Please Wait
18226
“ชุโกร”ในทางภาษาอรับหมายถึง การมโนภาพเนียะอฺมัต(ความโปรดปรานจากพระองค์)แล้วเผยความกตัญญูรู้คุณผ่านคำพูดหรือการกระทำ[i] ส่วนที่ว่าทำไมต้องชุโกรขอบคุณพระองค์ในฐานะที่ประทานเนียะอฺมัตต่างๆนั้น ขอให้ลองพิจารณาประเด็นต่อไปนี้:
1. ความจำเป็นที่จะต้องขอบคุณผู้ให้ปัจจัยแก่เรานั้น ถือเป็นสัญชาตญาณโดยปกติของมนุษย์ จิตใต้สำนึกของคนเรากำกับให้ต้องแสดงอาการขอบคุณผู้ที่ช่วยเหลือหรือมอบปัจจัยให้ ฉะนั้นเมื่อคนเรารับรู้ได้ว่า มีผู้เปี่ยมด้วยพลานุภาพประทานลาภแก่เราเสมอไม่ว่าวัตถุปัจจัยหรือเนียะอฺมัตอันเป็นนามธรรม เราย่อมหาทางรู้จักผู้นั้นเพื่อแสดงการขอบคุณ ด้วยเหตุนี้เองที่การขอบคุณต่อเนียะอฺมัตของอัลลอฮ์จึงมีที่มาทางสติปัญญามากกว่าจะเป็นข้อบังคับทางศาสนา
2. แม้ว่าอัลลอฮ์ไม่ทรงต้องการคำขอบคุณใดๆจากมนุษย์ แต่ด้วยทรงตระหนักดีว่าการขอบคุณจะนำมาซึ่งผลประโยชน์ในโลกนี้และโลกหน้าแก่เรา จึงได้กำชับให้เราขอบคุณต่อเนียะอฺมัตของพระองค์ อัลกุรอานระบุไว้ว่าผู้ขอบคุณจะได้รับเนียะอฺมัตเพิ่มขึ้น แต่ผู้เนรคุณจะถูกลงโทษอย่างสาสม
3. การขอบคุณถือเป็นกุญแจที่ไขสู่ความผาสุกทั้งปวง และเปรียบดั่งต้นสายปลายเหตุของบาเราะกัตจากพระองค์ ที่จะนำพาให้เราได้ใกล้ชิดความเมตตาของพระองค์ทีละก้าวด้วยความรักที่เรามี ด้วยเหตุนี้ แม้พระองค์จะไม่ต้องการคำขอบคุณจากเรา แต่ด้วยความหวังดีต่อเรา พระองค์จึงกำชับให้เราต้องขอบคุณพระองค์
4. แน่นอนว่าไม่มีใครสามารถขอบคุณเนียะอฺมัตของพระองค์ได้อย่างทั่วถึง ส่วนการขอบคุณที่ประเสริฐสุดก็คือ การสารภาพและขออภัยจากพระองค์เนื่องจากไม่สามารถขอบคุณอย่างครบถ้วน
“ชุโกร”ในทางภาษาอรับหมายถึง การมโนภาพเนียะอฺมัต(ความโปรดปรานจากพระองค์)แล้วเผยความกตัญญูรู้คุณผ่านคำพูดหรือการกระทำ[1] ส่วนที่ว่าทำไมต้องชุโกรขอบคุณพระองค์ในฐานะที่ประทานเนียะอฺมัตต่างๆนั้น ขอให้ลองพิจารณาประเด็นต่อไปนี้:
1. ความจำเป็นที่จะต้องขอบคุณผู้ให้ปัจจัยแก่เรานั้น ถือเป็นสัญชาตญาณโดยปกติของมนุษย์ จิตใต้สำนึกของคนเรากำกับให้ต้องแสดงอาการขอบคุณผู้ที่ช่วยเหลือหรือมอบปัจจัยให้ เพราะผู้มีสามัญสำนึกทุกคนจะถือว่าผู้ที่เนรคุณผู้อื่นด้อยค่ากว่าสิงสาราสัตว์ เนื่องจากสัตว์บางประเภทยังแสดงความซื่อสัตย์ต่อผู้มีบุญคุณ ด้วยเหตุผลทางปัญญาดังกล่าว เมื่อทราบว่าพระองค์ทรงประทานเนียะอฺมัตอันยิ่งใหญ่และมากมายมหาศาลแก่เราไม่จะในด้านวัตถุปัจจัยหรือเนียะอฺมัตอันเป็นนามธรรม เราจึงไม่อาจจะนิ่งดูดายโดยไม่สนใจขอบคุณและให้เกียรติพระองค์เท่าที่จะกระทำได้ นั่นหมายความว่า สามัญสำนึกดังกล่าวที่มนุษย์ทุกคนมีนั้น จะผลักดันให้ต้องทำความรู้จักผู้มีพระคุณต่อเรา เนื่องจากก่อนที่เราจะขอบคุณใครสักคน เราจะต้องรู้จักเขาเสียก่อน[2].
2. การรับรู้คุณประโยชน์ของการขอบคุณจะทำให้เราเข้าใจความจำเป็นดังกล่าว
โดยทั่วไปแล้ว หากรามีโอกาสได้ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น เราก็มักจะคาดหวังให้ผู้อื่นกล่าวขอบคุณ แต่ในกรณีของอัลลอฮ์นั้น พระองค์ทรงไม่ต้องการคำขอบคุณใดๆจากมนุษย์ เพราะแม้มนุษย์ทั้งโลกแสดงท่าทีเนรคุณพระองค์ ก็มิได้ทำให้ความเกรียงไกรของพระองค์พร่องลงแต่อย่างใด ทั้งนี้แม้พระองค์จะไม่ต้องการคำขอบคุณ แต่ก็ทรงกำชับให้มนุษย์แสดงการขอบคุณ เนื่องจากทรงทราบดีถึงผลประโยชน์ที่มนุษย์เองจะได้รับ ดังที่กุรอานกล่าวได้แจ้งข่าวดีแก่ผู้ที่กตัญญูรู้คุณพระองค์ ทว่าเมินเฉยต่อการเนรคุณ: “ผู้ที่แสดงการขอบคุณ แท้จริงเขาเท่านั้นที่ได้รับคุณประโยชน์จากการขอบคุณ และผู้ใดที่เนรคุณ แท้จริงอัลลอฮ์ทรงไม่ต้องพึ่งพาผู้ใด[3]” ยิ่งไปกว่านั้นยังกล่าวว่าการเนรคุณจะนำมาซึ่งไฟนรกอีกด้วย “...และหากสูเจ้าเนรคุณ แท้จริงการลงทัณฑ์ของข้ายิ่งใหญ่นัก”[4]
ในความเป็นจริงแล้ว อัลลลอฮ์ทรงยิ่งใหญ่เกินกว่าที่จะกลั่นแกล้งผู้ที่เนรคุณพระองค์ ทว่าการเนรคุณจะนำความอัปยศมาสู่มนุษย์โดยอัตโนมัติ อาทิเช่น การขาดแคลนลาภพร และการเลือนหายไปของการบำเพ็ญความดี การเสียสละ และความเอื้ออาทรจากสังคมมนุษย์ ส่วนการขอบคุณผู้ประทานลาภย่อมจะนำมาซึ่งฐานะภาพอันสูงส่งอันเหมาะสมสำหรับมนุษย์ที่แท้จริง
กล่าวคือ การกำชับให้มนุษย์แสดงการขอบคุณพระองค์ก็เพื่อให้ได้รับคุณประโยชน์แก่ตนเอง และหากพิจารณาให้ดีจะเข้าใจถึงเหตุผลที่ต้องขอบคุณพระองค์ดังต่อไปนี้:
ก. บุคคลหรือสังคมที่ขอบคุณต่อเนียะอฺมัตพระองค์ด้วยกาย วาจา ใจ ย่อมเป็นเครื่องชี้วัดว่าบุคคลหรือสังคมดังกล่าวควรค่าแก่การได้รับเนียะอฺมัตต่อไป และจากการที่การงานของอัลลอฮ์ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งเหตุและผล ในลักษณะที่พระองค์จะไม่ทรงประทานหรือระงับลาภของผู้ใดโดยปราศจากเหตุอันสมควร เมื่อพิจารณาในกุรอานจะพบว่า การขอบคุณต่อเนียะอฺมัตคือสาเหตุของการเพิ่มพูนเนียะอฺมัต มีฮะดีษจากท่านอิมามอลี(อ.)ว่า“การใหลมาเทมาของเนียะอฺมัตเป็นผลจากการขอบคุณพระองค์”[5]
ข. เมื่อความกตัญญูรู้คุณแผ่ซ่านในจิตใจมนุษย์แล้ว การขอบคุณพระเจ้าจะนำพาสู่การขอบคุณเพื่อนมนุษย์ แน่นอนว่าการขอบคุณผู้อื่นที่ได้ให้การช่วยเหลือแบ่งเบาภาระ ย่อมจะเป็นการส่งเสริมให้เขามีกำลังใจในการทำความดีต่อไป และจะช่วยพัฒนาศักยภาพของคนในสังคมทั้งในแง่วัตถุและศีลธรรม
ค. การขอบคุณพระเจ้าจะนำพาสู่การรู้จักพระองค์ ส่งผลให้สามารถสานสัมพันธ์กับพระองค์ได้อย่างแนบแน่น ซึ่งนอกจากจะทำให้รู้จักผู้ประทานลาภแล้ว ยังทำให้ตระหนักถึงคุณค่าของลาภพรที่ได้รับอีกด้วย การตระหนักถึงคุณค่าของเนียะอฺมัตนี้เองที่จะเสริมสร้างความรักที่มีต่อพระองค์ให้เบ่งบานยิ่งขึ้น
3. แน่นอนว่าไม่มีใครสามารถแสดงการขอบคุณพระองค์ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่า ปัจจัยทั้งหมดที่เราจะใช้ในการขอบคุณพระองค์ ไม่ว่าจะเป็นความคิด ปัญญา ลิ้น สองมือ สองเท้า ฯลฯ นั้น ล้วนแล้วแต่เป็นเนียะอฺมัตจากพระองค์ทั้งสิ้น นั่นหมายความว่าก่อนที่เราจะคนึงคิดหรือเอ่ยปากขอบคุณลาภอื่นๆของพระองค์ เราก็ต้องขอบคุณลาภแห่งการมีปัจจัยเหล่านี้เสียก่อนด้วย ด้วยเหตุนี้เองที่ฮะดีษต่างๆระบุว่า การขอบคุณพระองค์ที่ประเสริฐสุดก็คือ การขอขมาพระองค์เนื่องจากไม่สามารถขอบคุณพระองค์อย่างครบถ้วนตามรายการเนียะอฺมัตที่ทรงประทานได้ ทั้งนี้เพราะนอกจากวิธีนี้แล้ว ก็ไม่มีวิธีใดที่จะแสดงการขอบคุณที่สอดคล้องกับความยิ่งใหญ่ของพระองค์ได้เลย[6]
สรุปคือ การขอบคุณพระองค์ไม่เพียงแต่มีสาเหตุมาจากสามัญสำนึกของมนุษย์เท่านั้น แต่ยังเป็นมูลเหตุที่ทำให้ได้รับความผาสุกและความจำเริญจากพระองค์ทุกประการ ส่งผลให้มนุษย์สามารถใกล้ชิดความรักที่มีต่อพระเจ้าทีละระดับ นอกจากนี้ยังเอื้ออำนวยให้มนุษย์เกิดความยำเกรง และส่องสว่างให้พบเส้นทางแห่งการเป็นบ่าวที่ทอดยาวสู่ความผาสุกอันยั่งยืน ด้วยเหตุผลเหล่านี้เอง แม้พระองค์จะไม่ต้องการคำขอบคุณใดๆจากเรา ทว่าด้วยตระหนักถึงคุณประโยชน์ดังที่กล่าวมา พระองค์จึงกำชับให้เราแสดงการขอบคุณพระองค์.
[1] มุฟร่อด้าต รอฆิบ,หน้า 265,คำว่า ชุกร์.
[2] เตาฮีดจากปริทรรศน์ปัญญาและฮะดีษ,ญะอ์ฟัร กะรีมี,กุดเราะตุลลอฮ์ ฟุรกอนี,บทเกี่ยวกับความจำเป็นต้องรู้จักพระเจ้า.(เปลี่ยนแปลงเล็กน้อย)
[3] ซูเราะฮ์ลุกมาน, 12, «وَ مَنْ یَشْکُرْ فَاِنَّما یَشْکُرُ لِنَفْسِهِ وَ مَنْ کَفَرَ فَاِنَّ اللّهَ غَنِىُّ حَمیدٌ».
[4] ซูเราะฮ์อิบรอฮีม, 7, لَئِنْ شَکَرْتُمْ لَأَزیدَنَّکُمْ وَ لَئِنْ کَفَرْتُمْ إِنَّ عَذابی لَشَدیدٌ.
[5] ฆุร่อรุ้ลฮิกัม ฉบับฟารซี,เล่ม 3,หน้า 328, ثمَرَةُ الشُّکْرِ زِیادَةُ النِّعَمِ.
[6] อัคล้ากในกุรอาน,อ.มะการิม ชีรอซี,เล่ม 3,หน้า 80,81.