Please Wait
10716
มีฮะดีษจากอะฮ์ลุลบัยต์ระบุว่าการกล่าวอามีนในนมาซไม่เป็นที่อนุมัติ และจะทำให้นมาซบาฏิล
โดยหลักการแล้ว ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ถึงการไม่เป็นที่อนุมัติ ทั้งนี้ก็เพราะการนมาซเป็นอิบาดะฮ์ประเภทหนึ่ง ซึ่งย่อมไม่สามารถจะเพิ่มเติมได้ตามใจชอบ ฉะนั้น หากไม่สามารถจะพิสูจน์การเป็นที่อนุมัติของส่วนใดในนมาซด้วยหลักฐานทางศาสนา ก็ย่อมแสดงว่าพฤติกรรมนั้นๆไม่เป็นที่อนุมัติ เพราะหลักเบื้องต้นในการนมาซก็คือ ไม่สามารถจะเพิ่มเติมใดๆได้ หลักการสงวนท่าที(อิห์ติยาฏ)ก็หนุนให้งดเว้นการเพิ่มเติมเช่นนี้ เนื่องจากเมื่อเอ่ยอามีนออกไป ผู้เอ่ยย่อมไม่แน่ใจว่านมาซจะยังถูกต้องอยู่หรือไม่ ต่างจากกรณีที่มิได้กล่าวอามีน
ประเด็นการกล่าวอามีนในนมาซถือเป็นประเด็นที่มีความเห็นต่างกันระหว่างชีอะฮ์และซุนหนี่ เริ่มแรกเราจะนำเสนอทัศนะของผู้เห็นด้วยในเรื่องนี้พร้อมกับข้อวิพากษ์ที่อ้างอิงฮะดีษการนมาซของท่านนบี(ซ.ล.) หลังจากนั้นจึงจะนำเสนอทัศนะของฝ่ายชีอะฮ์
เนื่องจากปัญหาขัดแย้งในที่นี้เป็นเรื่องที่“อยู่ในการนมาซ” และเนื่องจากนมาซถือเป็นอิบาดะฮ์ประเภทหนึ่ง เราจึงขอเกริ่นเล็กน้อยดังต่อไปนี้
ก. ในอิสลาม อิบาดะฮ์ทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นวาญิบ(ภาคบังคับ)และมุสตะฮับ(ภาคอาสา)ล้วนแล้วแต่เป็นบทบัญญัติที่ตายตัวทั้งสิ้น การปฏิบัติอิบาดะฮ์จะต้องปฏิบัติตามจำนวนและรูปแบบที่ศาสนากำหนดไว้เท่านั้น และไม่มีสิทธิจะเพิ่มเติมหรือตัดทอนส่วนใดได้เลย ไม่ว่าใครก็ตาม ไม่มีสิทธิจะปรับเปลี่ยนรูปแบบอิบาดะฮ์ตามที่ตนเองเห็นสมควร ทั้งนี้ สภาวะดังกล่าวมิได้เฉพาะเจาะจงแต่เพียงการนมาซ แต่ครอบคลุมถึงอิบาดะฮ์ทุกประเภทอาทิเช่น การถือศีลอด การอาบน้ำนมาซ การตะยัมมุม ดุอามะอ์ษูเราะฮ์[1] ฯลฯ ด้วย[2]
ข. มุสลิมล้วนเชื่อว่า คำว่า“อามีน”นั้น มิได้เป็นส่วนหนึ่งของการนมาซ[3] ฉะนั้น ผู้ใดเชื่อว่าสามารถกล่าวคำนี้ในนมาซได้ จำเป็นต้องแสดงเหตุผลหักล้างและต้องพิสูจน์ทัศนะของตนด้วยหลักฐาน มิเช่นนั้นก็จะต้องถือว่าการกล่าวอามีนในนมาซเป็นบิดอะฮ์ เป็นฮะรอม และทำให้นมาซบาฏิล(โมฆะ) เนื่องจากหลักเบื้องต้นในเรื่องนี้คือการไม่สามารถกล่าวอามีนในนมาซได้
ตามทัศนะของนักวิชาการฮะดีษแล้ว ฮะดีษที่อนุญาตให้กล่าวอามีนได้แบ่งออกเป็นสองกลุ่มด้วยกัน
หนึ่ง. ฮะดีษที่มีชื่ออบูฮุร็อยเราะฮ์อยู่ในสายรายงาน ดังฮะดีษต่อไปนี้
รายงานจากท่านนบี(ซ.ล.)ว่า “เมื่ออิมามญะมาอัตกล่าว “วะลัฎฎอลลีน”แล้ว พวกเธอก็จงกล่าว “อามีน”เถิด เพราะมวลมลาอิกะฮ์ต่างกล่าวอามีน ฉะนั้น ผู้ใดที่กล่าวอามีนพร้อมกับมวลมลาอิกะฮ์ บาปทั้งหมดของเขาจะได้รับอภัยโทษ” [4]
ฮะดีษประเภทนี้ถือว่าไม่น่าเชื่อถือ เหตุเพราะมีอบูฮุร็อยเราะฮ์เป็นผู้รายงาน[5]
ท่านอิมามอลี(อ.)เคยกล่าวถึงเขาว่า ألا إنّ أکذب الناس أو قال: أکذب الأحیاء علی رسول الله أبوهریرة الدئسي จงรู้เถิด คนที่โป้ปดที่สุด (อีกรายงานหนึ่งกล่าวว่า: สิ่งมีชีวิตที่โป้ปดที่สุด) ต่อท่านนบี ก็คืออบูฮุร็อยเราะฮ์[6]
สอง. กลุ่มฮะดีษที่มีสายรายงานบรรจบถึงบุคคลเหล่านี้: ฮะมี้ด บิน อับดุรเราะฮ์มาน บิน อบี ลัยลา, อิบนิ อุดัย, อับดุลญับบ้าร บิน วาอิล, สุฮัยล์ บิน อบีศอลิฮ์, อะลา บิน อับดิรเราะฮ์มาน และ ฏ็อลฮะฮ์ บิน อัมร์ ซึ่งล้วนแล้วแต่ไม่มีคุณสมบัติที่เหมาะจะเป็นนักรายงานฮะดีษ เนื่องจากฮะมี้ด บิน อับดุรเราะฮ์มาน บิน อบี ลัยลา มีความจำที่ไม่ดีพอและเฎาะอี้ฟ ส่วนอิบนิ อุดัยย์ก็ไม่เป็นที่รู้จัก อับดุลญับบ้าร บิน วาอิ้ลก็ไม่สามารถจะรายงานฮะดีษจากพ่อของตนได้ เนื่องจากถือกำเนิดหลังพ่อเสียชีวิตหกเดือน ซึ่งจะทำให้สายรายงานไม่ต่อเนื่อง ส่วนสุฮัยล์ บิน อบีศอลิฮ์ และ อะลา บิน อับดิรเราะฮ์มานนั้น อบูฮาตัมกล่าวว่า แม้ฮะดีษของพวกเขาจะถูกบันทึก ทว่าปราศจากความน่าเชื่อถือ ส่วนฏ็อลฮะฮ์ บิน อัมร์ ก็นับเป็นนักรายงานที่ถูกมองข้าม เนื่องจากมีฮะดีษที่ด้อยความน่าเชื่อถืออย่างยิ่ง[7]
จากการที่ฮะดีษนี้มีสายรายงานที่อ่อนแอและไม่น่าเชื่อถือพอ จึงไม่สามารถนำมาอ้างอิงใดๆได้ แต่ก็มีบางคนที่พยายามจะชี้แจงการกล่าวอามีนในนมาซว่า เป็นการกล่าวตอบ “อิฮ์ดินัศศิรอฏ็อลมุสตะกีม”ซึ่งเป็นประโยคดุอา
ขอตอบว่า ประโยคดังกล่าวสามารถจะเป็นดุอาได้ต่อเมื่อเจตนาอ่านให้เป็นดุอา แต่โดยทั่วไปแล้ว ผู้อ่านย่อมมีเจตนาอัญเชิญกุรอาน มิไช่อ่านดุอา มิเช่นนั้นแล้ว หากจะอ่านทุกโองการที่เป็นดุอา อาทิเช่น رَبَّنَا اغْفِرْ لَنا وَ قِنا عَذابَ النَّار โดยเจตนาอ่านเป็นดุอา ก็ย่อมจะสามารถกล่าวอามีนได้ทุกครั้งไช่หรือไม่ ซึ่งไม่มีผู้รู้ท่านใดมีทัศนะเช่นนี้[8]
ยิ่งไปกว่านั้น ต้องคำนึงเสมอว่าการนมาซถือเป็นอิบาดะฮ์ประเภทหนึ่งซึ่งย่อมเป็นบทบัญญัติที่ตายตัว สมมติว่าเราสามารถอ่านอิฮ์ดินัสฯโดยเหนียตเป็นดุอาได้ แต่ถึงอย่างไรก็ไม่สามารถจะกล่าวอามีนได้ ทั้งนี้ก็เพราะการเพิ่มเติมหรือลดทอนส่วนหนึ่งส่วนใดของศาสนกิจ(อิบาดะฮ์)ถือเป็นบิดอะฮ์(อุตริกรรม) และเป็นสิ่งต้องห้าม เนื่องจากคำว่าอามีนมิไช่โองการกุรอาน และไม่ไช่ดุอาหรือซิเกรแต่อย่างใด ฉะนั้นจึงควรปฏิบัติเสมือนคำอื่นๆที่มิไช่กุรอานและซิกรุลลอฮ์
วจนะของท่านนบี(ซ.ล.)ที่ว่า “มิบังควรที่จะเพิ่มเติมคำพูดของบุคคลทั่วไปในนมาซ”[9] ถือเป็นการระงับมิให้กล่าวอามีน เพราะอามีนคือคำพูดของมนุษย์ มิไช่อัลลอฮ์ และหากจะโต้แย้งว่า “อามีน”คือพระนามหนึ่งของอัลลอฮ์ คงต้องชี้แจงว่าหากเป็นเช่นนั้นจริง เราคงพบคำนี้ในหมู่พระนามของพระองค์ และสามารถวิงวอนได้ว่า “ยา อามีน” ในขณะที่ไม่มีผู้ใดเชื่อว่าคำนี้เป็นพระนามหนึ่งของพระองค์เลย[10]
การนมาซของท่านนบี(ซ.ล.)
ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า ซุนนะฮ์ (วจนะ, พฤติกรรม, การวางเฉย)ของท่านนบี(ซ.ล.)ถือเป็นแหล่งอ้างอิงทางศาสนา ฉะนั้น หากพิสูจน์ได้ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งว่าท่านนบีเคยมีซุนนะฮ์เช่นนี้ เราทุกคนย่อมจะต้องน้อมรับโดยดุษณี
ผู้รู้และนักรายงานฮะดีษฝ่ายซุนหนี่ได้รายงานวิธีนมาซของท่านนบี(ซ.ล.)ไว้ในตำราเศาะฮี้ห์และสุนันทั้งหลายว่า “มุฮัมมัด บิน อุมัร บิน อะฏอ เล่าว่า ฉันได้ยินอบูฮะมี้ด ซาอิดีกล่าวท่ามกลางเศาะฮาบะฮ์สิบคน ซึ่งในจำนวนนี้มี อบูกุตาดะฮ์อยู่ด้วยว่า อยากให้ฉันเล่าหรือไม่ว่าท่านนบี(ซ.ล.)นมาซอย่างไร? ... เขาเล่าว่า ขณะจะนมาซ ท่านนบีจะยกสองมือระดับเดียวกับใหล่แล้วกล่าวตักบี้ร และอ่านซูเราะฮ์ด้วยความสุขุม แล้วจึงยกสองมือระดับไหล่พร้อมกับกล่าวตักบี้ร แล้วโค้งรุกู้อ์โดยที่แนบสองมือกับหัวเข่า แล้วจึงยืนตรงพร้อมกับกล่าวว่า سَمِعَ اللَّهُ لِمَنْ حَمِدَهُ แล้วท่านก็ยกสองมือขึ้นระดับไหล่พร้อมกับกล่าวตักบี้ร แล้วจึงลงสุญูดโดยที่มือสองข้างแนบใกล้ลำตัว แล้วจึงเงยศีรษะขึ้นโดยนั่งบนขาซ้าย ขณะลงสุญูดท่านจะกางนิ้วเท้า ท่านกล่าวตักบี้รแล้วจึงเงยศีรษะขึ้น แล้วนั่งบนขาข้างซ้ายอีกครั้งหนึ่งกระทั่งสงบนิ่ง จากนั้นท่านก็เริ่มเราะกะอัตใหม่โดยกระทำเหมือนกัน เมื่อจบสองเราะกะอัต ท่านจะกล่าวตักบี้รขณะที่มือของท่านอยู่ระดับไหล่เสมือนเมื่อเริ่มนมาซ และกระทำเช่นนี้ในส่วนอื่นๆของนมาซ ในเราะกะอัตสุดท้ายท่านเหยียดขาข้างซ้ายมากขึ้นและนั่งบนนั้น” เหล่าเศาะฮาบะฮ์ ณ ที่นั้นกล่าวขึ้นว่า ถูกแล้ว ท่านนบีนมาซเช่นนี้[11]
ข้อสังเกตุ:
ฮะดีษข้างต้นมีข้อสังเกตุดังต่อไปนี้
ก. เนื่องจากฮะมี้ดมิได้เหนือกว่าคนอื่นๆในวงสนทนาในแง่ความเป็นสหายของท่านนบี ทำให้เป็นที่จับตาเป็นพิเศษของคนในวงสนทนา
ข. เนื่องจากเขาอ้างว่าจะสาธยายถึงการนมาซของท่านนบี ทำให้ยิ่งเป็นจุดสนใจของเศาะฮาบะฮ์ที่อยู่ ณ ที่นั้นมากยิ่งขึ้น
ค. คำบอกเล่าของฮะมี้ดเป็นไปในรูปแบบของการสาธยายถึงรายละเอียดปลีกย่อยทั้งหมดของการนมาซของท่านนบี
จากข้อสังเกตุเหล่านี้ กอปรกับการที่มีฮะดีษนบีในตำราของทั้งฝ่ายซุนหนี่และชีอะฮ์ระบุว่า “จงนมาซอย่างที่ฉันนมาซ”[12] หากอบูฮะมี้ดสาธยายอย่างไม่ครบถ้วนหรืออุตริเพิ่มเติม ย่อมจะถูกคนในวงสนทนาทักท้วงเป็นแน่ ฉะนั้น ในเมื่ออบูฮะมี้ดมิได้เอ่ยถึง “อามีน” ในนมาซของท่านนบี(ซ.ล.) และบรรดาเศาะฮาบะฮ์ในที่นั้นก็มิได้ทักท้วงใดๆ จึงได้ข้อสรุปค่อนข้างชัดเจนว่าท่านนบี(ซ.ล.)ไม่เคยกล่าวอามีนในนมาซเลย และเรามีหน้าที่ปฏิบัติตามท่านนบี(ซ.ล.)เท่านั้น
นอกจากนี้ มีฮะดีษจากท่านนบี(ซ.ล.)ระบุว่า “ไม่อนุญาตให้กล่าวอามีนภายหลังอ่านฟาติหะฮ์”[13] ท่านอิมามศอดิก(อ.)ก็เคยกล่าวว่า “ขณะที่อิมามญะมาอัตอ่านฟาติหะฮ์จบ จงอย่ากล่าวคำว่าอามีน”[14]
ยิ่งไปกว่านั้น เชคเศาะดู้กยังรายงานฮะดีษหนึ่งที่มีใจความว่า การกล่าวอามีนในนมาซหยิบยืมมาจากวัฒนธรรมของคริสเตียน[15]
ฉะนั้น เนื่องจากการนมาซถือเป็นอิบาดะฮ์และจะได้รับการกำหนดมาแล้วอย่างตายตัว และจากการที่อามีนมิไช่ส่วนหนึ่งของการนมาซ ทำให้ผู้รู้ฝ่ายชีอะฮ์มีความเห็นตรงกันว่าการกล่าวอามีนในนมาซถือว่าฮะรอมและจะทำให้นมาซบาฏิล(โมฆะ)[16]
[1] ยูนุส บิน อับดุรเราะฮ์มาน รายงานจากอับดุลลอฮ์ บิน สะนานว่า ท่านอิมามศอดิก(อ.)เคยกล่าวว่า “ในไม่ช้าจะมีข้อเคลือบแคลงเกิดขึ้นกับพวกท่าน ซึ่งพวกท่านไม่ทราบวิธีแก้ อีกทั้งไม่มีผู้นำคนใดจะสามารถไขปัญหาได้ พวกท่านจะรู้สึกเคว้งคว้าง ผู้ใดที่ต้องการจะรอดพ้นจากข้อเคลือบแคลงเหล่านี้ก็จงอ่านดุอา “เฆาะรี้ก” ฉัน(ผู้รายงาน)เอ่ยถามว่า ดุอาเฆารี้กอ่านอย่างไรขอรับ? ท่านตอบว่า จงอ่านว่า يا اللَّه يا رحمان يا رحيم، يا مقلب القلوب ثبت قلبى على دينك ฉันอ่านว่า يا مقلب القلوب و الابصار ثبت قلبى على دينك ท่านกล่าวว่า อัลลอฮ์ทรงเป็นมุก็อลลิบุลกุลู้บวัลอับศ้อรก็จริง แต่จงอ่านอย่างที่ฉันบอก นั่นคือ يا اللَّه يا رحمان يا رحيم، يا مقلب القلوب ثبت قلبى على دينك (อิบรอฮีม บิน อลี อามิลี กัฟอะมี, อัลบะละดุ้ลอะมีน, หน้า 24)
[2] สามารถอ่านได้ ณ เว็บไซต์แห่งนี้ที่ระเบียน “กล่าวอามีนหรืออัลฮัมดุลิลลาฮ์” คำถามที่ 5245 (ลำดับในเว็บไซต์ 5606)
[3] มุฮัมมัด เราะชี้ด ริฎอ, ตัฟซี้ร กุรอานิลอะซีม (อัลมะน้าร), เล่ม 1,หน้า 39, สำนักพิมพ์ดารุลมะอ์ริฟะฮ์,พิมพ์ครั้งที่สอง,เบรุต,เลบานอน
[4] บัยฎอวี,นาศิรุดดีน อบุลค็อยร์ อับดุลลอฮ์ บิน อุมัร, อันวารุตตันซี้ล วะอัสรอริตตะอ์วีล,เล่ม 1,หน้า 32,ดารุตตุรอษิ้ลอะเราะบี,เบรุต,ฮ.ศ. 1418
[5] อบูฮุร็อยเราะฮ์ อับดุรเราะฮ์มาน บิน ศ็อคร์ ดูซี (ฮ.ศ.22 - 59 ) เป็นครูบาฮะดีษของเศาะฮาบะฮ์และตาบิอีนกว่าแปดร้อยคน อุมัรได้แต่งตั้งให้เขาดำรงตำแหน่งผู้ครองแคว้นบาห์เรน ทว่าได้ถอดจากตำแหน่งเนื่องจากความอะลุ้มอล่วยเกินเหตุ ส่วนใหญ่เขาพำนักอยู่ที่มะดีนะฮ์ ตะกียุดดีน สุบกี ได้เขียนเอกสารชิ้นหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า “ฟะตาวา อบีฮุร็อยเราะฮ์” อับดุลฮุเซน ชะเราะฟุดดีนก็เคยเขียนหนังสือชื่อว่า อบูฮุร็อยเราะฮ์เช่นกัน (อัลอะอ์ลาม,เล่ม 4,หน้า 80 - 81) ฮุจญะตี,อัสบาบุนนุซู้ล,หน้า 216
[6] ดู: อิบนิ อบิลฮะดี้ด มุอ์ตะซิลี,อิซซุดดีน อบูฮามิด,ชัรฮ์นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์,เล่ม 4,หน้า 68, หอสมุดอายะตุลลอฮ์ มัรอะชี นะญะฟี,พิมพ์ครั้งแรก,ปี 1337
[7] ดู: ซุลฎอนี, อับดุลอะมี้ร,ฮุกมุตตะอ์มีน ฟิศเศาะลาฮ์,สมาพันธ์อะฮ์ลุลบัยต์โลก,พิมพ์ครั้งที่สอง
[8] ดู: ซับซะวอรี,อลี มุอ์มิน กุมี,ญามิอุ้ลคิลาฟ วัลวิฟ้าก บัยนัล อิมามียะอ์ วะบัยนะ อะอิมมะติลฮิญ้าซ วัลอะร้อก,สำนักพิมพ์ผู้เตรียมการมาของอิมามมะฮ์ดี(อ.),พิมพ์ครั้งแรก,กุม,ปี 1421
[9] อิสฟะรอยินี,อบุลมุซ็อฟฟัร ชาฮ์ฟู้ร บิน ฏอฮิร, ตาญุตตะรอญิม ฟีตัฟซีริลกุรอานิลอะอาญิม,อารัมภบท,หน้า 20,สำนักพิมพ์อิลมีฟัรฮังฆี,พิมพ์ครั้งแรก,เตหราน,ปี 1375 และ ชะฮีดษานี,ซัยนุดดีน บิน อลี บิน อะฮ์มัด อามิลี,ร็อวฏ็อลญินาน ฟีชัรฮิ อิรชาดิลอัซฮาน,หน้า 331,สถาบันอาลุลบัยต์(อ.),พิมพ์ครั้งแรก,กุม
[10] อิบนิ ชะฮ์รอชู้บ,มอซันดะรอนี,มุฮัมมัด บิน อลี, มุตะชาบิฮุลกุรอาน วะมุคตะละฟิฮ์,เล่ม 2,หน้า 170,สำนักพิมพ์บีด้อร,พิมพ์ครั้งแรก,กุม,ฮ.ศ.1410
[11] สุนัน อบีดาวู้ด, หมวดการเริ่มนมาซ,เล่ม 2,หน้า 391, ฮะดีษที่ 627, เว็บอัลอิสลาม http://www.al-islam.com (อัลมักตะบะตุชชามิละฮ์), สุนัน อิบนิมาญะฮ์,หมวดสิ้นสุดนมาซ,เล่ม 3,หน้า 355, เว็บอัลอิสลาม http://www.al-islam.com (อัลมักตะบะตุชชามิละฮ์) และ บัยฮะกี, สุนันกุบรอ,เล่ม 2,หน้า 72, เว็บอัลอิสลาม http://www.al-islam.com (อัลมักตะบะตุชชามิละฮ์) และ สุนันดาเราะมี,หมวดคุณลักษณะการนมาซของท่านนบี(ซ.ล.),เล่ม 4,หน้า 165, เว็บไซต์กระทรวงศาสนสมบัติอิยิปต์, http://www.islamic-council.com, (อัลมักตะบะตุชชามิละฮ์)
[12] บัยฮะกี, สุนันกุบรอ, เล่ม 2,หน้า 345, และ สุนัน ดารุกุฏนี,เล่ม 3,หน้า 172 เว็บไซต์กระทรวงศาสนสมบัติอิยิปต์, http://www.islamic-council.com, (อัลมักตะบะตุชชามิละฮ์) และ เศาะฮี้ห์ อิบนิฮับบาน,เล่ม 8,หน้า 243, และ มุสนัดชาฟิอี,เล่ม 1,หน้า 223, เว็บไซต์ญามิอุลฮะดีษ http://www.alsunnah.com (อัลมักตะบะตุชชามิละฮ์) และ มัจลิซี,มุฮัมมัด บากิร,บิฮารุลอันว้าร,เล่ม 82,หน้า 279,สถาบันอัลวะฟา,เบรุต,เลบานอน,ฮ.ศ. 1404
[13] เศาะดู้ก,มันลายะฮ์ฎุรุฮุ้ลฟะกี้ฮ์,เล่ม 1,หน้า 390,สำนักพิมพ์ญามิอะฮ์มุดัรริซีน,กุม,ฮ.ศ.1413
[14] กุลัยนี,อัลกาฟี,เล่ม 3,หน้า 313,ดารุลกุตุบิลอิสลามียะฮ์,เตหราน,ปี 1365 และ ฏูซี,อัลอิสติบศ้อร,เล่ม 1,หน้า 318,ดารุลกุตุบิลอิสลามียะฮ์,เตหราน,ฮ.ศ.1390 และ ฏูซี,ตะฮ์ซีบุลอะห์กาม,เล่ม 2,หน้า 74,ดารุลกุตุบิลอิสลามียะฮ์,เตหราน,ฮ.ศ.1365
[15] เศาะดู้ก,มันลายะฮ์ฎุรุฮุ้ลฟะกี้ฮ์,เล่ม 1,หน้า 390
[16] ฮิลลี,ฮะซัน บิน ยูซุฟ บิน มุเฏาะฮ์ฮัร อะสะดี,ตัซกิเราะตุ้ลฟุเกาะฮาอ์(พิมพ์ใหม่),เล่ม 3,หน้า 162,สถาบันอาลุลบัยต์(อ.),พิมพ์ครั้งแรก,กุม,เพิ่มเติมและตรวจทานโดยฝ่ายค้นคว้าของสถาบัน, และ ฏูซี,มุฮัมมัด บิน ฮะซัน, อัลคิล้าฟ,เล่ม 1,หน้า 332,สำนักพิมพ์อิสลามี ภายใต้ญามิอะฮ์มุดัรริซีน,กุม,ฮ.ศ. เพิ่มเติมและตรวจทานโดย เชคอลี คุรอซอนี และซัยยิดญะว้าด ชะฮ์ริสตานี และเชคมะฮ์ดี ฏอฮา นะญัฟ และ เชคมุจตะบา อะรอกี