Please Wait
12916
ฮะดีษชุด“การแตกแยกของอุมมะฮ์”มีบันทึกในตำราฝ่ายชีอะฮ์และซุนหนี่ตามสายรายงานที่หลากหลาย
เนื้อหาของฮะดีษเหล่านี้ล้วนระบุถึงการที่มุสลิมจำแนกเป็นกลุ่มก้อนภายหลังท่านนบี(ซ.ล.) ซึ่งถือเป็นเอกฉันท์ในแง่ความหมาย ส่วนในแง่สายรายงานก็มีฮะดีษที่เศาะฮี้ห์และสายรายงานเลิศอย่างน้อยหนึ่งบท
คงต้องยอมรับว่าภายหลังการเสียชีวิตของนบีแต่ละท่าน มักจะเกิดความสับสนในหมู่สาวกเสมอมา และจากการที่ท่านนบีมุฮัมมัด(ซ.ล.)หยั่งรู้ถึงอนาคตของประชาชาติของท่าน จึงได้แจ้งเรื่องดังกล่าวไว้เป็นฮะดีษบทต่างๆ
ฮะดีษชุด“การแตกแยกของอุมมะฮ์”มีบันทึกในตำราฝ่ายชีอะฮ์และซุนหนี่ตามสายรายงานที่หลากหลาย[1] ในฝ่ายชีอะฮ์ ฮะดีษนี้ปรากฏในหนังสือคิศ้อลของเชคเศาะดู้ก ตัฟซี้รอัยยาชี และอิห์ติญ้าจของเฏาะบัรซี[2] กล่าวกันว่าฮะดีษชุดนี้มีความเป็นเอกฉันท์ในแง่เนื้อหา อันหมายความว่า แม้ตัวบทของแต่ละฮะดีษจะมีข้อแตกต่างกัน แต่สื่อความหมายเดียวกัน
เนื้อหาดังกล่าวระบุว่า ท่านนบีพยากรณ์ไว้ว่า ประชาชาติของท่านจะจำแนกออกเป็นเจ็ดสิบสามจำพวก
ฮะดีษที่ถือว่าเศาะฮี้ห์ที่สุดในชุดนี้ เห็นจะเป็นฮะดีษที่ท่านกุลัยนีรายงานในหนังสืออัลกาฟีจากอิมามมุฮัมมัดบากิร(อ.) ซึ่งจะนำมาวิเคราะห์สายรายงานและเนื้อหาเป็นกรณีศึกษา
สายรายงานฮะดีษดังกล่าว
มุฮัมมัด บินยะฮ์ยา รายงานจากอะห์มัด บิน มุฮัมมัด บินอีซา จาก อิบนิ มะฮ์บู้บ จาก ญะมี้ล บิน ศอลิห์ จาก อบูคอลิด กาบุลี จาก อิมามบากิร(อ.)
โดยทั่วไปแล้ว ฮะดีษมีหลายประเภท หากสายรายงานทุกคนเป็นชีอะฮ์และเชื่อถือได้ ในวิชาฮะดีษจะเรียกว่า “เศาะฮี้ห์”[3] ยิ่งถ้าหากสายรายงานทุกคนเป็นผู้มีชื่อเสียงก็ยิ่งทำให้น่าเชื่อถือยิ่งขึ้น ฮะดีษดังกล่าวก็มีลักษณะเช่นนี้ เพราะสายรายงานทั้งหมดล้วนเป็นผู้มีชื่อเสียง มุฮัมมัด บิน ยะฮ์ยาเป็นหนึ่งในผู้ยิ่งใหญ่ นะญาชีกล่าวถึงเขาว่า “เขาเป็นสหายผู้ยิ่งใหญ่ของเราในยุคนั้น ซึ่งเป็นที่ไว้วางใจอย่างยิ่ง”[4] ส่วนอะห์มัด บินมุฮัมมัด บินอีซา นะญาชีกล่าวว่า “เขาเป็นครูบาและเป็นผู้เชี่ยวชาญฟิกเกาะฮ์ในหมู่ชาวกุม”[5] ฮะซัน บินมะฮ์บู้บก็ถือเป็นผู้ที่เชื่อถือได้ และยังเป็นอัศฮาบุ้ลอิจมาอ์ด้วย[6] ส่วนญะมีล บิน ศอลิห์ และอบูคอลิด กาบุลีก็ล้วนเป็นผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสิ้น[7]
ฉะนั้น ฮะดีษดังกล่าวจึงถือเป็นฮะดีษเศาะฮี้ห์ในแง่สายรายงาน
เนื้อหาฮะดีษ
ฮะดีษนี้เป็นการตัฟซี้รโองการที่ 29 ซูเราะฮ์อัซซุมัร โดยอิมาม(อ.)ได้กล่าวว่า “ยิวแตกออกเป็นเจ็ดสิบเอ็ดกลุ่มภายหลังนบีมูซา(อ.) เพียงกลุ่มเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสวรรค์ ที่เหลืออยู่ในนรก คริสเตียนก็แตกเป็นเจ็ดสิบสองกลุ่ม เพียงกลุ่มเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสวรรค์ ที่เหลืออยู่ในนรก ส่วนประชาชาตินบีมุฮัมมัด(ซ.ล.)จะแตกออกเป็นเจ็ดสิบสามกลุ่ม เพียงกลุ่มเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสวรรค์ เจ็ดสิบสองกลุ่มที่เหลืออยู่ในนรก ในจำนวนเจ็ดสิบสามกลุ่ม มีสิบสามกลุ่มที่รักเราอะฮ์ลุลบัยต์[8] แต่มีเพียงกลุ่มเดียวที่เข้าสวรรค์ สิบสองกลุ่มที่เหลือ บวกกับอีกหกสิบกลุ่มล้วนอยู่ในไฟนรก”[9]
สรุปได้ว่าฮะดีษนี้เศาะฮี้ห์ทั้งในแง่สายรายงานและเนื้อหา เนื่องจากได้รับการเสริมความน่าเชื่อถือโดยฮะดีษอื่นๆที่มีความหมายใกล้เคียงกัน อนึ่ง ฮะดีษมากมายที่มีเนื้อหาดังกล่าวล้วนระบุว่าชีอะฮ์ของอิมามอลี(อ.)เป็นกลุ่มที่รอดภัย[10]
เพื่อศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ กรุณาอ่านจาก:
คำถามที่ 192 (ลำดับในเว็บไซต์ 2381) สาเหตุการเกิดสำนักคิดในอิสลาม
คำถามที่ 4932 (ลำดับในเว็บไซต์ 5182) แรงจูงใจที่ทำให้เกิดมัซฮับต่างๆ
[1] เฏาะบาเฏาะบาอี,มุฮัมมัดฮุเซน,อัลมีซาน,แปลโดยมูซะวี ฮะมะดอนี,เล่ม 3,หน้า 588,อินติชาร้อตอิสลามี,กุม, และ ญะฟะรี,ยะอ์กู้บ,ตัฟซี้รเกาษัร,เล่ม 3,หน้า 443
[2] มัจลิซี,มุฮัมมัดบากิร,บิฮารุลอันว้าร,เล่ม 28,หน้า 4,สำนักพิมพ์อัลวะฟา,เบรุต,ฮ.ศ.1404
[3] ใช้โปรแกรมดิรอยะตุ้นนู้ร,ศัพท์วิชาฮะดีษ
[4] นะญาชี,ริญาลนะญาชี,หน้า 353 ,อินติชาร้อตอิสลามี,กุม,ฮ.ศ.1407
[5] เพิ่งอ้าง,หน้า 83
[6] ดู: ริญ้าลกัชชี,หน้า 556
[7] ดู: ริญ้าลนะญาชี,หน้า 127,และริญ้าลกัชชี,หน้า 10, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมัชฮัด 1348
[8] อาจหมายถึงกลุ่มชีอะฮ์ที่มิได้เชื่อในสิบสองอิมาม
[9] กุลัยนี,มุฮัมมัด บิน ยะอ์กู้บ,อัลกาฟี,เล่ม 8,หน้า 224,ดารุลกุตุบุลอิสลามียะฮ์,เตหราน 1368
[10] บิฮารุลอันว้าร,เล่ม 28,หน้า 2, หมวดความแตกแยกของอุมมะฮ์ภายหลังนบี