Please Wait
8631
1. โองการที่กล่าวถึงศาสนกิจโดยเฉพาะนั้น มีไม่มากเมื่อเทียบกับกุรอานทั้งเล่ม เนื่องจากกุรอานจะกล่าวถึงหัวข้อศาสนกิจอย่างกว้างๆเช่น นมาซ ศีลอด ...ฯลฯ และปล่อยให้เป็นหน้าที่ของท่านนบี(ซ.ล.)และตัวแทนของท่านที่จะอธิบายกฏเกณฑ์และเงื่อนไขปลีกย่อย จะเห็นได้จากการที่กุรอานเองก็กล่าวถึงกฏเกณฑ์ของศาสนกิจสำคัญอย่างการถือศีลอด,ฮัจย์ไว้เพียงเล็กน้อย และยังเหลือข้อปลีกย่อยอีกมากที่กุรอานมิได้อธิบาย กรณีคุมุสก็มีลักษณะคล้ายคลึงกัน
2. เกี่ยวกับโองการคุมุส(อันฟาล:41) อุละมาอ์ฝ่ายซุนหนี่ต่างแสดงทัศนะกันอย่างเต็มที่ จากฮะดีษบางบทในตำราของพวกเขา ทำให้ฝ่ายซุนหนี่เองก็ยอมรับว่ามีการจ่ายคุมุสในสมัยท่านนบีจริง ทุกวันนี้ข้อแตกต่างระหว่างฝ่ายซุนหนี่กับชีอะฮ์มิไช่เรื่องการยอมรับหลักการคุมุสหรือไม่ หากแต่เป็นข้อแตกต่างทางรายละเอียดเสียมากกว่า
3. เหตุผลที่นำจ่ายคุมุสครึ่งหนึ่งแก่บรรดาซัยยิด(ลูกหลานนบี)นั้น ก็เพราะอัลลอฮ์ทรงห้ามมิให้บุคคลกลุ่มนี้รับทานซะกาตและเศาะดะเกาะฮ์. เมื่อยังมีซัยยิดที่ขัดสนอยู่ในสังคม กอปรกับความจำเป็นที่ต้องรักษาไว้ซึ่งเกียรติภูมิของท่านนบี(ซ.ล.) จึงอนุญาตให้บุคคลกลุ่มนี้รับเงินคุมุสได้
“คุมุส”ถือเป็นศาสนกิจภาคบังคับประเภทหนึ่งในอิสลาม โดยที่กุรอานผูกโยงการมีศรัทธาไว้กับการชำระคุมุส “จงทราบเถิด สิ่งที่สูเจ้าได้รับผลกำไรมานั้น เศษหนึ่งส่วนห้าเป็นกรรมสิทธิของอัลลอฮ์ และเราะซู้ล และเครือญาติ และลูกกำพร้า และผู้ขัดสน และผู้พลัดถิ่น หากสูเจ้ามีศรัทธาต่ออัลลอฮ์...”[1]
กุรอานมักจะกล่าวย้ำเกี่ยวกับเตาฮีด วันกิยามะฮ์ และสภาวะการเป็นเราะซู้ลอยู่บ่อยครั้ง ในขณะที่กล่าวถึงกฏเกณฑ์ศาสนกิจค่อนข้างน้อย ว่ากันว่ามีโองการประเภทนี้เพียง 500 โองการเท่านั้น ซึ่งหากตัดโองการที่ซ้ำหรือคล้ายคลึงกันออกไป ก็จะเหลือเพียงไม่กี่ร้อยโองการ[2] ในขณะที่กฏเกณฑ์และรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆของศาสนกิจแต่ละประเภทนั้น มีจำนวนมากกว่าโองการเหล่านี้หลายเท่าทวีคูณ ด้วยเหตุนี้เอง ในกรณีที่บทบัญญัติศาสนกิจใดไม่มีโองการกุรอานระบุไว้ ผู้รู้ศาสนาทุกแขนงมัซฮับจึงต้องหาคำตอบโดยอาศัยหลักฐานจากฮะดีษที่เชื่อถือได้.
ฉะนั้น เมื่อพิจารณาจากการที่ศาสตร์แห่งฟิกเกาะฮ์มีความหลากหลายมากขึ้น กอปรกับการที่มีฮะดีษจากท่านนบี(ซ.ล.)และบรรดาอิมาม(อ.)มากมายที่สามารถตอบปัญหาทางศาสนกิจได้ เมื่อนั้น หากพบว่ากุรอานกล่าวเกี่ยวกับคุมุสเพียงโองการเดียว ก็ไม่นับว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาดอีกต่อไป เพราะสามารถศึกษากฏเกณฑ์รายละเอียดได้จากฮะดีษที่มีความน่าเชื่อถือจากบรรดาอิมาม(อ) หรืออีกตัวอย่างก็คือ การที่กุรอานกล่าวถึงศาสนกิจสำคัญๆ อย่างการถือศีลอดและการทำฮัจย์ไว้เพียงสามถึงสี่โองการเท่านั้น[3] รายละเอียดปลีกย่อยของรุก่นอิสลามอย่างการนมาซก็ไม่ได้มีการกล่าวถึงในกุรอาน ผู้รู้ของทุกมัซฮับจึงต้องศึกษาเพิ่มเติมจากฮะดีษเพื่อให้แตกฉาน อย่างไรก็ดี แม้กุรอานจะกล่าวถึงคุมุสเพียงโองการเดียว แต่เป็นโองการที่ชัดเจนและครอบคลุมเนื้อหาสำคัญได้เป็นอย่างดี.
ท่านอัลลามะฮ์ ฏอบาฏอบาอี อธิบายโองการดังกล่าวไว้ว่า“غنم”หรือ“غنیمه”นั้น หมายถึงการได้มาซึ่งรายได้ ไม่ว่าจะด้วยการค้าขาย งานช่างฝีมือ หรือจากการสงคราม[4] และแม้ว่าในโองการจะกล่าวถึงสินสงครามก็จริง แต่กรณีตัวอย่างไม่อาจจะเจาะจงความหมายของคำๆหนึ่งได้[5] ฉะนั้น ความหมายของคำดังกล่าวยังคงเป็นความหมายเชิงกว้าง และจากรูปประโยคในโองการทำให้เข้าใจได้ว่าหมายถึงทุกสิ่งที่เรียกว่า“ผลกำไร”ได้ อันนอกเหนือจากสินสงครามแล้ว การทำเหมืองแร่ กรุสมบัติ ไข่มุกที่ต้องดำน้ำลงไปเก็บ และ... อิมามญะว้าด(อ.)กล่าวว่า“สินสงครามและผลกำไรที่พวกท่านได้มา จะต้องชำระคุมุส” หลังจากนั้นท่านได้อัญเชิญโองการคุมุส[6]
ฉะนั้น แม้ว่ากุรอานจะกล่าวถึงเพียงกรณีของสินสงคราม แต่อิมาม(อ.)ได้อธิบายเพิ่มเติมถึงผลกำไรประเภทอื่นด้วย อัลลามะฮ์ ฏอบาฏอบาอีกล่าวว่า“...ทัศนะที่ว่าคุมุสมิได้จำกัดเฉพาะสินสงครามนั้น เราได้มาจากฮะดีษมากมายในระดับมุตะวาติร(เชื่อถือได้)”[7]
ส่วนคำว่า“ذی القربی”นั้น หมายถึงเครือญาติใกล้ชิด ซึ่งในโองการนี้หมายถึงเครือญาติของท่านนบี(ซ.ล.) ซึ่งฮะดีษบางบทระบุชัดเจนว่าหมายถึงบุคคลบางกลุ่มในหมู่เครือญาตินบี(ซ.ล.)มิไช่ทั้งหมด.[8]
มีฮะดีษในขุมตำราฝ่ายซุนหนี่มากมายที่ระบุว่า มีการแจกจ่ายคุมุสในสมัยท่านนบี(ซ.ล.)จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิตท่าน สุยูฏีรายงานจากอิบนิ อบี ชัยบะฮ์ ซึ่งรายงานจาก ญุบัยร์ บิน มุฏอิมว่า “ท่านนบีได้แจกจ่ายส่วนของ“ซิลกุ้รบา”(เครือญาตินบี) แก่บนีฮาชิมและลูกหลานอับดุลมุฏ็อลลิบ ฉันและอุษมาน บิน อัฟฟานจึงเดินเข้าไปหาท่านพร้อมกับกล่าวว่า ท่านจะแจกให้ลูกหลานอับดุลมุฏ็อลลิบซึ่งเป็นพี่น้องของเรา โดยที่ไม่แจกให้เราบ้างกระนั้นหรือ? ทั้งๆที่เราและพวกเขาเป็นเครือญาติชั้นเดียวกัน ท่านนบีตอบว่า “พวกเขา(บนีฮาชิม)ไม่เคยหนีห่างจากเราทั้งยุคญาฮิลียะฮ์และยุคอิสลาม”[9]
ตำราฟิกเกาะฮ์ของฝ่ายซุนหนี่ล้วนมีเนื้อหาเกี่ยวกับคุมุสทั้งสิ้น บางเล่มแทรกในหมวดของซะกาต ส่วนบางเล่มแทรกไว้ในหมวดญิฮาด. กอฎี อิบนุ รุชด์(เสียชีวิต 595ฮ.ศ.) กล่าวไว้หลังแจกแจงทัศนะฝ่ายซุนหนี่เกี่ยวกับคุมุสว่า“ยังมีทัศนะที่ขัดแย้งกันในหมู่สหาย(ผู้รู้อะฮ์ลิสซุนนะฮ์)ว่าบุคคลกลุ่มใหนจึงจะเรียกว่า“ซิลกุรบา” บ้างกล่าวว่าหมายถึงบนีฮาชิมเท่านั้น บ้างเชื่อว่าบนีฮาชิมและบนีอับดุลมุฏ็อลลิบ อย่างไรก็ดี ฮะดีษของญุบัยร์ บิน มุฏอิมคือแหล่งอ้างอิงของทัศนะที่สอง.”[10]
สรุปเบื้องต้นได้ว่า คุมุสมิไช่ประเด็นที่กุขึ้นโดยชีอะฮ์แต่ประการใด ข้อแตกต่างหลักระหว่างทัศนะชีอะฮ์และซุนหนี่เกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือ ชีอะฮ์เชื่อว่าบทบัญญัติคุมุสยังคงบังคับใช้เช่นเดิม เนื่องจากเครือญาติของท่านนบีที่เดือดร้อนขัดสนยังมีอยู่ในสังคม อิมามชาฟิอีก็เชื่อว่าคุมุสในส่วนของซิลกุรบามิได้ถูกยกเลิกภายหลังนบีวะฝาตเช่นกัน.[11]
ส่วนเหตุผลที่ต้องชำระคุมุสและแบ่งครึ่งหนึ่งให้แก่บุคคลที่เป็นซัยยิด(เชื้อสายนบี):
1. ในสังคมมุสลิม ผู้นำจะต้องมีงบประมาณไว้ส่วนหนึ่ง เพื่อธำรงค์ไว้ซึ่งศาสนาของอัลลอฮ์ บังคับใช้กฏหมายของพระองค์ และบริหารสังคมให้อยู่เย็นเป็นสุข ผู้นำสังคมอย่างท่านนบี(ซ.ล.) บรรดาอิมาม(อ.) และเหล่าอุละมาอ์ซึ่งเป็นตัวแทนในยุคที่อิมามเร้นกายนั้น ล้วนแล้วแต่มีค่าใช้จ่ายเพื่อกิจการสาธารณะเช่น ช่วยเหลือผู้ยากไร้ สร้างและดูแลมัสญิด จัดทัพออกสงคราม และกิจกรรมการกุศลอื่นๆ ซึ่งงบประมาณส่วนนี้ได้รับมาจากคุมุส ดังที่ท่านอิมาม(อ.)กล่าวว่า“คุมุสช่วยให้เราทำนุบำรุงศาสนาของพระองค์ได้”[12]
2. คุมุสช่วยพัฒนาจิตวิญญาณให้สมบูรณ์ เนื่องจากผู้ที่ชำระคุมุสตั้งเจตนาปลีกตัวจากกิเลศ และมุ่งแสวงหาความพอพระทัยจากอัลลอฮ์อันเป็นความไพบูลย์สูงสุด.[13]
ส่วนสาเหตุที่ต้องแบ่งคุมุสครึ่งหนึ่งให้แก่เหล่าซัยยิดนั้น เบื้องต้นต้องคำนึงว่าทั้งคุมุสและซะกาตล้วนเป็นภาษีสำหรับรัฐอิสลามทั้งสิ้น ทั้งนี้ก็เพื่อแบ่งสรรงบประมาณอย่างเป็นธรรม และช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคม อย่างไรก็ดี ยังมีข้อแตกต่างระหว่างคุมุสกับซะกาตตรงที่ว่า ซะกาตถือเป็นทรัพย์สินส่วนรวม การจำหน่ายงบประมาณจึงเป็นไปตามจุดประสงค์เพื่อสาธารณะเป็นหลัก ส่วนคุมุสนับเป็นภาษีที่หล่อเลี้ยงรัฐอิสลามโดยตรง ค่าใช้จ่ายของรัฐและผู้ดำเนินการจะได้จากส่วนนี้ เมื่อทราบดังนี้จึงเข้าใจได้ว่า การที่บรรดาซัยยิดถูกห้ามไม่ให้รับซะกาตก็ถือเป็นมาตรการที่ต้องการแยกลูกหลานศาสดาออกจากทรัพย์สินส่วนนี้ เพื่อไม่ให้ศัตรูสร้างข้อครหาได้ว่านบีมุฮัมมัด(ซ.ล.)จัดแจงให้ลูกหลานของตนเข้าไปแทรกแซงทรัพย์สินส่วนรวม แต่อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าในหมู่ซัยยิดก็มีผู้ขัดสนอยู่เช่นกัน ซึ่งก็ต้องได้รับการช่วยเหลือเหมือนคนอื่นๆ สรุปคือ การได้รับคุมุสมิไช่การปฏิบัติสองมาตรฐานเพื่อยกยอซัยยิด แต่เป็นเพียงมาตรการที่ตราไว้เพื่อไม่ให้เป็นข้อครหาในภายหลัง[14] เป็นไปได้อย่างไรที่อิสลามพร้อมที่จะจ่ายงบประมาณซะกาตเพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้ทั่วไป แต่กลับปล่อยลูกหลานนบีให้อดอยากปากแห้งโดยไม่เหลียวแล?! ฉะนั้นหลักการคุมุสจึงมิไช่สิทธิพิเศษเพื่อสรรเสริญเยินยอชนชั้นซัยยิด ทั้งนี้เพราะในแง่จำนวนเงินที่ได้รับก็ไม่ได้มากไปกว่าคนทั่วไปแต่อย่างใด กล่าวได้ว่าอิสลามมีสองกองทุน กองทุนคุมุสและกองทุนซะกาต ผู้ยากไร้ไม่ว่าซัยยิดหรือคนทั่วไป ต่างก็มีสิทธิได้รับการช่วยเหลือจากแต่ละกองทุนในจำนวนเท่ากัน นั่นคือจำนวนเงินที่พอเพียงสำหรับหนึ่งปี. ผู้ยากไร้ทั่วไปได้รับจากกองทุนซะกาต และผู้ยากไร้ที่เป็นซัยยิดจะได้รับจากกองทุนคุมุส และบรรดาซัยยิดไม่มีสิทธิแตะต้องซะกาตเลยแม้แต่บาทเดียว.
[1] ซูเราะฮ์อันฟาล,41.
وَ اعْلَمُوا أَنَّما غَنِمْتُمْ مِنْ شَیْءٍ فَأَنَّ لِلَّهِ خُمُسَهُ وَ لِلرَّسُولِ وَ لِذِی الْقُرْبى وَ الْیَتامى وَ الْمَساکینِ وَ ابْنِ السَّبیلِ إِنْ کُنْتُمْ آمَنْتُمْ بِاللَّهِ و...
[2] กันซุลอิรฟาน,อะกี้ก บัคชอเยชี,หน้า 29.
[3] อ้างแล้ว,หน้า 179,242.
[4] อัลมีซานฉบับแปลฟารซี,เล่ม 9,หน้า 118.
[5] อ้างแล้ว,เล่ม 9,หน้า120.
[6] วะซาอิลุชชีอะฮ์,เล่ม 6,หน้า 8.(บทว่าด้วยสิ่งที่เป็นวาญิบต้องนำจ่ายคุมุส)
[7] อัลมีซานฉบับแปลฟารซี,เล่ม 9,หน้า 136,137.
[8] อ้างแล้ว,เล่ม 9,หน้า 118.
[9] อัดดุรรุล มันษู้ร,เล่ม 3,หน้า 186,อ้างจากอัลมีซาน,เล่ม 9,หน้า 138.
[10] อิบนิ รุชด์,บิดายะตุ้ลมุจตะฮิด,หมวดญิฮาด,หน้า 382,383.
[11] รวมคำถามคำตอบ,เล่ม10,หน้า32.(อะห์กามคุมุส)
[12] อิมามริฏอกล่าวว่า ان اخراجه (خمس) مفتاح رزقکم و تمحیص ذنوبکم (การชำระคุมุสเป็นกุญแจสู่ริซกีและจะนำมาซึ่งอภัยโทษจากพระองค์)วะซาอิลุชชีอะฮ์,เล่ม 6,บทว่าด้วยอันฟาล,บท 3,เล่ม 2.
[13] ตัฟซีร เนมูเนะฮ์,เล่ม 7,หน้า 184.
[14] อ้างแล้ว,หน้า183.