Please Wait
6280
แท้ที่จริงแล้ว ฮะดีษของซุนหนี่นอกจากจะพิสูจน์ได้ถึงความรักต่ออะฮ์ลุลบัยต์ ยังสามารถพิสูจน์ถึงความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามอะฮ์ลุลบัยต์(อ.)โดยดุษณี
ประเด็นหลักที่เป็นเส้นแบ่งระหว่างชีอะฮ์และซุนหนี่ก็คือประเด็นดังกล่าว และช่องว่างระหว่างชีอะฮ์และซุนหนี่ก็คือประเด็นอิมามัตนั่นเอง
ข้อแตกต่างสำคัญระหว่างชีอะฮ์กับมัซฮับอื่นๆก็คือประเด็นปัญหาเกี่ยวกับหลักอิมามัตและภาวะผู้นำของบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ของนบี(ซ.ล.) ต่อไปนี้เป็นความเชื่อโดยสังเขปของชีอะฮ์เกี่ยวกับประเด็นอิมามัต
1. ชีอะฮ์เชื่อว่า อิมาม(อ.)สิบสองท่านที่ได้รับการระบุนามในฮะดีษนบี(ซ.ล.)[1] ปราศจากความผิดพลาด การหลงลืม ตลอดจนบาปกรรมทั้งมวล
2. ชีอะฮ์เชื่อว่า อิมามมะอ์ศูม(อ.) หากไม่นับสถานะการรับวะฮีย์แล้ว มีสถานะเทียบเคียงท่านนบี(ซ.ล.)
3. ชีอะฮ์เชื่อว่า อิมามมะอ์ศูม(อ.) มีอำนาจตักวีนี และมีอิทธิพลต่อปรากฏการณ์ธรรมชาติ
4 . ชีอะฮ์เชื่อว่า อิมามมะอ์ศูม(อ.) เป็นนักปกครองทางการเมื่องและเป็นแกนกลางของสังคม
5. ชีอะฮ์เชื่อว่า อิมามมะอ์ศูม(อ.) มีความชอบธรรมในการพิพากษา และวาญิบจะต้องปฏิบัติตามบุคคลเหล่านี้
6. ชีอะฮ์เชื่อว่า อิมามมะอ์ศูม(อ.) มีความรู้มากที่สุด
แต่เป็นที่น่าเสียดายว่ามัซฮับอื่นๆมิได้เชื่อเช่นนี้ เพียงแต่ยอมรับว่าจะต้องรักอิมามมะอ์ศูม และเชื่อถือเพียงในสถานะนักรายงานฮะดีษที่เชื่อถือได้เท่านั้น
คุณสมบัติสำคัญข้อหนึ่งของชีอะฮ์ก็คือ จะต้องเชื่อฟังท่านอิมามอลี(อ.)และอะฮ์ลุลบัยต์(อ.)โดยดุษณี หลักการนี้สำคัญเป็นอย่างยิ่ง มีฮะดีษจากสายพี่น้องอะฮ์ลิสซุนนะฮ์มากมายระบุว่า อัลลอฮ์จะทรงยอมรับอะมั้ลอิบาดะฮ์ของมวลมนุษย์ต่อเมื่อพวกเขายอมรับภาวะผู้นำของท่านอิมามอลี(อ.)เท่านั้น[2]
8. ชีอะฮ์เชื่อว่าอิมามัตคือกิจของอัลลอฮ์ และบรรดาอิมามมะอ์ศูม(อ.)ทุกท่านล้วนได้รับการแต่งตั้งจากอัลลอฮ์(ผ่านท่านนบี)ทั้งสิ้น
ท่านนบี(ซ.ล.) กล่าวว่า "การมองใบหน้าอลี(อ.) และการระลึกถึงอลี(อ.)ถือเป็นอิบาดะฮ์ อีหม่านของบุคคลจะไม่ได้รับการยอมรับเว้นแต่จะสานมิตรภาพกับเขาและหลีกห่างศัตรูของเขา"[3]
นอกจากนี้ อุละมาอ์ฝ่ายซุนหนี่ยังรายงานอีกว่า
"ท่านนบี(ซ.ล.)กล่าวว่า โอ้ อลี หากผู้ใดบำเพ็ญอิบาดัตยาวนานเท่าอายุขัยของนบีนู้ฮ์ และบริจาคทองเท่าภูเขาอุฮุด และมีอายุยืนยาวกระทั่งเดินเท้าไปทำฮัจย์ถึงพันครั้ง และถูกสังหารระหว่างเขาศ่อฟาและมัรวะฮ์ แต่ทว่าไม่ยอมรับวิลายะฮ์ของเธอ โอ้ อลี เขาจะไม่ได้สูดแม้กลิ่นอายและไม่มีวันได้เชยชมสวรรค์เป็นอันขาด"[4] นัยยะของฮะดีษบทนี้ก็คือ การยอมรับวิลายะฮ์ของอิมามอลี และการหลีกห่างศัตรูของท่าน นั้น ถือเป็นเงื่อนไขของการยอมรับ"อีหม่าน" (ซึ่งย่อมมาก่อนอะมั้ลอิบาดะฮ์)
หากต้องการทราบว่าวิลายะฮ์หมายถึงอะไร จำเป็นต้องพิจารณาคำๆนี้ในสำนวนโองการกุรอานที่กล่าวถึงท่านอิมามอลี(อ.) กุรอานกล่าวว่า "ผู้ปกครองเหนือสูเจ้ามีเพียงอัลลอฮ์ และเราะซู้ลของพระองค์ และบรรดาผู้ศรัทธาที่ดำรงนมาซ และบริจาคทานขณะโค้งรุกูอ์"[5]
เป็นที่แน่ชัดว่าคำว่า "วะลีย์"ในโองการนี้มิได้แปลว่าเพื่อนหรือผู้ช่วยเหลือ ทั้งนี้ก็เพราะวิลายะฮ์ที่แปลว่ามิตรภาพและการช่วยเหลือนั้น หาได้จำกัดเฉพาะผู้ที่ดำรงนมาซโดยบริจาคทานขณะโค้งรุกูอ์ไม่ มิตรภาพระหว่างมุสลิมต้องมีอยู่ และมุสลิมทุกคน ไม่ว่าอยู่ในสถานะที่ต้องบริจาคทานหรือไม่ ก็ควรสานมิตรภาพซึ่งกันและกันอยู่แล้ว ไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องเฉพาะเจาะจงผู้ที่บริจาคทานขณะโค้งรุกูอ์แต่อย่างใด
เพราะฉะนั้น "วะลีย์"ในบริบทของโองการดังกล่าวจึงหมายถึงการปกครอง การถือครอง และภาวะผู้นำทั้งทางกายและจิตใจเท่านั้น สังเกตุได้จากการที่วิลายะฮ์ดังกล่าวเชื่อมต่อเข้ากับวิลายะฮ์ของท่านนบี(ซ.ล.)ตลอดจนวิลายะฮ์ของอัลลอฮ์อย่างต่อเนื่องในประโยคเดียวกัน
ตำรับตำราฝ่ายซุนหนี่หลายเล่มบันทึกฮะดีษที่ระบุชัดเจนว่า โองการดังกล่าวมีเนื้อหาเกี่ยวกับท่านอิมามอลี(อ.) โดยฮะดีษบางบทสาธยายถึงรายละเอียดที่ว่าท่านบริจาคแหวน แต่บางบทก็มิได้ให้รายละเอียดใดๆ แต่กล่าวเพียงว่าโองการนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับท่านอิมามอลี(อ.)[6]
หากผู้ใดมีทัศนคติต่อประเด็นอิมามัตเสมือนชีอะฮ์ แน่นอนว่าวิถีชีวิตของเขาจะพลิกผันไปจากเดิม เขาจะไม่สอบถามปัญหาศาสนาจากคนทั่วไป จะไม่ยอมอยู่ใต้อาณัติของตาสีตาสา แต่จะเชื่อฟังและภักดีต่ออิมามมะอ์ศูมีน(อ.)เท่านั้น
อย่างไรก็ดี แม้ผู้ดำเนินตามมัซฮับอื่นๆจะรักและให้เกียรติท่านอิมามอลี(อ.)และวงศ์วาน(อิมามมะอ์ศูม)เพียงใด แต่ทว่าวิลายะฮ์ตามความหมายที่สมบูรณ์อันตรงตามนัยยะของกุรอานและวจนะท่านนบี(ซ.ล.) มีการถือปฏิบัติในสายธารชีอะฮ์สิบสองอิมามเท่านั้น ทั้งนี้ มุสลิมทุกคนมีหน้าที่จะต้องเลือกเฟ้นแนวทางที่ใกล้เคียงวิถีของกุรอานและท่านนบี(ซ.ล.)มากที่สุด ฉะนั้น หากพี่น้องซุนหนี่เลื่อมใสในหลักการดังกล่าว ซึ่งก็คือการน้อมรับคำสอนของกุรอานและฮะดีษที่รณรงค์ให้ยอมรับวิลายะฮ์ทุกด้านของบรรดาอิมาม ไม่ว่าในแง่วิชาการก็ดี การเมืองก็ดี หรือทางศาสนาก็ตาม หากเป็นเช่นนี้ได้ ช่องว่างระหว่างอุมมัตอิสลามก็จะได้รับการเติมเต็ม
หากพิจารณาในหน้าประวัติศาสตร์จะพบว่ามุสลิมบางกลุ่มยึดแนว ก็อดรี บางกลุ่มยึดแนวตัฟวีฎี[7] การแบ่งก๊กแบ่งเหล่าเช่นนี้เกิดจากการหันห่างจากแนวทางของบรรดาอิมามทั้งสิ้น หาไม่แล้วความเชื่อผิดๆเหล่านี้ย่อมไม่เกิดขึ้นในหมู่มุสลิม อันจะส่งผลให้เกิดความเบี่ยงเบนเช่นนี้เป็นแน่
ฉะนั้น หากพี่น้องซุนหนี่เห็นพ้องกับความเชื่อของชีอะฮ์ในประเด็นอิมามัตและนำสู่ภาคปฏิบัติ ก็จะถือว่ารับสายธารชีอะฮ์แล้ว และแน่นอนว่าพวกเขาจะต้องเรียนรู้ว่าอะฮ์ลุลบัยต์(อ.)มีคำสอนสำหรับการดำเนินชีวิตอย่างไรบ้าง และจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรในแง่ชะรีอัต.
หากต้องการศึกษาเพิ่มเติม กรุณาอ่านหนังสือ "ชีอะฮ์" (การเสวนาระหว่างศาสตราจารย์ อองรี กอร์บิง กับ อัลลามะฮ์ มุฮัมมัด ฮุเซน เฏาะบาเฏาะบาอี) และคำถามหมายเลข 1000
[1] บิฮารุลอันว้าร, เล่ม 36,หน้า 362
[2] มะนากิ๊บ คอรัซมี,หน้า 19, 252
[3] อ้างแล้ว, หน้า 19, 212 และ กิฟายะตุฏฏอลิบ, กันญี ชาฟิอี,หน้า 214, «... النظر الی وجه امیرالمؤمنین علی بن ابیطالب عبادة و ذکره عبادة ولایقبل الله ایمان عبد الا بولایته والبرائة من اعدائ
[4] "… ثم لم یوالیک یا علی لم یشم رائحة الجنة ولم یدخلها"مناقب، خطیب خوارزمی ค่อฏี้บ คอรัซมี, มักตะลุ้ลฮุเซน(อ.), เล่ม 1, หน้า 37
[5] ซูเราะฮ์มาอิดะฮ์, 55 انَّما وَلِیُّکُمُ اللَّهُ وَ رَسُولُهُ وَ الَّذِینَ آمَنُوا الَّذِینَ یُقِیمُونَ الصَّلاةَ وَ یُؤْتُونَ الزَّکاةَ وَ هُمْ راکِعُونَ
[6] ตัฟซี้ร เนมูเนะฮ์, เล่ม 4, หน้า 424,425
[7] ในยุคแรกเริ่มของอิสลาม อะฮ์ลิสซุนนะฮ์มีสองทัศนะหลักเกี่ยวกับการกระทำของมนุษย์ กลุ่มหนึ่งเชื่อว่าในเมื่อการกระทำของมนุษย์ขึ้นอยู่กับพระประสงค์ของอัลลอฮ์เสมอ จึงถือว่าการกระทำของมนุษย์ถูกกำหนดไว้แล้ว การตัดสินใจของมนุษย์จึงไม่มีคุณค่าใดๆ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งถือว่ามนุษย์มีอิสระที่จะเลือกกระทำ โดยไม่ติดพันอยู่กับพระประสงค์ของพระเจ้า จึงหลุดจากบ่วงก่อดัรของพระองค์
แต่ในคำสอนของอะฮ์ลุลบัยต์นบี(ซ.ล.)อันสอดคล้องกับตัวบทกุรอานนั้น มนุษย์มีเสรีภาพที่จะเลือกกระทำ ทว่าไม่มีอิสรภาพโดยสมบูรณ์ ทั้งนี้เพราะอัลลอฮ์จุติการกระทำของมนุษย์ให้เกิดขึ้นพร้อมกับเสรีภาพในการเลือกกระทำ กล่าวคือ อัลลอฮ์ได้บันดาลการกระทำของมนุษย์ขึ้นมาโดยกำหนดให้มีองค์ประกอบหลายประการ ซึ่งเสรีภาพของมนุษย์ในการเลือกกระทำก็คือหนึ่งในองค์ประกอบดังกล่าว ทำให้การกระทำนั้นๆจุติขึ้นตามพระประสงค์ของพระองค์ ขณะเดียวกัน มนุษย์ก็มีเสรีภาพในการเลือกด้วย
สรุปคือ การกระทำที่เกิดขึ้น ถือว่าจะ"ต้อง"เกิดขึ้นเนื่องจากครบองค์ประกอบแล้ว แต่หากมองจากมุมของมนุษย์ผู้กระทำ(ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบ) ก็จะมองได้ว่าเป็นการกระทำตามใจปรารถนาของมนุษย์
มุฮัมมัด ฮุเซน เฏาะบาเฏาะบาอี, ชีอะฮ์ในอิสลาม, หน้า 79
หนังสือที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้
ก. มนุษยศึกษา, มะฮ์มู้ด เราะญะบี, บทที่ 5,6, สถาบันศึกษาและวิจัย อิมามโคมัยนี (ร.)
ข. บทเรียนปรัชญา, อ.มิศบาฮ์ ยัซดี, เล่ม 2, บทเรียนที่ 69, องค์กรเผยแพร่อิสลาม
ค. ความเที่ยงธรรมของพระเจ้า, อ.ชะฮีด มุรตะฎอ มุเฏาะฮะรี, สำนักพิมพ์อิสลามี