Please Wait
7466
2. หากเชื่อถือได้ กรุณาเล่ารายละเอียดให้ฟังด้วยค่ะ
3. คุณคิดว่าอิมามฮุเซน(อ.)เข้าไปพัวพันกับเรื่องนี้เพื่ออะไร?
4. จริงหรือไม่ที่ว่าเรื่องดังกล่าวมีส่วนทำให้ยะซีดโกรธและบงการให้เกิดเหตุนองเลือดที่กัรบะลา
จะขอบคุณมาก หากจะกรุณาแนะนำหนังสือภาษาฟารซีเกี่ยวกับเรื่องนี้
ตำราประวัติศาสตร์บางเล่มระบุว่า แม้ยะซีดจะมีสิ่งบำเรอกามารมณ์อย่างครบครัน แต่ก็ยังอยากจะเชยชมหญิงที่มีสามีแล้วอย่างอุร็อยนับ บินติ อิสฮ้าก ภรรยาของอับดุลลอฮ์ บิน สะลาม
มุอาวิยะฮ์ผู้เป็นพ่อของยะซีดจึงคิดอุบายที่จะพรากหญิงสาวคนนี้จากสามีเพื่อให้ลูกชายของตนสมหวังในกามราคะ อิมามฮุเซน(อ.) ทราบเรื่องนี้เข้าจึงคิดขัดขวางแผนการดังกล่าว โดยใช้บทบัญญัติอิสลามทำลายอุบายของมุอาวิยะฮ์ และปล่อยให้อุร็อยนับคืนสู่อับดุลลอฮ์ บิน สะลามผู้เป็นสามีอีกครั้งหนึ่ง ทำให้ยะซีดหมดโอกาสที่จะย่ำยีครอบครัวนี้ได้อีกต่อไป
แม้รายงานทางประวัติศาสตร์ชิ้นนี้จะมีข้อกังขามากพอสมควร แต่สมมติว่าเป็นเรื่องจริง ก็มิไช่เรื่องเสียหายสำหรับอิมามฮุเซนแต่อย่างใด กลับจะชี้ให้เห็นถึงความเฉลียวฉลาดและเมตตาธรรมของท่านในการรักษาเกียรติยศครอบครัวมุสลิมได้เป็นอย่างดี
อนึ่ง ไม่มีตำราที่มีชื่อเสียงเล่มใดระบุว่าเรื่องราวดังกล่าวเป็นสาเหตุให้ยะซีดแค้นฝังใจและก่อเหตุนองเลือดที่กัรบะลา
สิ่งที่ตำราประวัติศาสตร์บันทึกไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือ ในรัชสมัยของมุอาวิยะฮ์ มีสตรีผู้ศรัทธาคนหนึ่งนามว่า อุร็อยนับ บุตรีของอิสฮ้าก ซึ่งชื่อเสียงความงดงามของเธอเลื่องลือไปทั่ว
ยะซีดซึ่งยังดำรงตำแหน่งมกุฏราชกุมารอยู่ ได้ยินเช่นนั้นก็หลงรักเธอ แต่ก่อนที่ยะซีดจะดำเนินการเพื่อให้ได้เชยชมเธอ เธอก็ตัดสินใจแต่งงานกับญาติที่มีนามว่า อับดุลลอฮ์ บิน สะลาม เสียก่อน และใช้ชีวิตที่แผ่นดินอิรักอย่างรื่นรมย์ใจ
มุอาวิยะฮ์ผู้เป็นพ่อทราบความทั้งหมด จึงสัญญาว่าจะทำให้ยะซีดสมปรารถนาให้จงได้ โดย ณ เวลานั้นอับดุลลอฮ์เป็นข้าราชการคนหนึ่งของมุอาวิยะฮ์ในอิรัก มุอาวิยะฮ์เรียกตัวอับดุลลอฮ์มาที่เมืองชาม โดยแจ้งแก่เขาผ่านอบูดัรดาอ์และอบูฮุร็อยเราะฮ์ว่าประสงค์จะยกลูกสาวตนให้แต่งงานกับอับดุลลอฮ์ เนื่องจากมีศักยภาพพอที่จะเป็นราชบุตรเขยของมุอาวิยะฮ์
อับดุลลอฮ์ตอบรับอุบาย อบูฮุร็อยเราะฮ์และอบูดัรดาอ์รีบแจ้งแก่มุอาวิยะฮ์ มุอาวิยะฮ์ซักซ้อมกับลูกสาวตนเองว่า หากสองคนนั้นมาสู่ขอเธอให้อับดุลลอฮ์ จงแสร้งทำเป็นตอบรับการสู่ขอ แต่จงบอกไปว่าเธอมีเงื่อนไขว่าอับดุลลอฮ์จะต้องหย่าขาดจากภรรยาคนเก่าเสียก่อนจึงจะยอมแต่งงาน
ในที่สุด อับดุลลอฮ์ก็หลงอุบายและยอมหย่าจากภรรยา โดยขอให้มุอาวิยะฮ์ทำตามสัญญาที่ให้ไว้
มุอาวิยะฮ์ตอบว่า “หากลูกสาวของข้าพึงพอใจ ข้าก็ไม่ว่ากระไร” อบูดัรดาและอบูฮุร็อยเราะฮ์หารือกับลูกสาวมุอาวิยะฮ์และแจ้งให้ทราบว่าอับดุลลอฮ์ได้หย่าจากอุร็อยนับแล้ว แต่นางตอบว่า ขอฉันไตร่ตรองเกี่ยวกับเรื่องนี้เสียก่อน
เวลาผ่านไปกระทั่งอิดดะฮ์ของอุร็อยนับสิ้นสุดลง ทั้งสองคนสอบถามลูกสาวมุอาวิยะฮ์อีกครั้ง นางตอบปฏิเสธว่า “ฉันเห็นว่าไม่เหมาะสม !” มุอาวิยะฮ์รีบส่งสองคนนี้ไปที่อิรักเพื่อให้สู่ขออุร็อยนับให้แก่ยะซีด เมื่อทั้งสองย่างเข้าสู่อิรัก ก็ทราบว่าอิมามฮุเซน(อ.) ก็พำนักอยู่ที่อิรักเช่นกัน จึงตัดสินใจจะไปเยี่ยมอิมามก่อน แล้วจึงหวนไปปฏิบัติภารกิจของมุอาวิยะฮ์ต่อ เมื่อได้พบอิมาม ท่านถามว่า พวกท่านมาทำอะไรที่อิรัก? อบูดัรดาเล่าความทั้งหมดให้อิมามฟัง ท่านจึงกล่าวว่า “ฉันเองก็ตัดสินใจจะสู่ขออุร็อยนับอยู่เหมือนกัน ในเมื่อท่านจะไปอยู่แล้ว ก็ขอฝากไปบอกเรื่องนี้แก่เธอด้วย” เมื่อไปถึงบ้านอุร็อยนับ อบูดัรดาจึงสู่ขอให้กับยะซีดและอิมามฮุเซนพร้อมกัน นางขอคำปรึกษาว่าจะเลือกผู้ใดดี อบูดัรดาตอบว่า อิมามฮุเซนเหมาะจะเป็นสามีของเธอมากกว่า ด้วยเหตุฉะนี้ อิมามฮุเซนจึงแต่งงานกับเธอด้วยสินสอดเท่ากับจำนวนเงินที่ยะซีดฝากมาเพื่อการนี้
เมื่ออับดุลลอฮ์ (ซึ่งขณะนั้นยังอยู่ที่เมืองชาม) ทราบว่าตนเองพ่ายกลอุบายของมุอาวิยะฮ์และถูกตัดเงินเดือน จึงกลับสู่อิรักเพื่อจะมารับของที่เคยฝากไว้กับอุร็อยนับคืนไป เขาเข้าพบอิมามฮุเซนและแจ้งว่าต้องการเพียงแค่จะรับของฝากจากอดีตภรรยาเท่านั้น เมื่ออดีตคู่รักเจอหน้ากัน จึงหวลรำลึกถึงอดีตแล้วร้องไห้ด้วยกัน ท่านอิมามเห็นเช่นนั้นจึงสงสารพร้อมกับกล่าวว่า “ฉันหย่าขาดจากนางสามครั้งแล้ว โอ้อัลลอฮ์ พระองค์ทรงทราบดีว่าข้าพระองค์มิได้สมรสกับนางเพราะต้องการทรัพย์สินหรือความเลอโฉม แต่เพื่อจะส่งมอบนางแก่สามีเท่านั้น” จากนั้นอิมามจึงมอบมะฮัรแก่นาง อับดุลลอฮ์และภรรยาต้องการจะมอบของกำนัล แต่ท่านอิมามกล่าวว่า ของกำนัลที่ฉันหวังจากพระองค์นั้นยิ่งใหญ่กว่านี้นัก” แล้วสองสามีภรรยาก็กลับไปใช้ชีวิตเช่นอดีต[1]
ข้อสังเกตุที่พบเห็นได้ในเรื่องราวนี้ที่สามารถบ่งบอกว่าเป็นเรื่องที่กุขึ้นก็คือ
1. เรื่องดังกล่าวไม่มีสายรายงาน จึงไม่สามารถนำมาวิพากษ์วิจารณ์ได้ เนื่องจากอิบนิ กุตัยบะฮ์ (ผู้ประพันธ์หนังสืออัลอิมามะฮ์วัสสิยาสะฮ์) มีชีวิตในศตวรรษที่สาม (ฮ.ศ.) ถือกำเนิดในปีฮ.ศ.213 ในขณะที่อิมามฮุเซนเสียชีวิตที่กัรบะลาในปีฮ.ศ. 61 แสดงว่าเขาถือกำเนิดหลังเหตุการณ์กัรบะลาถึง 152 ปี ย่อมจะต้องรายงานเรื่องนี้มาจากผู้อื่น ทว่าเขาไม่ระบุสายรายงาน ทำให้ไม่สามารถจะตรวจสอบได้ ซึ่งมีความเป็นได้ที่อาจมีผู้กุเรื่องแล้วเล่าให้เขาฟัง
2. อบูดัรดาซึ่งในเรื่องนี้ระบุว่าเป็นสื่อกลางระหว่างมุอาวิยะฮ์และอับดุลลอฮ์ บิน สะลามและอุร็อยนับนั้น เป็นที่ทราบกันในหมู่นักประวัติศาสตร์ว่าเสียชีวิตตั้งแต่สมัยอุษมานแล้ว (ราวๆปี ฮ.ศ. 38,39)[2] ดังนั้น จะเป็นไปได้อย่างไรที่เขาจะอยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าวซึ่งเกิดขึ้นช่วยท้ายรัชสมัยของมุอาวิยะฮ์ขณะที่ยะซีดเป็นมกุฏราชกุมาร?
3. ไม่มีตำราที่มีชื่อเสียงเล่มใดบันทึกเรื่องราวดังกล่าวเลย ตำราที่พอจะเป็นที่รู้จักที่รายงานไว้ก็คือ อัลอิมามะฮ์ วัสสิยาสะฮ์ ของอิบนิ กุตัยบะฮ์ ซึ่งหลายคนก็ตั้งข้อสงสัยว่าเป็นงานเขียนของเขาจริงหรือไม่[3]
4. ไม่มีตำราที่น่าเชื่อถือเล่มใดระบุว่าอิมามฮุเซนกลับมาที่อิรัก ภายหลังจากที่เดินทางกลับมะดีนะฮ์หลังอิมามอลี(อ.)เสียชีวิต นอกจากเหตุการณ์อาชูรอ ในขณะที่เรื่องอุร็อยนับอ้างว่าเกิดขึ้นก่อนกัรบะลา
5. เรื่องนี้ระบุว่าอิมามหย่าขาดจากอุร็อยนับสามรอบในคราเดียว ในขณะที่ตามฮุก่มฝ่ายชีอะฮ์นั้น การหย่าสามรอบในคราเดียวถือว่าไม่มีผล และให้นับเป็นหนึ่งรอบ[4]
6. หนึ่งในเงื่อนไขของการหย่าร้างก็คือการมีพยานสองคน กุรอานกล่าวว่า “...และจงจัดให้มีพยานชายสองคนในหมู่สูเจ้า และจงเป็นพยานเพื่ออัลลอฮ์”[5] อิมามศอดิกเคยกล่าวไว้ว่า “การหย่าร้างจะไม่เกิดขึ้นเว้นแต่มีพยานสองคน”[6]
ข้อสังเกตุแต่ละข้อก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้เราต้องตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องเล่าดังกล่าว แต่อย่างไรก็ดี หากจะมองข้ามข้อบกพร่องเรื่องสายรายงานและเนื้อหา โดยสมมติว่ายอมรับเรื่องดังกล่าว ไม่เพียงแต่อิมามฮุเซนจะไม่ด่างพร้อยในเรื่องนี้ กลับจะชี้ให้เห็นถึงความเฉลียวฉลาดและเมตตาธรรมของท่านในการรักษาเกียรติยศครอบครัวมุสลิมได้เป็นอย่างดี
ตามเนื้อหาของเรื่องเล่านี้ อิมามฮุเซน(อ.)ได้ช่วยหญิงสาวให้พ้นจากกลอุบายอันสกปรกของมุอาวิยะฮ์ และคืนแก่สามีของนาง โดยเฉพาะที่ระบุว่าท่านกล่าวว่า “โอ้อัลลอฮ์ พระองค์ทรงทราบดีว่าข้าพระองค์มิได้สมรสกับนางเพราะต้องการทรัพย์สินหรือความเลอโฉม” ทันทีที่ท่านเห็นความรักระหว่างคนสองคน ท่านก็ได้หย่าจากนางทันที
ดังนั้น จึงสัมผัสได้ถึงความประสงค์อันแรงกล้าของท่านในการปกป้องสิทธิของผู้ถูกกดขี่ได้อย่างชัดเจน
พึงทราบว่า ไม่มีตำราที่มีชื่อเสียงเล่มใดระบุว่าเรื่องดังกล่าวเป็นสาเหตุหลักหรือสาเหตุรอง ที่ทำให้ยะซีดแค้นฝังใจและก่อเหตุโศกนาฏกรรมกัรบะลาขึ้น
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ หนังสือผู้นำและการเมือง (แปลจากอัลอิมามะฮ์วัสสิยาซะฮ์) หน้า 212-216
[1] ดัยนะวะรี,อบูมุฮัมมัด อับดุลลอฮ์ บิน มุสลิม บิน กุตัยบะฮ์, อัลอิมามะฮ์วัสสิยาซะฮ์, ค้นคว้าเพิ่มโดยอลี ชีรี, เล่ม 1,หน้า 217 เป็นต้นไป,สำนักพิมพ์ ดารุลอัฎวาอ์,เบรุต
[2] อิบนุ อะษี้ร, อัลกามิล ฟิตตารีค, เล่ม 3,หน้า 129, สำนักพิมพ์ดาร ศอดิร, เบรุต และ อิบนุ อับดิร็อบบิฮ์, อัลอิสตีอ้าบ, เล่ม 3,หน้า 1229,1230, ค้นคว้าเพิ่มโดย มุฮัมมัด อัลบะญาวี, สำนักพิมพ์ดารุลญะบัล,เบรุต ฮ.ศ.1414 และ อิบนุ ฮะญัร อัสเกาะลานี,อัลอิศอบะฮ์ ฟี ตะมีซิศเศาะฮาบะฮ์,เล่ม 4,หน้า 622,ค้นคว้าเพิ่มโดย อาดิล อะห์มัด อับดุลเมาญู้ด และ อลีมุฮัมมัด มุเอาวัฎ, สำนักพิมพ์ดารุลกุตุบิลอิสลามียะฮ์,เบรุต,พิมพ์ครั้งแรก,ฮ.ศ.1415
[3] อภิสารานุกรมอิสลาม,เล่ม,บทความที่ (อัลอิมามะฮ์วัสสิยาซะฮ์), สำนักพิมพ์ศูนย์อภิสารานุกรมอิสลาม,เตหราน,1376
[4] ฮุร อามิลี, วะซาอิลุชชีอะฮ์,เล่ม 22,หน้า 21,สำนักพิมพ์อาลุลบัยต์
[5] อัฏเฏาะล้าก, 2 وَ أَشهْدُواْ ذَوَىْ عَدْلٍ مِّنکمُْ وَ أَقِیمُواْ الشَّهَادَةَ لله
[6] ฮุร อามิลี, วะซาอิลุชชีอะฮ์,เล่ม 22,หน้า 25 و لا یجوز الطلاق إلا بشاهدین ...