Please Wait
6948
นักประวัติศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญฮะดีษ และนักอรรถาธิบายกุรอานจากสายชีอะฮ์และซุนหนี่ต่างเห็นพ้องกันว่า บางโองการของซูเราะฮ์ อัลอินซาน อาทิเช่น وَ یطْعِمُونَ الطَّعامَ... ประทานลงมาในกรณีของวงศ์วานของท่านนบี(ซ.ล.) ซึ่งประกอบด้วย ท่านอิมามอลี, ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ ท่านอิมามฮะซันและอิมามฮุเซน(อ.) โองการนี้ประทานลงมาในเดือนซุลฮิจญะฮ์ ในช่วงที่ท่านอิมามอลีและท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(อ.)กำลังแก้นะซัรที่เคยทำไว้เพื่อขอให้อิมามฮะซันและอิมามฮุเซนหายป่วย
อิบนิ อับบาสเล่าว่า ฮะซันและฮุเซนล้มป่วยอย่างหนัก ถึงขั้นที่เหล่าเศาะฮาบะฮ์หมุนเวียนกันมาเยี่ยมไข้ ในจำนวนนั้นก็มีอบูบักร์ และอุมัรด้วย พวกเขา(เศาะฮาบะฮ์) กล่าวแก่อลีว่า โอ้บิดาของฮะซัน คงจะดีหากท่านจะกระทำนะซัร (บนบานกับอัลลอฮ์) อลีตอบว่า “ฉันนะซัรว่าหากอัลลอฮ์ทรงรักษาหลานท่านศาสดามุฮัมมัด(ซ.ล.)จนหายไข้ จะถือศีลอดเป็นเวลาสามวัน” ฟาฏิมะฮ์ได้ยินเช่นนั้นก็กล่าวว่า ฉันก็ขอรับภาระดังที่ท่านลั่นวาจาไว้เพื่อพระองค์ ฮะซันและฮุเซนเมื่อได้ยินเช่นนั้นก็กล่าวว่า โอ้พ่อจ๋า เราก็ขอกระทำดังที่พ่อลั่นวาจาไว้เช่นกัน
เมื่ออัลลอฮ์ทรงรักษาอาการของฮะซันและฮุเซน ครอบครัวนี้ก็พร้อมใจกันแก้นะซัรด้วยการถือศีลอดสามวัน เมื่อจะละศีลอดในวันแรก พวกเขาก็บริจาคขนมปังที่เตรียมไว้ละศีลอดให้แก่ยาจกคนหนึ่งที่เคาะประตูและร้องขออาหาร และเช่นเดียวกัน วันที่สองและวันที่สามก็ได้ให้อาหารแก่เด็กกำพร้าและเชลยศึกตามลำดับ ในระหว่างนี้พวกเขาละศีลอดและเตรียมถือศีลอดด้วยน้ำเปล่าถึงสามวัน กระทั่งโองการนี้ประทานลงมา
นักประวัติศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญฮะดีษ และนักอรรถาธิบายกุรอานจากสายชีอะฮ์และซุนหนี่[1]ต่างเห็นพ้องกันว่า บางโองการของซูเราะฮ์ อัลอินซาน อาทิเช่น وَ یطْعِمُونَ الطَّعامَ... ประทานลงมาเกี่ยวกับวงศ์วานของท่านนบี(ซ.ล.) ซึ่งประกอบด้วย ท่านอิมามอลี, ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ ท่านอิมามฮะซันและอิมามฮุเซน(อ.) โองการนี้ประทานลงมาในเดือนซุลฮิจญะฮ์ ในช่วงที่ท่านอิมามอลีและท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(อ.)กำลังแก้นะซัรที่เคยทำไว้เพื่อให้อิมามฮะซันและอิมามฮุเซนหายป่วย
มีฮะดีษสองประเภทเนื้อหาเกี่ยวกับการนะซัรและการบริจาคอาหารของอะฮ์ลุลบัยต์แก่ยาจก เด็กกำพร้า และเชลยศึก
หนึ่ง. เนื้อหาที่แพร่หลาย
อิบนิอับบาสเล่าเกี่ยวกับโองการ وَ یطْعِمُونَ الطَّعامَ... [2]ว่า ฮะซันและฮุเซนล้มป่วยอย่างหนัก ถึงขั้นที่เหล่าเศาะฮาบะฮ์หมุนเวียนกันมาเยี่ยมไข้ ในจำนวนนั้นก็มีอบูบักร์ และอุมัรด้วย พวกเขา(เศาะฮาบะฮ์) กล่าวแก่อลีว่า โอ้บิดาของฮะซัน คงจะดีหากท่านจะกระทำนะซัร (บนบานกับอัลลอฮ์) อลีตอบว่า “ฉันนะซัรว่าหากอัลลอฮ์ทรงรักษาหลานท่านศาสดามุฮัมมัด(ซ.ล.)จนหายไข้ จะถือศีลอดเป็นเวลาสามวัน” ฟาฏิมะฮ์ได้ยินเช่นนั้นก็กล่าวว่า ฉันก็ขอรับภาระดังที่ท่านลั่นวาจาไว้เพื่อพระองค์ ฮะซันและฮุเซนเมื่อได้ยินเช่นนั้นก็กล่าวว่า โอ้พ่อจ๋า เราก็ขอกระทำดังที่พ่อลั่นวาจาไว้เช่นกัน แล้วอัลลอฮ์ก็ทรงรักษาให้หายขาด พวกเขาจึงถือศีลอด[3]
เมื่ออัลลอฮ์ทรงรักษาอาการของฮะซันและฮุเซน อลีได้ไปพบชาวยิวนามชัมอูนที่เป็นเพื่อนบ้านของท่าน ชัมอูนมอบขนสัตว์จำนวนหนึ่งเพื่อให้ท่านนำไปปั่นด้าย โดยให้ค่าแรงเป็นข้าวบาเล่ย์สามส่วน ฟาฏิมะฮ์นำข้าวบาเล่ย์ที่ได้มาโม่เป็นแป้ง และอบขนมปังห้าชิ้นสำหรับห้าคน[4] เมื่อท่านอิมามอลีกลับจากนมาซมัฆรับ ก่อนที่ท่านจะหยิบขนมปัง เสียงเคาะประตูก็ดังขึ้นพร้อมกับมีผู้ร้องขอว่า ฉันเป็นยาจกมุสลิมคนหนึ่ง กรุณาให้อาหารฉันด้วย ขอให้อัลลอฮ์ทรงประทานอาหารสวรรค์แก่พวกท่าน
อลีมอบขนมปังของตนให้แก่ยาจกคนนั้น ฟาฏิมะฮ์ ฮะซัน ฮุเซน(อ.) และฟิฎเฎาะฮ์ (สาวใช้)ก็ให้ขนมปังตามท่าน โดยยอมละศีลอดด้วยน้ำเปล่าแทน ในวันที่สอง ครอบครัวนี้ก็ถือศีลอดอีก ฟาฏิมะฮ์ก็อบขนมปังห้าชิ้นเช่นเคย แต่ขณะที่จะละศีลอดก็มีเสียงร้องเรียกว่า السّلام علیکم یا اهل بیت النبوة و معدن الرسالة ฉันเป็นลูกกำพร้ามุสลิมคนหนึ่ง โปรดให้อาหารฉันเถิด คืนนั้นทุกคนก็มอบอาหารให้เช่นเคย วันที่สามก็ถือศีลอดกันอีก ยามที่จะละศีลอดก็มีเสียงเรียกจากหน้าประตูว่า ฉันเป็นเชลยศึก ฉันหิวเหลือเกิน กรุณาเลี้ยงอาหารฉันเถิด[5] ทั้งหาคนก็มอบอาหารเช่นเคย และยอมอดทนหิวต่อไป
ในวันที่สี่ อิมามอลีจูงมือฮะซันและฮูเซนมาพบท่านนบี(ซ.ล.)ด้วยร่างกายที่อ่อนแอและสั่นเทา เมื่อท่านนบีเห็นเช่นนั้นจึงรู้สึกรันทดใจอย่างยิ่ง จึงชวนกันมาเยี่ยมฟาฏิมะฮ์ เมื่อเข้ามาในห้องก็พบว่าฟาฏิมะฮ์กำลังทำอิบาดัตอยู่ โดยมีสภาพอิดโรย สั่นเทา ตากลวง และท้องยุบลงแนบแผ่นหลังเพราะความหิวโหย เมื่อท่านนบีเห็นลูกหลานตนในสภาพเช่นนี้จึงยกมือขอดุอา โดยร้องเรียนต่อพระองค์ว่า “โอ้อัลลอฮ์ บัดนี้วงศ์วานของข้าฯกำลังจะตายจากด้วยความหิวโหย” พลันญิบรออีลนำโองการนี้มอบให้ท่านจากประโยค یوفُونَ بِالنَّذْرِ จนถึง إِنَّ هذا کانَ لَکُمْ جَزاءً وَ کانَ سَعْیکُمْ مَشْکُوراً [6] [7]
สอง. เนื้อหาที่ไม่แพร่หลาย
อีกฮะดีษหนึ่งเล่าว่า ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์เตรียมอาหารชุดหนึ่งไว้เพื่อละศีลอด เมื่อถึงเวลาละศีลอด ปรากฏว่ามียาจกคนหนึ่งมาขออาหาร ท่านอลี(อ.)ได้มอบเศษหนึ่งส่วนสามของอาหารทั้งหมดแก่เขา หลังจากนั้นก็มีเด็กกำพร้ามาขออาหารและได้รับอีกส่วนไป ต่อจากนั้นก็มีเชลยศีกมาขออาหารและได้รับส่วนที่เหลือไป โดยอิมามอลีและครอบครัวละศีลอดด้วยน้ำเปล่าแทน ในเวลานี้เองที่โองการ “นี่คือรางวัลของสูเจ้า และความเพียรพยายามของสูเจ้าย่อมได้รับการขอบคุณ”ประทานลงมา
อนึ่ง การตอบแทนอันยิ่งใหญ่นี้มีสาเหตุมาจากการต่อสู้ทางจิตวิญญาณบนพื้นฐานการขัดเกลาจิตใจ ซึ่งผู้ศรัทธาทุกคนที่สามารถกระทำการทุกอย่างเพื่ออัลลอฮ์องค์เดียวนั้น ก็ย่อมจะได้รับการตอบแทนความพากเพียร ณ พระองค์อย่างแน่นอน[8]
นักวิชาการสายชีอะฮ์และซุนหนี่ต่างเห็นพ้องกันว่า โองการเหล่านี้ล้วนประทานลงมาในกรณีของวงศ์วานของท่านนบี(ซ.ล.) ซึ่งประกอบด้วย ท่านอิมามอลี, ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ ท่านอิมามฮะซันและอิมามฮุเซน(อ.) โองการนี้ประทานลงมาในเดือนซุลฮิจญะฮ์ ในช่วงที่ท่านอิมามอลีและท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(อ.)กำลังแก้นะซัรที่เคยทำไว้เพื่อให้อิมามฮะซันและอิมามฮุเซนหายป่วย
[1] ดู: เฏาะบัรซี, มัจมะอุ้ลบะยาน ฟีตัฟซีริลกุรอาน, เล่ม 26,หน้า 147-148,สำนักพิมพ์ฟะรอฮอนี,เตหราน,พิมพ์ครั้งแรก,ปี1360
[2] อัลอินซาน,8
[3] ญะฟะรี,ยะอ์กู้บ,โฉมหน้าอิมามอลี(อ.)ในกุรอาน,หน้า 264,อุสวะฮ์,กุม,พิมพ์ครั้งแรก,ปี 1381
[4] ตามรายงานที่ระบุว่าฟิฎเฎาะฮ์ร่วมนะซัรกับทั้งสี่ท่านด้วย
[5] อาจเกิดข้อสงสัยว่า เหตุใดเชลยศึกจึงมาที่บ้านท่านอลี(อ.)ได้ ทั้งๆที่ควรจะอยู่ในการจองจำมิไช่หรือ? ต้องชี้แจงว่า ประวัติศาสตร์ระบุว่าในยุคของท่านนบี(ซ.ล.)ไม่เคยมีเรือนจำเลยแม้แต่แห่งเดียว แต่ท่านนบีใช้วิธีแบ่งเชลยศึกฝากให้มวลมุสลิมดูแล และสั่งให้ระมัดระวังและให้ปฏิบัติดีต่อพวกเขา และหากไม่มีอาหารจะให้เชลย ก็จะขอความช่วยเหลือจากพี่น้องมุสลิมข้างเคียง โดยอาจจะนำเชลยมาขอแบ่งอาหารตามบ้าน หรืออาจจะบอกให้เชลยออกมาขอแบ่งอาหารด้วยตัวเอง เนื่องจากในเวลานั้น มุสลิมอยู่ในภาวะกระเบียดกระเสียรเป็นอย่างยิ่ง แต่เมื่อรัฐมุสลิมแผ่ขยายออกไป และเริ่มมีเชลยศึกรวมทั้งอาชญากรจำนวนมาก จึงดำริให้มีเรือนจำขึ้น โดยค่ากินอยู่ของเชลยแบ่งมาจากบัยตุลมาล” มะการิม ชีรอซี,นาศิร,ตัฟซี้รเนมูเนะฮ์,เล่ม 25,หน้า 354,ดารุลกุตุบิลอิสลามียะฮ์,เตหราน,ปี 1374
[6] อัลอินซาน, 7-22
[7] อมีน,ซัยยิดะฮ์ นุศร็อต, มัคซะนุ้ลอิรฟาน ฟีตัฟซีริลกุรอาน,เล่ม 14,หน้า 237-239,ขบวนการสตรีมุสลิม,เตหราน,ปี 1361
[8] ดู: มัจลิซี,มุฮัมมัด บากิร, บิฮารุลอันว้าร,เล่ม 35,หน้า 243, สถาบันอัลวะฟา,เบรุต,ฮ.ศ.1409