Please Wait
7796
ความรีบร้อนลนลานถือเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงในทัศนะของศาสนา ซึ่งในที่นี้ก็หมายถึงการรีบกระทำสิ่งใดโดยพละการนั่นเอง การรีบร้อนแตกต่างจากการรีบเร่งทั่วไป เพราะการรีบเร่งหมายถึงการรีบกระทำการใดทันทีที่ทุกอย่างพร้อม สิ่งที่ตรงข้ามกับการรีบร้อนก็คือ “ตะอันนี” และ “ตะษับบุต”อันหมายถึงการตรึกตรองอย่างรอบคอบก่อนลงมือกระทำการใดๆ
เมื่อพิจารณาถึงข้อเสียของการรีบร้อน และข้อดีของการตรึกตรองอันเป็นคุณลักษณะของกัลยาณชนเฉกเช่นบรรดาศาสดา ทำให้ได้ข้อสรุปว่าก่อนกระทำการใดควรตรึกตรองอย่างมีสติเสมอ และหากหมั่นฝึกฝนระยะเวลาหนึ่ง แม้จะเป็นเรื่องยากก็ตาม แต่สุดท้ายก็จะติดเป็นนิสัย อันจะลบเลือนนิสัยรีบร้อนที่มีอยู่เดิม และจะสร้างเสริมให้เป็นผู้ที่มีความสุขุม
ความรีบร้อนถือเป็นลักษณะนิสัยด้านลบที่พบเห็นได้ในพฤติกรรมมนุษย์ อันหมายถึงการรีบกระทำสิ่งใดทั้งที่ยังไม่ได้มีการเตรียมการให้พร้อม ส่งผลให้เกิดความผิดพลาดหรือบกพร่องต่อภารกิจนั้นๆอยู่เสมอ ไม่ต่างจากการเด็ดผลไม้ก่อนจะสุกดี อันจะทำให้สิ้นเปลืองหรือเสียรสชาติที่แท้จริงไป หรืออาจเปรียบได้กับการหว่านเมล็ดพืชก่อนที่จะเตรียมหน้าดิน อันจะทำให้ไม่งอกเงยหรือมีลำต้นแคระแกร็นในที่สุด
ท่านอิมามอลี(อ.)กล่าวไว้ว่า ผู้ที่แสวงผลลัพธ์ก่อนถึงเวลาอันควรไม่ต่างอะไรกับผู้ที่หว่านเมล็ดพันธุ์บนผืนดินที่ไม่เหมาะสม (สุดท้ายก็ต้องสูญเสียทุนทรัพย์และแรงกายไปโดยเปล่าประโยชน์)[1]
ไม่ว่าประสบการณ์ ปัญญา ศาสนา ก็ล้วนประณามและยืนยันถึงความน่ารังเกียจของการลนลานทั้งสิ้น รอฆิบ อิศฟะฮานี ถือว่าจิตไฝ่ต่ำคือต้นกำเนิดของการลนลาน และถือว่านี่คือสาเหตุที่กุรอานตำหนิอุปนิสัยดังกล่าวไว้[2]
ท่านอิมามอลี(อ.)ถือว่าการรีบร้อนเกิดจากความเบาปัญญา ท่านกล่าวว่า “การรีบร้อนก่อนความพร้อมคือความเขลา”[3]
ท่านนบี(ซ.ล.)มีทัศนคติเกี่ยวกับต้นกำเนิดของความรีบร้อนและความสุขุมว่า ความสุขุมคือพฤติกรรมแห่งอัลลอฮ์ และการรีบร้อนคือพฤติกรรมแห่งชัยฏอน”[4]
เมื่อคำนึงถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นจากการรีบร้อนก็จะช่วยทำให้เราหลีกเลี่ยงอุปนิสัยดังกล่าว และช่วยให้สามารถเสริมสร้างอุปนิสัยความสุขุมให้เป็นแนวทางชีวิต
ผลเสียของการรีบร้อน
อุปนิสัยที่น่ารังเกียจล้วนเป็นเหตุแห่งความเสียหายทั้งสิ้น ซึ่งนอกจากจะน่ารังเกียจแล้ว ยังมีผลเสียอันมหันต์ที่ยิ่งทำให้น่ารังเกียจมากขึ้นทวีคูณอีกด้วย เพื่อให้ทราบถึงผลเสียของการรีบร้อน เราขอนำเสนอคำคมจากท่านอิมามอลี(อ.)ดังต่อไปนี้
1. ทำให้เสียใจ إِيَّاك وَ الْعَجَلَ فَإِنَّهُ عُنْوَانُ الْفَوْتِ وَ النَّدَم “จงหลีกเลี่ยงการรีบร้อนเถิด เพราะจะทำให้สูญเสียโอกาสและทำให้เสียใจภายหลัง[5]
ทุกกิจกรรมที่เริ่มต้นโดยปราศจากการวางแผนมักจะจบลงด้วยความล้มเหลวและความเสียใจเสมอ และยังจะทำให้พลาดโอกาสที่จะแก้ตัวในภายหลังอีกด้วย
2. ไม่ประสบความสำเร็จ قَلَّ مَا تَنْجَحُ حِيلَةُ الْعَجُولِ น้อยนักที่แนวทางของคนรีบร้อนจะนำสู่ความสำเร็จ[6]
ความรีบร้อนมักเป็นเหตุให้บุคคลไม่คิดหน้าคิดหลังให้ดีเสียก่อน ทำให้เสียโอกาสและไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ใจหมาย
3. สั่นคลอนและพ่ายแพ้ كَثْرَةُ الْعَجَلِ يُزِلُّ “ความรีบร้อนเกินเหตุจะทำให้สั่นคลอน”[7] قَلَّ مَنْ عَجِلَ إِلَّا هَلَك “น้อยคนนักที่มีนิสัยรีบร้อนทว่าไม่พ่ายแพ้”[8]
ความรีบร้อนมักเป็นเหตุให้บุคคลมองไม่เห็นหลุมพรางที่อยู่เบื้องหน้า ทำให้เสี่ยงต่อความพลาดพลั้งและการปราชัยในที่สุด
4. ทำให้เศร้าหมอง الْعَجَلُ قَبْلَ الْإِمْكَانِ يُوجِبُ الْغُصَّة “ความรีบร้อนกระทำก่อนความพร้อมจะนำมาซึ่งความอาดูร”[9]
ความร่าเริงแจ่มใสถือเป็นปัจจัยสำคัญของชีวิตมนุษย์ แน่นอนว่ามนุษย์ไม่อาจจะบรรลุเป้าหมายได้ด้วยความโศกาอาดูร ฉะนั้น จึงไม่ควรแลกความร่าเริงแจ่มใสกับความเศร้าหมองอย่างเด็ดขาด
ท่านอิมามอลี(อ.)ยังได้กล่าวถึงผลเสียอื่นๆของการรีบร้อนไว้มากมาย แต่เพื่อรักษาเนื้อหาให้กระชับ จึงขอแนะนำให้ผู้สนใจหาอ่านฮะดีษในหนังสือ “ฆุเราะรุลฮิกัม” ตามหมวดว่าด้วยการรีบร้อน
ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว จุดตรงข้ามของการรีบร้อนก็คือ “ความสุขุม” “การตรึกตรอง” อันหมายถึงการกระทำกิจใดๆโดยไตร่ตรองและชั่งใจไว้ก่อน
มีฮะดีษจากท่านนบี(ซ.ล.)ระบุว่า “ผู้คนต่างก็พินาศด้วยความรีบร้อน มาตรแม้นผู้คนตรึกตรองก่อนลงมือกระทำ จะไม่มีใครพินาศอีกเลย”[10]
ฮะดีษข้างต้นเป็นเครื่องยืนยันว่าปัจจัยที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อมนุษย์มากที่สุดคือการรีบร้อน
ด้วยเหตุนี้ ท่านอิมามศอดิก(อ.)จึงกล่าวว่า “ผู้ที่เริ่มกิจใดในเวลาที่ไม่เหมาะสม กิจนั้นก็จะยุติลงในเวลาที่ไม่เหมาะสมเช่นกัน”[11]
จากที่นำเสนอทั้งหมดได้ข้อสรุปว่า หากต้องการจะได้รับความผาสุก ควรตรึกตรองให้ดีก่อนที่จะคิดกระทำการใดให้ดีโดยไม่รีบร้อน วิธีแก้อุปนิสัยรีบร้อนก็คือการคำนึงถึงผลเสียที่จะตามมา อีกทั้งพิจารณาผลดีของการวางตัวอย่างสุขุมอันเป็นอุปนิสัยของเหล่าศาสดาและกัลยาณชน อันจะทำให้สามารถตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่าจะกระทำการทุกอย่างด้วยความสุขุม ความอดทน และการตรึกตรองเสมอ และหากพยายามกระทำได้เช่นนี้ระยะหนึ่ง ความสุขุมก็จะกลายเป็นอุปนิสัยแทนที่ความรีบร้อนในที่สุด
ท้ายนี้ไคร่ขอเน้นย้ำว่า การรีบร้อนต่างจากความฉับไวอย่างถูกกาลเทศะอย่างสิ้นเชิง ความฉับไวคือการกระทำการอย่างรวดเร็วเมื่อทุกเงื่อนไขพร้อมสรรพ ด้วยเหตุนี้ เหล่าผู้นำอิสลามจึงสนับสนุนการช่วงชิงโอกาสในการกระทำที่ดีงาม
ท่านนบี(ซ.ล.): “จงชิงโอกาสห้าประการก่อนห้าประการ วัยรุ่นก่อนวัยชรา สุขภาพก่อนความป่วยไข้ ความมั่งมีก่อนความยากจน โอกาสก่อนอุปสรรค ลมหายใจก่อนความตาย”[12]
อิมามอลี(อ.) “โอกาสจะผ่านพ้นไปประดุจดั่งเมฆที่ล่องลอย”[13]
อิมามอลี(อ.) “การประวิงเวลาเป็นสิ่งที่ดีเสมอ ยกเว้นกรณีความดีงาม”[14]
อิมามบากิร(อ.) “เมื่อเธอกำลังจะทำความดี จงรีบเร่งเถิด เพราะเธอไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในภายหลัง”[15]
อิมามศอดิก(อ.) “ผู้ใดดำริที่จะทำความดี ควรรีบเร่งโดยไม่ประวิงเวลา เพราะเมื่อบ่าวจะกระทำความดี อัลลอฮ์จะทรงตอบความดีของเขาว่า ข้าได้อภัยให้เจ้าแล้ว และจะมองข้ามความผิดพลาดในภายหลังด้วยเช่นกัน”[16]
[1] นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์,หน้า 52,คุฏบะฮ์ที่ 5, สำนักพิมพ์ดารุลฮิจเราะฮ์,กุม
[2] รอฆิบ อิศฟะฮานี, ฮุเซน บิน มุฮัมมัด, อัลมุฟเราะด้าต ฟี เฆาะรีบิลกุรอาน,หน้า 548,ดารุชชามียะฮ์,เบรุต,ฮ.ศ.1412
[3] อามะดี,อับดุลวาฮิด,ฆุเราะรุลฮิกัม,หน้า 266,สำนักพิมพ์ศูนย์เผยแผ่ศาสนา,กุม,ปี 1366
ฎ็อบเราะซี, อลี บิน ฮะซัน,มิชกาตุลอันว้าร,เล่ม 1,หน้า 334,หอสมุดฮัยดะรียะฮ์,นะญัฟ,ฮ.ศ.1385
[4] ฆุเราะรุลฮิกัม,หน้า 267
[5] เพิ่งอ้าง
[6] เพิ่งอ้าง
[7] เพิ่งอ้าง
[8] เพิ่งอ้าง
[9] เพิ่งอ้าง
[10] บัรกี, อะฮ์มัด บิน มุฮัมมัด อัลมะฮาซิน, หน้า 215,ดารุลกุตุบิลอิสลามียะฮ์,กุม,ฮ.ศ.1371
[11] เศาะดู้ก, มุฮัมมัด บิน อลี, อัลคิศอล, เล่ม 1,หน้า 100,สำนักพิมพ์สมาคมมุดัรริซีน,กุม,ฮ.ศ.1403
[12] ฏูซี, มุฮัมมัด บิน ฮะซัน, อัลอะมาลี,หน้า 525,สำนักพิมพ์ดารุษษิกอฟะฮ์,กุม,ฮ.ศ.1414
[13] ฆุเราะรุลฮิกัม,หน้า 473
[14] เพิ่งอ้าง
[15] กุลัยนี, มุฮัมมัด บิน ยะอ์กู้บ, อัลกาฟี,เล่ม 2,หน้า 142,ฮะดีษที่ 3,ดารุลกุตุบิลอิสลามียะฮ์,เตหราน,ปี 1365
[16] เพิ่งอ้าง, ฮะดีษที่ 6