Please Wait
6771
ทักษะพิเศษดังกล่าวมีการอธิบายที่หลากหลาย อาทิเช่น ทฤษฎี “สูญสลายและจุติ”ที่นำเสนอโดยอิบนิ อะเราะบี ทฤษฎีดังกล่าวเชื่อว่าผู้ที่มีทักษะฏอยยุลอัรฎ์สามารถสูญสลายจากสถานที่หนึ่ง และจุติขึ้น ณ จุดหมายปลายทางได้. แต่อีกทฤษฎีหนึ่งเชื่อว่าฏอยยุลอัรฎ์คือพลวัตความเร็วสูงของร่างกายภายใต้แรงขับเคลื่อนของจิตวิญญาณอันทรงพลัง.
แต่แม้เราจะยอมรับทฤษฎีใดก็ตาม ข้อเท็จจริงก็คือ บุคคลทั่วไปไม่สามารถมีทักษะพิเศษนี้ได้นอกจากเอาลิยาอ์ของอัลลอฮ์เท่านั้น.
เกี่ยวกับการอธิบายและวิเคราะห์เชิงปรัชญาเกี่ยวกับทักษะพิเศษ“ฏอยยุลอัรฎ์”นั้น นักวิชาการได้นำเสนอชุดคำอธิบายที่หลากหลาย หนึ่งในนั้นคือทฤษฎี “สลายและจุติ” นำเสนอโดยมุฮ์ยิดดีน อะเราะบี อันเป็นที่ยอมรับของนักวิชาการชั้นนำหลายท่าน ทฤษฎีนี้นิยามทักษะดังกล่าวว่า เป็นการสลายตน ณ สถานที่หนึ่ง และจุติขึ้น ณ สถานที่ๆต้องการ.
คำอธิบายดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นฐานของทฤษฎี“พลวัตอาตมัน”ในแง่อภิปรัชญา หรือหลัก“ซ้ำซ้อนสิ่งคล้ายคลึง”ในทางรหัสยนิยม(อิรฟาน). เกี่ยวกับประเด็นนี้ ทั้งวัตถุและสิ่งพ้นญาณวิสัยในมุมมองของหลักซ้ำซ้อนสิ่งคล้ายคลึง และเพียงวัตถุตามหลักพลวัตอาตมัน ล้วนสูญสลายและจุติขึ้นใหม่หลังได้รับความการุณย์ใหม่ทุกขณะจิต. อีกนัยหนึ่ง เพราะการที่ทุกสรรพสิ่งล้วนได้รับความการุณย์จากแหล่งกำเนิดของการมีอยู่(อัลลอฮ์)ในแต่ละเสี้ยววินาทีจึงทำให้ยังคงดำรงอยู่ได้ นั่นหมายความว่าหากความการุณย์ถูกระงับไป ทุกสรรพสิ่งก็จะค้างอยู่ในสุญญตาจนกว่าจะได้รับมอบความการุณย์อีกครั้ง.
เพื่อความกระจ่างในประเด็นนี้ เราจะขอยกตัวอย่างแสงสว่างของหลอดไฟทั่วไปที่เปล่งแสงต่อเนื่องประหนึ่งเป็นแสงเดียวกัน หลอดไฟสว่างก็เพราะได้รับกระแสไฟฟ้าอย่างต่อเนี่อง หากเสี้ยววินาทีใดกระแสไฟฟ้าถูกตัด หลอดไฟก็จะดับทันที ทุกอย่างก็จะมืดครึ้มจนกว่าหลอดไฟจะได้รับกระแสไฟฟ้าอีกครั้ง กล่าวคือ หลอดไฟย่อมดับไปตามปกติวิสัยของมัน แต่จะสว่างขึ้นใหม่ก็เพราะได้รับกระแสไฟฟ้า การที่เราเห็นเป็นแสงเดียว นั่นก็เพราะการดับของหลอดไฟเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเรามองไม่เห็น จึงคิดไปว่าหลอดไฟเปล่งแสงเดียวกันตลอด.
ทุกสรรพสิ่งในโลกล้วนสูญสลายและจุติขึ้นใหม่ทุกขณะหลังได้รับความการุณย์ใหม่ ทว่าเราไม่สามารถมองเห็นได้เนื่องจากกระบวนการดังกล่าวหมุนเวียนอย่างรวดเร็ว จึงคิดไปว่าการมีอยู่ของสรรพสิ่งต่างๆมีลักษณะคงที่และปราศจากพลวัต.
ผู้ที่มีทักษะพิเศษ“ฏอยยุลอัรฎ์”นั้น แท้ที่จริงทักษะพิเศษของเขาคือการแยกสถานที่ขณะสุญญตาออกจากสถานที่ขณะจุติขึ้นใหม่ เราจึงเห็นว่าเขาสามารถล่องหนจากสถานที่หนึ่งและปรากฏกายอีกที่หนึ่ง โดยที่สถานะและเงื่อนไขทางกาลและเทศะของผู้อื่นยังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง กล่าวคือ ผู้มีทักษะพิเศษดังกล่าวแม้จะยังไม่เริ่มกระบวนการฏอยยุลอัรฎ์ เขาก็อยู่ในกฏแห่งการสูญสลายและจุติใหม่ทุกขณะอยู่แล้ว ต่อเมื่อเขากระทำฏอยยุลอัรฎ์ การสลายและจุติก็ยังเกิดขึ้นปกติ เพียงแต่“ภาชนะ”แห่งการสลายของเขาต่างจากภาชนะแห่งการจุติเท่านั้น ก่อนกระทำฏอยยุลอัรฎ์เขาจุติขึ้นใหม่ในสถานที่ๆสูญสลายไป แต่เมื่อกระทำฏอยยุลอัรฎ์ เขาจะจุติขึ้นในสถานที่ๆต้องการ ซึ่งมิไช่สถานที่ๆเขาสูญไป.
ทั้งหมดนี้ก็คือการวิเคราะห์ฏอยยุลอัรฎ์ตามทฤษฎีของ มุฮ์ยิดดีน อะเราะบี โดยสังเขป[1]
ส่วนอีกทฤษฎีหนึ่งอธิบายว่า ฏอยยุลอัรฎ์เกิดจากการที่ผู้มีทักษะนี้เคยต่อสู้กับกิเลสตัณหาและฝึกฝนจิตวิญญาณของตนจนกระทั่งเข้มแข็งและสามารถควบคุมร่างกายได้ และเนื่องจากวิญญาณมนุษย์สามารถท่องไปในทุกสถานที่ด้วยความเร็วสูง ร่างกายของคนเหล่านี้ก็เคลื่อนที่ได้รวดเร็วเช่นกัน.
ทักษะแห่งฏอยยุลอัรฎ์ที่บรรดาเอาลิยาอ์ของอัลลอฮ์ได้รับนั้น เกิดจากการขัดเกลาจิตวิญญาณและการฝึกฝนตามหลักชะรีอะฮ์ ส่งผลให้ร่างกายมีสมรรถนะคล้ายวิญญาณ และจากการที่วิญญาณมีสมรรถนะพิเศษ ร่างกายของคนเหล่านี้จึงมีสรรถนะพิเศษเช่นกัน.
“กายชาติดินส่องสกาวที่ปลายฟ้าด้วยแรงปรารถนา
ขับเคลื่อนภูผาให้ฟ้อนรำอย่างอ่อนช้อย”[2]