Please Wait
13013
มีข้อแนะนำบางอย่างที่คุณพ่อและคุณแม่ควรปฏิบัติก่อนจะมีบุตร อาทิเช่น ปฏิบัติศาสนกิจอย่างครบถ้วน ปฏิบัติตามคำแนะนำเกี่ยวกับการร่วมหลับนอน บริโภคอาหารที่ฮะลาลและสะอาดโดยเฉพาะผลไม้นานาชนิด เข้ารับการตรวจโรคทางพันธุกรรม งดความเครียด มองทิวทัศน์ที่สวยงาม รักษาสุขอนามัย ออกกำลังกาย ฯลฯ
หากปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้ได้ครบถ้วน ก็จะทำให้มีสมาชิกครอบครัวที่มีสุขภาพดีและประสบความสำเร็จในชีวิต ส่งผลให้สังคมก้าวสู่ความผาสุกในอุดมคติ
ลูกๆเปรียบเสมือนดอกไม้งามในสวนหย่อมแห่งชีวิต พวกเขาคืออนาคตของสังคม และเพื่อให้สังคมมุสลิมเจริญก้าวหน้า อิสลามจึงนำเสนอเกร็ดความรู้เกี่ยวกับการมีบุตรไว้อย่างงดงามและเหมาะสมดังต่อไปนี้:
1. เลือกเฟ้นคู่ครองที่เหมาะสม
ความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยายากจะหาสิ่งใดมาเปรียบปาน อัลลอฮ์จึงทรงถือว่าความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของพระองค์ “และหนึ่งในสัญลักษณ์ของพระองค์ก็คือ การที่พระองค์ทรงสร้างคู่ครองเสมอเหมือนสูเจ้า เพื่อให้สูเจ้าได้พบกับความสงบ และได้ทรงบันดาลให้เกิดไมตรีจิตและความรักระหว่างสูเจ้า แน่นอน สำหรับผู้ไคร่ครวญในสิ่งเหล่านี้ ย่อมมีสัญลักษณ์ของพระองค์แฝงอยู่”[1]
อีกด้านหนึ่ง เด็กๆก็มีสิทธิที่จะมีสุขภาพกายและใจที่สมบูรณ์ และแน่นอนว่าสุขอนามัยส่วนหนึ่งของของเด็กได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากพ่อแม่ ด้วยเหตุนี้ อิสลามจึงแนะนำให้หนุ่มสาวพิจารณาลักษณะนิสัยและสุขภาพของคนรักให้ถี่ถ้วนก่อนจะตัดสินใจมีครอบครัว ทั้งนี้ก็เพื่อให้บุตรหลานมีสุขภาพกายและใจที่สมบูรณ์ ท่านนบี(ซ.ล.)กล่าวว่า“จงเลือกเฟ้นสถานที่อันเหมาะสมสำหรับอสุจิของพวกท่าน เพราะแท้จริงแก่นแท้(ยีน)ถ่ายทอดกันได้”[2]
อีกฮะดีษหนึ่งกล่าวว่า“พึงหลีกเลี่ยงต้นกล้าเขียวที่งอกเงยจากกองขยะ” มีผู้ถามว่าโอ้ร่อซูลุลลอฮ์ สิ่งนั้นคืออะไรเล่า? ท่านตอบว่า“สตรีผู้เลอโฉมที่เติบโตในครอบครัวที่ต่ำทราม”[3]
ด้วยเหตุนี้ การตรวจสุขภาพทางพันธุกรรมจึงจำเป็นอย่างยิ่งต่อสุขภาพกายและใจของบุตรหลานที่จะเกิดมา
2. ดุอาและเตรียมความพร้อมในการเลี้ยงดูบุตร
อิมามซัยนุลอาบิดีน(อ.)ได้สอนดุอาบทหนึ่งแก่สาวกของท่าน โดยให้อ่านเจ็ดสิบจบ แล้วจึงขอให้พระองค์ประทานบุตรให้ ซึ่งมีใจความว่า“โอ้อัลลอฮ์ โอ้ผู้สืบสานที่ประเสริฐยิ่ง โปรดอย่าปล่อยให้ข้าพระองค์อยู่โดยลำพัง ขอทรงประทานผู้ช่วยเหลือแก่ข้าฯ เพื่อเป็นตัวแทนในขณะที่ข้าฯมีชีวิต และพร่ำขอลุแก่โทษหลังข้าฯเสียชีวิต โอ้อัลลอฮ์ ขอให้เขาเป็นผู้สืบทอดที่ครบถ้วนสมบูรณ์และพ้นการลวงล่อของชัยฏอน โอ้อัลลอฮ์ ข้าฯขออภัยโทษและขอคืนสู่พระองค์”[4]
3. ปฏิบัติตามคำแนะนำเกี่ยวกับการร่วมหลับนอน
จากเนื้อหาฮะดีษบางบททำให้ทราบว่าพฤติกรรมบางอย่างหรือเวลาบางช่วงเวลาไม่เหมาะแก่การร่วมหลับนอน เช่น
๑. ในวันที่เกิดสุริยุปราคาและคืนที่เกิดจันทรุปราคา
๒. ขณะตะวันตกดิน
๓. ระหว่างอะซานซุบฮิจนถึงช่วงตะวันขึ้น
๔. คืนแรกของแต่ละเดือน(นอกจากเดือนรอมฏอน)
๕. คืนสุดท้ายของแต่ละเดือน
๖. ร่วมหลับนอนหลังจากฝันเปียก
๗. ในสถานที่ๆมีเด็กอยู่และเห็นหรือได้ยินกามกิจ แม้จะไร้เดียงสาก็ตาม
๘. จ้องมองอวัยวะพึงสงวนของภรรยาขณะร่วมหลับนอน
๙. ร่วมหลับนอนในลักษณะไม่มีสิ่งใดปกปิดกายแม้แต่ชิ้นเดียว
๑๐. ในสถานที่ๆเปิดโล่งไร้เพดาน
๑๑. ผินหน้าหรือผินหลังให้กิบละฮ์
๑๒. ร่วมหลับนอนขณะที่อิ่มแปล้[5]
ประโยชน์บางประการที่จะได้รับจากคำแนะนำข้างต้น:
อบูสะอี้ด คุดรี รายงานว่า ท่านนบี(ซ.ล.)ได้ให้คำแนะนำแก่ท่านอลี(อ.)ว่า“โอ้อลี จงงดกามกิจในคืนแรก คืนกลาง และคืนสุดท้ายของเดือน เพราะจะนำมาซึ่งความวิกลจริต โรคเรื้อน ความพิกลพิการ และความบกพร่องทางปัญญาแก่ภรรยาและบุตร”[6]
แม้ว่าฮะดีษบางบทจะมีสายรายงานที่ไม่น่าเชื่อถือ แต่บางบทก็มีสายรายงานที่น่าเชื่อถือพอควร จึงควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังกล่าว อีกประเด็นที่ควรทราบก็คือ การระบุถึงผลลัพท์ทางกรรมพันธุ์เหล่านี้มิได้หมายความว่าสิ่งเหล่านี้จะต้องเกิดขึ้นเสมอไป แต่เป็นเพียงปัจจัยเชิงลบที่หากเกิดขึ้นพร้อมกับปัจจัยอื่นๆก็จะส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์ได้ แต่หากไม่ครบ ผลเสียก็อาจไม่เกิดขึ้น ที่น่าสนใจคือ ปัจจุบันนักวิชาการบางท่านพิสูจน์แล้วว่า นอกจากดวงจันทร์จะทำปฏิกิริยาต่อปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลง ยังทำปฏิกิริยากับร่างกายมนุษย์โดยเฉพาะขณะร่วมหลับนอนอีกด้วย[7] ฉะนั้น แม้จะยังพิสูจน์คำแนะนำทางศาสนาเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้ แต่ก็ไม่ควรมองข้ามคำแนะนำอันมีค่าเหล่านี้
4. บำรุงสุขภาพขณะตั้งครรภ์
การบริโภคอาหารที่ถูกสุขอนามัยจะส่งผลให้ทารกในครรภ์มีพัฒนาการทางร่างกายและจิตใจที่เหมาะสม จึงควรบริโภคอาหารให้ครบห้าหมู่และอุดมด้วยแร่ธาตุ และดื่มน้ำให้เพียงพอเสมอ[8]
ท่านนบี(ซ.ล.)กล่าวไว้ว่า“จงสนับสนุนสตรีมีครรภ์ให้รับประทานอินทผลัมในเดือนที่เธอจะคลอด เพื่อบุตรในครรภ์จะเป็นผู้อดทนและมีความยำเกรงในอนาคต”[9]
อินทผลัมอุดมด้วยพลังงานที่จำเป็นต่อร่างกาย ทั้งนี้เพราะยิ่งอายุครรภ์มากขึ้นเท่าใด ความต้องการพลังงานก็เพิ่มขึ้นเท่านั้น ซึ่งโดยปกติในช่วงสามเดือนแรก จำเป็นต้องได้รับอาหารที่อุดมด้วยพลังงาน150 กรัมเป็นอย่างต่ำ แต่หลังจากเดือนที่ห้าเป็นต้นไป เธอควรรับประทานอาหารประเภทนี้ถึง 225 กรัมต่อวันเป็นอย่างน้อย[10]
เป็นที่น่าภูมิใจที่ท่านนบี(ซ.ล.)รณรงค์ให้สตรีมีครรภ์รับประทานอินทผลัมในช่วงปลายระยะตั้งครรภ์ซึ่งจำเป็นต้องได้รับพลังงานมากเป็นพิเศษ ท่านยังได้ใช้เหตุผล(ที่ว่าบุตรจะเป็นผู้อดทนและยำเกรง)เพื่อเป็นแรงจูงใจให้คุณแม่ได้รับสารอาหารครบถ้วนอีกด้วย
ท่านอิมามศอดิก(อ.)กล่าวว่า “จงให้สตรีมีครรภ์รับประทานลูก“เบะฮ์” เพื่อบุตรจะได้มีหน้าตางดงาม”[11]
ท่านนบี(ซ.ล.)กล่าวว่า “สตรีมีครรภ์ที่รับประทานคัรบุเซะฮ์[12] จะได้บุตรที่งดงามและมีอัธยาศัยดี”[13]
และท่านยังกล่าวอีกว่า “จงบอกให้สตรีมีครรภ์รับประทานผลเบะฮ์[14] เพื่อลูกๆจะได้เป็นผู้มีกริยามารยาทดี”[15]
อิมามริฎอ(อ.)กล่าวว่า “การรับประทานลูกเบะฮ์จะช่วยเพิ่มเชาวน์ปัญญา”[16]
และท่านยังกล่าวอีกว่า “จงบอกให้สตรีมีครรภ์รับประทาน“คุนดุร”[17] เพราะหากทารกในครรภ์เป็นผู้ชาย จะทำให้มีปัญญาเฉียบแหลม มีความรู้ และกล้าหาญ แต่หากเป็นผู้หญิง ก็จะทำให้มีหน้าตาและกริยามารยาทที่งดงาม ...ฯลฯ”[18]
นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรระวังอาหารที่ฮะรอมหรือสงสัยว่าเป็นฮะรอมเป็นพิเศษ
ท่านนบี(ซ.ล.)กล่าวว่า “ผู้ใดกลืนกินอาหารที่ฮะรอม นมาซของเขาจะไม่เป็นที่ยอมรับถึงสี่สิบวัน ดุอาของเขาจะไม่ได้รับการตอบรับสี่สิบวัน เนื้อหนังมังสาที่เจริญจากอาหารฮะรอมจะถูกเผาด้วยไฟนรก ซึ่งอาหารเพียงคำเดียวก็สามารถทำให้เนื้อหนังมังสาเจริญได้”[19]
5. ดูแลสุขภาพจิตช่วงตั้งครรภ์
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะสร้างเสริมสุขภาพของคุณแม่และเด็กก็คือ การดูแลสุขภาพจิตและการได้รับกำลังใจจากคนรอบข้างขณะตั้งครรภ์ หากคุณแม่รู้สึกว่าได้รับกำลังใจและการสนับสนุนจากคนรอบข้าง เธอย่อมจะสามารถอดทนต่อความยากลำบากช่วงตั้งครรภ์ได้เป็นอย่างดี และจะให้กำเนิดลูกน้อยที่มีสุขภาพกายและใจที่สมบูรณ์
อัลลอฮ์ได้เน้นย้ำถึงความยากลำบากในช่วงอุ้มท้อง เพื่อจะกำชับให้เรารำลึกถึงบุญคุณของบุพการี โดยเฉพาะมารดา[20] โองการเหล่านี้นับเป็นการให้กำลังใจคุณแม่ได้เป็นอย่างดี ท่านนบี(ซ.ล.)ได้กล่าวยกย่องระยะอุ้มท้องของสตรีไว้ว่า “เมื่อสตรีตั้งครรภ์ ประหนึ่งว่าเธอถือศีลอดยามกลางวัน และหมั่นทำอิบาดัตยามราตรี”[21]
อย่างไรก็ดี ความเครียดในระยะนี้เป็นอันตรายต่อครรภ์มารดา กล่าวกันว่า ความเครียดในระยะตั้งครรภ์เกิดขึ้นบ่อยกว่าช่วงหลังคลอดบุตรหลายเท่า ซึ่งส่งผลเสียร้ายแรงกว่าหลายเท่าในทำนองเดียวกัน อาการฟุ้งซ่านหลังคลอดบุตรเกิดขึ้นกับ10% ของมารดาทั่วไป ซึ่งบางรายหนักข้อถึงขั้นทำร้ายลูกตัวเองก็มี โรคเครียดและอารมณ์แปรปรวนนับเป็นอาการที่เกิดขึ้นบ่อยขณะตั้งครรภ์หรือหลังคลอดบุตร ซึ่งจะค่อยๆทุเลาลงไปเอง แต่หากอาการเหล่านี้ไม่ทุเลาลง ก็จะส่งผลให้เกิดอารมณ์ฉุนเฉียว รู้สึกผิด กระวนกระวายใจ ซึ่งเมื่อคำนึงถึงโองการและฮะดีษที่นำเสนอข้างต้น อาจช่วยป้องกันอาการเหล่านี้ได้.
6. ประกอบศาสนกิจ
ผลวิจัยระบุว่า ผู้ที่เคร่งครัดศาสนามักจะอายุยืนมากกว่าคนทั่วไป สาเหตุหนึ่งอาจเป็นผลจากการนมาซซึ่งช่วยลดความดันโลหิตได้ นักวิจัยพบว่าความดันโลหิตของมุสลิมต่ำกว่าศาสนิกอื่นๆ โดยที่คัดเลือกตัวอย่างวิจัยจากผู้ที่เคร่งครัดศาสนาที่ทำละหมาดทุกเวลา
ทั้งนี้ การปล่อยให้ความดันโลหิตสูงจะนำโรคร้ายมาสู่มนุษย์ เช่น โรคหัวใจเฉียบพลัน ความผิดปกติของหลอดเลือด ความผิดปกติของไต เพราะเหตุนี้ การประกอบศาสนกิจอย่างเช่น นมาซ หรือการดุอาของพ่อแม่จึงมีผลดีต่อพัฒนาการทางจิตใจของลูกโดยตรง และดังที่การอ่านกุรอานทำให้จิตใจของคุณแม่สงบ ทารกในครรภ์ได้รับอานิสงส์ดังกล่าวเช่นกัน
สิ่งที่นำเสนอทั้งหมดในข้อเขียนนี้ เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของข้อควรปฏิบัติทั้งหมด ซึ่งนอกจากนี้ยังมีข้อแนะนำอื่นๆอย่างเช่น การมองทิวทัศน์ที่สวยงาม[22] การหมั่นออกกำลังกาย[23]...ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นที่ยอมรับของอิสลาม ประเด็นดังกล่าวจึงไม่สามารถแจกแจงได้ทั้งหมดในข้อเขียนอันจำกัดนี้ หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาศึกษาจากตำราที่เกี่ยวข้อง
[1] อัรรูม,21 وَ مِنْ آیاتهِ أَنْ خَلَقَ لَکُم مِنْ أَنْفُسِکُمْ أًزواجاً ِلتسْکُنُوا إِلَیها وَ جَعَلَ بَیْنَکُمْ مَّوَدةً وَ رَحْمَةً إنَّ فی ذلِکَ لایاتٍ لِقومٍ یَتَفَکَّرونَ
[2] วะซาอิลุชชีอะฮ์,ฮุร อามิลี,เล่ม 3,หน้า 60.
[3] มะฮัจญะตุ้ลบัยฎออ์,เล่ม 2,หน้า 52.
[4] วะซาอิลุชชีอะฮ์,เล่ม 15,หน้า 106:
رَبِّ لا تَذَرْنی فَرْداً وَ أَنْتَ خَیْرُ الْوارِثین، واجعل لی من لدنک ولیا یرثنی فی حیاتی و یستغفرلی بعد موتی واجعله خلفا سویا و لاتجعل للشیطان فیه نصیبا، اللهم انی استغفرک و اتوب الیک انک انت الغفور الرحیم
[5] อ้างแล้ว,เล่ม 14,หมวดปฐมฤกษ์นิกาห์ และ บิฮารุ้ลอันว้าร,เล่ม 103,หน้า 281. และ ญะวาฮิรุ้ลกะลาม,เล่ม 29,หน้า 54.
[6] อ้างแล้ว.
[7] เว็บไซต์สำนักงานพณฯผู้นำสูงสุดประจำมหาวิทยาลัย.
[8] การดูแลสตรีและหญิงมีครรภ์,ดร.ฮุเซน นูรี,อาหารระยะตั้งครรภ์
[9] ดู: มะการิมุ้ลอัคล้าก,เล่ม1,หน้า 169. اطعموا المراة فى شهرها الذى تلد فیه التمر فان ولدها یکون حلیما، تقیا
[10] การเติบโตก่อนถือกำเนิด,ดร.มะฮ์นอซ ชะฮ์ร ออรอย,หน้า 49.
[11] มะการิมุ้ลอัคล้าก,เล่ม1,หน้า 372,ฮะดีษที่1230 . و اطعموه حبالاکم فانه یحسن اولادکم
[12] แคนตาลู้ปผลยาว
[13] มุสตั้ดร๊อก,เล่ม2,หน้า 635.
[14] ผลไม้ชนิดหนึ่งคล้ายแอปเปิ้ล มีกลิ่นหอม มีรสฝาดเล็กน้อย
[15] อ้างแล้ว,เล่ม3,หน้า 113,116.
[16] มะการิมุ้ลอัคล้าก,เล่ม1,หน้า 196.
[17] สมุนไพรชนิดหนึ่ง ลักษณะคล้ายกรวดสีขุ่น
[18] อ้างแล้ว,เล่ม1,หน้า 192,193,196,222.
[19] الْفرْدَوْس، عَنِ النَّبِیِّ ص قَالَ مَنْ أَکَلَ لُقْمَةَ حَرَامٍ لَمْ تُقْبَلْ لَهُ صَلَاةٌ أَرْبَعِینَ لَیْلَةً وَ لَمْ تُسْتَجَبْ لَهُ دَعْوَةٌ أَرْبَعِینَ صَبَاحاً وَ کُلُّ لَحْمٍ یُنْبِتُهُ الْحَرَامُ فَالنَّارُ أَوْلَى بِهِ وَ إِنَّ
اللُّقْمَةَ الْوَاحِدَةَ تُنْبِتُ اللَّحْم. (บิฮ้ารฯ,เล่ม 63,หน้า 314.)
[20] อัลอะห์ก้อฟ,15.
[20] وَ وَصَّیْنَا الْإِنْسانَ بِوالِدَیْهِ إِحْساناً حَمَلَتْهُ أُمُّهُ کُرْهاً وَ وَضَعَتْهُ کُرْهاً وَ حَمْلُهُ وَ فِصالُهُ ثَلاثُونَ شَهْراً حَتَّى إِذا بَلَغَ أَشُدَّهُ وَ بَلَغَ أَرْبَعینَ سَنَةً قالَ رَبِّ أَوْزِعْنی أَنْ أَشْکُرَ نِعْمَتَکَ الَّتی أَنْعَمْتَ عَلَیَّ وَ عَلى والِدَیَّ وَ أَنْ أَعْمَلَ صالِحاً تَرْضاهُ وَ أَصْلِحْ لی فی ذُرِّیَّتی إِنِّی تُبْتُ إِلَیْکَ وَ إِنِّی مِنَ الْمُسْلِمینَ
[21] วะซาอิลุชชีอะฮ์,เล่ม 21,หน้า 451 اذا حملت المراة کانتبمنزلة الصائم القائم المجاهد بنفسه و ماله فىسبیل الله...
[22] นักวิจัยพบว่าเมื่อคนเรามองใบหน้าที่สวยงาม จะกระตุ้นให้สมองส่วนหนึ่งเริ่มทำงาน อิสลามก็ถือว่าการมองทิวทัศน์ที่สวยงาม ตัวอักษรกุรอาน ใบหน้าที่งดงาม(ไม่รวมถึงการมองที่ไม่อนุมัติ) ล้วนมีอิทธิพลต่อสมองและใบหน้าของเด็ก
[23] นักวิจัยค้นพบสารที่เรียกว่า“เฟนิลติลามีน” ในร่างกายมนุษย์ ที่กระตุ้นให้สดชื่นหลังเล่นกีฬา และเป็นสารต่อต้านความหดหู่ นักวิจัยยังพบอีกว่าสารดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นถึง70% หลังเล่นกีฬา ซึ่งจะเข้าสู่สมองผ่านทางกระแสเลือด นักวิจัยจึงแนะนำให้คุณแม่ออกกำลังกายตามอัตภาพ เพื่อสุขภาพกายและใจของตนเองและลูกน้อยในครรภ์ โดยการบำบัดความเครียดด้วยวิธีนี้ยังไม่เป็นที่รู้จักสำหรับคนทั่วไป จึงทำให้เป็นโรคเครียด, ดู: นิตยสารสตรีสาส์น,ฉบับที่ 118.