Please Wait
11597
ในหนังสือมะฟาตีฮุลญินาน(เล่มสมบูรณ์)มีซิเกรและอะมั้ลที่ทำให้สามารถฝันเห็นเอาลิยาอ์ของอัลลอฮ์ได้ อย่างไรก็ดี วิธีเหล่านี้ไม่อาจจะเป็นมูลเหตุสมบูรณ์ที่ทำให้สามารถฝันเห็นบุคคลที่เราต้องการเสมอไป กล่าวคือ ไม่ไช่ว่าทุกคนจะสามารถฝันเห็นท่านศาสดาด้วยอะมั้ลเหล่านี้ได้ ทั้งนี้ก็เนื่องจากทักษะดังกล่าวจำเป็นต้องควบคู่กับการหยุดทำบาป และปฏิบัติศาสนกิจภาคบังคับอย่างเคร่งครัด ตลอดจนต้องมีจิตใจอันบริสุทธิเพียงพอเสียก่อน.
ก่อนจะตอบคำถามข้างต้น ขออธิบายเกี่ยวกับความฝันและประเภทต่างๆของความฝันโดยสังเขปเสียก่อน
นักวิชาการพยายามนำเสนอบทวิเคราะห์อันยืดยาวเพื่ออธิบายเกี่ยวกับการฝันของมนุษย์ บ้างเชื่อว่าความฝันเกิดจากการไหลเวียนของเลือดจากสมองสู่อวัยวะต่างๆในร่างกาย ชุดคำอธิบายนี้อ้างอิงมูลเหตุทางฟิสิกข์
บ้างเชื่อว่ากิจกรรมต่างๆในรอบวันของคนเราก่อให้เกิดสารพิษในร่างกาย และสารพิษเหล่านี้ทำปฏิกิริยาต่อระบบประสาท ทำให้เกิดจินตภาพที่เราเรียกว่า“ฝัน” ปฏิกิริยาดังกล่าวจะดำเนินต่อไปจนกระทั่งสารพิษเหล่านั้นถูกร่างกายดูดซึมจนหมด ชุดคำอธิบายนี้อ้างอิงมูลเหตุทางชีวะเคมี
บางกลุ่มเชื่อว่าความฝันเกิดจากมูลเหตุทางระบบประสาทโดยแจกแจงว่า ความฝันเกิดจากการที่กลไกพิเศษของระบบประสาทที่อยู่ในสมอง ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่องของร่างกายนั้น หยุดทำงานไปเนื่องจากความเหนื่อยล้า
แม้ไม่อาจปฏิเสธอิทธิพลของปัจจัยเหล่านี้ได้โดยสิ้นเชิง แต่อย่างไรก็ดี ปัจจัยเหล่านี้ก็ไม่อาจไขข้อสงสัยเกี่ยวกับความฝันให้กระจ่างได้อย่างทะลุปรุโปร่ง
สาเหตุที่นักวิชาการในปัจจุบันไม่สามารถอธิบายความฝันได้อย่างกระจ่างชัดทุกแง่มุมนั้น เกิดจากการที่พวกเขาเน้นแนวคิดวัตถุนิยมเป็นหลัก พวกเขาพยายามจะอธิบายข้อเท็จจริงนี้โดยละเลยที่จะยอมรับความจริงเกี่ยวกับจิตวิญญาณมนุษย์ ซึ่งหากพิจารณาจะพบว่าความฝันเกิดจากปัจจัยทางจิตวิญญาณมากกว่าปัจจัยทางชีวภาพ หากเป็นเช่นนี้ ก็ไม่สามารถจะอธิบายความฝันได้โดยไม่ศึกษาเกี่ยวกับจิตวิญญาณอีกต่อไป
กุรอานได้นำเสนอคำนิยามอันละเอียดละออที่สุดเกี่ยวกับความฝัน โดยกล่าวว่า ความฝันก็คือการกู้คืนวิญญาณประเภทหนึ่ง กล่าวคือ ความฝันเกิดจากการจำกัดอิทธิพลที่วิญญาณมีต่อร่างกาย แต่ไม่ถึงขั้นยุติอิทธิพลดังกล่าว
ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อวิญญาณถูกจำกัดรัศมีที่ส่องสว่างแก่ร่างกายให้เหลือเพียงแสงเทียนสลัวๆ ระบบการรับรู้ของร่างกายก็จะหยุดทำงานชั่วคราว ทำให้ผู้ที่นอนหลับไม่มีความรู้สึกหรือความเคลื่อนไหวเช่นปกติ แม้ว่าระบบต่างๆที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตเช่น ระบบหายใจ ระบบสูบฉีดเลือด ฯลฯ ยังต้องทำงานอยู่เหมือนเดิม.[1]
จึงสรุปได้ว่าในระหว่างความฝัน ระบบสมองส่วนหนึ่งจะหยุดทำงาน[2] หาได้หยุดทำงานทั้งระบบไม่ ด้วยเหตุนี้เองที่ฮะดีษต่างๆนิยามความฝันว่าเป็น “พี่น้องความตาย”[3]
ฮะดีษจากอิมามอลีบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า “การนอนหลับทำให้ปลอดทุกข์โศก และมีคุณสมบัติเทียบเคียงความตาย”[4]
โดยทั่วไปแล้ว สามารถแบ่งความฝันออกเป็นสามประเภท
หนึ่ง, ความฝันที่มีความหมายชัดเจนไม่จำเป็นต้องทำนายฝัน
สอง, ความฝันที่สับสนยุ่งเหยิง ซึ่งไม่อาจนำมาทำนายฝันได้
สาม, ความฝันที่จิตของมนุษย์แสดงผลเป็นรหัสหรือในลักษณะอุปมาอุปไมย ความฝันประเภทนี้แหล่ะที่มีการทำนายฝันกัน[5]
หลังจากทำความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับความฝันแล้ว ก็พอจะทราบว่ามนุษย์สามารถท่องไปในโลกแห่งมิษาลและอักล์ เพื่อเข้าพบเอาลิยาอ์ของอัลลอฮ์ได้ กล่าวคือ เมื่อคนเรานอนหลับก็จะเชื่อมต่อกับโลกแห่งมิษาลและอักล์อันสอดคล้องกับลักษณะเฉพาะตัวของวิญญาณ ทำให้สามารถเห็นและรับรู้ปรากฏการณ์บางอย่างตามแต่ศักยภาพของแต่ละคนจะอำนวย[6] ด้วยเหตุนี้ หากมีบันทึกในอัตชีวประวัติของผู้บำเพ็ญกุศลอย่างท่านชะฮีด มุเฏาะฮะรี ว่าท่านเคยได้รับเกียรติในเรื่องนี้[7] ก็ไม่ไช่เรื่องน่าฉงนใจแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ต้องคำนึงว่า
หนึ่ง ไม่ไช่ว่าทุกคนจะสามารถควบคุมความฝันของตนให้นำพาสู่การพบเจอบุคคลที่ต้องการพบเสมอไป
สอง ในตำราดุอาอย่างเช่นมะฟาตีฮุลญินาน[8]จะมีอะมั้ลที่จะส่งผลให้สามารถฝันเห็นท่านนบี(ซ.ล.)ได้[9] แม้ปฏิเสธไม่ได้ว่าอะมั้ลดังกล่าวย่อมมีส่วนให้เกิดผลลัพธ์ที่ต้องการ แต่ทั้งนี้ก็หาได้เป็นมูลเหตุสมบูรณ์ที่ทำให้ฝันเห็นท่านนบี(ซ.ล.)ในลักษณะที่หากทำอะมั้ลดังกล่าวแล้วจะต้องได้เห็นท่านนบีในฝันกันโดยถ้วนหน้าไม่ ทั้งนี้ก็เนื่องจากการที่จะฝันเห็นนบีต้องมีเงื่อนไขอื่นๆอีก อาทิเช่น การหยุดทำบาป, เคร่งครัดในศาสนกิจภาคบังคับ และความผ่องใสทางจิตวิญญาณ ต่อเมื่อมีครบทุกเงื่อนไขเท่านั้น จึงจะสามารถฝันเห็นท่านศาสดาได้ นั่นเป็นเพราะว่าผู้ที่มีจิตใจผ่องแผ้วปราศจากกิเลศเท่านั้นที่จะประสบความสำเร็จดังใจหมาย
อย่างไรก็ดี หากคุณปฏิบัติอะมั้ลดังกล่าวแล้ว แต่ไม่ได้เห็นศาสดาในฝันตามที่ปรารถนา แน่นอนว่าอัลลลอฮ์จะทรงประทานผลรางวัลอื่นชดเชยให้ ทั้งนี้ก็เนื่องจากทั้งความหวังที่จะได้พบท่านนบี รวมถึงอะมั้ลในตำราดุอาซึ่งอุดมไปด้วยซิกรุลลอฮ์นั้น ล้วนมีผลบุญ ณ พระองค์ทั้งสิ้น
เกร็ดน่ารู้ส่งท้ายก็คือ วิธีที่จะทำให้ฝันเห็นท่านศาสดา(ซ.ล.)มิได้จำกัดเฉพาะอะมั้ลดังกล่าว เนื่องจากยังมีวิธีอื่นๆที่มีผลลัพธ์ดังกล่าวเช่นกัน อย่างเช่น การตะวัสสุ้ลผ่านเอาลิยาอ์ของอัลลอฮ์ ในชีวประวัติของท่านอายะตุลลอฮ์ อัลอุซมา มัรอะชี นะญะฟี บันทึกไว้ว่า คืนหนึ่งท่านได้ตะวัสสุ้ลเพื่อหวังจะเห็นหนึ่งในเอาลิยาอ์ของอัลลอฮ์ในฝัน แล้วท่านก็ฝันเห็นท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีน อลี ดังใจหมาย ซึ่งเหตุการณ์นี้ผูกโยงกับเหตุการณ์ที่นักกวีนามระบือ“ชะฮ์ริย้อร”แต่งโคลงกลอนยกย่องท่านอิมามอลีในคืนเดียวกันนั้น.[10]
[1] ดู: ตัฟซีรเนมูเนะฮ, เล่ม19, หน้า 482และ 483.
[2] อายะฯ มะการิม ชีรอซี, มะอ้าดและโลกหลังความตาย หน้า 385.
[3] วลี “النوم اخو الموت”ใน, อะวาลี อัลละอาลี, เล่ม 4, หน้า 73.
[4] วลี “النوم راحة من الم و ملائمة الموت” ใน, ฆุร่อรุ้ล ฮิกัม, ฮะดีษที่ 1461.
[5] ตัฟซีรอัลมีซานฉบับแปลฟารซี, เล่ม 11, หน้า 372.
มีฮะดีษรายงานจากท่านนบี(ซ.ล.)ว่า ความฝันแบ่งเป็นสามประเภท. ข่าวดีจากอัลลอฮ์ การเผยสถานะของจิต ความหวาดกลัวที่ชัยฏอนก่อขึ้น“الرویا الثلاثه: فبشری من الله و حدیث النفس و تخویف الشیطان” กันซุ้ล อุมม้าล, 41385.
และมีฮะดีษรายงานจากท่านอิมามศอดิกว่า คราใดที่บ่าวของพระองค์ประสงค์จะทำบาป แต่พระองค์ยังประสงค์ให้เขาเป็นคนดี พระองค์จะทรงบันดาลให้เขาฝันร้ายเพื่อจะได้หวั่นเกรงไม่กล้าทำบาป
“اذ کان العبد علی معصیه الله عز و جل و اراد الله به خیرا اراه فی منامه رویا تروعه و فینزجرها عن تلک المعصیه” อัลอิคติศ้อศ, หน้า 24.
[6] ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ดู: อัลมีซานฉบับแปลฟารซี, เล่ม 11, หน้า 366-373.
[7] ภรรยาของท่านเล่าว่า “คืนหนึ่ง ท่านตกใจตื่นขึ้นมากลางดึก ฉันถามท่านว่าเกิดอะไรขึ้นหรือย่างไร? ท่านตอบว่า ฉันฝันว่าได้เข้าพบท่านเราะซูลลุลลอฮ์(ซ.ล.)พร้อมกับท่านอิมามโคมัยนี ฉันเอ่ยต่อท่านนบีว่า โอ้ท่านเราะซูลุลลอฮ์ ท่านนี้(อิมามโคมัยนี)คือหนึ่งในบุตรหลานของท่าน. ท่านนบีได้สวมกอดท่านอิมามโคมัยนี แล้วจึงหันมาโอบกอดฉัน และได้จุมพิตริมฝีปากโดยที่ฉันยังจำไออุ่นของริมฝีปากท่านได้ ฉันคิดว่าคงจะต้องเกิดเรื่องใหญ่ในชีวิตฉันเป็นแน่. ภรรยาของท่านเล่าต่อว่า “สามวันต่อมาท่านก็ถูกลอบยิงเป็นชะฮีด”
[8] ภาคผนวกมะฟาตีฮุลญินาน, หมวดบากิยาตุศศอลิฮาต.
[9] อ่านซูเราะฮ์ อัชชัมส์, อัลลัยล์, ก็อดร์, กาฟิรูน, กุ้ลฮุวัลลอฮ์, นาส และ ฟะลัก (สี่กุ้ล)อย่างละหนึ่งจบ และหลังจากนั้นอ่านกุ้ลฮุวัลลอฮ์ 100 จบ และศอละวาต 100 ครั้ง จากนั้นจึงนอนตะแคงขวาขณะยังมีน้ำนมาซ.
[10] ฮุเซน ซะบูรี, ชะฮ์ริย้อรของเรา, พิมพ์ปี 1381.