลพวงในแง่ศาสนบัญญัติ ฉะนั้น การกล่าวอ้างว่ารับอิสลามแต่ไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของอัลลอฮ์และนบี(ซ.ล.) ย่อมไม่ทำให้เขาพบกับทางนำและความผาสุก แม้จะทำให้เขาได้รับสิทธิทางสังคมในแง่กฏหมายอิสลามก็ตาม ดัวยเหตุนี้เองที่กุรอานถือว่าการบรรลุสู่ชีวิตอันผาสุกจำเป็นต้องมีอีหม่านและอะมั้ลอิบาดะฮ์เคียงคู่กันเสมอ[4]
ผู้ที่มีอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น อ้างอีหม่านโดยไม่ปฏิบัติศาสนกิจ หรือประพฤติดีแต่ไม่ศรัทธา เปรียบเสมือนนกที่มีปีกข้างเดียว ซึ่งแน่นอนว่าไม่สามารถที่จะโผบินสู่ความผาสุกได้เด็ดขาด เว้นแต่จะปรับปรุงตนเองโดยการเติมเต็มอีหม่านและอะมั้ลซอและฮ์ให้ครบถ้วน เพื่อจะได้ใกล้ชิด ณ พระองค์และได้รับสรวงสววรค์ ทั้งนี้เมื่อมีความรู้เกี่ยวกับอิสลาม อีหม่าน ตลอดจนคำบัญชาของอัลลอฮ์และนบี(ซ.ล.)สูงขึ้น กอปรกับมีความบริสุทธิใจในการปฏิบัติศาสนกิจมากขึ้น ย่อมส่งผลให้อีหม่านของเขาได้รับการยกระดับให้สูงยิ่งขึ้นตามลำดับ
ในจุดนี้ขอเน้นบางประเด็นเป็นพิเศษ
1. อีหม่านและอะมั้ลซอและฮ์มีความเชื่อมโยงกันโดยตรง หากอีหม่านแข็งแกร่ง ปริมาณและประสิทธิผลของอะมั้ล ตลอดจนความสามารถในการหลีกเลี่ยงสิ่งต้องห้ามก็จะเพิ่มขึ้นโดยปริยาย ในทำนองเดียวกัน หากปฏิบัติอะมั้ลซอและฮ์และหลีกเลี่ยงสิ่งต้องห้ามเป็นนิจสิน อีหม่านก็จะหยั่งรากลึกในหัวใจมากยิ่งขึ้น กระทั่งทำให้มนุษย์บรรลุความผาสุกสูงสุดของความเป็นมนุษย์อย่างเต็มภาคภูมิ ในทางตรงกันข้าม การทำบาปบ่อยๆก็จะค่อยๆลบเลือนอีหม่านให้อันตรธานไปจากหัวใจ ซึ่งการกระทำบาปเป็นผลพวงมาจากอีหม่านที่อ่อนแอ
2. การศรัทธาต่อนบีท่านอื่นๆตลอดจนคัมภีร์ของพวกท่าน มิได้หมายความว่าเราจะต้องปฏิบัติตามศาสนกิจของท่านเหล่านั้น เนื่องจากศาสนกิจเหล่านี้บางข้อบังคับใช้ในกลุ่มชนบางกลุ่มเป็นการเฉพาะ ซึ่งจะถูกยกเลิกเมื่อมีศาสนกิจใหม่มาแทนที่เสมือนกฏหมายที่หมดอายุความ ฉะนั้น การศรัทธาต่อบรรดานบีจึงหมายถึงการเชิดชูเกียรติภูมิในฐานะศาสนทูตที่ทุ่มเทและเสียสละเพื่ออัลลอฮ์ มิได้หมายรวมถึงการที่ต้องปฏิบัติตามศาสนบัญญัติในยุคของศาสดาเหล่านั้น
3. หลักปฏิบัติที่สำคัญๆ ซึ่งจำแนกมุสลิมออกจากต่างศาสนิกในภาคปฏิบัติ เราเรียกว่า"ฟุรูอุดดีน" โดยผู้ที่มีเงื่อนไขทางศาสนาครบถ้วนจำเป็นต้องเรียนรู้และนำสู่การปฏิบัติ
และหากผู้ใดไม่ถึงขั้นปฏิเสธในหลักการแต่กลับดื้อแพ่งไม่ปฏิบัติ ก็จะทำให้สูญเสียโอกาสที่จะได้เข้าสรวงสวรรค์ และหากไม่แก้ไขให้ดีขึ้นจนถึงบั้นปลายชีวิต ก็จะต้องถูกทรมานชั่วกัปชั่วกัลป์
4. อีหม่านจะต้องมีลักษณะครอบคลุม เพราะความศรัทธาไม่อาจเลือกได้ตามใจชอบ ฉะนั้น มุสลิมที่มีศรัทธาอย่างแท้จริงไม่ได้รับอนุมัติให้เลือกปฏิบัติตามคำสอนศาสนาเฉพาะบางส่วน กุรอานให้เหตุผลว่าพฤติกรรมเช่นนี้ถือเป็นการถือตามกิเลสของตนเอง และนับเป็นการปฏิเสธประเภทหนึ่ง หาไช่ความศรัทธาต่ออัลลอฮ์ นบี และวันพิพากษาไม่[5]
5. อีหม่านและอะมั้ลที่ซอและฮ์มีหลายระดับขั้น ผู้ศรัทธาที่บำเพ็ญความดีมิได้มีสถานภาพที่เท่ากันเสมอไป ระดับขั้นบนสรวงสวรรค์ของแต่ละคนก็แตกต่างกัน ณ พระองค์ ฉะนั้นจึงจะต้องยกระดับอะมั้ลอิบาดะฮ์ไม่ว่าในแง่ปริมาณและคุณภาพด้วยการเรียนรู้ ระมัดระวัง และมุ่งมั่นปฏิบัติตามคำสอนอิสลาม เพื่อจะได้รับการยกระดับให้สูงขึ้นไปอีก[6]
6. การปฏิเสธหลักศรัทธาอิสลาม ตลอดจนการปฏิเสธข้อบังคับทางศาสนาที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งให้กระทำหรือคำสั่งห้ามมิให้กระทำ เท่ากับการปฏิเสธหลักเบื้องต้นของศาสนา และหากตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ก็จะทำให้พ้นจากสภาพความเป็นมุสลิม หรือที่เรียกว่าตกมุรตัด
สรุปคือ ระหว่างการรับอิสลามกับการศรัทธาในอิสลามมีความแตกต่างกัน และดังที่ได้นำเสนอไปแล้วว่าอิสลามและอีหม่านมีหลายระดับขั้นด้วยกัน และประชากรมุสลิมกว่าพันสองร้อยล้านคนที่ปฏิญาณตนด้วยกะลิมะฮ์ชะฮาดะฮ์ ทั้งหมดล้วนถือเป็นมุสลิมและได้รับสิทธิหน้าที่ในฐานะมุสลิม แม้ว่าจะมีระดับขั้นในแง่อิสลามค่อนข้างต่ำก็ตาม ทั้งนี้ก็เพราะการละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาสนาบางข้อ มิได้ทำให้บุคคลพ้นจากสภาพความเป็นมุสลิม
เพื่อศึกษาเพิ่งเติม กุรณาอ่านคำตอบต่อไปนี้
1. รู้จักผู้ศรัทธาที่แท้จริง,คำถามที่ 863
2. ความไม่ตรงกันระหว่างคำสอนอิสลามและพฤติกรรมมุสลิม,คำถามที่ 798
3. กุรอานและการนิยามอิสลามและมุสลิมีน,คำถามที่ 829
หนังสืออ้างอิง
อัลมิลัลวันนิฮัล,อ.ญะอ์ฟัร ซุบฮานี,เล่ม2 หน้า 53
มิลัลวันนิฮัล,อับดุลกะรีน ชะฮ์ริสตานี,สนพ.อัลอันญะโล อิยิปต์,เล่ม 1,2 หน้า 46
บทเรียนเทววิทยาอิสลาม,เล่ม 1 หน้า161-163 เล่ม 2 ,หน้า 135
กัชฟุ้ลมุร้อด,คอญะฮ์นะศีรุดดีน ฏูซี, หน้า 454
บทเรียนหลักศรัทธา,มุฮัมมัดตะกี มิศบาห์ ยัซดี,เล่ม3 หน้า 126-163,บทที่ 54-58
อัคล้ากในกุรอาน,มุฮัมมัดตะกี มิศบาห์ ยัซดี,เล่ม1 หน้า 122-145
[1] ทว่าอุละมาอ์อาจมีความเห็นแตกต่างกันเล็กน้อยในกรณีความเป็นนะญิสของร่างกายต่างศาสนิก(ไม่ว่าเป็นชาวคัมภีร์หรือไม่ก็ตาม) โปรดอ่านหนังสือประมวลศาสนบัญญัติของแต่ละท่าน
[2] อัลบะเกาะเราะฮ์,177,285 และ อันนิซาอ์,136
[3] อันนิซาอ์, 140,145
[4] อันนะฮ์ลิ, 97 และอัลบะเกาะเราะฮ์, 103 อันนิซาอ์, 57,122
[5] อัลบะเกาะเราะฮ์, 85 อันนิซาอ์, 150,151
[6] ย่อความจากคำถามที่ 888(ความเชื่อเบื้องต้นของมุสลิม)