Please Wait
9614
นบีทุกท่านล้วนเป็นผู้ปราศจากบาปและมีสถานะอันสูงส่ง ณ อัลลอฮ์ (ตามระดับขั้นของแต่ละท่าน) และมีภาระหน้าที่ๆหนักกว่าคนทั่วไป โดยมาตรฐานของบรรดานบีแล้ว การให้ความสำคัญต่อสิ่งอื่นนอกเหนืออัลลอฮ์ถือเป็นบาปอันใหญ่หลวง
อย่างไรก็ดี นักวิชาการมีคำอธิบายเกี่ยวกับเหตุการณ์สังหารชายชาวกิบฏีหลายทัศนะ
คำอธิบายที่น่าสนใจที่สุดคือ ท่านมิได้ทำบาปใดๆ เนื่องจากการสังหารชาวกิบฏีในครั้งนั้นไม่เป็นฮะรอมเพราะควรแก่เหตุ เพียงแต่ท่านไม่ควรรีบลงมือเช่นนั้น
สำนวนในโองการกุรอานก็มิได้ระบุว่าเหตุดังกล่าวคือบาปของท่าน ดังที่มะอ์มูนถามอิมามริฎอ(อ.)เกี่ยวกับคำพูดของนบีมูซาที่ว่า “นี่คือการกระทำของชัยฏอน มันคือศัตรูผู้ล่อลวงอย่างชัดแจ้ง” หรือที่กล่าวว่า “โอ้พระผู้อภิบาล ข้าฯอธรรมต่อตนเอง ขอทรงประทานอภัยเทอญ” อิมามริฎอตอบว่า การกระทำของชัยฏอนหมายถึงการทะเลาะเบาะแว้งกันของชายสองคน ส่วนที่ว่าท่านอธรรมต่อตนเองหมายถึงว่าท่านไม่ควรเข้ามาในเมือง ส่วนที่กล่าวว่า “ฟัฆฟิรลี” หมายถึงขอให้พระองค์ทรงอำพรางท่านให้พ้นสายตาของฝ่ายฟาโรห์
เพื่อให้ได้คำตอบที่กระจ่าง ควรพิจารณาถึงข้อเท็จจริงต่อไปนี้
ก. อะไรคือภาวะไร้บาป(อิศมะฮ์)?
“อิศมะฮ์”ในความหมายทั่วไป หมายถึงการได้รับความคุ้มครองอย่างปลอดภัย และการยึดเหนี่ยวสิ่งใดสิ่งหนึ่ง[i] ส่วนความหมายเชิงเทววิทยาหมายถึง “ความโปรดปรานพิเศษจากอัลลอฮ์ที่หากผู้ใดมี ก็จะทำลายแรงจูงใจที่จะฝ่าฝืนคำสั่งของพระองค์ แม้ว่าจะมีความสามารถที่จะทำบาปก็ตาม”[ii]
ข. เหตุผลที่บรรดานบีจำเป็นต้องมีภาวะไร้บาป
1. หากบรรดานบีไม่มีภาวะไร้บาป ย่อมขัดต่อเป้าประสงค์ของพระองค์ เนื่องจากอัลลอฮ์แต่งตั้งนบีก็เพื่อที่จะแจ้งให้มนุษยชาติรับรู้ถึงผลประโยชน์และภัยคุกคามที่แท้จริง และเพื่อตระเตรียมปัจจัยที่จำเป็นต่อการขัดเกลาจิตใจเพื่อให้บรรลุความผาสุกในโลกนี้และโลกหน้า และเป้าประสงค์ดังกล่าวจะเป็นจริงได้ต่อเมื่อบรรดานบีมีภาวะไร้บาปเท่านั้น เนื่องจากหากนบียังทำบาป ถามว่าเรายังจะต้องปฏิบัติตามท่านหรือไม่ หากไม่ต้องปฏิบัติตาม แล้วจะมีนบีไปเพื่ออะไร แต่หากต้องทำบาปตาม ก็ย่อมเป็นเรื่องต้องห้ามที่จะทำบาป
2. หากนบีทำบาป ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังดำรงตำแหน่งนบีก็ตาม ย่อมทำให้ผู้คนหมดศรัทธาและเมินต่อคำสอนของพวกท่าน
ด้วยเหตุผลเชิงสติปัญญาข้างต้นและเหตุผลอื่นๆอีกมากมาย ทำให้ทราบว่าบรรดานบีจำเป็นต้องมีภาวะไร้บาป
ค. โองการที่ระบุว่าท่านนบีมูซาสังหารชายชาวกิบฏีไม่ขัดแย้งกับภาวะไร้บาปของท่านหรืออย่างไร?
กุรอานกล่าวว่า “เขา(นบีมูซา)ได้เข้ามาในเมืองขณะที่ชาวเมืองไม่ทราบข่าว ทันใดนั้นเขาก็ได้เห็นชายสองคนกำลังทะเลาะกันอยู่ โดยที่หนึ่งในนั้นเป็นสาวกของเขา(บนีอิสรออีล) ส่วนอีกคนเป็นศัตรู ชายที่เป็นสาวกได้ขอความช่วยเหลือ มูซาได้ต่อยที่อกศัตรูทำให้ศัตรูสิ้นใจ มูซากล่าวว่า นี่คือการกระทำของชัยฏอน มันคือศัตรูผู้ล่อลวงอย่างชัดแจ้ง และกล่าวว่า โอ้พระผู้อภิบาล ข้าฯอธรรมต่อตนเอง ขอทรงประทานอภัยเทอญ อัลลอฮ์ได้อภัยแก่เขา และพระองค์คือผู้ทรงอภัยและเปี่ยมด้วยเมตตาธรรม”[iii]
คำถามก็คือ ประโยคที่นบีมูซากล่าวว่า “นี่คือการกระทำของชัยฏอน มันคือศัตรูผู้ล่อลวงอย่างชัดแจ้ง” และที่ท่านกล่าวว่า “โอ้พระผู้อภิบาล ข้าฯอธรรมต่อตนเอง ขอทรงประทานอภัยเทอญ” จะสอดคล้องกับภาวะไร้บาปของท่านได้อย่างไร?
ในประเด็นนี้ต้องทราบว่า ชายกิบฏีคนนั้นเป็นข้าราชบริพารของฟาโรห์ ซึ่งได้บังคับให้สาวกของนบีมูซาเก็บฟืน จึงเกิดเหตุชกต่อยกันขึ้น ขณะนั้นเอง นบีมูซาได้เข้าช่วยเหลือสาวกและต่อยที่อกของกิบฏีคนนั้นจนเป็นเหตุให้เขาตาย[iv] นักอรรถาธิบายกุรอานชี้แจงว่า การกระทำของนบีมูซาเข้าข่าย“ตัรกุลเอาลา” หมายถึงการกระทำที่มิได้เป็นฮะรอม แต่จะเป็นสาเหตุให้สูญเสียโอกาสที่ดีกว่า[v] เนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ท่านต้องประสบความยากลำบากมากขึ้น ทั้งนี้ก็เพราะทำให้ฟาโรห์สั่งไล่ล่าท่าน
หนังสือ อุยูน อัคบาริร ริฎอ บันทึกไว้ว่ามะอ์มูนได้เอ่ยถามท่านอิมามริฎอ(อ.)เกี่ยวกับเรื่องนี้ ท่านตอบว่า “ประโยคที่ว่า“นี่คือการกระทำของชัยฏอน”หมายถึงการทะเลาะกันของชายสองคนนั้น และที่กล่าวว่า “โอ้พระผู้อภิบาล ข้าฯอธรรมต่อตนเอง”หมายถึงว่า ข้าฯไม่ควรทำให้เรื่องบานปลาย ข้าฯไม่น่าเข้ามาในเมืองตอนนี้” ส่วนที่กล่าวว่า“ขอทรงประทานอภัยเทอญ”หมายถึงขอให้พระองค์ทรงอำพรางตัวข้าฯให้พ้นจากเงื้อมมือศัตรู ทั้งนี้ก็เพราะว่าความหมายหนึ่งของ“ฆุฟรอน”คือการอำพรางหรือหลบซ่อน[vi]
ซัยยิดมุรตะฎอ อะละมุ้ลฮุดา ได้ให้ข้อคิดเห็นสองประการในหนังสือ ตันซีฮุ้ลอัมบิยาอ์ เกี่ยวกับโองการนี้ว่า
1. อธรรมในที่นี้หมายถึงการละเว้นสิ่งอันเป็นมุสตะฮับ(สิ่งที่ดีกว่า) หมายถึงควรประวิงเวลาเข้าช่วยเหลือสาวกและสำเร็จโทษชายกิบฏี การกระทำของท่านถือเป็นตัรกุลเอาลา ซึ่งจะทำให้สูญเสียผลบุญส่วนหนึ่ง จึงเป็นเหตุให้ท่านกล่าวว่า “ข้าฯอธรรมต่อตนเอง”
2. ประโยค “นี่คือการกระทำของชัยฏอน” หมายถึงการกดขี่ของชายชาวกิบฏี โดยนบีมูซามิได้เจตนาจะสังหารเขา เพียงแต่ต้องการจะปกป้องชีอะฮ์(สาวก)ของท่านเท่านั้น[vii]
เชคฏูซีกล่าวไว้ใน“ตัฟซี้รอัตติ้บยาน”ว่า “การสังหารชายชาวกิบฏีคนนั้นมิไช่เรื่องที่น่ารังเกียจ เพราะอัลลอฮ์ทรงบัญชาให้ท่านลงไม้ลงมือกับเขา แต่สมควรจะกระทำภายหลัง เนื่องจากสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวย แต่เมื่อท่านลงมือทันทีจึงเป็นการตัรกุลเอาลา ท่านจึงขออภัยโทษจากพระองค์”[viii]
ส่วนผู้ประพันธ์ตัฟซี้รมัจมะอุ้ลบะยานชี้แจงไว้ดังนี้ “การสังหารเป็นไปเพื่อช่วยเหลือผู้ศรัทธาให้พ้นจากผู้กดขี่ โดยที่ไม่ได้เจตนาจะให้ถึงตาย ฉะนั้น จึงเป็นสิ่งที่เหมาะควรและไม่น่ารังเกียจ”[ix]
ในตัฟซี้รฟัตฮุ้ลก่อดี้ร กล่าวว่า “ท่านขออภัยโทษจากอัลลอฮ์เนื่องจากตัรกุลเอาลา และนัยยะของ“ข้าฯอธรรมต่อตนเอง”หมายถึง ข้าฯอธรรมต่อตัวเองเนื่องจากฟาโรห์จะสั่งให้ทหารไล่สังหารข้าฯจากคดีนี้อย่างแน่นอน ส่วน “ฟัฆฟิรลี”หมายถึงขอให้พระองค์ทรงอำพรางตัวข้าอย่าให้ฟาโรห์จับได้”
และหากโองการที่14 ซูเราะฮ์อัชชุอะรอ เล่าคำพูดของนบีมูซาที่ว่า لهم علی ذنب (ฉันมีตราบาปสำหรับพวกเขา) นั่นหมายถึงบาปในมุมมองของฟาโรห์และพวก มิได้หมายความว่านบีมูซาทำบาป[x]
สุดท้ายนี้ขอสรุปว่า ตราบาปมีหลายระดับขั้น บาปที่เกิดจากการฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮ์ ย่อมขัดต่อหลักอิศมะฮ์ (ภาวะไร้บาป) แต่บางครั้ง การตัรกุลเอาลาก็ถือเป็นตราบาปในมาตรฐานระดับผู้ใกล้ชิดพระองค์อย่างบรรดานบี (แต่ไม่ไช่บาปสำหรับคนธรรมดา) ซึ่งกรณีนี้ไม่ขัดต่อหลักอิศมะฮ์แต่อย่างใด เนื่องจากเป็นไปตามสุภาษิตที่ว่า “ความดีของคนดีเป็นได้แค่ตราบาปของผู้ใกล้ชิดพระองค์”
เพื่อศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาอ่าน:ดัชนี ภาวะไร้บาปของบรรดานบีในกุรอาน,ลำดับที่ 129
ดัชนี ภาวะไร้บาปของบรรดานบีในปริทรรศน์กุรอาน,ลำดับที 112
[i] มุฟร่อด้าตรอฆิบและอัลอัยน์ ศัพท์: عصم
[ii] บทเรียนเทววิทยา,อ.ญะฟัร ซุบฮานี,หน้า 405
[iii] وَ دَخَلَ الْمَدینَةَ عَلى حینِ غَفْلَةٍ مِنْ أَهْلِها فَوَجَدَ فیها رَجُلَیْنِ یَقْتَتِلانِ هذا مِنْ شیعَتِهِ وَ هذا مِنْ عَدُوِّهِ فَاسْتَغاثَهُ الَّذی مِنْ شیعَتِهِ عَلَى الَّذی مِنْ عَدُوِّهِ فَوَکَزَهُ مُوسى فَقَضى عَلَیْهِ قالَ هذا مِنْ عَمَلِ الشَّیْطانِ إِنَّهُ عَدُوٌّ مُضِلٌّ مُبینٌ (15) قالَ رَبِّ إِنِّی ظَلَمْتُ نَفْسی فَاغْفِرْ لی فَغَفَرَ لَهُ إِنَّهُ هُوَ الْغَفُورُ الرَّحیمُ ซูเราะฮ์ อัลก่อศ็อศ,15,16
[iv] ตัฟซี้รเนมูเนะฮ์,อ.มะการิม ชีรอซี,เล่ม 16,หน้า 42. ตัฟซี้รอัลบะยาน,อ.มะการิม ชีรอซี,เล่ม 7-8, ตัฟซี้ร อัตติ้บยาน,เชคฏูซี,เล่ม 2,หน้า 391ตัฟซี้รอิษนาอะชะรี,เล่ม 10,หน้า 94
[v] ตัฟซี้รนูรุษษะเกาะลัยน์,เล่ม 4,หน้า 119 ตัฟซี้รอิษนาอะชะรี,เล่ม 10,หน้า 94
[vi] อุยูน อัคบาริร ริฎอ(อ.),หน้า 155 ,หมวดที่ 15, นูรุษษะเกาะลัยน์,เล่ม 4,หน้า 119, อัลมีซาน,เล่ม 16,หน้า 18
[vii] อ้างจากมัจมะอุ้ลบะยาน
[viii] ตัฟซี้ร อัตติ้บยาน,เล่ม 2,หน้า 291
[ix] ตัฟซี้รมัจมะอุ้ลบะยาน,ฏอบัรซี,เล่ม 7,หน้า 382
[x] ตัฟซี้รฟัตฮุ้ลก่อดี้ร,เชากานี,เล่ม 4,หน้า 164